Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

ทุกข์ทางกายนั้นห้ามไม่ได้ แต่ความทุกข์ทางจิตใจเป็นสิ่งที่เราหามาเอง


mp3 (for download) : ความทุกข์ทางกายนั้นห้ามไม่ได้ แต่ความทุกข์ทางใจนั้นเป็นสิ่งที่เราหามาเอง

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : การศึกษาธรรมะนี่คือการเรียนรู้ตัวเองจนเข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา ความทุกข์มันอยู่ที่ตัวเราเองนี่เอง ความทุกข์อยู่ที่กาย ความทุกข์อยู่ที่ใจ ถ้าเราเรียนรู้ลงมาอย่างถ่องแท้นี่นะ เราจะรู้เลย ความทุกข์ทางกายนี่ห้ามไม่ได้ เป็นผลพลอยได้จากการมีร่างกาย แต่ความทุกข์ทางจิตใจนี่เป็นเรื่องที่หามาเอง หาเอาใหม่ในปัจจุบันนี่เอง เพราะฉะนั้น ความทุกข์ทางกายเป็นผลของกรรมเก่านะ ผลของกรรมเก่า ได้ร่างกายมาแล้ว แข็งแรงบ้าง ไม่แข็งแรงบ้าง แล้วแต่กรรมหล่อเลี้ยงไว้

ความทุกข์ทางจิตใจในปัจจุบันนี่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ ถ้าหากเราภาวนาเป็นนี่ เราจะขจัดต้นเหตุของความทุกข์ทางใจออกไปได้ ให้เราคอยสังเกตลงที่จิตที่ใจ การปฏิบัติ ถ้าหากเอาสั้นๆ แบบโตแล้วเรียนลัดนะ เอาแบบสั้นๆ ให้คอยสังเกตที่ใจของเราไว้ ดูซิ ความทุกข์มันมาได้อย่างไร สังเกตเข้าไปในความทุกข์มันมาได้อย่างไร เราจะเห็นเลยว่า บางทีเรานั่งอยู่เฉยๆ นะ ใจเราก็คิดถึงคนๆ หนึ่งขึ้นมา ไม่ได้เจตนาจะคิดนะ อยู่ๆ หน้าคนๆ นี้ก็โผล่ขึ้นมา พอโผล่ขึ้นมาปุ๊บ นึกได้ นังคนนี้โกงแชร์เราเมื่อสิบปีก่อนนะ สมมติ พอนึกได้ เห็นไหม ไม่ได้เจตนาจะนึกนะ มันนึกขึ้นได้เอง ทีแรก หน้ายายคนนี้โผล่ขึ้นมา ไม่ได้เจตนาที่จะนึกถึง อยู่ๆ ก็โผล่แล้วก็จำเรื่องราวขึ้นมาได้ ไม่ได้เจตนาจะจำ มันจำได้ขึ้นมา พอจำได้ปั๊บ มันโมโหขึ้นมาอีกแล้ว ความโกรธเกิดขึ้น มันก็โกรธของมันเองนะ จิตมันโกรธของมันเอง ตรงนี้ไม่เป็นไรนะ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ตั้งแต่ใจมันนึกขึ้นมา ใจมันคิดขึ้นมานะ จนกระทั่งกิเลสเกิดขึ้นมาก็ยังไม่มีปัญหาอะไร ตรงนี้เป็นเรื่องกระบวนการทำงานปกติของจิตใจนั่นเอง จิตใจมันคุ้นเคยที่จะปรุงกิเลส มันก็ปรุงกิเลส มันคุ้นเคยจะปรุงกุศลมันก็ปรุงกุศล มันปรุงของมันเอง ตรงนี้ยังไม่ใช่ปัญหาของนักปฏิบัติ เพราะฉะนั้นให้คอยดูต่อไป พอจิตใจมีความโกรธเกิดขึ้น ตรงนี้แหละที่เริ่มเป็นปัญหา คือเราจะเริ่มเกิดความยินดียินร้ายนะ เกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา เช่น รู้สึกเกลียดนังคนนี้มากเลย เกลียดมากกว่าเก่าอีก ยิ่งคิดยิ่งแค้น แล้วก็ปรุงแต่งต่อไปว่าทำอย่างไรจะไปแก้แค้นมันได้ นี่ตัวนี้ตัวเริ่มปัญหาแล้ว จิตใจจะเริ่มมีความทุกข์ขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ในขณะที่สภาวธรรมใดๆ เกิดขึ้น จะเป็นความสุข ความทุกข์ กุศล อกุศล สภาวธรรมที่เกิดขึ้นนี่ยังไม่ใช่ปัญหา อย่างเช่นเราเดินช้อปปิ้งไป ไปเห็นของสวยๆ อยากได้ขึ้นมา ใจมันมีโลภะขึ้นมา ตัวนี้ยังไม่ใช่ปัญหา แต่พอเกิดโลภะขึ้นมาใจมันจะดิ้น ตรงที่ใจมันเริ่มดิ้นนี่แหละเกิดปัญหา มีกิเลสขึ้นมาแล้วเกิดการกระทำกรรม เกิดการกระทำกรรม คือเกิดการดิ้นรนทางใจ ใจมันจะดิ้นๆๆ ตรงที่ใจมันดิ้นรนนี่แหละเป็นตัวปัญหาในปัจจุบันล่ะ

ทันทีที่จิตใจมันเริ่มดิ้นนะ จิตใจมันจะมีความทุกข์ จิตใจที่ดิ้นนี่เรียกว่า “ภพ” นะ ภาษาบาลีเรียกว่า ภพ (ภ-พ) ชื่อเต็มๆ ว่า กรรมภพ คือการทำงานของจิต เมื่อไรที่จิตทำงานนี่ จิตจะเกิดความทุกข์ขึ้นโดยอัตโนมัติ นักปฏิบัตินี่มีหน้าที่คอยมีสติไว้ พอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์นะ กระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ พอกระทบปั๊บ มันจะเกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา พอมีความยินดีมีความยินร้ายขึ้นมาแล้ว จิตจะเกิดการทำงาน ตอนนี้ทำงานในปัจจุบันหรือสร้างภพในปัจจุบัน การที่รูป เสียง กลิ่น รส อะไรพวกนี้มากระทบ โผฏฐัพพะมากระทบนะ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เป็นผลของกรรมเก่า กรรมเก่าไม่ดี สิ่งที่มากระทบไม่ดี กรรมเก่าดีสิ่งที่มากระทบก็ดี แต่พอกระทบแล้วจิตเกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา พอจิตเกิดความยินดียินร้ายนี่จิตจะทำกรรมใหม่ ตัวนี้ ตัวนี้ตัวสำคัญนะ ต้องคอยรู้ทัน

อย่างพอมันนึกถึงคนนี้ มันเกลียด อยากฆ่าเขา วางแผนฆ่าเขา นี่ใจปรุงแต่งแล้ว ใจปรุงแต่งหรือว่าโทสะเกิดขึ้นมา พอจิตไปเห็นโทสะ เสร็จแล้วไม่ชอบโทสะ อยากให้โทสะหาย รีบพิจารณาอะไรต่ออะไรใหญ่เลยนะ รีบเจริญเมตตาอะไร นี่คือการปรุงแต่งใหม่ คือกรรมใหม่ หรือว่าราคะเกิด จิตใจก็ทำงานปรุงแต่ง อะไรๆ เกิดขึ้นในใจมันจะคอยปรุงแต่งต่อ เพราะฉะนั้น ถ้าตัวสภาวธรรมเกิดขึ้นแล้ว นี่ยังไม่ใช่ตัวปัญหา ห้ามมันไม่ได้ สภาวธรรมจะเกิดนี่ ห้ามมันไม่ได้ แต่ถ้าสภาวธรรมเกิด พอจิตไปรู้เข้าแล้วนะ ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ พอจิตไปรู้เข้าแล้ว จิตจะเกิดความยินดียินร้ายแล้วจิตทำงาน ทันทีที่จิตทำงาน จิตจะมีความทุกข์ ให้เรามีสติรู้ทันความยินดียินร้าย พอตามองเห็นเกิดความยินดียินร้ายมีสติรู้ทัน หูได้ยินเสียงนะ เช่น เค้าชมเรานี่ เรายินดี ให้รู้ท้นนะ ถ้ารู้ไม่ทัน เราจะปรุงแต่งทางใจของเราเอง ปรุงใหม่ ถ้าได้ยินคำด่า เราก็เกิดโมโหขึ้นมา มันก็ปรุงแต่งอีก ให้รู้ทันที่ความปรุงแต่งอันใหม่ ความยินดียินร้ายแล้วก็เกิดความปรุงแต่ง นี่คอยรู้ไปอย่างนี้เรื่อย มีสติรู้ไปเรื่อย จิตใจมันจะไม่ดิ้นรน จิตใจมันจะไม่ทำงาน จิตใจมันจะมีความสงบสุขในปัจจุบัน อันนี้เราสงบสุขด้วยการมีสตินะ นี่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

ทีนี้พอสภาวธรรมเกิดแล้วจิตยินดียินร้ายเรารู้ทัน จิตมันจะเป็นกลาง พอจิตมันเป็นกลางมันจะสามารถรู้สภาวธรรม ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งดี ทั้งชั่ว มันจะรู้ได้อย่างเป็นกลางจริงๆ มันจะเห็นความจริงของสภาวธรรมเลย สุขก็เกิดชั่วคราว แล้วก็หายไป ความทุกข์เกิดชั่วคราวแล้วก็หายไป แต่เดิมความสุขเกิดขึ้นมาก็หลงยินดี เกิดการทำงานอยากรักษาเอาไว้ หรือดิ้นรนค้นคว้าอยากให้ได้ความสุขมาอีก แต่เดิมความทุกข์เกิดขึ้นก็ยินร้าย หาทางขจัดหาทางทำลายมัน หรือหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิดอีก มันจะเกิดการทำงานอย่างนี้ เพราะว่ายินดียินร้าย แต่ถ้าเรามีสติรู้ทันนะ จิตกระทบไปรู้ว่าความสุขเกิดขึ้น ความยินดีเกิดขึ้นรู้ทันมัน ความยินดีจะดับไป จิตจะเป็นกลางต่อความสุข มีปัญญาเห็นว่าความสุขก็เป็นของชั่วคราว ความทุกข์เกิดขึ้นมา จิตยินร้าย ไม่ชอบมัน มีสติรู้ทัน จิตใจที่ไม่ชอบความทุกข์ ปฏิเสธความทุกข์นี่ ความไม่ชอบนี่มันจะดับไป เราก็รู้ความทุกข์ตามที่มันเป็น สักพักหนึ่งก็จะเห็นเลย ความทุกข์เกิดขึ้นได้ก็ดับได้

กุศล อกุศลทั้งหลายก็เหมือนกันนะ เกิดขึ้นมาได้ ก็ดับได้ นักปฏิบัตินี่ รักกุศล พอสติระลึกได้ว่ากุศลเกิดขึ้นมาก็ยินดี อยากให้เกิดบ่อยๆ อยากให้เกิดนานๆ หาทางรักษาเอาไว้ เกิดการทำงานทางใจ จะรักษาความดีก็ทุกข์นะ ทุกข์แบบคนดี หรืออกุศลเกิดขึ้นมานี่ใจไม่ชอบนี่ นักปฏิบัติไม่ชอบก็หาทางขจัดมัน จิตใจเราก็ต้องทำงานมากขึ้นกว่าเก่าอีก แทนที่เราจะรู้ตามความเป็นจริงแล้วไม่ปรุงแต่งไม่ทำงานนะ กลายเป็นว่าเราทำงานมากกว่าเก่า ความทุกข์ก็มากกว่าเก่า คนชั่วก็ทุกข์อย่างคนชั่ว คนดีก็ทุกข์อย่างคนดี เพราะว่ายึดถือในสภาวธรรมทั้งหลายนั้น แต่ถ้าเรามีสตินะ ความเป็นกลางเกิดขึ้นกับใจเรา จิตใจเป็นกลาง เห็นความสุขก็เป็นกลาง ความทุกข์ก็เป็นกลาง กุศล อกุศลก็เป็นกลาง ในที่สุดมันจะมีปัญญาขึ้นมา เห็นว่าความสุขก็ของชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว กุศล อกุศลก็ชั่วคราว คือพอมีปัญญาเห็นเลย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาในชีวิตของเราล้วนแต่ของชั่วคราวทั้งหมดเลย ต่อไปจิตมันจะไม่มีความยินดียินร้าย พอสภาวธรรมอันนั้นเกิดขึ้นมา จิตจะเป็นกลาง จิตไม่ยินดียินร้ายแล้ว แต่เดิมนี่จิตไม่มีปัญญา พอเห็นสภาวธรรมแล้วจิตจะเกิดความยินดียินร้าย เราต้องมีสติไว้สู้ มีสติไว้รู้ทัน จิตจะเป็นกลาง พอจิตเป็นกลางเราก็รู้สภาวธรรมต่อไปจนเกิดปัญญา เห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลายเป็นของชั่วคราว ต่อไปพอสภาวธรรมเกิดขึ้นมานะ จิตเป็นกลางเองเลย ไม่มีความยินดียินร้ายเกิดขึ้น ยิ่งถ้าเราเข้าใจสภาวธรรมแจ่มแจ้งนะ จิตจะเป็นกลางมากขึ้นๆ นะ จนกระทั่งหมดความปรุงแต่งอย่างแท้จริง

CD ศาลาลุงชินครั้งที่ ๗

491217

3.20 – 12.19

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 2,501 times, 2 visits today)

Comments are closed.