mp 3 (for download) : อนุสัย และบารมี
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
หลวงพ่อปราโมทย์ : ภาษามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆนะ แต่กิเลสคนมันเหมือนเดิม กี่ยุคกี่สมัยนะกิเลสมันก็ยังหน้าตาเหมือนๆเดิมเลยก็มีแค่ ราคะ,โทสะ,โมหะ มีอยู่สามตัวนี้เท่านั้นแหละ หมุนเวียนกันอยู่ครองจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันกิเลสครอบงำใจเรา เราจะหาความสุขไม่ได้ ถ้าเรารู้เท่าทันกิเลสที่หมุนเวียนเข้ามาอยู่ในใจ กิเลสครอบงำใจไม่ได้จิตใจก็มีความสุข
กิเลสหมุนเวียนเข้ามาอยู่ในใจได้อย่างไร ห้ามมันได้ไหม?ห้ามมันไม่ได้ เพราะอะไรใจเพราะใจนั่นแหละเป็นคนปรุงกิเลสขึ้นมา ใจของเราสร้างกิเลสขึ้นมานะ เราหัดภาวนาดูจิตดูใจของเราไปจนถึงช่วงหนึ่งเราจะเห็นเลย เวลาตามองเห็นรูปใจเราคิดว่าไอ้นี่ไม่ดี นี่คือศัตรูเรา โทสะก็เกิดเห็นไหม เราคิดขึ้นมาเอง ใจมันปรุงกิเลสขึ้นมาเอง มันปรุงโทสะขึ้นมา หรือเรามองเห็นสาวมันสวยจังเลย เราก็คิดนะว่ามันสวยจังเลย ใจมันก็ปรุงราคะขึ้นมา ตามหลังความคิดของเราขึ้นมาเอง
พระพุทธเจ้าจึงเคยตอบคำถาม มีคนถามท่านว่าพระองค์มีกามราคะไหม ท่านบอกว่าท่านไม่มีถามราคะเพราะท่านไม่มีกามวิตก ท่านไม่คิด ทำนองเดียวกันถ้าถามท่านว่าจะมีพยาบาทโทสะไหม ท่านไม่มีเพราะท่านไม่มีพยาบาทวิตก ตรงที่ใจเราหลงไปคิดมันมีโมหะ พอหลงไปคิดแล้วมันก็เกิดราคะบ้างเกิดโทสะขึ้นมาบ้าง ใจเราเองปรุงมันขึ้นมา พอปรุงมันขึ้นมาแล้ว ราคะ,โทสะ,โมหะ ทั้งหลายนั่นเองกลับมาย้อมใจเรา กลับมาปรุงใจเรา เช่นใจเราปรุงโทสะขึ้นมา โทสะมาครอบงำเราทำให้เกิดพฤติกรรมทางใจขึ้นก่อน เช่นอยากด่าเขา ก็เกิดพฤติกรรมทางวาจาไปด่าเขา เกิดพฤติกรรมทางใจอยากชกเขา ก็เกิดพฤติกรรมทางกายไปชกเขา เกิดการกระทำขึ้นมา เพราะอำนาจกิเลสมันมาครอบงำเอง แปลกดีไหมเราสร้างกิเลสขึ้นมาเองแล้วก็ถูกมันครอบงำซะเอง น่าสงสารน่าสลดสังเวชใจที่สุด
ทำอย่างไรจึงจะไม่ตกเป็นทาสของมัน ขั้นแรกเลยจะไม่ให้ปรุงไม่ได้ เพราะเรามีอนุสัย เราเคยปรุงมาจนชำนาญ อนุสัยเป็นความเคยชินฝ่ายชั่ว เราเคยถูกกิเลสครอบงำมานาน จนใจเราคุ้นเคยกับความชั่ว เพราะงั้นมันมีอนุสัยสะสมอยูในจิตใต้สำนึกของเรา จริงๆมันถูกเก็บไว้ในภวังคจิต ภาษาสมัยใหม่ชอบไปเรียนจิตใต้สำนึก เพราะตอนนั้นไม่ขึ้นมาวิถีมาสำนึกของมัน พออนุโลมนะ พอ ตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย,ใจ กระทบอารมณ์แล้ว อนุสัยทำงาน มันกระทบอารมณ์ ซึ่งจิตใจมันวิเคาะห์แล้วว่านี่อารมณ์ดี ราคะก็ผุดขึ้นมาผุดขึ้นมาจากราคานุสัย ราคานุสัยที่เป็นราคะสะสมมานาน ชำนาญที่จะมีราคะราคะก็เกิด กระทบทาง ตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย,ใจ จิตมันพิจารณาแล้วว่านี่ไม่ดี อนุสัยคือปฏิฆานุสัย อนุสัยคือความขี้โมโหก็ผุดขึ้นมากลายเป็นโทสะ พอกิเลสผุดขึ้นมาแล้วมันครอบงำจิต จิตทำงานตามอำนาจบงการของกิเลส กิเลสจะยิ่งมีแรง พอกิเลสตัวนั้นดับไปมันไม่ได้ดับไปเปล่าๆมันได้เซฟข้อมูลลงในภวังคจิตอีก ตรงที่จิตขึ้นมารับอารมณ์ ตรงที่จิตขึ้นมาเสพย์อารมณ์อีก ขึ้นมากระทำกรรมทั้งหลาย จิตกลุ่มนี้เรียกว่า ชวนจิต(อ่านว่า ชะ-วะ-นะ-จิด) พอมันทำกรรมตามสมควรแล้ว แล้วมันเริ่มเซฟตัวเองตัวนี้เรียกว่า ตทาลัมพนจิต (อ่านว่า ตะ-ทา-ลัม-พะ-นะ-จิด) เราไม่จำเป็นต้องจำชื่อนะ มันคล้ายๆตอนเราปิดคอมพิวเตอร์ตอน shutdown ตอน turn off เห็นไหมมันจะทำงานอยู่ช่วงหนึ่งก่อนที่มันจะปิดตัวเองลงไป จิตก็ทำแบบนั้นพอจิตมันขึ้นวิถีขึ้นมาทำงานขึ้นมาเสพย์อารมณ์เต็มที่แล้วมันจะเริ่มสะสมเริ่มสรุปต่างๆสะสมเอาไว้ สะสมเอาไว้เป็นวิบาก วิบากนั้นถ้าเป็นฝ่ายเคยชินทำชั่วเรียกว่าอนุสัย หรือถ้าเป็นความเคยชินทางดีก็เรียกว่าบารมี มันเก็บหมดนะทั้งความดีความชั่ว สะสมไปเรื่อยๆ ต่อไปเวลามันกระทบอารมณ์ใหม่ ถ้ามีบารมีมากคุณงามความดีมันทำงานขึ้นมา ถ้าอนุสัยมันรุนแรงอนุสัยมันก็จะทำงานขึ้นมา ทำไมบางคนขี้โมโหบ่อยๆ ทำไมบางคนถูกด่าเท่าๆกันมันเกิดสงสารคนที่มาด่าเราเพราะมันสะสมมาไม่เหมือนกัน
เราเป็นหรือเราทำอย่างที่เราทำของเราเอง ไม่มีใครมาบงการเรา จิตใจของเราเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ จิตเป็นอนัตตานะ แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ เราสั่งให้จิตดีไม่ได้ แต่เราฝึกฝนให้จิตดีได้ เราห้ามจิตเราไม่ให้ชั่วไม่ได้ แต่เราฝึกตัวเองได้เราฝึกจิตได้ วิธีฝึกจิตที่จะไม่ให้หลงไปตามความชั่ว วิธีฝึกจิตที่จะให้มันมีคุณงามความดี ก็คือการมีสตินั่นเอง ทันทีที่เรามีสติอกุศลที่มีอยู่มันจะดับทันที ทันทีที่เรามีสติอยู่อกุศลใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้ในขณะนั้น ทันทีที่เรามีสติกุศลได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะสตินั่นแหละเป็นตัวกุศล ทันทีที่เรามีสตินะ สติเกิดแล้วเกิดอีกเกิดแล้วเกิดอีก จิตจะคุ้นเคยที่จะมีสติคุ้นเคยที่จะรู้สึกตัว มันจะรู้สึกตัวบ่อย พวกเราหัดใหม่ๆสังเกตไหมว่านานมากเลยกว่าจะรู้สึกตัวได้ครั้งหนึ่ง เพราะสติไม่คุ้นเคยที่จะเกิด ต่อมาเราฝึกไปเรื่อยฝึกไปเรื่อยนะสติจะเกิดบ่อย ขยับตัวแว้บสติก็เกิด เวทนาเกิดแว้บสติก็เกิด กุศล,อกุศลเกิดแว้บสติก็เกิด จิตเคลื่อนไหวปั๊บสติก็เกิด เพราะอะไรเพราะมันคุ้นเคย งั้นอยู่ที่เราสร้างความเคยชินที่ดีๆขึ้นมานะ พยายามรู้สึกตัวอย่าเอาแต่หลงอย่างเดียว หลงมานานแล้ว หลงมานานแล้วไม่เห็นว่ามันจะมีความสุขแท้จริงเลย เราแต่ละคนปรารถนาความสุขด้วยกันทุกคน ตะเกียกตะกายหาความสุขด้วยกันทุกคน แต่ความสุขเหมือนภาพลวงตา ความสุขมันปรากฏอยู่ข้างหน้าเหมือนๆจะหยิบเอาไว้ได้ แต่พอเอื้อมมือไปหยิบมันก็เลื่อนหนีไปแล้ว มันไปลอยอยู่ข้างหน้าหลอกให้เราวิ่งต่อไปอีก งั้นเราเที่ยวหาความสุขไปเรื่อยๆ โดยที่เราไร้ทิศทาง เราต้องฝึกสตินะฝึกสติ รู้ทันลงไป ถ้ากิเลสเกิดเรามีสติรู้ทันกิเลสดับทันทีเลย จิตใจก็มีความสุขทันทีเลย ง่ายขนาดนั้น
ศาลาลุงชิน
CD: 24
File: 510921.mp3
Time: 2.16 – 9.36
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่