Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

ปฎิจจสมุปบาทและอริยสัจจ์


mp 3 (for download) : ปฎิจจสมุปบาท และอริยสัจจ์

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์: ถ้าเราเห็นจิตใจตัวเองอยู่นะ เราจะเห็นกระบวนการทำงานของจิตใจที่จะปรุงแต่งความทุกข์ขึ้นมา ไปเห็นปฏิจจสมุปบาท แต่โดยธรรมชาติของปุถุชนจะเห็นได้ไม่ตลอดสาย จะเห็นท่อนปลายๆก่อน เช่นว่าเห็นว่ามีผัสสะ แล้วก็เลยเกิดสุขเกิดทุกข์ขึ้นมาเพราะการกระทบอารมณ์ ถ้ากระทบทางตาหูจมูกลิ้น สี่ทวารนี้ กระทบแล้วเฉยๆ  ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ ตรงที่ไม่มีสุขไม่มีทุกข์เนี่ย โมหะแทรกง่าย ตรงกระทบทางกายกับทางใจเนี่ย มีสุขมีทุกข์ขึ้นมา นะ พอมีความสุขเกิดขึ้นราคะก็แทรก มีความทุกข์เกิดขึ้นโทสะก็แทรก มันจะแทรกเข้ามา

พอราคะ โทสะ โมหะ มันแทรกตัวเข้ามาในจิตแล้วเนี่ย มันจะผลักดันให้จิตทำงาน นะ เช่น โทสะเกิดขึ้น มันก็อยากให้สภาวะอันนี้หายไป เกิดตัณหาขึ้นมา โลภะเกิดขึ้นก็อยากให้สภาวะนี้คงอยู่นานๆ โมหะเกิดขึ้นนะมันก็อยากรู้ให้ชัดๆ หรือถ้าจิตฟุ้งซ่านก็อยากให้สงบ ความอยากเกิดขึ้น ทันทีที่ความอยากเกิดขึ้นนะ ใจเกิดการดิ้นรน มันจะเข้าไปจับอารมณ์ให้มั่นๆ เข้าไปเกาะ

เพราะฉะนั้นเวลาใจเกิดความอยากขึ้นมานะ ใจจะทะยานเข้าไปเกาะอารมณ์ ไปเกาะอย่างแรงๆเลย ตรงที่จิตไปเกาะอารมณ์อย่างรุนแรงเรียกว่ามีตัณหา มีตัณหาอย่าแรงเนี่ย ตัณหาอย่างแรงนี่ล่ะเรียกว่าอุปาทาน เพราะฉะนั้นองค์ธรรมของอุปาทาน องค์ธรรมของตัณหาเป็นอันเดียวกัน คือโลภะ คือตัณหานั่นเอง แต่อุปาทานเป็นตัณหาที่มีกำลังแรงกล้า ไม่ใช่อยากเฉยๆหรอก แต่อยากแล้วกระโดดใส่เลย พอมันกระโดดเข้าไป จิตก็เกิดการทำงานขึ้นมา การทำงาน เช่น ไปดึงอันนี้ไว้ ไปผลักอันนี้ไว้ ไปค้นคว้าหาทางทำอย่างไรจะรู้ชัด ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น นี่เรียกว่าการทำงานของจิต การทำงานของจิตนี่แหละเรียกว่าภพ ชื่อเต็มๆคือคำว่า “กรรมภพ”

เมื่อจิตมันทำกรรมขึ้นนะ มันจะรู้สึกว่า “เรามีอยู่” จะรู้สึกว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ นะ เพราะฉะนั้นอาศัยการทำกรรมนี้ก็เลยรู้สึกว่าเรามีอยู่ ตัวเรา เป็นความรู้สึก ตัวเราจริงๆไม่มี พอมันมีอยู่นะ มันก็รู้สึกว่า “กายนี้เป็นตัวเรา ใจนี้เป็นตัวเรา” ขึ้นมา มันก็เลยมีที่รองรับความทุกข์ขึ้นมา ความทุกข์มีที่ตั้งแล้ว เนี่ยเราจะเห็นอย่างเก่งที่สุดเห็นได้เท่านี้แหละ เราจะไม่สามารถทวนลงไปเห็น เช่นว่า วิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูป เริ่มดูยากแล้ว หลวงพ่อยังไม่เจอ ว่าปุถุชนเห็นตรงนี้ วิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูป เราจะคิดเรื่องแต่ว่า เกิดปฏิสนธิจิต ลงในภพใหม่ อันนี้ปุถุชนเห็นได้ แต่ว่าจิตที่หยั่งลงไป แล้วก็เกิดกายเกิดใจขึ้นมา มองไม่เห็น ตัวนี้ไม่เห็น จะเห็นตรงนี้ได้ต้องทำจิตเข้าไปอัปนาเลยนะ แล้วดับลงไปเลย ดับความรู้สึกลงไปให้ได้

หรืออย่างน้อยๆนะ เข้าไปถึงเนวสัญญา แล้วตอนที่จิตที่หยาบผุดขึ้นมานะ มันจะเห็น มันจะ ความปรุงแต่งผุดขึ้นมาก่อน พอความปรุงแต่งผุดขึ้นมาแล้ว ก็เกิดจิตขึ้นมา มีจิตขึ้นมา ที่ไปรับรู้ความปรุงแต่งนั้น ทีนี้ความปรุงแต่งนี้ พอปรุง ปรุงจิตขึ้นมา จริงๆมันเกิดร่วมกันแหละ พอจิตนี้หยั่งลงไปรู้กาย กายก็ปรากฏ หยั่งลงไปรู้จิต จิตก็ปรากฏ รู้นามธรรมที่ปรากฏขึ้นมา ตรงนี้เห็นยากมากแล้ว ตรงที่ยากสุดๆเลย อวิชา อวิชาเนี่ยสุดยอดแล้ว อย่าว่าแต่ปุถุชนไม่เห็นเลย พระอนาคามีก็ไม่เห็น เพราะถ้าเห็นถึงอวิชานะ วิชาก็เกิดขึ้นมา ก็ทำลายความปรุงแต่ง จิตจะไม่หยั่งลงในภพใดๆ จิตจะไม่ทำงานขึ้นมา

การภาวนาไม่ใช่ อย่างเราอ่านพุทธประวัตินะ ว่าพระพุทธเจ้าพิจารณา ปฏิจจสมุปบาท ก็นึกว่าท่านคิดๆเอา หลายคนคิดว่า คนอื่นคิดไม่ได้ ต้องพระพุทธเจ้าแล้วคิดแล้วบรรลุพระอรหันต์ได้ เข้าใจผิด ถ้าหากคิดเอาเองแล้วบรรลุพระอรหันต์ได้นะ ทางสายเอก ทางสายเดียวก็จะไม่มี มันจะมีทางสองสาย เป็นทางสำหรับคนทั่วๆไป สายหนึ่งคือการเจริญสติปัฏฐานกับทางเฉพาะพระพุทธเจ้า คือ คิดๆเอาเอง แท้จริงไม่ได้มีอย่างนั้นนะ ทางแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้นมีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือ สติปัฏฐาน

พระพุทธเจ้าบารมีแก่กล้า ท่านทำสติปัฏฐานในหมวดสุดท้าย ในบรรพสุดท้าย หมวดสุดท้ายเลยก็คือ ธรรมานุปัสสนา บรรพสุดท้ายเลยคือเรื่องอริยสัจจ์ ท่านเห็นอริยสัจจ์นั่นเอง ทีนี้กระบวนการเห็นอริยสัจจ์ของท่านนะ ท่านเห็นละเอียดละออ ท่านเห็นมาไล่มา มีสภาวะรองรับมาตั้งแต่ มีทุกข์ขึ้นมา มีทุกข์เพราะมีชาติ มีชาติเพราะมีภพ มีภพเพราะมีอุปาทาน มีอุปาทานเพราะมีตัณหา มีตัณหาเพราะมีเวทนา ความจริงนี่อย่างย่อนะ อย่างละเอียดอย่างที่หลวงพ่อกระจายให้ฟังตะกี้นี้  อย่างก่อนที่เวทนาจะแปรสภาพเป็นตัณหา มีกระบวนการทำงานตั้งเยอะแยะ มันจะมีกิเลสแทรกเข้าในเวทนาก่อน มีกิเลสแทรกเข้ามา  แล้วก็จิตนั้นแหละมันเลยเกิดความอยากไปด้วยอำนาจของกิเลส

นี้เราค่อยภาวนาไปนะ เท่าที่เห็นได้ก่อน ไม่จำเป็นต้องเห็นปฏิจจสมุปบาททั้งสาย พระโสดาบันเหมือนๆจะเห็นทั้งสายนะ พระโสดาบันรู้สึกว่าเข้าใจปฏิจจสมุปบาทจริงๆไม่เข้าใจหรอก อย่างพระอานนท์นะเคยไปทูลพระพุทธเจ้า บอกว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปฏิจจสมุปบาทปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนเป็นของตื้น เหมือนเป็นของตื้น ตรงนี้ก็เกิดตีความกันใหญ่ว่าทำไมพระอานนท์ว่าตื้น ก็บอกว่าพระอานนท์ Genious มาก ฉลาด ก็เลยรู้สึกตื้นๆ ถ้าพระอานนท์ท่านเห็นแจ่มแจ้งจริงๆ ท่านจะเป็นพระอรหันต์น่ะสิ พระพุทธเจ้าถึงห้ามบอกว่าอย่าพูดอย่างนั้นนะพระอานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้ลึกนัก ตราบใดที่ไม่เห็นแจ้งปฎิจจสมุปบาทนี้ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก คำว่าเห็นแจ้งปฏิจจสมุปบาทก็คือ เห็นลงมาถึงอวิชาเลย ไม่ใช่เห็นอยู่ผิวๆบนๆหรอก

พวกเราจะเห็นผิวๆ เห็นท่อนปลายๆ เห็นที่เป็นผลๆมาแล้วนะ เราไม่เห็นรากเห็นเหง้ามัน เพราะฉะนั้นอาศัยความพากเพียรรู้กาย พากเพียรรู้ใจไปเรื่อยนะ ไม่ท้อถอย รู้ทุกวี่ทุกวัน รู้ไปเรื่อยๆ เมื่อไรเข้าใจความเป็นจริงของกายแจ่มแจ้ง เข้าใจความเป็นจริงของจิตใจแจ่มแจ้ง นั่นแหละเรียกว่าวิชา จะละอวิชาลงไป

อวิชาคือความไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย ไม่รู้นิโรธ ไม่รู้มรรค ไม่รู้ทุกข์เนี่ยตัวต้นตอ ไม่รู้ทุกข์คือ ไม่รู้ว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวดีตัววิเศษ พอไม่รู้ทุกข์อย่างนี้ก็เกิดสมุทัย เห็นมั้ย เนี่ย เพราะไม่รู้ทุกข์จึงเกิดสมุทัย ส่วนที่พวกเราเรียนกันได้เนี่ย เห็นภาวนาเบื้องต้นเราจะเห็นว่า ถ้ามีสมุทัยแล้วจะเกิดทุกข์ มีตัณหาขึ้นมาแล้วใจถึงจะมีความทุกข์ รู้สึกมั้ย เกิดความอยาก คนทั่วๆไปยังไม่เห็นด้วยนะ แค่นี้ยังไม่เห็นแล้ว คนทั่วๆไปเห็นว่า ไม่สมอยากถึงจะทุกข์ ส่วนนักภาวนาเนี่ยจะเห็นเลย แค่มีความอยากเกิดขึ้น จะสมอยากหรือไม่สมอยาก จิตก็ทุกข์แล้วเพราะจิตต้องทำงาน เนี่ยนึกว่าเข้าใจอริยสัจจ์ ไม่เข้าใจหรอก

ลำพังเห็นว่าเพราะมีสมุทัยจึงเกิดทุกข์นี้ยังตื้น ต้องเห็นว่า เพราะไม่รู้ทุกข์จึงเกิดสมุทัย นี่ถึงจะลึกซึ้งจริง ไม่รู้ทุกข์คือไม่รู้ว่ากายนี้ใจนี้เป็นก้อนทุกข์นะ เป็นตัวทุกข์ เป็นธาตุ ธาตุที่มันเป็นทุกข์ พอไม่รู้ว่าเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวดีตัววิเศษ คิดว่ามันเป็นตัวเรา เนี่ย เพราะความไม่รู้แท้ๆเลย มันก็เกิดความอยาก ที่จะให้กายนี้ใจนี้มีความสุข อยากให้กายนี้ใจนี้พ้นทุกข์ มีความอยากขึ้นมา

พอเกิดความอยากใจก็เกิดการดิ้นรน พอใจดิ้นรนเกิดความทุกข์อีกชนิดหนึ่งขึ้นมา ความทุกข์เพราะตัณหาไม่ใช่ความทุกข์เพราะขันธ์ ในขณะที่ตัวอริยสัจจ์นี้นะ ความทุกข์คือทุกข์ของขันธ์นะ ขันธ์นั่นแหละคือตัวทุกข์ ท่านถึงสอนว่า ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ ทำไมต้องมีคำว่า อุปาทาน ทำไม่บอกว่า ว่าโดยย่อขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ เพราะขันธ์ ๕ บางตัวไม่ใช่ตัวทุกข์ ขันธ์ ๕ ยังมีสองส่วนนะ ส่วนที่เป็นตัวทุกข์กับส่วนที่ไม่ใช่ตัวทุกข์ ส่วนที่ไม่ใช่ตัวทุกข์คือบรรดาโลกุตรจิตทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราจะไม่เอาโลกุตรจิตมาทำวิปัสสนานะ แล้วก็ไม่มีจะทำด้วย

ให้เราใช้จิตธรรมดนี่แหละ จิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศล จิตที่เป็นวิบากพื้นๆนี่แหละ ให้คอยรู้คอยดูมันเรื่อยๆไป แต่ถ้าภาวนาไปจนถึง เห็นมหากริยาจิต จิตของพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่มีหน้าที่ต้องทำวิปัสสนาอีก เพราะฉะนั้นวิปัสสนาเราใช้จิตพื้นๆนี่ล่ะ จิตมนุษย์ธรรมดานี่ล่ะ เพราะฉะนั้นการที่เป็นมนุษย์ถึงดีที่สุด วิเศษที่สุดเลย เพราะเรามีจิตที่เหมาะแก่การทำวิปัสสนามากเลย

จิตของพรหมไม่ค่อยเหมาะนะ มันนิ่งเกินไป มันคงที่มากไป แต่จิตมนุษย์เนี่ยกลับกลอกรวดเร็ว เปลี่ยนไปเปลี่ยนมารวดเร็วมากเลย แสดงไตรลักษณ์อย่างรวดเร็วเลย พอเราเห็นไตรลักษณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกนะ ตลอดเวลาอยู่นั้น ไม่นานใจก็ยอมรับความจริงได้ ว่าจิตนี้ก็ไม่ใช่เราหรอก ได้โสดาฯ แล้วก็ดูกายดูใจไปเรื่อยนะ ถึงวันหนึ่งแจ่มแจ้งเลย กายนี้ทุกข์ล้วนๆนะ ไม่ยึดกาย ได้พระอนาคาฯ ดูลงไปอีกนะ ถึงจิตถึงใจแล้วปล่อยวางจิตได้ ไม่ยึดจิตน่ะ ถึงจะจบกิจทางศาสนาแล้วยังไม่ยึดถืออะไรในโลกอีกแล้ว ใจจะร่อนอยู่ตลอดเวลาเลยนะ ใจจะไม่เข้าไปเกาะไปเกี่ยวอะไรโดยที่ไม่ต้องระวังรักษาเลย ทั้งหลับทั้งตื่นเลยนะ ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน มันจะมีแต่ความเป็นอิสระ เบิกบาน อยู่ล้วนๆอยู่อย่างนั้นเอง

เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ลงมานะ รู้ลงมาในกาย รู้ลงมาในใจ จนรู้แล้ว กายนี้ใจนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ มันจะสลัดคืน ไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจ คืนกายคืนใจให้โลกเขาไป ไม่ยึดถือ พอไม่ยึดถือกายไม่ยึดถือใจเนี่ย สมุทัยจะดับอัตโนมัติ เพราะสมุทัยมันคือความอยากให้กายให้ใจมีความสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ ทำไมต้องอยาก อยากเพราะว่ามันเป็นตัวเรา พอมันไม่เป็นตัวเราแล้ว สลัดคืนสลัดทิ้งไปแล้วจะอยากทำไม เห็นมั้ย สมุทัยดับเองนะ เพราะว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยจะดับอัตโนมัติเลย

ทันทีที่สมุทัยดับเนี่ย นิโรธจะปรากฎในขณะนั้นเลย คือนิพพานจะปรากฎขึ้นต่อหน้าต่อตา นิพพานไม่มีสภาวะที่ต้องเข้าๆออกๆ นิพพานที่ต้องเข้าๆออกๆไม่ใช่นิพพานตัวจริง อย่างต้องนั่งสมาธิแล้วก็เคลิ้มๆดับลงไป หมดความรู้สึก บอกว่าเข้านิพพาน ไม่ใช่ นิพพานไม่อนาถาอย่างนั้นนะ นิพพานไม่ได้เกิดไม่ได้ดับ นิพพานเต็มบริบูรณ์อยู่อย่างนี้เอง ครอบโลกธาตุทั้งหมดอยู่อย่างนี้เอง ไม่มีความเกิดไม่มีความดับ เที่ยง มีแต่สันติสุข มีความสุขมหาศาลนะ จิตที่ไปรู้นิพพาน ก็ได้รับความสุขของนิพพานนั้นมหาศาลเลย

เพราะฉะนั้นนิพพานไม่ใช่ว่าแปลว่าไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลยเป็นมิจฉาทิฎฐิ เรียก นัฏฐิกทิฎฐิ ไม่มีอะไรเลย หรือสูญไปหมดเลย เรียก อุจเฉทิกทิฎฐิ แต่นิพพานไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าเป็นภพอันใดอันหนึ่ง ที่มีขันธ์อยู่ อันนั้นเป็นสัสสตทิฎฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิอีกชนิดหนึ่ง

นิพพานเป็นอะไร นิพพานก็เป็นนิพพานน่ะสิ ถามว่านิพพานเที่ยงมั้ย เที่ยง นิพพานเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นิพพานมีความสุข นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา เป็นอนัตตานะ ไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครจะเป็นเจ้าของครอบครองนิพพาน
นิพพานไม่เคยเต็มนะ หมายถึงว่าไม่เคยมีเจ้าของไปจับจองพื้นที่จนเต็มพื้นที่ได้ จริงๆนรกก็ไม่เต็มเหมือนกัน เพราะทุกคนสร้าง(นรก)ของตัวเองได้ พอนรกตรงนี้คับแคบแล้วนะ เราทำชั่วมากๆมันก็สร้างขึ้นมาอีก สร้างของตัวเองได้

การที่เรา รู้กายรู้ใจ จนเราเห็นความจริงของกายของใจ แล้วก็หมดความอยากให้กายให้ใจมีความสุข หมดความดิ้นรน เข้าถึงสันติสุขคือนิพพาน การรู้ทุกข์คือรู้กายรู้ใจชนิดนี้เรียกว่า การดำเนินอริยมรรค คืออริยมรรคนะ เพราะฉะนั้นอริยมรรค บอก พวกเราเจริญมรรค เจริญมรรค มรรคที่พวกเราเจริญ ยังมิใช่อริยมรรค มรรคที่พวกเราเจริญเรียกว่า บุพภาคมรรค มรรคเบื้องต้น ไม่ถือว่าเป็นอริยมรรค แต่อาศัยบุพภาคมรรค รู้กายรู้ใจมากเข้าๆเนี่ย วันหนึ่งอริยมรรคจะเกิดขึ้น เวลาที่อริยมรรคจะเกิดเนี่ย รู้อริยสัจจ์ อริยสัจจ์ แต่รู้ตามชั้นตามภูมิ โสดาฯก็รู้เหมือนกัน รู้สิ่งเดียวกันนั่นเอง เสร็จแล้วก็ไปเห็นนิพพานอย่างเดียวกันนั่นเอง แต่ความเข้าใจไม่เท่ากัน นี้ครูบาอาจารย์เคยสอนหลวงพ่อมานะ หลวงปู่สุวัจน์น่ะ เราภาวนาแล้วไปถามท่านนะ ท่านก็บอก สงสัยอะไร พระสกิทาคาฯ พระอนาคาฯ พระอรหันต์ นะ ก็เห็นของเดียวกัน เห็นสิ่งเดียวกัน แต่ความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากัน ไม่มีอะไรยิ่งกว่านี้แล้ว นะ ไม่มีอะไรยิ่งกว่านี้แล้ว

เพราะฉะนั้นสิ่งที่แตกต่างกันของพระอริยเจ้าแต่ละชั้นก็คือ ความเข้าใจ ไม่เท่ากัน แต่พระอริยเจ้าชั้นเดียวกันก็เข้าใจไม่เท่ากันนะ ถึงความบริสุทธิ์อย่างเดียวกัน แต่ความรู้ความเข้าใจความแตกฉานจะไม่เท่ากันแล้วแต่ว่าจะสร้างบารมีมาทางไหน

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๒๐
File:  500615A.mp3
ระหว่างนาที่ ๓ วินาทีที่ ๓ ถึงนาทีที่ ๑๘ วินาทีที่ ๗

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 2,479 times, 1 visits today)

Comments are closed.