Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

ก้าวแรกสู่การภาวนา


mp 3 (for download) : ก้าวแรกสู่การภาวนา (44.14 นาที)

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

=== ธรรมบรรณาการ วันเปิดตัว Dhammada.net ===

หลวงพ่อปราโมทย์ :

พวกเราสนใจธรรมะดีที่สุด แต่ก่อนเข้าไปศึกษากับครูบาอาจารย์ ท่านจะบอกตลอดว่าธรรมะเป็นเรื่องง่าย การปฏิบัติจริงๆเป็นเรื่องง่าย ทำแล้วมีความสุข ถ้าเราปฏิบัติได้ถูกต้องชีวิตจะพบความสุขอย่างรวดเร็ว

ธรรมะของพระพุทธเจ้าอัศจรรย์จริงๆ ถ้าเราปฏิบัติได้ถูกต้องใช้เวลาไม่นาน ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องใช้เวลานาน ที่ไม่ถูกต้องคือไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ ท่านไม่ได้สอนให้พวกเราหนี ชาวพุทธจริงๆต้องเป็นนักต่อสู้ไม่ใช่คนขี้แพ้ ความทุกข์อยู่ที่ไหนท่านสอนให้เราเข้าไปเรียนรู้ที่นั่น

ความทุกข์อยู่ที่กายให้เข้าไปเรียนรู้ที่กาย

ความทุกข์อยู่ที่จิตใจให้เข้าไปเรียนรู้ที่จิตใจ

ที่จริงแล้วคนก็แสวงหาทางพ้นทุกข์มาตลอด ใครๆก็อยากพ้นทุกข์กันทั้งนั้น ก่อนพระพุทธเจ้าก็แสวงหาทางพ้นทุกข์ กระทั่งหมูเห็ดเป็ดไก่ก็แสวงหาทางพ้นทุกข์ของมัน แต่การแสวงหาทางพ้นทุกข์ที่มีมาตลอด แสวงหาได้ตามชั้นตามภูมิ ตามความเข้าใจ ตามสติปัญญาของแต่ละคนแต่ละท่านไม่เหมือนกัน

  • บางคนหาทางพ้นทุกข์ด้วยการเสพย์สุข แสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น กลุ้มใจขึ้นมาก็ไปดูหนังฟังเพลง ไปหาอะไรสวยๆดู ไปทัศนาจร ไปหาของอร่อยๆกินแก้กลุ้ม หรือคิดอะไรให้เผลอๆเพลินๆ นี่ก็เป็นวิธีหาความสุขหนึ่ง หาความสุขอย่างโลกๆ หาความสุขโดยอาศัยการกระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิธีการหาความสุขอย่างนี้ พวกสัตว์เดริฉานก็ทำเป็น เช่น เช่นมันหิวอะไรขึ้นมาก็ไปหาอะไรกิน พอกินอิ่มแล้วก็มีความสุข
  • ทีนี้บางคนมีสติปัญญามากขึ้น ลำพังวิ่งหาความสุขตาม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ต้องเที่ยวหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจไปเรื่อยๆ พึ่งสิ่งภายนอกมากเกินไป หลายคนเลยมาหาความสุขในจิตใจของตัวเอง โดยเฉพาะพวกเข้าวัดทั้งหลาย มีความรู้สึกขึ้นมาอยู่เรื่อยๆเลย ถ้าเราสามารถเข้าควบคุมจิตใจของเราให้อยู่ในอำนาจของเราได้ เราจะมีความสุข จึงเกิดการแสวงหาความสุข วิธีที่ ๒ ขึ้น คือการรักษาใจของเราให้ดี าร การแสวงหาความสุข ชนิดที่ วเอง โดยเฉพาะคนด่าใจเราก็เฉย คนชมใจเราก็เฉย วิธีการหาความสุขอย่างนี้ก็เพื่อให้ตัวเรามีความสุข นี่ก็ยังไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้าทีเดียว เป็นการปรุงแต่งฝ่ายกุศล ปรุงแต่ความดีขึ้นมา ชีวิตจะได้มีความสุขอย่างคนดีๆ มีความสุขอย่างคนดีๆได้ ก็มีความทุกข์อย่างคนดีได้นะ
  • บางคนฉลาดกว่านั้น ตราบใดที่เรายังต้องรักษาจิตใจเอาไว้ มีการกระทบกระเทือน ต้องคอยรักษาอยู่เรื่อยๆ ยังไม่สุขจริง อีกพวกหนึ่งจึงคิดพัฒนาขึ้นไป ถ้าเราไม่ต้องกระทบอารมณ์เลยจะมีความสุข พวกนี้จึงฝึกเข้าฌาน อรูปฌาน พรหมลูกฟัก ไม่รับรู้อารมณ์โลกภายนอก ไม่สนใจโลกภายนอก ไม่มีอะไรมากระเทือน ไม่มีสิ่งใดมากระทบ พอไม่มีอะไรมากระทบใจก็ไม่ต้องกระเทือน

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีวิธีการหาความสุขอยู่ ๓ แบบ

(๑) เที่ยวหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ ตอบสนองกิเลสไปเรื่อยๆ แล้วก็มีความสุข การหาความสุขแบบนี้เป็นการปรุงแต่งฝ่ายอกุศล หรืออปุญญาภิสังขา หรือเป็นความสุดโต่งในทางที่เรียกว่า กามสุขขัลลิกานุโยค ตามใจกิเลสแล้วมีความสุข (๒) คอยควบคุมคอยบังคับตัวเอง เป็นการปรุงแต่งฝ่ายกุศล เรียก ปุญญาภิสังขา หรือเรียก อัตตกิลมถานุโยค การบังคับควบคุมตัวเอง (๓) หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ เรียก อเนญชาภิสังขาร

ในโลกมีการปรุงแต่ง ๓ อย่างนี้ การปรุงแต่งทั้ง ๓ อย่างนี้ กระทำไปเพื่อตอบสนองอัตตาตัวตนทั้งสิ้น เพราะเราไม่รู้ความจริง ว่ากายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่ตัวเรา เพราะคิดว่า กายนี้ ใจนี้ เป็นตัวเรา อยากให้ตัวเรามีความสุข อยากให้ตัวเราพ้นทุกข์ ก็เลยต้องดิ้นรนปรุงแต่ง ๓ แบบนี้

พระพุทธเจ้าท่านฉลาดแหลมคม ท่านบอกว่าตราบใดที่ยังคิดปรุงแต่งอยู่อย่างนี้ ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุด ไปแก้ปัญหาทางปลายทางเท่านั้น ตรงจุดจริงๆ คือ ตัวตนมีไหม เข้ามาศึกษากาย ศึกษาใจของเราเอง จนวันหนึ่งปัญญามันแจ้งว่า กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา พอปล่อยว่างความยึดถือกายได้ ปล่อยวางความยึดถือใจได้

ละอวิชชา ( อวิชชา คือ ความไม่รู้อริยสัจ ความไม่รู้อริยสัจอย่างแรก คือ ไม่รู้ทุกข์ ) คือเราไม่รู้ว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์ เราคิดว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเรา เป็นตัวดีเป็นตัวดีเป็นตัววิเศษ เราก็ต้องดิ้นรนให้มันดีไปเรื่อยๆ ให้มันสุข อยากให้มันพ้นทุกข์ไปเรื่อยๆ ถ้าเราสามารถเรียนรู้ รู้ลงเข้ามาที่กาย รู้ลงเข้ามาที่ใจ นี่วิธีการของพระพุทธเจ้า เรียนรู้ลงเข้ามาที่กายที่ใจตัวเอง จนเห็นความจริงเลย กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา กายนี้เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ ความดิ้นรนหวงแหนในร่ายกายก็จะสลายไป หรือเรียนรู้ลงไปที่จิตใจ จะเห็นเลยจิตใจเป็นของไม่เที่ยง เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย สุขชั่วคราว ทุกข์ชั่วคราว ดีชั่วคราว ชั่วก็ชั่วคราว ทุกอย่าที่ผ่านเข้ามาที่จิตที่ใจเราล้วนแต่เป็นของชั่วคราวทั้งนั้น กระทั่งตัวจิตตัวใจเองก็ของชั่วคราว จิตเกิดทางตาเดี๋ยวก็ดับไป เกิดทางหูเดี๋ยวก็ดับไป เกิดทางใจแล้วก็ดับไป มีแต่ของชั่วคราวทั้งหมด

พอเห็นอย่างนี้เห็นความจริงแล้ว จิตนี้ไม่ใช่ตัวเราที่เที่ยงแท้ถาวรอะไร ความดิ้นรนที่จะให้จิตมีความสุข ความดิ้นรนที่จะให้จิตพ้นทุกข์มันก็จะสลายไป ความพ้นทุกข์ที่แท้จริงเกิดจิตใจที่ฉลาด รู้ความจริงของกายของใจจนหมดความดิ้นรน การที่เรารู้กายรู้ใจ เขาเรียกว่า รู้ทุกข์

ครูบาอาจารย์ท่านสอนมานะ อย่างหลวงปู่เทสก์ท่านเคยสอน รู้ทุกข์นั่นแหละล้างสมุทัย ถ้าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง รู้ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ละสมุทัยคือละความดิ้นรน ใจมันจะเลิกดิ้นรนเที่ยวหาความสุข ใจมันจะเลิกดิ้นรนเที่ยวหาความทุกข์ ใจที่มันเลิกดิ้นรนมันจะเข้าหาความสงบสุขที่แท้จริง อันนี้เรียกว่านิโรธ นิโรธหรือนิพพานนั่นเอง คือความสงบ ความระงับกิเลสจากตัณหา จากความวุ่นวาย หลุดพ้นออกไปจากขันธ์ จากกายจากใจนี้ มีกายมีใจสักแต่ว่าอาศัยอยู่แค่นั้นเอง

ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกตลอดเวลาเลย กายนี้ไม่ใช่ตัวเรานะ กายนี้เป็นของโลก ยืมโลกมาใช้ชั่วคราว จิตใจก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นนามธรรมตัวหนึ่ง เกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นอย่างนี้ใจจะพ้นทุกข์นะ ใจจะเข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง หน้าที่ของพวกเราคือ คอยรู้กายคอยรู้ใจของเรามากๆ จนมันเข้าใจความจริง เครื่องมือที่จะรู้กายรู้ใจของเรา เรียกว่า สติ การที่เข้าใจความจริง เรียกว่า ปัญญา หรือ สัมปชัญญะ สติเป็นตัวระลึกรู้ อะไรเกิดขึ้นในกายคอยรู้ อะไรเกิดขึ้นในใจคอยรู้ รู้มากเข้าๆ ปัญญามันเกิด มันเกิดความเข้าใจ เข้าใจความเป็นจริงของกายของใจ พอเข้าใจความเป็นจริงของกายของใจว่าไม่ใช่ตัวเรา ความดิ้นรนในใจจะหมดไป จิตที่หมดความดิ้นรน หมดความปรุงแต่งนั่นแหละ คือจิตที่เข้าสู่สันติสุขหรือนิพพาน

นิพพานไม่ใช่โลกๆหนึ่ง ในพระอภิธรรมสอนชัดๆเลย ว่า นิพพานมีสันติลักษณะ มีลักษณะสงบสันติ สงบจากอะไร สงบจากกิเลส สงบจากอะไรสงบจากขันธ์ ขันธ์ก็คือกายกับใจเรานี่เอง เป็นเครื่องเสียดแทง หน้าที่ของพวกเราคอยรู้สึกที่กายคอยรู้สึกที่ใจ

กรรมฐาน ถ้าเลยกายเลยใจของเราแล้ว มันออกไป มันอ้อมค้อมออกไป เพราะฉะนั้นให้คอยรู้อยู่ที่กาย คอยรู้อยู่ที่ใจ ครูบาอาจารย์รูปหนึ่ง เคยสอนหลวงพ่อ สอนหลวงพ่อตอนที่ยังไม่ได้บวช ท่านสรุปให้ฟังง่ายๆนะ การปฏิบัติให้มีสติ รู้ลงที่ใจอย่างเป็นกลาง เป็นปัจจุบัน มีเท่านี้เอง ครูบาอาจารย์รูปนี้ตอนนี้ท่านก็ยังอยู่นะ เป็นเสาหลักของสายวัดป่า

รู้อยู่ที่กายรู้อยู่ที่ใจ ทีนี้ทำอย่างไรเราจึงจะรู้กายรู้ใจได้ ตรงนี้สำคัญต้องค่อยๆเรียน ค่อยๆศึกษา เราจะรู้สึกว่าเรารู้กายรู้ใจตัวเองอยู่แล้ว ในความเป็นจริงบนโลกนี้ไม่มีคนรู้กายรู้ใจของตัวเองหรอก มีแต่คนหลงมีแต่คนเผลอ คนที่สามารถรู้กายรู้ใจตัวเองได้ มีนับตัวได้ ส่วนมากเลยเราจะตื่นขึ้นมาแต่กาย แต่ใจเราจะคิดเรื่องต่างๆไปทั้งวัน ใจมันไม่ตื่นนะ ใจเราจะคิด ใจเราจะฝันไปเรื่อยๆ เราจะต้องค่อยๆฝึกจนใจของเราตื่นขึ้นมา ตื่นทั้งกาย ตื่นทั้งใจนะ จิตใจที่ตื่นขึ้นมานั่นแหละ คือตัว พุทโธ ที่เรียกว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตใจของเราไม่ใช่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตใจของเราส่วนใหญ่บนโลก เป็นผู้นึก ผู้คิด ผู้ปรุงแต่ง ไม่ใช่ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

สังเกตให้ดี ใจเราตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับ เราคิดทั้งวัน เรารู้เรื่องราวที่เราคิด สังเกตนะ เวลาเราคิดอะไรไปเราจะรู้เรื่องที่เราคิด เรื่องราวที่เราคิด เรียกว่า สมมติบัญญัติ แต่ในขณะที่เรารู้เรื่องราวที่เราคิด เราจะลืมกายลืมใจตัวเอง มีกายก็เหมือนไม่มีนะ เช่น นั่งอยู่ก็ไม่รู้ว่านั่งอยู่ นั่งฟังหลวงพ่อพูดๆ พยักหน้า ในใจไปที่อื่นนะ เราไม่รู้กาย ร่างกายเคลื่อนไหวไม่รู้สึก เราไม่รู้ใจตัวเอง จิตใจเป็นสุขก็ไม่รู้ เป็นทุกข์ก็ไม่รู้ เฉยๆก็ไม่รู้ เป็นกุศลก็ไม่รู้ เป็นอกุศลก็ไม่รู้ เราไม่รู้อะไรเลยที่เกี่ยวกับตัวเราเอง เราไม่รู้อะไรเลยที่เกี่ยวกับกายเกี่ยวกับใจ เรารู้แต่เรื่องราวที่เราคิดเอาเอง

การที่เรารู้เรื่องราวที่เราคิดเอาเองนั่นแหละ เรียกว่า รู้สมมติบัญญัติ ในขณะที่รู้กายรู้ใจนั่นแหละ เรียกว่า กายกับใจเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ ฟังแล้วน่ากลุ้มใจ เอาเป็นเรียกว่า กายกับใจก็แล้วกันนะ ให้คอยรู้กายรู้ใจไว้ คนในโลกมีแต่คนไม่รู้กายรู้ใจ มีแต่คนหลง มีแต่คนคนเผลอ เผลอคิดทั้งวัน

เวลาที่เราดูเราก็เผลอดู

เวลาที่เราฟังเราก็เผลอฟัง

เวลาที่เราเผลอคิดเราก็เผลอไปคิด

ลืมกายลืมใจตัวเองตลอดเวลา

เมื่อเราลืมกายลืมใจตัวเองตลอด เราก็ไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจตัวเอง ปัญญามันไม่เกิด ไม่สามารถเข้าใจความเป็นจริงของกายของใจได้ ว่ามันไม่ใช่ตัวเราหรอก เราไปหลงคิดๆอยู่ ความเป็นตัวเราก็เกิดขึ้นมา นี่ทำยังไงเราจึงจะรู้กายรู้ใจได้

ศัตรูของการรู้กายรู้ใจมี สองอย่าง คือ (๑)การที่เราหลงไปอยู่กับความคิดของเรานั่นแหละ (๒) ถ้าเมื่อไรเรารู้ธรรม ว่าใจเราไหลไปคิดแล้ว เมื่อนั้นเราจะตื่นขึ้นในฉับพลัน. เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ ถ้าเข้าใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกนะ เราจะตื่นในฉับพลัน ธรรมะใครเข้าถึงแล้วจะอุทานว่า อัศจรรย์จริงๆ ดูในไตรปิฎกนะ เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์จบ คนจะอุทานนะว่า อัศจรรย์จริงๆ แจ่มแจ้งนักพระเจ้าค่ะ เห็นไหม ไม่ใช่สับสนนักพระเจ้าค่ะ แจ่มแจ้งนักพระเจ้าค่ะ เหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย

พระพุทธเจ้าก็เหมือนคนจุดไฟขึ้นมา แล้วคนตาดีก็มองเห็นแสงสว่าง มองเห็นสิ่งต่างๆ ธรรมะจริงๆไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่พวกเราไม่ค่อยได้ยิน ไม่ค่อยได้ฟัง เราชอบไปคิดเอาเอง ชอบหลงไปอยู่ในโลกของความคิด เมื่อไรจะตื่นขึ้นมาอยู่ในโลกของความเป็นจริงๆ ตัวนี้ที่ยากที่สุด ทางลัดที่ง่ายที่สุดนะ คือ รู้ทันใจที่หนีไปคิด

มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ไม่ใช่สายวัดป่า หลวงพ่อเทียน วัดสนามใน ท่านสิ้นไปแล้วนะ ท่านสอนน่าฟังเหมือนกัน ธรรมะมันลงกันนะ สายไหนก็เหมือนกันแหละ ถ้าทำถูกต้องก็อันเดียวกัน หลวงพ่อเทียนท่านสอนว่า ถ้าเมื่อไรรู้ว่าจิตคิด จะได้ต้นทางของการปฏิบัติ รู้ว่าจิตคิดนะ ไม่ใช่รู้เรื่องว่าจิตคิด สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน ในโลกนี้มีแต่คนรู้เรื่องที่จิตคิด แต่ไม่รู้ว่าจิตกำลังแอบไปคิดอยู่ เพราะฉะนั้นหน้าที่เรา คือ คอยศึกษา คอยสังเกตตัวเอง

ศึกษาอย่างไร สังเกตอย่างไร เอาตั้งแต่ตอนนี้เลย เรียนกับหลวงพ่อนะ ไม่ต้องเรียนแล้วฟังให้รู้เรื่อง เรียนแล้งหัดสังเกตสภาวะจริงๆไปเลย นั่งฟังหลวงพ่อพูดสังเกตไหม เดี๋ยวมองหน้าหลวงพ่อแวบหนึ่ง เดี๋ยวฟังหลวงพ่อพูดหน่อยหนึ่ง แล้วก็แอบไปคิด ดูออกไหม ฟังไปคิดไป ไม่ได้ฟังอย่างเดียว ฟังนิดนึงก็คิดตามไปนะ แล้วก็ฟังใหม่ ฟังอีกหน่อยหนึ่งก็คิดใหม่อีก บางทีเราก็ฟังไปคิดไป เนี่ยมองหน้าหลวงพ่อนิดนึง แล้วก็ฟัง ฟังแล้วก็คิด เราไม่เคยเห็นเลยว่ากระบวนการทำงานของใจเราเป็นแบบนี้ เดี๋ยวฟัง เดี๋ยวดู เดี๋ยวคิด ที่จริงมันก็ไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ที่ไปมากก็คือไปทางตา ไปทางหู ไปทางใจ ขณะที่เรานั่งอยู่นี่ สังเกตดูเดี๋ยวฟัง เดี๋ยวดู เดี๋ยวคิด สลับไปเรื่อยๆ ให้เราคอยรู้ทันนะถ้าเรารู้ทันใจที่หนีไปคิดครู่เดียว ขณะจิตนั้นเราจะตื่นขึ้นในฉับพลัน เพราะเราจะหลุดออกจากโลกของความคิด มาอยู่ในโลกของความจริงอย่างฉับพลัน

ทันทีที่เราตื่นขึ้นมา เราอยู่ในโลกของความจริงแล้ว ถ้าสติระลึกรู้กาย เราจะเห็นทันทีว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ร่างกายนี้เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ ร่างกายนี้ไม่เที่ยงมันเป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ คนทั่วๆไปจะลืมตัวเองนะ จะลืมกายลืมใจ จะไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าหรอก

พระพุทธเจ้าสอนเรา ขันธ์ห้า เป็นทุกข์ กายกับใจเป็นทุกข์ คนทั่วๆไปไม่มีใครรู้สึกหรอก ว่ากายเป็นทุกข์ ใจเป็นทุกข์ กระทั่งพวกเราในห้องนี้ สิ่งที่พวกเรารู้สึกคือ ร่างกายเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง จิตใจของเราเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง นี่เราไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน แต่เราเห็นว่าทุกข์บ้างสุขบ้าง ทำอย่างไรจึงจะเห็นว่าเป็นทุกข์จริงๆ ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

ถ้าไม่สามารถเห็นว่าเป็นทุกข์จริงๆ เห็นว่ามันทุกข์บ้างสุขบ้าง เราจะปล่อยวางความยึดถือกายยึดถือใจไม่ได้ เพราะอะไร เพราะกายนี้ยังมีทางเลือก มันสุขก็ได้ มันทุกข์ก็ได้ เพราะฉะนั้นเราขอเลือกเอาสุขไว้ก่อน ขอเลือกวิ่งหนีความทุกข์ไว้ก่อน จิตใจก็เหมือนกัน ถ้ายังมีสุขบ้างทุกข์บ้าง ก็จะเลือกเอาจิตใจที่มีความสุข หลีกหนีจิตใจที่มีความทุกข์ เพราะฉะนั้นจะปล่อยวางความยึดถือกาย ยึดถือใจไม่ได้จริง

แต่ถ้าเมื่อไรสติปัญญาแกร่งกล้า เห็นเลยกายนี้ทุกข์ล้วนๆ จิตนี้ทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย

นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่

นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป

ถ้าสติปัญญามันเห็นได้ถึงขนาดนี้ มันจะขว้างทิ้งเลยนะ มันจะปล่อยวางกายมันจะปล่อยวางใจ ไม่ต้องเชื้อเชิญ ไม่ต้องบังคับ มันจะสลัดทิ้งเอง เพราะมันรู้แล้วว่าเป็นของไม่ดี เป็นของเป็นทุกข์จะทิ้งเลย ฉะนั้นเห็นรู้เมื่อไรจึงจะเห็นธรรม

วิธีการที่เราจะเห็นกายเป็นทุกข์จะทำอย่างไร หลวงพ่อจะบอก

(๑)วิธีเห็นกายเป็นทุกข์ เรานั่งอยู่คอยรู้สึกไว้อย่าใจลอย อย่าเผลอไปคิดอะไรเรื่อยไป คอยรู้สึกตัวเองเป็นนัยๆ เราจะเห็นเลยว่าเรานั่งอย่างสบายๆประเดี๋ยวเดียวก็เมื่อยแล้ว พอเมื่อยแล้วเราก็ขยับตัว เราเปลี่ยนอิริยาบถนะ พอเมื่อยก็ขยับอัตโนมัติเลย

เพราะเราหนีความเมื่อยแบบนี้มาตลอดชีวิตแล้ว เราไม่เคยรู้สึกเลย พอเมื่อยมาเราก็ขยับตัว พอขยับตัวก็ไม่เห็นรู้สึกว่าทุกข์ตรงไหนเลย ประเดี๋ยวความเมื่อยตามมาทันอีก ก็ขยับตัวอีก นั่งอยู่ก็นั่งขยับไปเรื่อยๆ ยืนอยู่ก็ยืนขยับไปเรื่อยๆ เดินก็ขยับอยู่แล้ว เดินมากๆก็เมื่อย นอนอยู่ยังเมื่อยเลย กลางคืนคนเรานอนปกติ สมมตินอนแปดชั่วโมง จะนอนพลิกซ้ายพลิกขวาๆ ไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง ทำไมต้องนอนพลิก เพราะมันเป็นทุกข์นั่นเอง ความทุกข์มันบีบคั้นร่ายกาย มันทำให้ต้องคอยขยับหนีไปเรื่อยๆ

อิริยาบถคือการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวร่างกาย มันบิดบังทำให้เรามองเห็นความทุกข์ของกายไม่ได้ อย่างเรานั่งอยู่นั่งไปนั่งให้สบายๆนะ มีเงินมากๆไปซื้อเก้าอี้ตัวละแสนมานั่งก็ได้ ดูสิ! มันจะมีความสุขจริงไหม ถ้าไม่ขาดสตินั่งประเดี๋ยวเดียวก็จะเห็นแล้วว่ามันทุกข์นะ มันทุกข์จริงๆ มันทุกข์ล้วนๆ นั่งไม่ขยับทุกข์ตายเลย ยิ่งเป็นอัมพาตนะกระดุกกระดิกไม่ได้ยิ่งทุกข์มาก เราก็ดิ้นหนีความทุกข์ไปทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ หลับก็ดิ้นไปดิ้นมา ถ้าเรามีสติรู้กายอยู่เนืองๆ จะเห็นเลยกายนี้ทุกข์ล้วนๆ ไม่ใช่ทุกข์บอกสุขบ้าง

(๒)วิธีเห็นจิตเป็นทุกข์ คราวนี้มาดูจิตใจบ้าง ธรรมะก็มีเรื่องกายกับใจนี่แหละ ดูกายแล้วเห็นว่ากายเป็นทุกข์แล้วก็มาดูใจของเราบ้าง ใจของเรามันไม่เที่ยง ความสุขก็อยู่ชั่วคราวนะ ความทุกข์ก็อยู่ชั่วคราว กุศลเกิดขึ้นก็อยู่ชั่วคราว เช่น เราเกิดความรู้สึกตัว เราจะรู้สึกตัว เราจะรู้สึกได้แวบเดียว เดี๋ยวก็จะเผลอ เดี๋ยวจะลืมตัวครั้งใหม่ เพราะฉะนั้นตัวกุศล ตัวความรู้สึก หรือตัวสติก็เกิดขึ้นเอง เกิดได้ชั่วคราว ไม่มีใครรักษาความรู้สึกตัวให้อยู่ต่อเนื่องยาวนานได้

สิ่งที่สามารถทำให้ต่อเนื่องยาวนานได้มีอย่างเดียว คือ สมาธิ ไม่ใช่ตัวสตินะ

ตัวสติไม่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน เกิดแล้วก็ดับๆ เป็นขณะๆไป อกุศลความโกรธ ความโลภ ความหลง เกิดขึ้นเป็นขณะๆเหมือนกัน เช่นที่หลวงพ่อบอกให้หัดเมื่อครู่ นั่งฟังหลวงพ่อเดี๋ยวก็ดู ใจมันไปดู อาศัยตาเป็นทางผ่านไปดูรูป อาศัยหูเป็นทางผ่านไปฟังเสียง อาศัยใจเป็นทางผ่านไปคิด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำงานถี่ๆอยู่ทั้งวัน เดี๋ยวก็ดู เดี๋ยวก็ฟัง เดี๋ยวก็คิด สังเกตใจของเราหาความเที่ยงแท้อะไรไม่ได้ ใจเราวิ่งพล่านๆอยู่ตลอดเวลา ใจเราถูกความอยากบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็อยากดู เดี๋ยวก็อยากฟัง เดี๋ยวก็อยากคิด เดี๋ยวก็อยากโน่นอยากนี่ รวมทั้งอยากปฏิบัติ อยากฟังธรรม อยากไปวัด อยากมาศาลาลุงชิน ความอยากนี่มันบงการเราตลอดเวลา ถ้าเรามารู้อยู่ที่ใจเรา เราจะเห็นเลยจิตใจเราไม่เคยเป็นอิสระเลย

จิตใจเราเป็นขี้ข้าของความอยากตลอดเวลา ถ้าพูดแบบหยาบๆ นะ เหมือนเป็นขี้ข้าเป็นทาสอยู่ตลอดเวลา มันสั่งเราทั้งวันนะ สั่งอย่างโน้น สั่งอย่างนี้ เราก็ต้องทำตามมัน เช่นมันสั่งให้ไปเที่ยว ตัณหามันสั่งให้เราไปเที่ยง เราไม่รู้ทันนะเราก็ไปเที่ยวสบายใจ ไม่รู้ทันของใจ

ตัณหาเป็นเจ้านายที่ฉลาดที่สุด มันจะให้คุณให้โทษ มันสั่งให้เราไปเที่ยว ถ้าเราไปเที่ยว มันจะให้รางวัลนิดนึงจะสบายใจ แต่สบายใจครู่เดียวนะ มันจะสั่งงานใหม่แล้ว ถ้ามันสั่งให้เราไปเที่ยวแล้วเราไม่ไปเที่ยว มันจะลงโทษเรา เราจะรู้สึกกลุ้มใจ อึดอัด มันสั่งให้ไปจีบสาวสักคนหนึ่งนะ ได้ไปจีบสาวหนึ่งคนมีความสุขแล้ว มันจะสั่งอีก มันจะสั่งไปจีบสาวสองคน ถ้าไม่จีบจะกลุ้มใจอีกแล้ว เนี่ยมันจะสั่งเราทั้งวัน เนี่ยคนที่ตกเป็นทาสมันจะมีความสุขที่ตรงไหน คอยดูอยู่ที่ใจเรา ใจเราจะถูกโขกถูกสับอยู่ทั้งวัน หาความสุขที่แท้จริงไม่ได้เลย มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยนะ ร่างกายของเรายังได้นอนพัก แต่จิตใจแทบจะไม่ได้พักผ่อน กลางคืนก็ฝันต่ออีก ทรมานมากมีความทุกข์มาก คอยดูอยู่ที่จิตใจเรา จะเห็นเลยจิตใจของเรามันทุกข์มาก จิตใจต้องทำงานทั้งวันทั้งคืนไม่ได้พักผ่อน ถูกโขกสับตลอดเวลา เจ้านายมันโขกมันสับตลอดเวลา ทีนี้ก็เราไม่รู้เราไม่เคยเห็น

เราเป็นทาสที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นทาส เราจึงไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระได้ เพราะฉะนั้นคอยดูใจของเราไว้นะ เดี๋ยวก็อยากไปโน่นเดี๋ยวก็อยากไปนี่ เดี๋ยวอยากคุยกับคนนี้ เดี๋ยวอยากโน้นอยากนี้ไปเรื่อย คิดว่าอยากได้อย่างนี้นะ ถ้าได้มาแล้วจะมีความสุข กิเลสมันหลอกเรานะให้วิ่งหาความสุข วิ่งทั้งชาติก็ไม่ได้นะความสุขน่ะ อย่างตอนเด็กๆเลยเรามีความรู้สึกว่าถ้าเรียนจบแล้วจะมีความสุข พอเรียนปริญญาตรีจบนะมันบอกต่อเลยต้องเรียนปริญญาโทจึงจะมีความสุข ถ้าได้ปริญญาเอกยิ่งมีความสุขใหญ่ พอเรียนหนังสือจบแล้วก็อย่างนั้นๆเองนะ ไม่ได้มีความสุขตรงไหนเลย ในนี้ก็มีคนได้ปริญญาเอกหลายคนนะก็ไม่เห็นจะว่าจะมีความสุขเท่าไร มันหลอกเราต่ออีกนะ ถ้าได้งานดีๆจะมีความสุข ถ้าได้เงินเดือนเยอะๆจะมีความสุข มีคำว่า ถ้าตลอดเวลานะ ถ้าได้ตำแหน่งใหญ่ๆจะมีความสุข มีแต่คำว่า ถ้า เพราะฉะนั้นชีวิตวิ่งหาความสุขทั้งชาติเลยนะ ต่อไปถ้าได้ครอบครัวที่ดีๆจะมีความสุข มีลูกฉลาดๆจะมีความสุข ต่อไปถ้าแก่ๆนะ ไม่เจ็บไม่ไข้จะมีความสุข พอแก่มากเจ็บป่วยใกล้ตายมาก เราจะรู้สึกขึ้นมาอีกแล้วว่าถ้าตายได้จะมีความสุข ดูจนตายนะยังคิดได้อีกนะว่าถ้าตายแล้วจะมีความสุข เนี่ยนะวิ่งพล่านๆ ยิ่งกว่าหมาถูกน้ำร้อนนะ พูดแบบง่ายๆ วิ่งพล่านตลอดเวลาจะมีความสุขได้อย่างไร

ความสุขมันลอยอยู่ข้างหน้าตลอดเวลา ความสุขวิ่งหาตลอดชีวิตก็ไม่ได้มา วิ่งเหมือนจะหยิบได้นะ เหมือนจะคว้าได้ แล้วก็เลื่อนหายไป

หลุดมือไปแล้วก็ลอยไปอยู่ข้างหน้าอีก วิ่งไปเรื่อยๆ ถ้าเรามาดูใจเราจะเห็นเลยว่าน่าอเนจอนาถน้ำตาแทบล่วงเลย มีแต่ทุกข์ล้วนๆนะ มันดีตรงไหน เฝ้ารู้ไปเรื่อยๆนะ รู้กายไป กายนี้เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ มีความทุกข์บีบคั้นตลอดเวลา จิตใจมีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่ความไม่เป็นอิสระ ถูกกดขี่ถ้าเราสั่งให้ไปเที่ยวแล้วมันไม่ไปเที่ยวพอเร ถกบงคบอยตอ ถูกบังคับอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เจ้านายของตัวเองนะ ไม่ใช่อัตตาได้หรอก ไม่ได้มีเจ้าข้าวเจ้าของกับมันได้ เฝ้าดูเรื่อยๆนะ เราก็จะเริ่มเห็นความจริง ความจริงคือตัวปัญญา เราจะเห็นเป็นลำดับๆ ไป ปัญญาเบื้องต้นเลยเราจะเริ่มเห็นเลย ร่างกายนี้จิตใจนี้ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เริ่มต้นเลยจะเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราก่อน ร่างกายดูง่ายว่าไม่ใช่ตัวเรา แต่จิตใจดูยากว่าไม่ใช่ตัวเรา

พระพุทธเจ้าถึงสอนว่าพระภิกษุทั้งหลายปุถุชนที่ไม่ได้สดับ หรือศาสนาอื่นก็ได้ สามารถเห็นกายที่ไม่ใช่ตัวเรา เพราะว่าเห็นคนโน้นตายเห็นคนนี้ตายนะ เห็นว่าหน้าตาวันนี้กับเมื่อวานไม่เหมือนกัน แต่ท่านบอกว่าปุถุชนที่ไม่ได้สดับไม่ได้ฟังธรรมของท่านจะไม่สามารถเห็นจิตที่ไม่ใช่ตัวเรา พวกเรารู้สึกไหมว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง เราตอนนี้กับเราตอนเด็กๆก็คือเราคนเดิม ในนี้มีเราอยู่คนหนึ่งนะ เราเดี๋ยวนี้กับเราตอนเด็กๆก็ยังเป็นเราคนเดิม เพราะอะไรเพราะเราไม่เห็นความเกิดดับของจิตนี่เอง เราเลยคิดว่าจิตเที่ยง จิตของเราตอนเด็กกับตอนนี้คือคนเดียวกัน จิตของเราตอนนี้กับจิตของเราเย็นนี้เป็นคนคนเดียวกัน เรายังเป็นคนเดิมอยู่ จิตของเราปีนี้กับจิตของเราปีหน้ายังเป็นคนเดิม ตายไปแล้วเราก็ยังว่าอีกว่าจิตชาติหน้ากับจิตเดี๋ยวนี้เรายังเป็นคนคนเดิมอีก เพราะเราไม่เห็นความจริง เราไม่เห็นความจริงว่า จิตเราเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป พระพุทธเจ้าท่านสอน จิตอาศัยอยู่ในกาย ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ทั้งวันทั้งคืน แล้วก็วิ่งไปอย่างรวดเร็ว เราไม่เคยเห็น ถ้ามาคอยรู้มาคอยดู ดูใจของเรา ดูไปเรื่อยๆ ดูจิตใจนะ

ขั้นแรกง่ายที่สุด คอยรู้ความรู้สึกของตัวเองไว้ ความรู้สึกของเราเปลี่ยนแปลงทั้งวันนะ บางวันตื่นขึ้นมาก็สดชื่น บางวันตื่นขึ้นมาก็แห้งแล้ง จิตใจไม่เหมือนกัน ดูเป็นวันๆได้ ก็ดูเป็นเวลา ตอนเช้าบางคนจะรีบมาศาลาลุงชิน นัดเพื่อนไว้แล้วเพื่อนมาสายใจเลยกลุ้มใจหงุดหงิด หลวงพ่อมาใหม่ๆฟังใหม่ๆตื่นเต้น พอฟังมาหลายนาทีชักจะง่วงๆ นี่ดูใจของเรา ความรู้สึกของเรามันเปลี่ยนแปลง หัดดูไปเรื่อยๆ ไม่ใช่หัดบังคับนะ ไม่ได้เรียนเพื่อที่จะบังคับกายบังคับใจ แต่หัดดูให้เห็นความเป็นจริง ว่ากายนี้ใจนี้ไม่เที่ยง กายนี้ใจนี้เป็นทุกข์ กายนี้ใจนี้บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ฝึกบังคับ ฝึกดูให้เห็นความจริง จิตใจนี้ไม่เที่ยงนะ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย สุขก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว ดีก็ชั่วคราว มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ล้วนเป็นของชั่วคราว ดูลงไปอย่างนี้จิตทุกชนิดเลยนะ จิตที่เป็นกุศลก็ชั่วคราว จิตที่เป็นอกุศลก็ชั่วคราว เนี่ยจิตมันเกิดดับๆไปเรื่อยๆ ต่อไปดูให้ละเอียดขึ้นไปอีก จิตที่เกิดทางตาก็ชั่วคราว จิตที่เกิดทางหูก็ชั่วคราว จิตที่ไปคิดก็ชั่วคราว หรืออย่างที่นั่งฟังหลวงพ่ออยู่นี่ เดี๋ยวมองหน้าหลวงพ่อชั่วคราว เดี๋ยวคิดสลับไปสลับมา จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา หัดรู้หัดดูสิ มันทนสติทนปัญญาของเราไม่ได้หรอก

หัดรู้หัดดูเข้าจะเห็นว่าจิตนี้มันไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จิตนี้เป็นอนัตตาบังคับมันไม่ได้ สั่งให้มันดีก็ไม่ได้ ห้ามมันไม่ให้ชั่วก็ไม่ได้ คอยดูไปเรื่อย เดี๋ยวก็เผลอๆนะ หัดดูไป เผลอแว้บไปก็รู้สึกๆ คอยรู้สึกไปเรื่อย จิตที่เผลอไปเป็นอกุศล เผลอขึ้นมาเกิดขึ้นมาห้ามมันไม่ได้ จิตจะรู้สึกตัว รู้ทันว่าเมื่อครู่เผลอไป สั่งให้เกิดก็ไม่ได้นะ ถ้าจิตมันจำได้ว่าเผลอเป็นยังไงสติมันจะเกิดมันจะระลึกได้เลยว่าเผลอไปแล้วนะๆ รู้ตามหลังติดๆไปแบบนี้ตลอดเวลา การดูจิตดูตามหลังไปเรื่อยๆนะ ดูไปเมื่อครู่เผลอไปแล้วๆ รู้ไปเรื่อยๆเมื่อครู่โกรธ เมื่อครู่โลภ คอยรู้คอยดูตามหลังไปเรื่อยๆ เช่นเราขับรถอยู่คนปาดหน้าเรา มันโกรธขึ้นมา โกรธรู้ว่าโกรธ ถ้ารู้ถูกต้องความโกรธจะดับทันที เราก็รู้อีกความโกรธดับลงไปแล้ว ถ้ารู้ไม่ถูกต้อง ความโกรธเกิดขึ้นแล้วอยากให้หายโกรธ จิตมันมีโทสะขึ้นมาอีกแล้ว มีโทสะตัวที่สอง โทสะอันแรกโกรธคนที่ปาดหน้า โทสะที่สองโกรธตัวเองที่มีกิเลส โกรธความโกรธที่เกิดขึ้น เราก็รู้ตามไปทีละขณะๆ จิตใจตอนนี้กำลังเกิดความโกรธตอนแรกอยู่ รู้ทัน พอรู้ทันความโกรธจะดับลงไปเลย จิตจะตื่นขึ้นมาเต็มที่ คอยตามรู้ตามดูไปเรื่อยๆนะไม่ใช่เรื่องยากอะไร

เพราะฉะนั้นธรรมะจริงๆง่ายนะ มันยากเพราะจริงๆเราไม่ค่อยได้ฟัง สิ่งที่พวกเราได้รับการอบรมสั่งสอนส่วนมาก คือ ปุญญาภิสังขา ความปรุงแต่งฝ่ายดี ทันทีที่เรานึกถึงการปฏิบัติเราก็จะบังคับกายบังคับใจตัวเอง บางคนกำหนดลมหายใจนะ หายใจตั้งแต่เกิดไม่เหนื่อยนะ พอกำหนดลมหายใจเหนื่อยจะตายแล้ว บางคนเดินช้อปปิ้งเช้ายันค่ำไม่เหนื่อย เดินจงกรมห้านาทีใกล้จะตายแล้วเหนื่อย ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะมันดัดแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา

รู้สึกไหมเวลามีคนมาหาพระ พวกเราไปดูคนเอาน้ำมาถวายพระ ขณะที่เราดูเขาเราลืมตัวเราเองเรียบร้อยแล้ว เนี่ย!จิตมันหลงไปทางตา รู้สึกไหมพอหลวงพ่อหยุดพูดใจเรามันเริ่มเคลื่อนไหว หัดดูมันลงปัจจุบันไป ง่ายๆ ง่ายมาก บางคนได้ยินหลวงพ่อบอกว่าง่ายมากเลยบอกว่ายากเยอะ ครูบาอาจารย์ทุกองค์ที่หลวงพ่อเคยสัมผัสมาส่วนใหญ่บอกว่าง่าย หลวงปู่ดูลย์ก็ว่าง่าย หลวงปู่เทศก์ก็ว่าง่าย หลวงปู่สิมก็ว่าง่าย หลวงปู่สุวัฒน์ก็ว่าง่าย แต่ท่านก็จะเงียบๆไปครู่หนึ่งนะ แล้วก็บอกว่ายากเหมือนกัน ทำไมมันถึงยากเหมือนกันแหละ เพราะเราไม่เคยเรียนไม่เคยรู้ เราเคยฝึกแต่จะบังคับตัวเอง บังคับกายบังคับใจ คือ อัตตกิลมถานุโยค คือความสุดโต่ง ขั้นบังคับตัวเอง ส่วนทางสายกลาง คือ การให้รู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง จิตใจจะมีความสุข รู้กายจะเห็นเลยว่ากายไม่ใช่ตัวเรา รู้จิตจะเห็นเลยว่ามันไม่เที่ยง เราบังคับไม่ได้ไม่ใช่ตัวเราเหมือนกัน จบแล้วนะ ธรรมะจริงๆมีไม่มากหรอก ครูบาอาจารย์บางท่านตอบนิดเดียวนะ

อย่างหลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า อย่าส่งจิตออกนอก คือ อย่าหลงอย่าเผลอนั่นเอง คอยรู้สึกตัวไว้ หลวงพ่อเทียนท่านก็สอนนะ คิดเหมือนหนูรู้เหมือนแมว ครูบาอาจารย์จริงๆแต่ละองค์สอนนิดเดียว เวลาใจเราคิดก็หลงไป พอเรารู้สึกขึ้นมาก็ไม่หลงแล้ว หลงก็ตายไป เหมือนแมวมาจับหนูไปแล้ว

จริงๆไม่ได้ยากอะไรหรอก หลวงพ่อเทศน์ไม่เป็นนะ เทศน์ไม่เป็นหรอก ธรรมดาจะสอนกรรมฐาน สอนทีละคนสองคน สอนให้หัดดูสภาวะ เช่นขณะนี้ใจลอยก็หัดรู้ไว้นะ ขณะนี้เผลอไปแล้ว ขณะนี้สงสัยขึ้นมาแล้วรู้ไว้นะ หัดรู้ ขณะนี้ฟังแล้วไม่รู้เรื่องแล้วรำคาญก็รู้ว่ารำคาญ ขณะนี้ชักตื้บๆแล้วก็รู้ว่าตื้บๆ หลักจริงๆมีเท่านี้เอง นอกนั้นจะเป็นเรื่องพิธีการเป็นอุบายของแต่ละสำนักที่แตกต่างกัน

สำนักไหนก็ใช้ได้นะ จับหลักไว้ให้แม่น แล้วพอทำสมถะก็ใช้ได้ เช่น ใครหัดพุทโธ ก็พุทโธ ของเราต่อไป พุทโธแล้วก็หัดรู้สภาวะของเราไปนะ เช่น พุทโธ พุทโธ ใจเราแอบไปคิดแล้ว เรารู้ทันว่าใจแอบนี้ไปคิดแล้ว หัดรู้ทันใจตัวเอง หัดรู้สภาวะ พุทโธ พุทโธ ไปใจสงบก็รู้ว่สงบ พุทโธไปวันนี้ใจฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน หัดพุทโธแล้วก็คอยหัดรู้สภาวะในใจที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ใครรู้ลมหายใจก็รู้ลมหายใจต่อไปนะ ห้ามเลิกหายใจนะ ให้หายใจเข้าไว้ตลอดชีวิต หายใจเข้าไว้อย่าหยุด

หายใจไปๆจิตหนีไปคิดรู้ว่าจิตหนีไปคิด หายใจไปแล้วจิตไปเพ่งลมหายใจก็รู้ว่าไปเพ่งลมหายใจ หายใจแล้วมีปิติมีความสุขก็รู้ว่ามีปิติรู้ว่ามีความสุข เกิดวันนี้หายใจไปแล้วฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน หายใจแล้วรำคาญหงุดหงิดก็รู้ว่ารำคาญหงุดหงิด หายใจแล้วรู้ว่าจิตใจเป็นอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น คนไหนหัดดูท้องพองยุบก็ดูไป หลวงพ่อไม่ได้ห้าม ดูท้องพองยุบเรื่อยๆใจหนีไปคิดอีกแล้ว ใจหนีไปคิดก็รู้ทัน ใจเข้าไปเพ่งที่ท้องก็รู้ทัน ใจเป็นสุขเป็นทุกข์ใจเกิดกุศลเกิดอกุศลก็รู้ทัน

หัดรู้สภาวะของใจไว้ คนไหนขยับมืออย่างสายหลวงพ่อเทียนนะ หัดจังหวะขยับมือ ก็ขยับมือต่อไปได้ไม่ได้ห้าม ขยับไปสักพักหนึ่งจิตหนีไปคิดแล้วก็รู้จิตหนีไปคิด ขยับแล้วจิตเข้าไปเพ่งที่มือก็รู้ว่าไปเพ่งที่มือ ขยับไปแล้วจิตเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกุศลเป็นอกุศลก็รู้ ขยับไปแล้วก็คอยรู้สภาวะของจิตใจไปเรื่อยๆ ใครเดินจงกรมก็ดูไปๆ จิตไปคิดก็รู้ จิตเข้าไปเพ่งที่เท้าก็รู้ จิตเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกุศลเป็นอกุศลก็รู้ ฉะนั้นสรุปแล้วทำกรรมฐานอะไรก็ได้ในเบื้องต้น ทำสักอย่างหนึ่งก่อน ทำเพื่ออะไรทำเพื่อจะได้หัดรู้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเอง

มีรูปแบบการปฏิบัติสักอย่างหนึ่งเป็นตัวตั้ง ถนัดอะไรเอาอันนั้นแหละ ทำกรรมฐานอันนั้นแล้วจิตเป็นอย่างไรคอยรู้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดเมื่อเราเห็นซ้ำๆไปนานนะ พอจิตเผลอแล้ว จิตเคยรู้จักแล้วว่าเผลอเป็นอย่างไร สติจะเกิดเอง สติเกิดจากการที่จิตจำสภาวะได้ สติไม่ได้เกิดจากการสั่งให้เกิด สั่งให้เกิดไม่ได้เพราะสติเองก็เป็นอนัตตา ถ้ามีเหตุสติจึงเกิด

เหตุของการเกิดสติ คือจิตจำสภาวะได้ เราจึงต้องหัดรู้กายเนืองๆ หัดรู้จิตเนืองๆ เพื่อให้จิตมันจำสภาวะได้ เช่น ขยับแล้วคอยรู้สึกๆ ต่อมาเราเผลอขยับเอง เราขยับตัวปั๊บ สติจะเกิดเองจะรู้สึกตัวขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ หัดดูใจใจวิ่งไป ใจเพ่ง ใจเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นกุศลอกุศล หัดรู้ไปเรื่อยนะ ต่อมาเราเผลอๆ เช่น เราฟังข่าวโทรทัศน์เราไม่ชอบการเมืองฟังข่าวแล้วหงุดหงิด สติจะเกิดทันทีเลย ความหงุดหงิดเกิดขึ้นแล้วสติจะเห็นทันทีเห็นโดยไม่ได้เจตนาจะเห็น สติตัวจริงเกิดขึ้นโดยไม่ได้เจตนาให้เกิด

ทันทีที่สติตัวจริงเกิดขึ้นจิตจะเป็นกุศล จะมีความสุขในฉับพลัน จิตจะโปร่งใจจะโล่ง จะเบาในฉันพลัน จิตใจจะตั้งมั่นอยู่ที่เนื้อที่ตัวไม่ลืมเนื้อลืมตัว นี่สัมมาสมาธิเกิดเลย ทันทีที่สติเกิดจิตมีความสุข จิตมันเป็นกุศลมันมีความสุข จิตที่มีความสุขมันทำให้สมาธิเกิดขึ้น เช่นเรามีความสุขในการเล่นไพ่เราจะมีสมาธิในการเล่นไพ่ มีความสุขในการอ่านหนังสือจะมีสมาธิในการอ่านหนังสือ มีความสุขจากการที่ได้รู้กายรู้ใจเราจะมีสมาธิในการรู้กายรู้ใจ จิตใจจะตั้งมั่นอยู่กับกายกับใจ สมาธิจะเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

พอเรามีสติรู้สึกอยู่ที่กายรู้อยู่ใจจิตใจตั้งมั่นมีสมาธิอยู่ที่กายอยู่ใจตั้งไปนานๆรู้ไปบ่อยๆในที่สุดเราจะเห็นความเป็นจริงของกายของใจ ปัญญาก็คือการเห็นความเป็นจริงของกายของใจนั่นเอง กายเป็นทุกข์ล้วนๆนะกายเป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุนี่เรียกว่าปัญญา

จิตใจไม่เที่ยงจิตใจเป็นของบังคับไม่ได้สั่งให้สุขไม่ได้สั่งให้ไม่ให้ทุกข์ก็ไม่ได้ สั่งให้ดีก็ไม่ได้ห้ามชั่วก็ไม่ได้นี่เรียกว่าเห็นอนัตตา ดูกายดูใจไปในที่สุดก็เห็นกายกับใจมันไม่เที่ยงมันเป็นทุกข์มันเป็นอนัตตามันไม่ใช่ตัวเรา ผู้ใดเห็นว่ากายกับใจไม่ใช่ตัวเราจะได้พระโสดาบัน จิตมันจะรวมเข้ามานะจิตมันจะรวมเอง รวมเข้าอัปปนาสมาธิเองแล้วมันจะตัด ไม่ใช่โมเมเป็นพระโสดาบันตามใจชอบนะ มันมีกระบวนการที่จิตจะตัด อันนี้พระอภิธรรมสอนไว้ชัดๆไม่ใช่หลวงพ่อสอนนะ

เบื้องต้นจะเห็นเลยกายกับใจไม่ใช่เรา เห็นเลยกายกับใจเป็นของที่ยืมโลกเขามาใช้ เราไปยืมเขามาแต่เรางกยืมมาแต่หวงนะไม่คืนเจ้าของ คล้ายๆเรายืมเสื้อสวยๆเขามาใส่นะ ยืมมาแล้วยืมเลยไม่ยอมคืนแต่รู้แล้วว่าไม่ใช่ของเรา พระโสดาบันนะรู้แล้วว่ากายกับใจไม่ใช่ของเราแต่หวง เพราะรู้ไปเรื่อยๆกายนี้มันทุกข์ล้วนๆนี่ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้างจิตก็ปล่อยวางความยึดถือกายได้จิตจะมาตั้งมั่นทรงตัวเด่นอยู่สว่างไสวอยู่มีความสุขอยู่ที่จิตอันเดียวปล่อยวางกายได้นี่ภูมิของพระอนาคามี ต่อมาสติปัญญาแก่รอบจริงๆจิตจะเห็นว่าจิตนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆไม่ใช่ตัวสุขนะ แต่เดิมคิดว่าจิตผู้รู้เป็นตัวสุข จิตที่หลงตามกิเลสเป็นตัวทุกข์พระอนาคามีก็ยังรู้สึกอย่างนั้นพระอนาคามียังรู้สึกว่าจิตผู้รู้เป็นตัวสุข จิตตัวผู้รู้ยังเป็นตัวดี จิตที่หลงไปจากการรู้เป็นไม่ดีเป็นตัวทุกข์ จะเห็นเป็นสองอัน พอสติปัญญาแก่รอบจริงๆ จิตเป็นตัวทุกข์ล้วนๆเลย ธาตุรู้ตัวผู้รู้ที่ว่าวิเศษวิโศมันไม่เที่ยงมันเศร้าหมองได้ มันผ่องใสได้มันก็เศร้าหมองได้ มันเศร้าหมองได้มันก็ผ่องใสได้อีกไม่เที่ยงมันเป็นทุกข์ ทุกข์ล้วนๆทุกข์ไม่มีอะไรเหมือนในทางโลกในทางร่างกายหลวงพ่อเคยได้ยินว่า (ผู้หญิงเขาเล่าว่า)เวลาออกลูกนี่ทุกข์ที่สุดในโลก หลวงพ่อไม่เคยออกลูกนะหลวงพ่อเลยไม่รู้ว่าทุกข์ที่สุดในโลกทางกายเป็นอย่างไร พวกเรามาหัดดูนะทุกข์ที่สุดในโลกทางใจคือตัวจิตผู้รู้เรานี่แหละจะทุกข์ที่สุดในโลกให้ดูพอเห็นว่าเป็นตัวทุกข์จริงๆแล้วจะปล่อยวางแล้วก็จะไม่ไปหยิบฉวยอะไรขึ้นมาอีก เพราะรู้แล้วว่าขนาดสิ่งที่ดีที่สุดสิ่งที่วิเศษที่สุดยังเป็นตัวทุกข์เลย

บางท่านสติปัญญากล้าเห็นเลยว่าจิตผู้รู้ไม่ใช่เราขว้างทิ้งเลยนะท่านปล่อยวางทิ้งเฉยๆเลย ปล่อยวางได้เห็นว่ามันว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนไม่ใช่ตัวเราไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วยสลัดทิ้งไป คราวนี้ปล่อยวางความยึดถือจิตได้แล้วมันไปอีกแบบหนึ่งแล้ว มีความสุขล้วนๆ ค่อยๆฝึกนะค่อยๆ

ธรรมะของพระพุทธเจ้าอัศจจรรย์เข้าใจนิดหน่อยก็มีความสุขแล้วแค่สติเกิดก็มีความสุขแล้ว สัมมาสมาธิเกิดก็ยิ่งมีความสุขเกิดขึ้นไปอีก ปัญญาเกิดก็มีความสุขอีก วิมุติเกิดก็มีความสุขมากนะ นิพพานยิ่งมีความสุขที่สุดเป็นลำดับๆไปเราศึกษาธรรมะเราจะมีแต่ความสุขทั้งๆที่เราเห็นแต่ทุกข์ล้วนๆมันอัศจรรย์ เรียนรู้แต่ทุกข์ก็สุขนะ เที่ยวแสวงหาความสุขเที่ยวหนีความทุกข์ไม่พ้นเลยทุกข์อย่างเดียวคอยรู้ไปนะไม่มีอะไรสอนเนาะหลวงพ่อก็พูดส่งเดชไปเรื่อยๆแหละ คนเคยฟังหลวงพ่อที่เมืองกาญจนฯมั่งที่เมืองชลฯมั่งนะก็ฟังซ้ำซากแบบนี้ไปทุกวัน ขี้เกียจมาฟังก็เอาซีดีไปฟังนะ

ธรรมะที่หลวงพ่อเทศน์แต่ละครั้งฟังครั้งเดียวก็พอแล้วล่ะ ใครอัดเทปไว้ก็ไปฟังล้วฟังอีกฟังจนเทปยืดจนตื่นขึ้นมา หลายคนฟังอยู่ม้วนเดียวนั่นแหละฟังจนตื่นขึ้นมา คนฟังซีดี ซีดีฟังก็นานหน่อยนะสิบกว่าชั่วโมง ฟังไปเรื่อยๆแล้วก็สังเกตใจตัวเองไปเรื่อย เดี๋ยวฟังไปเดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์เดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวร้ายฟังไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็ตื่นขึ้นมา คนที่ฟังแล้วตื่นขึ้นมาก็มีจำนวนมากมายนะไม่ใช่ร้อยเดียวแล้วมีจำนวนมาก พอตื่นขึ้นมาสติปัญญาจะหมุนกี่รอบตัวแล้วล่ะตามรู้กายไม่ใช่เราตามรู้จิตมันไม่ใช่เรา รู้สึกขึ้นมาไม่ใช่คิดเอานะ

วิปัสสนาไม่ใช่คิดเอาต้องรู้สึกเอา รู้สึกได้ถ้าใจเราไม่หลงไม่เผลอรู้กายรู้ใจขึ้นมา เพราะฉะนั้นให้การบ้านนะไปทำเอาเอง ส่วนหนังสืออ่านยากนะอ่านยาก ฟังซีดีก่อนง่ายกว่าฟังไปแล้วคอยสังเกตใจ ต่อไปสักพักหนึ่งไปอ่านหนังสือจะเกิดความเข้าใจนะ ซีดีหลวงพ่อกับหนังสือหลวงพ่อรับรองไม่เหมือนใครนะ ฟังแต่ละครั้งอ่านแต่ละครั้งเข้าใจไม่เหมือนกัน กล้าท้าเลยนะลองดูฟังสักรอบหนึ่งแล้วลองปฏิบัติแล้วก็มาฟังใหม่เข้าใจไม่เหมือนเดิมหรอกลองอ่านดูแล้วปฏิบัติแล้วมาอ่านใหม่รับรองไม่เหมือนเดิม มีเรื่องที่เราเคยอ่านแล้วก็ไม่สะดุดสะใจข้ามไปเยอะแยะเลยจะค่อยๆกระจ่างไปทีละจุดทีละจุด ค่อยๆฟังไปค่อยๆศึกษาไป ไม่ต้องรีบร้อนนะ

หลวงปู่เทสก์บอกว่าชีวิตเป็นของหาง่ายไม่ต้องรีบร้อนปฏิบัติเนี่ยปฏิบัติกันทั้งชีวิตเลย ค่อยๆทำค่อยๆดูค่อยๆรู้ แต่ไม่ขี้เกียจนะไม่ได้บอกให้ขี้เกียจนะต้องดูทุกวันยิ่งดูมากเท่าไรยิ่งดี แต่ไม่ใช่ดูแบบรุกรี้รุกรนอยากจะได้ความรู้ไวๆอยากจะหลุดพ้นไวๆ พวกนี้ไม่หลุดพ้นหรอก

คอยดูดูเล่นๆไปแต่ดูทุกวันต่อไปจะเข้าใจไม่อยากหรอก พอเข้าใจมันก็จะปล่อยวางได้ ปล่อยวางได้เพราะว่ามันเกิดความรู้ความเข้าใจเกิดปัญญาปล่อยวางได้ไม่ใช่เพราะว่าบังคับเอา หลายคนชอบบังคับตัวเอง บังคับปล่อยวางไม่ได้หรอกมันเก็บกดเฉยๆ ดูดีดูเรียบร้อยไม่ดีจริงหรอก

หลวงพ่อเคยสอนคนแค่ไม่กี่คนนะ คนเยอะๆไม่รู้จะพูดอย่างไร เห็นหน้าก็ตาลายแล้ว สังเกตเวลาหลวงพ่อพูดเล่นเราจะรู้สึกผ่อนคลายรู้สึกไหม รู้ทันความรู้สึกของตัวเอง นั่งฟังหลวงพ่อแล้วคิดมาก รับรองเลยไม่มีใครฟังหลวงพ่อรู้เรื่องหรอก เพราะธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการฟังเอาเอง อ่านอย่างไรก็ไม่รู้เรื่องนะธรรมะ เรียนไม่ได้ด้วยการอ่าน ธรรมะตัวจริงเรียนได้ด้วยการเข้าไปสัมผัสการเข้าไปรู้สึกเอา รู้สึกอยู่ที่กายก็เข้าใจความเป็นจริงของกาย รู้สึกอยู่ที่ใจก็เข้าไปเข้าใจความเป็นจริงของจิตใจอ่านอย่างไรก็ไม่รู้เรื่องนะธรรมะอาเอง่องหรอก

คราวนี้ปล่อยวางความยึดถือจิตได้แล้ว่วิเศายเป็นอย่างไร

อ่านอย่างไรก็ไม่รู้เรื่องนะธรรมะอาเอง่องหรอก


CD: ศาลาลุงชิน ครั้งที่ ๑
วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙
File: 490521.mp3

< ! [if gte mso 9]> Normal 0 false false false MicrosoftInternetExplorer4 < ![endif] >< ! [if gte mso 9]> < ![endif] >< ! /* Font Definitions */ @font-face {font-family:"Angsana New"; panose-1:2 2 6 3 5 4 5 2 3 4; mso-font-charset:0; mso-generic-font-family:roman; mso-font-pitch:variable; mso-font-signature:16777219 0 0 0 65537 0;} /* Style Definitions */ p.MsoNormal, li.MsoNormal, div.MsoNormal {mso-style-parent:""; margin:0cm; margin-bottom:.0001pt; mso-pagination:widow-orphan; font-size:16.0pt; font-family:"Angsana New"; mso-fareast-font-family:"Times New Roman";} @page Section1 {size:612.0pt 792.0pt; margin:72.0pt 90.0pt 72.0pt 90.0pt; mso-header-margin:36.0pt; mso-footer-margin:36.0pt; mso-paper-source:0;} div.Section1 {page:Section1;} >< ! [if gte mso 10]> < ! /* Style Definitions */ table.MsoNormalTable {mso-style-name:ตารางปกติ; mso-tstyle-rowband-size:0; mso-tstyle-colband-size:0; mso-style-noshow:yes; mso-style-parent:""; mso-padding-alt:0cm 5.4pt 0cm 5.4pt; mso-para-margin:0cm; mso-para-margin-bottom:.0001pt; mso-pagination:widow-orphan; font-size:10.0pt; font-family:"Times New Roman"; mso-bidi-font-family:"Times New Roman"; mso-ansi-language:#0400; mso-fareast-language:#0400; mso-bidi-language:#0400;} > < ! [endif] >

หลวงพ่อเคยสอนคนแค่ไม่กี่คนนะ คนเยอะๆไม่รู้จะพูดอย่างไร เห็นหน้าก็ตาลายแล้ว สังเกตเวลาหลวงพ่อพูดเล่นเราจะรู้สึกผ่อนคลายรู้สึกไหม รู้ทันความรู้สึกของตัวเอง นั่งฟังหลวงพ่อแล้วคิดมาก รับรองเลยไม่มีใครฟังหลวงพ่อรู้เรื่องหรอก เพราะธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการฟังเอาเอง อ่านอย่างไรก็ไม่รู้เรื่องนะธรรมะ เรียนไม่ได้ด้วยการอ่าน ธรรมะตัวจริงเรียนได้ด้วยการเข้าไปสัมผัสการเข้าไปรู้สึกเอา รู้สึกอยู่ที่กายก็เข้าใจความเป็นจริงของกาย รู้สึกอยู่ที่ใจก็เข้าไปเข้าใจความเป็นจริงของจิตใจอ่านอย่างไรก็ไม่รู้เรื่องนะธรรมะอาเอง่องหรอก

คราวนี้ปล่อยวางความยึดถือจิตได้แล้ว่วิเศายเป็นอย่างไร

<><><>< -->

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 324 times, 1 visits today)

Comments are closed.