Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

จิตพระอรหันต์ไม่ไหลไป โดยที่ไม่ต้องบังคับไว้


mp3 for download: จิตพระอรหันต์ไม่ไหลไป

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : พวกเราหัดสังเกตการปฏิบัติ มันไม่มีอะไรมากหรอกนะ ให้สังเกตใจของเราไว้ให้ดี ใจของเราทำงานสองแบบ แบบหนึ่งคือไหลไป ไหลไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไหลไปหาอารมณ์ตลอดเวลา คนทั้งโลกและก็สัตว์ทั้งหลาย ยกเว้นพวกพระพรหมณ์นะ คนทั้งโลกและสัตว์ทั้งหลายยกเว้นพระพรหมณ์ จิตมันไหลไป เดี๋ยวก็หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปรู้อารมณ์ทางใจ หลงไปคิด ไปนึก ไปปรุง ไปแต่ง นี่ คนทั่วๆไป สัตว์ทั่วไปเป็นอย่างนี้ เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น ทำไมมันต้องไหลไป เพราะมันหิว มันหิวอารมณ์ มันอยากได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย สัมผัสทางใจ อยากได้สิ่งเหล่านี้ ได้มาเป็นอาหารหล่อเลี้ยงความเป็นตัวเป็นตน เรากลัวว่าตัวเราจะหายไปจากโลก ออกไปสัมผัสสิ่งต่างๆนะเป็นอาหารมาหล่อเลี้ยงความเป็นตัวเป็นตน เหมือนร่างกายนี้กินข้าว ใจก็เที่ยวหิวอารมณ์ ร่างกายกินอาหารนะใจก็กินอารมณ์เพื่อจะหล่อเลี้ยงตัวเองไว้ มันกลัวตัวเองหายไป เพราะอย่างนั้นถ้าเราสังเกตให้ดีไม่ว่าเราจะทำอะไร เราจะคิด เราจะทำ เราจะพูดนะ เบื้องลึกที่อยู่ข้างหลังก็คือ เพื่อเสริฟ (Serve) อัตตาตัวตัน ส่งเสริมอัตตาตัวตน รักษาอัตตาตัวตน เราหวงตัวเอง นี่คนทั้งโลกเป็นอย่างนี้ สัตว์ทั้งโลกเป็นอย่างนี้ งั้นจิตใจจะแส่ส่ายตลอดเวลา มันส่ายไปก็มีแรงผลักดันที่เรียกว่า ตัณหา ผลักดันใจให้วิ่งไปที่โน้น วิ่งไปทางนี้ วิ่งไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิ่งไปเพราะมันหิว มันก็เลยอยากวิ่ง อยากได้ มันหิวอารมณ์ อยากจะเสพเวทนานั่นแหละ มันก็เลยเกิดตัณหา มันอยากได้เวทนา อยากเสพอารมณ์ อารมณ์นั้นนำความสุขมาให้ ก็อยากได้สุข จิตใจก็เกิดตัณหา เกิดแรงดิ้น ทะยานออกไป จิตใจอยากจะหนีความทุกข์นะจิตใจก็ดิ้นออกไป ดิ้นออกไปเรื่อยๆ มีความสุขเพื่อตัวเราจะได้มีความสุข หนีความทุกข์เพื่อตัวเราจะได้พ้นทุกข์ ลึกๆเลยตัวเรา

อีกพวกหนึ่งเห็นว่าจิตดิ้นไปเรื่อยๆไม่ดี ก็เลยเพ่งเอาไว้ ไม่อยากให้มันไหลไปก็เพ่งเอาไว้นะ จิตพระอรหันต์นะไม่ไหลไปโดยที่ไม่ต้องเพ่งเอาไว้ นี่ ความประหลาดอยู่ตรงนี้ จิตของคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์นะ มันจะไหลไป ถ้าจะไม่อยากให้ไหลไปก็ต้องเพ่งเอาไว้ กดมันไว้ให้นิ่งๆ ไม่ให้มันไหล คล้ายมันยังมีแรงดิ้น เมื่อมันมีแรงดิ้นนะก็ไปกดมันเอาไว้ ไม่ให้มันกระดุกกระดิก กดมันเอาไว้ ถ้าดิ้นแล้วมันไปหาอารมณ์มามันไม่ชอบเดี๋ยวกลัวว่ามันจะมีความทุกข์ สู้ใจนิ่งๆไม่ได้ นี่พวกนักปฏิบัติทั้งหลายก็คือพวกนักกดจิตกดใจ กดกาย ไม่กดใจก็กดกาย เพ่งกายเพ่งใจ บังคับกายบังคับใจเพราะกลัวจิตมันไหลไป หาความทุกข์มาใส่ตัวเอง อยากให้มันนิ่ง นี่โดยสัญชาตญานเลย ทันทีที่คิดถึงการปฏิบัติเมื่อไรนะก็บังคับตัวเองให้นิ่งเมื่อนั้น อย่างคุณที่อยู่วัดนี่ ก็บังคับตัวเองให้นิ่ง เพราะฉะนั้น คนทั้งหลายนะจิตมันไหลไปอย่างเดียว ส่วนผู้ปฏิบัตินี่เห็นว่าจิตมันไหลไปแล้วก็ไปบังคับให้มันนิ่ง งั้นจิตมันเลยมีสองแบบ ไม่ไหลไปก็นิ่งๆ กดเอาไว้ ถ้าไม่ไหลก็ต้องกด ไม่ไหลก็ต้องกด แต่สำหรับพระอรหันต์แล้วจิตไม่ไหลไปโดยที่ไม่ต้องกด ไม่มีงานต้องทำ ไม่มีงานต้องระวัง ไม่ต้องรักษา ไม่ต้องเจริญสติ ถ้าจิตมันไม่ไหลไปเอง ทำไมจิตมันไม่ไหลไป เพราะจิตมันฉลาด จิตมันมีปัญญามันรู้รูป รู้นาม รู้กาย รู้ใจ รู้อายตนะภายในภายนอก รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นแต่ทุกข์ล้วนๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นของเป็นทุกข์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นของเป็นทุกข์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่ บางคนเค้าแบ่งอย่างนี้ก็เป็นทุกข์อีก อะไรๆ ก็ทุกข์หมดเลย ฐาตุ 18 ก็เป็นทุกข์ แล้วแต่จะมองนะ แต่แจ่มแจ้งในกองทุกข์นั่นเอง คนที่เป็นพระอรหันต์นะคือคนที่แจ่มแจ้งในกองทุกข์ รู้เลย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นตัวทุกข์ ความรับรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นตัวทุกข์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งหมดนะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวทุกข์ นี่อย่างนี้ ไม่มีอย่างอื่นนอกจากตัวทุกข์ เมื่อเห็นมันเป็นตัวทุกข์ ไม่มีตัวดี ตัววิเศษ ไม่มีช่องโหว่ที่จะรอดจากความทุกข์เลย ใจก็หมดแรงดิ้น หมดความหิวโหย ไม่รู้จะหิวทำไมมีแต่ทุกข์ เหมือนเรารู้ว่านี่เป็นยาพิษ เห็นว่านี่มันคือยาพิษ เราไม่ไปกินมัน คนทั้งหลายกินอารมณ์เข้าไป เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นยาพิษ เพราะฉะนั้นกินอารมณ์เข้าไปที่เป็นยาพิษเข้าไป มันเลยต้องตายแล้วตายอีก เวียนว่ายตายเกิด แต่พระอรหันต์นะมีปัญญา เห็นความจริงของรูปธรรม นามธรรม เห็นความจริงของขันธ์ห้า เห็นความจริงของอายตนะภายในภายนอก เห็นความจริงของธาตุทั้ง 18 ธาตุ ธาตุ 18 มันก็คือ อายตนะภายในภายนอก และก็ความรับรู้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รวมแล้วอย่างละ 6 อย่างละ 6 นะรวมกันเป็น 18 นี่ ธาตุ 18 นะ เห็นแต่ทุกข์ล้วนๆนะ ทุกข์ล้วนๆนะไม่รู้จะบำรุงรักษามันไว้ทำไม ตัวจิตเองก็เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ ไม่เห็นจะต้องไปบำรุงรักษา ไม่เห็นจะต้องไปหวงแหนมันเลย ก็ปัดมันทิ้งไปหมดนะ สลัดมันทิ้ง ไม่ยึดถือมัน เมื่อไม่ยึดถือมันนะไม่ต้องระวังรักษามันด้วย มีปัญญาเห็นแต่ทุกข์ล้วนๆเลย จิตจะไม่มีการไหลไปนะ จิตไม่มีการไหลไป ไหลมานะ จิตเสถียร จิตเสถียร ไม่ไหลไป ไม่ไหลมา รู้ตื่นเบิกบาน ไม่มีงาน คือไม่ต้องไปกด ไม่ต้องไปบังคับ ไม่ต้องไปควบคุมไม่มีงานทำ ก็สบายนะ สบาย

เพราะอย่างนั้น จิตพระอรหันต์นะ ไม่ไหลไปโดยที่ไม่ต้องบังคับไว้ ส่วนจิตของผู้ปฏิบัตินะ ถ้าไม่บังคับไว้ก็ไหลไป นี่เราคิดว่าเราบังคับไว้เราจะเป็นพระอรหันต์รึ ไม่มีทางเลย ทางที่จะทำให้เป็นพระอรหันต์ได้ ก็คือต้องรู้ความจริงลงมาในขันธ์ห้า อายตนะ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ คือ อารมณ์ที่รู้ด้วยใจ โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่มากระทบร่างกายได้แก่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นถ้ารู้แจ้งสิ่งเหล่านี้นะ เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ล้วนๆเลยมีปัญญาแจ้งนะ ใจมันจะหมดแรงดิ้น หมดการไหลไป มันจะไหลไปทางตาทำไมในเมื่อรูปไม่ใช่ของดีของวิเศษ ในเมื่อตาก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษ มันจะไหลไปทางหูทำไมในเมื่อเสียงไม่ใช่ของดีของวิเศษ หูไม่ใช่ของดีของวิเศษ มันจะไหลทางใจในเมื่อ ธรรมารมณ์ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ใจไม่ใช่ของดีของวิเศษ เพราะฉะนั้น มันจะไม่ไหลไปเพราะมันมีปัญญาว่ามันมีแต่ทุกข์นะ ไหลไปทีไรก็มีแต่ทุกข์ ไหลไปทีไรก็มีแต่ทุกข์ ตัวขันธ์ห้า เองก็เป็นทุกข์ ไหลออกไปเสพอารมณ์ อารมณ์ทั้งหลายก็เป็นทุกข์อีก เห็นอย่างนี้ เลยไม่ดิ้นเลยหมดแรงดิ้น ไม่ต้องระวัง ไม่ต้องรักษานะ เคยมีคนนึงมาถามหลวงพ่อ บอกว่า พระอรหันต์นี่คือคนที่มีสติรักษาจิตตลอดเวลาใช่มั้ย ไม่ใช่พระอรหันต์ไม่รักษาจิตต่างหาก เค้าถามอีกทีว่า พระอรหันต์ขาดสติใช่มั้ย ไม่ต้องมีสติรักษาจิตแล้วนี่ พระอรหันต์ขาดสติใช่มั้ย ไม่ใช่อีก ถ้าขาดสติมันเป็นกิเลสนะ พระอรหันต์ไม่ได้มีกิเลสนี่ พระอรหันต์ไม่ได้ขาดสติ แต่พระอรหันต์ไม่ได้เอาสติไปรักษาจิต เพราะว่าปล่อยวางจิต ไม่ต้องรักษามันทิ้งมันไปแล้ว แต่ขาดสติมั้ย ไม่ขาดสตินะ ยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกตลอดเลย

กระทั่งกลางคืนนี่ คนทั้งหลายฝันแต่พระอรหันต์คิด ไม่เหมือนกัน คนทั้งหลายฝันเพราะว่าเวลาใจของเราคิดนี่มันจะสร้าง อิมเมจขึ้นมาตลอดเวลา จะมีอิมเมจ มีภาพในใจขึ้นมา สังเกตมั้ยเวลาเราคิดเราจะสร้างภาพในใจขึ้นมา เวลาพระอรหันต์คิดมันจะไม่มีอิมเมจ อันนี้หลวงพ่อก็ไม่ใช่คนสังเกตเห็นคนแรกนะ นายตุลย์ ดังตฤณนะ วันหนึ่งมาคุยกับหลวงพ่อบอกว่า ผมเที่ยวสังเกตจิต ไม่บอกนะว่าจิตใคร เวลาคิดไม่มีอิมเมจ แต่สังเกตจิตอาจารย์มหาบัวก็ไม่มีอิมเมจ สังเกตจิตพระบางองค์ก็ไม่มีอิมเมจ คิดเฉยๆ คิดจากความว่าง คิดแล้วก็ว่างอยู่อย่างนั้นเอง เมื่อมันไม่มีอิมเมจแล้วก็คือ มันเหลือแต่ความคิดล้วนๆ ไม่สร้างอะไรที่เกินจากการคิดขึ้นมา ไม่มีความเป็นตัวเป็นตน ไม่มีภาพใดๆ เกิดขึ้น เวลาที่คนเราฝันนั้นก็คือเวลาที่คนเราคิดนั่นเอง แต่คนเราคิดทั่วๆไปนะ เราคิดอย่างมีอิมเมจอยู่ มันก็เลยเป็นตุเป็นตะเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา เวลาพระอรหันต์นอนหลับนี่ บางทีจิตก็คิด รู้ว่าจิตคิดนะ แต่ไม่มีภาพแห่งความเป็นตัวเป็นตนใดๆผุดขึ้นมาเลย คิดไม่มีรูปนะ คิดไม่มีรูป ไม่มีนาม คิดอยู่ในความว่างๆ มันไม่ทุกข์นะเพราะมันไม่ได้ยึดอะไร มันไม่ปรุงอะไร เพราะฉะนั้นพวกเรา นี่หลวงพ่อเล่าให้ฟังนะ วันหนึ่งพวกเราจะเจอสิ่งที่เล่านี้ วันนี้ยังไม่เจอ แต่วันหนึ่งข้างหน้าจะเจอ ถ้าอดทนถ้าพากเพียร เจริญสติปัฏฐานไปเรื่อย มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจ ทำไมมีสติรู้กายรู้ใจไปเรื่อย ต่อไปก็จะแจ่มแจ้งเอง ทั้งกายทั้งใจทั้งรูปทั้งนาม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ล้วนแต่เป็นรูปเป็นนามทั้งสิ้นเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่เป็นรูปธรรม ใจเป็นนามธรรม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นรูปธรรม ธรรมารมณ์มีทั้งรูปธรรมและนามธรรม นี่มีแต่รูปธรรม นามธรรมทั้งหมดเลย เพราะงั้นแจ่มแจ้งในกองรูป กองนาม แจ่มแจ้งเพราะไม่ยึดถือมัน บางทีท่านก็เรียกรูปนามว่า โลก คำว่าโลกนะโลก ถามว่าโลกคืออะไร โลกคือรูปกับนาม บางทีท่านบอกโลกคือหมู่สัตว์ หมู่สัตว์จริงๆ คืออะไร ก็คือ รูปกับนาม พระพุทธเจ้าเป็น โลกวิทู ผู้รู้แจ้งโลก รู้แจ้งโลก คือรู้แจ้งรูปกับนาม ไม่ใช่รู้แจ้งภูมิศาสตร์นะ คนละเรื่องกัน รู้แจ้งโลก คือ รู้แจ้งรูปธรรม นามธรรม ทั้งหมดทั้งสิ้นว่านี้เป็นกองทุกข์ล้วนๆ เพราะอย่างนั้นใจท่านไม่ไหลไป โดยที่ไม่ต้องบังคับไว้ แล้วท่านก็มาสอนให้คนอื่นมารู้โลกตามท่าน มารู้รูป รู้นามตามท่าน จนรู้รูปรู้นามแจ่มแจ้งเป็นพระอรหันต์ ใจก็ไม่ไหลโดยที่ไม่ต้องบังคับไว้ ใจก็ไม่ปรุงไม่แต่งนะ คิดได้ คิดนึกได้ แต่ไม่สร้างอิมเมจ ไม่สร้างความเป็นตัวเป็นตนใดๆขึ้นมา ว่าง ว่าง

สังเกตมั้ย พอหลวงพ่อหยุดพูดใจก็ไหลไป สังเกตมั้ย พอหลวงพ่อหยุดพูดปุ๊ป ใจก็ไหล ความจริงตอนหลวงพ่อพูดว่าไหลนะ ก็ไหลมาฟัง สลับกับไหลไปคิด สลับกันไปเรื่อยๆ บางทีก็ไหลมามองหน้าหลวงพ่อหน่อย ตอนหลวงพ่อหยุดพูดทีแรกนะก็ไหลมามองหลวงพ่อว่าทำไมหลวงพ่อหยุดไป พอเห็นหลวงพ่อฉันน้ำนะ ตอนนี้ได้โอกาสแล้ว ไหลไปคิด เห็นมั้ย จิตจะไหลไปเรื่อยๆ ให้รู้ทันนะ ไม่ใช่ให้บังคับให้นิ่ง อย่าไปบังคับให้นิ่ง อย่าไปกำหนด ถ้ากำหนดนั้นแหละ คือการบังคับ กำหนดเป็นภาษาเขมร กำหนดไม่ใช่ภาษาบาลีนะ กำหนดเป็นภาษาเขมร แปลว่ากดเอาไว้ กด กดเอาไว้ ข่มเอาไว้ ไม่ใช่การเจริญสติ เพราะฉะนั้น เราชอบพูดกันติดปากนะ กำหนดรู้รูป กำหนดรู้นาม ไปกำหนดทำไม กำหนดแปลว่ากด ให้ระลึกรู้รูป ระลึกรู้นาม นี่ ระลึกรู้ไม่ใช่ให้กด ระลึกรู้คือสติมันทำหน้าที่ระลึก กดนี่ กดไว้ข่มไว้มันทำด้วยกิเลส เพราะอย่างนั้นเราระลึกรู้นะ เราระลึกรู้ไป ระลึกรู้รูปธรรม นามธรรม มีเงื่อนไขอันหนึ่ง ระลึกด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง สักว่ารู้สักว่าเห็น จิตมีสัมมาสมาธิ ตั้งมั่น ถ้าเรามีสติรู้รูปรู้นาม รู้กายรู้ใจ มีสัมมาสมาธิ ใจตั้งมั่นในการรู้การเห็น เราจะเห็นรูปอยู่ห่างๆ อย่างร่างกายนี้เราเห็นร่างกายอยู่ห่างๆนะ จิตอยู่ต่างหาก ร่างกายอยู่ต่างหาก มีช่องว่างมาคั่น นี่คนเห็นตรงนี้มีเป็นพันๆแล้วนะที่เรียนกับหลวงพ่อ เราจะเห็นว่าเวทนาทั้งหลายกับจิตนะมีช่องว่างมาคั่น เวทนากับจิตไม่ได้เข้าไปแนบกันนะ จิตก็ไม่ได้เข้าไปแนบในกาย จิตไม่ได้เข้าไปแนบในเวทนา จิตไม่แนบในกุศล อกุศล การที่จิตมันไม่เข้าไปแนบนะ โดยที่เราไม่ได้จงใจบังคับนี่เรียกว่าจิตมันมีความตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิ ตั้งมั่น จิตที่เข้าไปแนบเข้าไปเกาะอารมณ์นี้ไม่เรียกว่ามีสัมมาสมาธิ เรียกว่ามิจฉาสมาธิ

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ต.ท่าพระ
อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

แสดงธรรมที่สวนสันติธรรม
เมื่อวันอังคารที่ ๒๒ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๑

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๒๕
File: 510422

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 2,575 times, 8 visits today)

Comments are closed.