Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

ถิรสัญญาและการฝึกให้เกิดสติตัวจริง


MP3(for download): ถิรสัญญาและการฝึกให้เกิดสติตัวจริง

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์: ต้องฝึกให้สติแท้ๆ เกิดขึ้นมา วิธีที่จะให้สติเกิดก็ไม่ใช่บังคับให้เกิด ไม่ใช่กำหนดให้เกิดนะ พระอภิธรรมสอนไว้ชัดเลย เหตุใกล้ของสติคือ ถิรสัญญา คือการที่จิตจำสภาวะได้แม่น

ที่มาเรียนที่หลวงพ่อ ทำไมพวกเราพัฒนารวดเร็ว หลวงพ่อพาดูสภาวะ สอนให้หัดรู้จักสภาวะ สอนเข้าประเด็นเลยนะ ตรงกับที่อภิธรรมเป๊ะเลย

หัดดูสภาวะไป ความโลภเกิดขึ้นก็รู้สึก ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้นรู้สึกนะ ความสุขความทุกข์เกิดขึ้นรู้สึก อะไรๆ เกิดขึ้นรู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก ร่างกายหยุดนิ่งรู้สึก

คอยรู้สึกไป ไม่ได้เพ่งไม่ได้กำหนดนะ คอยรู้สึก พอจิตจำสภาวะได้แม่นต่อไปสติจะเกิดเอง

เช่น เราคอยดูใจของเราเรื่อยๆ ใจเราแอบไปคิดแล้วรู้ ใจเราแอบไปคิดแล้วรู้ เราซ้อมทุกวันนะ

วิธีซ้อมก็เช่น ไหว้พระไป สวดมนต์ไป อรหังสัมมา สัมพุทโธ ภควา ใจแอบไปคิดแล้วรู้ทันว่าใจหนีไปคิด แล้วก็ พุทธัง ภควันตัง ยังไม่ทัน อภิวา เลย หนีไปคิดอีกแล้ว รู้อีกว่าหนีไปคิด ฝึกอย่างนี้ จิตมันจำได้ว่าหลงไปคิดเป็นยังไง

หรือคนไหนดูท้องพองยุบนะ ดูเล่นๆ อย่าให้ใจไหลไปอยู่ที่ท้อง ดูเล่นๆ ไป เห็นใจไหลไปที่ท้องก็รู้ทัน ใจแอบไปคิดก็รู้ทัน นี่คือการซ้อมรู้สภาวะ

คนไหนเคยฝึกลมหายใจก็รู้ลมหายใจไป เห็นร่างกายมันหายใจไป นี่ก็รู้สภาวะนะ เห็นร่างกายหายใจ ไม่ใช่เราหายใจแล้ว

หายใจไปๆ จิตไปเพ่งอยู่ที่ลม ก็รู้ว่าจิตไปเพ่งลมหายใจ นี่ก็เป็นการรู้สภาวะของจิต หายใจแล้วจิตแอบไปคิด รู้ว่าจิตไปคิด นี่ก็เป็นการรู้สภาวะของจิต 

หัดรู้สภาวะของกายของใจเรื่อยๆ ไปแล้วสติจะเกิดนะ

.

หลวงพ่อมีวันหนึ่งนะ หาหลวงพ่อเทียนเห็นท่านนั่งขยับมือก็ลองมาทำเล่นบ้าง วันหนึ่งเดินอยู่ริมถนนเห็นเพื่อนมันเดินอยู่อีกฝั่งถนนนะ ดีใจไม่เจอนานแล้ว

ก้าวขาจะไปคุยกับมัน ดีใจแล้วไม่เห็นว่าดีใจ พอเท้าเคลื่อนไหวนี่นะ เราเคยขยับมือแล้วรู้สึก คราวนี้มือยังไม่ทันขยับเลย ขาขยับนี่นะ รู้สึกตัวขึ้นมาเลย

หลุดออกจากโลกของความหลงรู้สึกตัวขึ้นมาได้ ดูกายก็รู้สึกตัวเป็นนะ ดูจิตใจไปก็รู้สึกตัวได้

เพราะฉะนั้น รู้ว่าใจเผลอไป รู้บ่อยๆ นะ พอใจเผลอไปเมื่อไหร่ สติเกิดเอง หัดดูสภาวะกายก็ได้ สภาวะของจิตก็ได้ สติที่เกิดขึ้นจะเหมือนกันเปี๊ยบเลย เป็นอันเดียวกัน

พอสติเกิดแล้ว มันจะรู้กายบ้าง รู้เวทนาบ้าง รู้จิตบ้าง เลือกไม่ได้หรอกว่ามันจะรู้อะไร มันรู้ของมันเอง ไม่มีแล้วนะสายกายสายจิต สายโน้นสายนี้ไม่มีอีกต่อไปแล้ว

มีแต่ว่าขณะนี้มีสติหรือขณะนี้ขาดสติเท่านั้นเอง ที่ว่าเริ่มต้นด้วยกาย เริ่มต้นด้วยเวทนา เริ่มต้นด้วยจิต อันนั้นแค่จุดเริ่มต้นเพื่อฝึกให้มีสติเท่านั้น

ทำไมต้องเริ่มต้นด้วยอันไหนอันหนึ่ง เพื่อจะได้เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก จะได้จำสภาวะได้แม่น

ถ้าเริ่มต้นอย่างจับจด เดี๋ยวก็รู้กาย เดี๋ยวก็รู้เวทนา เดี๋ยวรู้ลม เดี๋ยวรู้ท้อง เดี๋ยวรู้เท้า เดี๋ยวไปรู้ใจที่มีสุข ใจมีทุกข์ ใจหนัก ใจเบา เดี๋ยวรู้โลภโกรธหลง รู้ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวรู้โน่นรู้นี่มั่วซั่วไป สติเกิดยากเพราะจิตจำสภาวะไม่แม่น

.

เพราะฉะนั้นเบื้องต้นนะ หาอะไรมาทำซักอันหนึ่ง ทำเล่นๆ นะ อย่าทำด้วยความคาดหวังว่าจิตจะสงบ

รู้ลมหายใจก็รู้เล่นๆ ดูท้องพองยุบก็ดูเล่นๆ จะเดินจงกรมก็เดินเล่นๆ ทำอะไรทำเล่นๆ ไว้ ทำเล่นๆ ไปแล้วค่อยๆ ดูไป

ร่างกายมันเคลื่อนไหวก็รู้สึก ร่างกายมันหยุดนิ่งก็รู้สึกนะ แต่ไม่เพ่งนะ ต้องระวังอย่าไปเพ่งกายอย่าไปเพ่งจิต

หรือสวดมนต์ก็ได้อย่างที่ว่านะ อรหังสัมมา ใจลอยแว๊บ รู้สึก สัมพุทโธ ภควา ลอยอีกแว๊บ รู้สึก หัดไป เบื้องต้นเอาอันใดอันหนึ่งก่อน

หรือเดินจงกรมนะ เดินจงกรม เห็นร่างกายมันเดินไปเรื่อยๆ ใจเราเป็นคนดูสบายๆ เดินไปอย่างนี้ ดูไปสบายๆ เห็นรูปมันเคลื่อนไหวไป ใจเราอยู่ต่างหาก ต่อไปมันก็จะรู้ทั้งกายรู้ทั้งจิต

เบื้องต้นนะ รู้อันใดอันหนึ่ง เช่น เห็นร่างกายมันเดินไป ถ้าดูได้ถูกต้องไม่ไปเพ่งกายนะ ต่อไปก็รู้ทั้งกายรู้ทั้งจิต

เห็นท้องมันพองท้องมันยุบ ถ้าไม่ไปเพ่งท้องนะ ต่อไปก็จะรู้ทั้งกายรู้ทั้งจิต

หัดดูจิตที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไปเรื่อย ต่อไปก็รู้ทั้งกายรู้ทั้งจิต มันรู้ทั้งหมดไม่ได้รู้อันเดียวหรอก

.

เวลาที่สติที่แท้จริงเกิดนะ เดี๋ยวก็รู้กาย เดี๋ยวก็รู้เวทนา เดี๋ยวก็รู้จิต แต่ทุกสิ่งแสดงธรรมะเรื่องเดียวกัน คล้ายๆ มีครูหลายคนนะ ครูเวียนกันเข้ามาสอนเราตลอดเวลาเลย

เดี๋ยวครูยิ้มหวานมา เดี๋ยวครูหน้ายักษ์มา เดี๋ยวครูใจดี เดี๋ยวครูใจร้าย หมุนเวียนเข้ามาสอนเราทั้งวันเลย

สอนเรื่องเดียวกันคือสอนไตรลักษณ์ทั้งหมดเลย สอนถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

โลภ โกรธ หลง ก็สอนไตรลักษณ์ มีโลภแล้วมันก็ไม่มี มีโกรธแล้วก็ไม่มี มีหลงแล้วก็มันไม่มี กุศลทั้งหลายก็สอนไตรลักษณ์ใช่ไหม

จิตมีสติขึ้นมาแล้วก็ขาดสติ มีปัญญาขึ้นมาบางทีก็ไม่มีปัญญา เอาแน่เอานอนไม่ได้

บางทีก็มีฉันทะ บางทีก็ขี้เกียจ บางทีก็มีศรัทธา บางทีก็เสื่อมศรัทธา มันหมุนเวียนอยู่ คอยรู้มันไปเรื่อย รู้มันไป

ทุกสิ่งทุกอย่างสอนไตรลักษณ์ทั้งสิ้นเลย สอนให้เห็นเลยว่า มีแล้วก็ไม่มี มีแล้วก็ไม่มี

การที่เห็นทุกสิ่งทุกอย่างนะ สอนไตรลักษณ์ไปเรื่อย มีแล้วก็ไม่มี มีแล้วก็ไม่มี ถึงจุดหนึ่งจะได้พระโสดาบัน เพราะพระโสดาบันคือท่านผู้เห็นความจริง ผู้ยอมรับความจริงว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาดับทั้งสิ้นเลย สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา

เราฝึกให้มีสตินะ แล้วทุกอย่างมันจะไหลเข้ามา เราก็รู้ไปเรื่อยๆ อย่าไปเพ่งมัน มันจะแสดงไตรลักษณ์

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 1,534 times, 3 visits today)

Comments are closed.