Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

สติคืออะไร: ทำอย่างไรสติจึงเกิดได้บ่อย?


MP3 (for download): สติคืออะไร :-ทำอย่างไรสติจึงเกิดได้บ่อย?

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.


ขอขอบคุณ บ้านจิตสบาย ที่เอื้อเฟื้อภาพ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

หลวงพ่อปราโมทย์: สติคืออะไร สติคือความระลึกได้ อย่าไปแปลสติว่ากำหนดนะ สติไม่ได้แปลว่ากำหนด คนรุ่นหลังไปแปลสติว่ากำหนดแล้วภาวนาเพี้ยนไปหมดเลย เวลาเขียนหนังสือก็ไปเติมคำว่ากำหนดลงไปตามใจชอบ อย่าง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยัน ทุกข์เป็นของควรรู้รอบ ก็ไปแปลว่าทุกข์ต้องกำหนดรู้ เติมเอาเอง ไม่มีตัวไหนที่แปลว่ากำหนดเลย ชอบเติมเอง เติมคำว่ากำหนดลงไปเพราะมันรู้สึกว่าได้ทำอะไรซักหน่อย ตรงที่จงใจจะทำนั่นแหละ โลภะเจตนาจะเกิดแล้วสติไม่เกิดหรอก เพราะฉะนั้นสติไม่ได้แปลว่ากำหนด กำหนดคือการกดเอาไว้ การข่มเอาไว้ กำหนดเป็นภาษาเขมร เป็นคำแผลง มาจากคำว่า กด  ข่มไว้กดไว้บังคับไว้ ควบคุมไว้ สติไม่ได้มีหน้าที่ควบคุมบังคับ สติมีหน้าที่ระลึกรู้

เพราะฉะนั้นทำอย่างไรสติจึงจะระลึกได้ เช่น ความโกรธเกิดขึ้น สติระลึกได้ว่าโกรธแล้ว ความโลภเกิดขึ้น สติระลึกได้ว่าโลภแล้ว ใจลอยไปสติระลึกรู้ได้ว่าใจลอยไปแล้ว นี่ความระลึกได้ สติมันจะระลึกได้นะมันต้องเห็นสภาวะบ่อยๆ เหมือนอย่างเรานี่ เห็นคนเดินมา เหมือนอย่างเห็นชมพูมา ชมพูมาวัดบ่อยๆ พอเห็นชมพูมานะ หลวงพ่อก็นึกได้ อ้อ นี่ชมพูมาแล้ว จำได้ ชมพูนะ ไม่ใช่สุเมธ สุเมธไม่ใช่ชมพู ไม่ใช่อุษา ไม่ใช่แก้ว ไม่ใช่คนโน้นคนนี้ หลายคนอยากให้เอ่ยชื่อแล้ว (โยมหัวเราะ) จะถึงเราไหม จะเรียกชื่อเราไหม นี่เราจะจำได้ถ้าเราเห็นบ่อย

สติจะระลึกได้ว่าความโกรธเกิดขึ้นแล้วถ้าเห็นความโกรธบ่อยๆ สติจะระลึกได้ว่าความโลภเกิดขึ้นแล้วถ้าเห็นความโลภบ่อยๆ สติจะระลึกได้ว่าใจลอยหลงไปแล้ว ถ้ารู้เคยเห็นความใจลอยบ่อยๆ อยู่ที่เห็นบ่อยๆ ภาษาบาลีเรียกว่า มีถิรสัญญา ถิรสัญญา คือการที่จิตจำสภาวะได้แม่น จิตจะจำสภาวะได้แม่นเมื่อจิตเคยเห็นสภาวะบ่อยๆ  เพราะฉะนั้นเราจะต้องฝึกหัดดูสภาวะ เห็นไหมกรรมฐานของหลวงพ่อไม่ได้เริ่มตรงที่ว่าจะเดินท่าไหน จะนั่งท่าไหน จะกินอย่างไร จะนอนอย่างไร จะกระดุกกระดิกอย่างไร กรรมฐานของหลวงพ่อเริ่มตรงที่ว่า หัดดูสภาวะ จำไว้นะ สิ่งที่สอนมาตลอดเวลาคือพาดูสภาวะ ใจลอยไปแล้ว ใจหลงไปแล้ว เห็นไหม ร่างเคลื่อนไหวแล้ว ร่างกายหยุดนิ่ง ร่างกายเคลื่อนไหว เวทนาเกิดขึ้นแล้ว เวทนาดับไปแล้ว โลภโกรธหลงเกิดขึ้นแล้ว โลภโกรธหลงดับไปแล้ว ปิติสุขเกิดแล้ว หัดดูสภาวะไป

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ให้การบ้าน พวกเราทั้งหลายผู้ปฏิบัตินะ ไม่ว่าจะมาจากผาซ่อนแก้ว มาจากบ้านอารีย์ แล้วมีอะไรอีก นครสวรรค์ ไม่ว่าจะมาจากไหน รวมทั้งมาจากที่อื่นด้วย หัดดูสภาวะไป การหัดรู้สภาวะนี่แหละคือต้นทางของการปฏิบัติ ถ้าดูสภาวะไม่เป็น สภาวะคืออะไร คือรูปธรรมนามธรรม คือกายกับใจนี้แหละ ดูสภาวะไม่เป็นจะทำวิปัสสนาไม่ได้ ทำวิปัสสนาต้องรู้สภาวะ รู้กายรู้ใจ รู้รูปรู้นาม หัดรู้บ่อยๆ เช่น หายใจออกก็รู้สึกตัว หายใจเข้าก็รู้สึกตัว รู้บ่อยๆ เห็นร่างกายมันหายใจ รู้สึกบ่อยๆ นะ ยืน เดิน นั่ง นอน คอยรู้สึกตัว ไม่ไปเพ่ง ไม่ได้เพ่งให้นิ่ง ยืน เดิน นั่ง นอน คอยรู้สึกตัวไป ต่อไปเวลาขาดสติ พอร่างกายขยับนิดเดียว สติจะเกิดเอง มันจะระลึกได้ว่าร่างกายเคลื่อนไหว

หัดรู้ไปเรื่อยๆ บางคนก็หัดดูเวทนา เบื้องต้นหัดอันใดอันหนึ่งก่อนก็ได้ที่เราถนัด คนไหนถนัดที่จะรู้กายนะ ก็เห็นร่างกายมันทำงานไป เห็นร่างกายมันยืนเดินไป เราเป็นคนดู บางทีก็เป็นคนดู บางทีก็เผลอไปที่อื่น ตรงที่เผลอไปที่อื่นเรียกว่าขาดสติ ตรงที่เห็นร่างกายมันยืนเดินนั่งนอนอยู่นี่ เรียกว่ามีสติ แต่ต้องเรียนอีกตัวนะ ตัวสัมมาสมาธิ เพราะมีสติแล้วชอบไปเพ่ง ถ้าเพ่งไม่มีสัมมาสมาธิ จะไม่มีปัญญา จะได้แต่สมถะ

หัดดูสภาวะไป เช่น ใจมันโกรธขึ้นมาก็รู้ ใจมันโลภขึ้นมาก็รู้ ใจมันหลงไปก็รู้ ใจฟุ้งซ่านก็คอยรู้ ใจหดหู่ก็รู้ หัดดูไปเรื่อย เบื้องต้นนะเราจะเห็นว่าแต่ละวันความรู้สึกของเราไม่เหมือนกัน บางวันสุขบางวันทุกข์ บางวันดีบางวันร้าย หัดดูอย่างนี้ ดูเป็นวันๆ ไปเลย เบื้องต้นง่ายที่สุดแล้ว วันนี้อารมณ์แจ่มใส นี่ดูภาพรวม วันนี้อารมณ์ร้าย เห็นเป็นภาพรวมไป ต่อไปเราดูได้ละเอียดขึ้น เราเห็นว่าในวันเดียวกันนะ เช้า สาย บ่าย เย็น ความรู้สึกของเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตอนเช้าความรู้สึกอย่างนี้ ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนเย็น ตอนค่ำ ตอนดึก ความรู้สึกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ฝึกดูอย่างนี้จนชำนาญนะ

ต่อไปดูเป็นขณะ ขณะที่มองเห็นความรู้สึกเป็นอย่างนี้ ขณะที่ได้กลิ่นความรู้สึกเป็นอย่างนี้ ขณะที่รู้รสความรู้สึกเป็นแบบนี้ เช่น กินของอร่อย ความรู้สึกชอบเกิดขึ้น กินของไม่อร่อย ความรู้สึกไม่ชอบเกิดขึ้น ใจเราคิด เรานึก เราปรุง เราแต่ง คิดเรื่องนี้มีความสุข คิดเรื่องนี้มีความทุกข์ คอยรู้ทันใจ หัดรู้อย่างนี้แหละเรียกว่า การหัดรู้สภาวะ รู้กายร่างกายเคลื่อนไหวก็ดูมันไป เห็นกายมันทำงาน ยืน เดิน นั่ง นอนไป เดี๋ยวก็เผลอ ถ้าเผลอนี่ขาดสติ ถ้ายังเห็นกายเห็นใจอยู่ แต่ไม่ได้จงใจนะ อย่าจงใจแรง ถ้าจงใจแรงเป็นการเพ่ง รู้เล่นๆ รู้สบายๆ ต้องสบายนะ จำไว้นะ กรรมฐานต้องสบาย เพราะประโยคแรกที่หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อนะ ก็คือ การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ ผู้ไม่ปฏิบัติคือ ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ผู้บังคับกดข่มตัวเอง ผู้ปฏิบัติคือผู้ตามรู้กายตามรู้ใจ หัดดูกายดูใจ หัดดูสภาวะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในกายในใจ คอยรู้สึกไปเรื่อย จนจิตมันจำสภาวะแม่นแล้ว สติจะเกิดเอง

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 11,591 times, 2 visits today)

Comments are closed.