mp3 (for download) : วิธีทำอย่างไรใจของเราจะตั้งมั่น
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
หลวงพ่อปราโมทย์ : มีวิธีทำอย่างไรใจเราจะตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ทำได้หลายอย่าง
อันแรกเลย ทำสมถะ เราจะหัดพุทโธก็ได้ หัดหายใจก็ได้ หัดไป หัดอะไรก็ได้ซักอย่างนึง แต่ว่าไม่ใช่ไปหายใจเลื่อนลอยไปเรื่อยๆ เคลิ้มๆ อย่างที่เคยทำกัน เราหัดหายใจไป แล้วเราก็ค่อยๆ ทำความรู้สึกขึ้นมา ให้เห็นเลย ร่างกายนี้กำลังหายใจอยู่ ใจเป็นคนดู ต้องอย่างนี้นะ หรือเห็นท้องพองยุบไป ค่อยๆ รู้สึกขึ้นมา ท้องมันพอง ท้องมันยุบไป ใจเป็นคนดู ค่อยๆ รู้สึกอย่างนี้ ค่อยๆ แยกออกมา แยกตัวผู้รู้ออกมา แต่ถ้าใครทำแบบนี้เป็นวิธีขี้โกงนะ ถ้าใครเก่งๆ ก็ทำตามสูตรเลย หายใจเข้า หายใจออก ไม่ต้องสนใจตัวผู้รู้ก่อนนะ แต่อย่าให้ขาดสติ มีสติรู้ลมหายใจไป มีใจเป็นคนดูไปอย่างสบายๆ ดูอย่างสบาย อย่าไปเพ่งใส่มัน ฉนั้นต้องเรียนก่อนว่าเพ่งเป็นอย่างไร ถ้าใจเราถลำลงไปเพ่งอย่างนี้ ตัวผู้รู้ไม่มีหรอก มีแต่ผู้เพ่ง ไม่ใช่ผู้รู้
ผู้รู้มันเหมือนเรายืนอยู่บนตึกสูงๆ เรามองลงมา ที่ถนนเห็นรถยนต์วิ่งเยอะแยะเลย เราไม่ได้ไปยืนกลางถนน หรือ เหมือนอย่างเราดูฟุตบอล เราดูอยู่ข้างสนาม ดูอยู่บนอัฒจันทร์ ไม่ได้โดดลงไปอยู่ในกลางสนาม เนี่ยส่วนใหญ่จะโดดลงไปอยู่กลางสนาม เวลาไปรู้อะไร ฉนั้นเราจะมาพุทโธ เราก็พุทโธไปสบายๆ พุทโธไป หรือหายใจไปก็ได้นะ ถ้าหายใจก็จะเข้าถึงสมาิธิที่ปราณีต พุทโธก็ได้แต่สมถะ แค่อุปจาระ(สมาธิ) ได้แค่สงบนิดหน่อย
ถ้าเราหายใจเข้าหายใจออก หายใจสบายๆ หายใจออกก่อน อย่าหายใจเข้าก่อนนะ ฝึกอานาปาณสติ ให้หายใจออกก่อน ในพระสูตรก็สอนไว้อย่างนั้น บอกภิกษุทั้งหลาย ให้คู้บัลลังก์ คู้บัลลังก์คือนั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกก่อนเนี่ย ใจมันจะเบา ใจมันจะอ่อนโยน ใจมันจะุนุ่มนวล ถ้าหายใจเข้าก่อนเี่นี่ย ใจมันจะแข็งๆ แข็งกระด้าง แข็งแล้วภาวนาต่อยากละ ฉนั้นหายใจออกให้สบายนะ ให้ผ่อนคลาย พอใจผ่อนคลาย ใจมันจะสงบ ใจมันสบาย พอจิตใจสบาย เรารู้ลมหายใจ ตัวลมหายใจเรียกว่า ‘บริกรรมนิมิต’
รู้ลมหายใจไปนานไปนะ ใจจ่ออยู่ที่ลมอย่างสบายๆ เคล็ดลับอยู่ที่สบายนะ พอรู้อย่างสบายๆ บริกรรมนิมิตคือลมหายใจ มันจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นแสงสว่าง จะรู้สึกเหมือนเป็นแสงสว่างเป็นเส้นเป็นเกลียว แสงสว่างของลมเรียกว่า ‘อุคคหนิมิต’
เรารู้อุคคหนิมิต รู้แสงสว่างนี้ไป รู้ไปเรื่อยๆ มันจะรวมขึ้นมาเป็นดวง เป็นดวงแก้ว ดวงกลมๆ ดวงสว่าง แบบนี้่เรียกว่า ‘ปฏิภาคนิมิต’ ถึงจุดนี้ เราก็ทิ้งลมหายใจนะ มาูรู้ปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ หายใจไปน่ะ ไม่ได้หยุดหายใจหรอก แต่ว่ามารู้ปฏิภาคนิมิต รู้ดวงนี้ ดวงนี้ย่อได้ ขยายได้ เล่นไปเล่นมา จิตใจมันสนุก มันมีปิติขึ้นมา มีปิติมีความสุขขึ้นมา จิตจะเข้าฌาณ อันนี้สำหรับคนที่ทำได้เต็มภูมิ
พอเข้าณาณที่หนึ่งก็มีปิติ มีความสุข ใจเป็นหนึ่ง ต่อมาสติปัญญามันแก่กล้าขึ้นไปอีก มันเห็นว่า ปิติก็ของหวือหวานะ มันดับปิติลงไป
จิตที่จะเกิดตัวผู้รู้เนี่ย เป็นจิตในฌาณที่สอง จิตในฌานที่สองนี่ดับวิตกวิจารณ์ ดับการตรึกถึงตัวนิมิตนั่นแล้ว จิตมันทรงตัวอยู่โดยที่ไม่ได้จงใจไปรู้นิมิตอีกต่อไปแล้ว ไม่ไปต้องรู้ดวงสว่างหรือลมหายใจอีกแล้ว แต่มันสงบอยู่ในตัวของมันเองนะ เนี่ย จิตตรงนี้มันจะเกิดสภาวะธรรมอันนึง เรียกว่า ‘เอโกธิภาวะ’ ภาวะแห่งความเป็นหนึ่งขึ้นมา จะเกิดตัวผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา
ถ้าได้ตรงนี้แล้ว ก็ดูปิติไป ก็เห็นปิติเกิดแล้วก็ดับไปนะ เห็นความสุขขึ้นมาของจิต อยู่ในฌานที่สาม
ดูในความสุขเ้ข้าไปอีก ก็เห็นความสุขเกิดแล้วก็ดับไป จิตเข้าอุเบกขา ได้ฌานที่สี่ ถึงตรงนี้มันจะเหมือนไม่หายใจ เหมือนเราหายใจด้วยผิวหนังแล้ว
ทีนี้พอจิตถอยออกจากตรงนี้นะ กลับมาสู่โลกภายนอก อำนาจของสมาธิมันยังจะหล่อเลี้ยงตัวผู้รู้ไว้อีกพักนึง ใจมันจะเด่นดวงขึ้นมาเป็นตัวผู้รู้ผู้ดู ให้เอาใจที่เด่นดวงเป็นผู้รู้ผู้ดูนี้มารู้กาย เห็นร่างกายยืนเดินนั่งนอนไป ใจจะเป็นคนดูอยู่ ดูอยู่ได้เป็นวันๆ เลยเพราะกำลังของสมาธิเยอะ
ถ้าคนไหนทำตามรูปแบบเต็มขั้นเต็มภูมิของสมาธิอย่างนี้ไม่ไหว ก็ใช้วิธีขี้โกงเอาอย่างที่หลวงพ่อว่า หัดดูเอา หายใจเข้า หายใจออกเนี่ย ยังไม่ต้องมีนิมิตอะไรหรอก หายใจไปเรื่อยๆ แล้วคอยสังเกตใจของเรา สังเกตดูร่างกายมันหายใจ ใจของเราอยู่ต่างหากนะ ใจของเราเป็นแค่คนดู หรือใจมันคิด เราก็เห็นอีก ความคิดอยู่ต่างหากนะ ใจเป็นคนดู เห็นความคิดเกิดขึ้นดับไป ใจตั้งมั่นเป็นคนดู เห็นความสุขความทุกข์เกิดขึ้น หรือความปวดความเื่มื่อยเกิดขึ้น ดูลงไป ความปวดความเมื่อยก็เป็นของถูกรู้ถูกดู ใจเป็นคนดู ฝึกอย่างนี้มันก็ได้ตัวผู้รู้ผู้ดูขึ้นมาเหมือนกัน แต่กำลังมันจะไม่ต่อเนื่องยาวนานเหมือนคนที่เขาเล่นฌาน แต่พวกเราส่วนมากทำไม่ได้นะ ทำได้แค่นี้ก็บุญถมไปแล้ว
CD ศาลาลุงชินครั้งที่ 9
8.40 – 14.16
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่