Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

ปัญหาข้อกฎหมายในการบริหารจัดการ ศาสนสมบัติของวัด


การบริหารจัดการ ศาสนสมบัติของวัด

การบริหารจัดการ ศาสนสมบัติของวัด

ปัญหาข้อกฎหมายในการบริหารจัดการ ศาสนสมบัติของวัด
อ่าน ที่นี่

ปัญหาข้อกฎหมายในการบริหาร จัดการ ศาสนสมบัติของวัด
บทนำ

ศาสนสมบัติของวัด คือ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง และเนื่องจากวัดเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ การดูแลรักษาและจัดการก็เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคล คือ วัด แต่แม้ว่าการดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินของวัดใดๆ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสวัดนั้นๆ ก็ตามการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดที่เจ้าอาวาสจะกระทำได้นั้น จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย และจำต้องเป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งกำหนดวิธีการปฏิบัติในการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดไว้เป็นแม่ บทให้เจ้าอาวาสถือปฏิบัติ ซึ่งการจัดการทรัพย์สินของวัดในด้านการลงทะเบียนทรัพย์สิน การจำหน่ายออกจากทะเบียน การทำทะเบียนที่จัดประโยชน์ ทะเบียนผู้เช่า วัดสามารถกระทำได้โดยเรียบร้อย เพราะมีขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน ประกอบกับแบบทะเบียน แบบบัญชี และแบบพิมพ์อื่นๆ กรมศาสนาก็ได้กำหนดไว้ให้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการดูแลและจัดประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของวัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านพระศาสนาเอง และการจัดหารายได้เพื่อทำนุบำรุงรักษาวัด ก็ยังประสบปัญหาในการดำเนินการหลายประการ อาทิ
ปัญหาอันเนื่องด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ กฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และกฎหมายเถรสมาคม บางส่วนไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากกฎหมายต่างๆ เหล่านี้มีพื้นฐานมาจากพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๑๔๘๔ แม้จะมีการแก้ไขปรับปรุงมาตามลำดับก็ตาม ก็ยังคงมีลักษณะบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป คือ

๑.การเป็นผู้แทนของวัดของเจ้าอาวาสในการจัดการศาสนสมบัติของวัด

วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล๑ ตามความในมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนั้น จึงต้องตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่นๆ ด้วย วัดทั้งหลายย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเช่น เรื่องสถานะนิติบุคคลของวัด เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีได้เฉพาะบุคคลธรรมดา การแสดงเจตนาในการใช้สิทธิและหน้าที่จึงจำเป็นต้องมีผู้แทน ซึ่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๑ วรรคสามว่า “เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป” ดังนั้นเจ้าอาวาสจึงเป็นทั้งผู้ปกครองของวัด ตามมาตรา ๓๗ (๒) และเป็นผู้แทนวัดตามมาตรา ๓๑ วรรคสาม ทั้งมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา ๔๕ ตำแหน่งเจ้าอาวาส จึงเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่ง หน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของเจ้าอาวาส คือ บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ตามมาตรา ๓๗ (๑) การจัดการศาสนสมบัติของวัดในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถสูงใน การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านศาสนาและด้านรายได้ของวัด เจ้าอาวาสในฐานะผู้แทนของวัดมีทั้งบทบาทของสงฆ์ที่จะต้องจรรโลงพระพุทธศาสนา รวมไปถึงการปกครองสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาในวัดและปกครองสอดส่องคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือ พำนักพักอาศัยอยู่ในวัดอีกทั้งยังทำหน้าที่ในการจัดการกิจการต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับวัดทั้งสิ้น โดยเฉพาะในฐานะผู้แทนของวัดในการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นศาสน สมบัติของวัด เจ้าอาวาสต้องมีผลผูกพันทางกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอื่นๆ แต่การกำหนดคุณสมบัติของเจ้าอาวาส ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ เป็นการให้ความสำคัญในการปกครองคณะสงฆ์เท่านั้นไม่ได้กำหนดคุณสมบัติด้านการ ศึกษาในทางโลกเอาไว้ด้วย การจัดประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นศาสนสมบัติของวัด กรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่ามีประเด็นที่ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น นิติกรรมสัญญา เป็นต้น รวมไปถึงศาสตร์ในการบริหาร ซึ่งหากขาดความรู้ความเข้าใจการศึกษาทางโลกแล้ว อาจเป็นผลเสียและส่งผลไปถึงการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นที่จะเข้ามารองรับอำนาจ ของเจ้าอาวาสในฐานะผู้รับมอบอำนาจ รวมไปถึงการวางมาตรการหรือการมอบอำนาจให้บุคคล คณะกรรมการ หรือคณะบุคคล ดำเนินการบริหารจัดการฯ แทนเจ้าอาวาส ก็อาจเกิดผลเสีย และไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารและจัดการได้ นอกจากนี้ตำแหน่งเจ้าอาวาส มาตรา ๔๕ ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา๒ ถ้าเจ้าอาวาสหรือผู้แทนเจ้าอาวาสหรือผู้จัดประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดำเนิน การจัดประโยชน์แทนวัดโดยมิชอบ โดยหลักปฏิบัติดังกล่าวทั้งรู้และไม่รู้เท่าถึงการณ์ ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากขาดการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ของวัดที่เหมาะสม เจ้าอาวาสอาจจะมีความผิดในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้

๒.การแต่งตั้งไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัด เป็นผู้จัดการศาสนสมบัติของวัด

การแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนไวยาวัจกร ทั้งนี้ คำว่า“ไวยาจักร๓” หมายถึง คฤหัสถ์ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกความจ่าย “นิตยภัต” และมีอำนาจดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็น หนังสือ นิตยภัตตามระเบียบกรมการศาสนาว่าด้วยการเบิกจ่ายนิตยภัต พ.ศ. ๒๕๑๔ หมายถึง เงินงบประมาณที่กรมการศาสนาได้รับเป็นประจำปีเพื่อจ่ายถวายอุปถัมภ์ ให้แก่พระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้ง หรือพระภิกษุผู้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตรานิตยภัต พระภิกษุผู้มีตำแหน่งหลายตำแหน่ง ทางราชการจะถวายนิตยภัตในตำแหน่งที่สูงกว่าเพียงตำแหน่งเดียว พระภิกษุผู้ได้รับแจ้งการถวายนิตยภัต ในเขตจังหวัดพระนคร ธนบุรี นนทบุรี และสมุทรปราการ ให้ไวยาวัจกร ไปขอเบิกนิตยภัตที่กรมการศาสนา ในเขตจังหวัดอื่นให้ไวยาวัจกรไปขอเบิกนิตยภัตที่จังหวัดซึ่งพระภิกษุรูปนั้น สังกัดอยู่ภายในเดือนกันยายนของปี

การจัดหาประโยชน์จากศาสนสมบัติวัด ในกรณีที่วัดมีที่ดินมากพอจะนำมาหาประโยชน์ได้ ก็ให้วัดเหล่านั้นจัดหาประโยชน์เข้าวัดจากที่ดินเหล่านั้นได้ โดยการตั้งไวยาวัจกรเป็นตัวแทนของเจ้าอาวาส หรือแต่งตั้งผู้จัดหาประโยชน์ของวัดขึ้นดำเนินการ เหตุที่ต้องแต่งตั้งไวยาวัจกร ก็เพราะว่าการจัดประโยชน์ในศาสนสมบัติวัด โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์เป็นเรื่องธุรกิจการค้าเชิงพาณิชย์ และการเงิน ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะให้เจ้าอาวาสเข้ามาจัดการด้วยตนเอง กฎหมายจึงตั้งให้ไวยาวัจกรเป็นตัวแทนเจ้าอาวาส และเป็นตัวแทนของวัด ซึ่งวัดต้องรับผิดชอบในการกระทำนั้น ถ้าได้กระทำภายในของเขตอำนาจทีได้รับมอบหมาย ดังนั้น ตำแหน่งไวยาวัจกร จึงเป็นตำแหน่งที่สำคัญสำหรับกิจการของคณะสงฆ์ตำแหน่งหนึ่ง ตามบทบัญญัติกำหนดให้ช่วยงานเจ้าอาวาส หรือ แทนเจ้าอาวาสเมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่จากเจ้าอาวาส จึงจะมีอำนาจโดยสมบูรณ์ในการดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่ได้รับ มอบหมาย จากคุณสมบัติของคฤหัสถ์ ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นไวยาวัจกร กรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่ายังไม่ได้กำหนดคุณสมบัติบางประการของไวยาวัจกรที่ เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เช่น ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติทางการศึกษาของไวยาวัจกร อีกทั้งวาระในการดำรงตำแหน่ง และการสรรหาตัวบุคคลที่เหมาะสมกับกิจการที่ได้รับมอบอำนาจเฉพาะเรื่อง อำนาจในการแต่งตั้งไวยาวัจกร นั้น คือ เจ้าอาวาสของวัดนั้นปรึกษาสงฆ์ในวัดพิจารณาคัดเลือกคฤหัสถ์ผู้มีคุณสมบัติ ตามที่กำหนดไว้ และโดยทั่วไปแล้วเจ้าอาวาสมักจะแต่งตั้งบุคคลที่มีความคุ้นเคย หรือญาติพี่น้อง ให้เป็นผู้จัดการประโยชน์ในศาสนสมบัติของวัด และในการจัดประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์บางประการจะต้องเกี่ยวข้องกับตัวบท กฎหมาย เช่น การทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ ซึ่งจะต้องรู้เรื่องกฎหมายอย่างถ่องแท้ ดังนั้นหากไวยาวัจกร ไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมย่อมทำให้เกิดผลเสียในการบริหารจัดการอสังหาริม ทรัพย์ ซึ่งเป็น ศาสนสมบัติของวัดได้

๓.การควบคุมตรวจสอบและการถ่วงดุลย์อำนาจของผู้เกี่ยวข้อง

จากกรณีผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ในฐานะที่วัดเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ตามความในมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และตามความในมาตรา ๓๗ (๑) เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดำเนินการดูแลรักษาประโยชน์ในศาสนสมบัติของวัด และเจ้าอาวาสมีอำนาจในการแต่งตั้งไวยาวัจกร ได้ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพรราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

ผู้แทนและตัวแทนในการจัดการดูแลรักษาศาสนสมบัติในอสังหาริม ทรัพย์ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของวัด คือ เจ้าอาวาส และไวยาวัจกร หรือผู้จัดประโยชน์ต้องดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปตามกฎ กระทรวง ฉบับที่ ๒ (๒๕๑๑) ซึ่งข้อ ๓ กำหนดให้การเช่าที่ดินหรืออาคาร เจ้าอาวาสต้องจัดให้ไวยาวัจกร หรือผู้จัดประโยชน์ของวัด ซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้ง ทำทะเบียนทรัพย์สินที่จัดประโยชน์ ทะเบียนผู้เช่าหรือผู้อาศัยไว้ให้ถูกต้อง และเก็บรักษาทะเบียนและหนังสือสัญญาเช่าไว้เป็นหลักฐาน โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ข้อ ๓ นี้ ไม่ได้บัญญัติการควบคุมตรวจสอบของเจ้าอาวาสไว้ และในข้อ ๖ กำหนดให้เจ้าอาวาสจัดให้ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัดซึ่งเจ้าอาวาส แต่งตั้งทำบัญชีรับจ่ายเงินของวัด และเมื่อสิ้นปีปฏิทิน ให้ทำบัญชีเงินรับจ่ายและคงเหลือ ทั้งนี้ให้เจ้าอาวาสตรวจตราดูแลให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและถูกต้อง โดยตรวจได้เสมอในเมื่อมีความประสงค์จะตรวจ แต่ไม่ควรทิ้งระยะเวลานานเกินไป และอาจมอบหมายให้ภิกษุรูปอื่นที่มีความรู้ทางบัญชีทำการตรวจแทนได้ อันเป็นการตรวจสอบเบื้องต้นของเจ้าอาวาส ซึ่งถ้าพบว่าไวยาวัจกรทุจริตต่อหน้าที่ หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่วัดอย่างร้ายแรง เจ้าอาวาสอาจสั่งถอดถอนไวยาวัจกรผู้นั้นออกจากหน้าที่ได้ โดยอนุมัติของเจ้าคณะอำเภอตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกรสำหรับผู้จัดประโยชน์เป็นอำนาจในการแต่ง ตั้งของเจ้าอาวาส จึงอาจถอนคืนการจัดประโยชน์จากผู้นั้นได้ โดยแจ้งการถอนคืนแก่ผู้นั้นเป็นหนังสือไว้เป็นหลักฐาน อันเป็นการควบคุมตรวจสอบของเจ้าอาวาสได้อย่างสมบูรณ์ แต่สำหรับเจ้าอาวาสซึ่งมีหน้าที่บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ตามมาตรา ๓๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ นั้น ในบทกำหนดโทษ หมวด ๗ กรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ได้บัญญัติไว้ จึงไม่อาจควบคุมตรวจสอบได้โดยตรง อีกทั้งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ในการดูแลรักษาจัดการศาสนสมบัติของวัด ก็ไม่ได้กำหนดอำนาจให้ผู้ใดในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าอาวาส ดังนั้นถ้าเจ้าอาวาสฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และกฎกระทรวง ย่อมเกิดปัญหาในทางปฏิบัติในการควบคุมตรวจสอบ แต่ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นอาจใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ในหมวด ๔ จริยาพระสังฆาธิการ ในข้อ ๔๓ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “พระสังฆาธิการต้องเอื้อเฟื้อต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ พระราชบัญญัติสมเด็จพระสังฆราชสังวร และปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด ” ในการควบคุมดูแล แนะนำ ชี้แจง หรือสั่งให้เจ้าอาวาสผู้อยู่ในบังคับบัญชาปฏิบัติตามจริยาพระสังฆาธิการได้ เนื่องจากการดูแลรักษาจัดการศาสนสมบัติของเจ้าอาวาสนั้น ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และกฎกระทรวง

๔.การจัดการศาสนสมบัติของวัดตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

มาตรา ๔๐ วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้บัญญัติไว้ว่า “การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎ กระทรวง” ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัตินี้ ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ว่าด้วยการดูแลรักษา และ จัดการศาสนสมบัติของวัด ซึ่งผูกพันให้วัดต้องปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนด และบางกรณีการดำเนินการจัดการศาสนสมบัติของวัดต้องได้รับความเห็นชอบ จากกรมการศาสนาก่อน ได้แก่ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ข้อ ๒ กำหนดว่า “การกันที่ดินซึ่งเป็นที่วัด ให้เป็นที่จัดประโยชน์ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อกรมการศาสนาเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม” ในข้อ ๔ “การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา หรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปี จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา” และในข้อ ๕ “การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกินสามพันบาทขึ้นไปให้เก็บรักษาโดย ฝากกรมการศาสนา จังหวัด อำเภอ หรือ ธนาคาร หรือนิติบุคคลที่กรมการศาสนาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ให้ฝากในนามของวัด” ข้อกำหนดดังกล่าวนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ไม่เอื้อประโยชน์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นศาสนสมบัติของวัด เกิดความล่าช้าและไม่สะดวกในการลงทุนเพื่อประโยชน์ตอบแทนของวัด อีกทั้งไม่มีข้อบัญญัติใดทั้งในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และกฎกระทรวง เป็นบทลงโทษ ถ้าไม่ปฏิบัติ ดังนั้นถ้าเจ้าอาวาสฝ่าฝืน กรมการศาสนาก็ไม่มีอำนาจบังคับ แต่วัดอาจมีปัญหาทางกฎหมายในสัญญาเช่าเกินสามปีในที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา หรือที่จัดประโยชน์กับผู้เช่าได้๔ นอกจากนั้นกฎกระทรวงก็ไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียด และวิธีการจัดหาประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของวัดอย่างชัดแจ้ง ให้เป็นอำนาจของเจ้าอาวาสหรือตัวแทนที่จะจัดการหาประโยชน์ในที่ดินของวัดไป โดยลำพัง ไม่ต้องอยู่ในความควบคุมของหน่วยงานทางราชการ ซึ่งถ้าเจ้าอาวาสไม่สอดส่องดูแลไวยาวัจกร ผู้จัดประโยชน์อย่างทั่วถึง หรือตัวแทนที่แต่งตั้งทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ เป็นบุคคลที่ไม่เหมาะสม หรือไม่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการวัด อาจสูญเสียผลประโยชน์เป็นจำนวนมากได้

๕.ลักษณะ ของการผูกพันในนิติกรรมสัญญาต่างๆ และผลผูกพันตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ต่อผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ

เจ้าอาวาสซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมายของวัด ในฐานะที่วัดมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มีความชอบธรรมที่จะบริหารจัดการศาสนสมบัติของวัด โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ของวัด กิจการบางอย่างที่ต้องอาศัยรูปการบริหารจัดการในเชิงพาณิชย์อันเกี่ยวเนื่อง ด้วยอสังหาริมทรัพย์ของวัดตามกฎหมาย มีรูปแบบการจัดการตามกฎหมายในเรื่องของ นิติกรรมสัญญาเช่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้เช่าที่ดิน หรืออาคาร ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของวัด ดังนั้นเจ้าอาวาสซึ่งเป็นผู้แทนของวัดจึงมีผลผูกพันตามกฎมายในอันที่จะลงนาม ในฐานะคู่สัญญาที่เข้าผูกพันในนิติกรรมสัญญาต่างๆ ของวัด จากความไม่เหมาะสม รวมถึงข้อจำกัดในด้านวัฒนธรรมประเพณีสังคมไทยที่เคารพเทิดทูนพระภิกษุสงฆ์ จึงให้อำนาจเจ้าอาวาสที่จะมอบอำนาจให้กับบุคคลภายนอกเข้ามาดำเนินการแทนเจ้า อาวาสได้ กฎกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แต่เนื่องจากเจ้าอาวาสในฐานะตัวการผู้มอบอำนาจเฉพาะ ซึ่งได้กระทำไปในขอบเขตของอำนาจตามกฎหมายอันจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งเข้ามาเป็นคู่สัญญากับวัดผลผูกพันดังกล่าวระหว่างผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ กรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่า ยังมิได้มีการกำหนดไว้อย่างเด่นชัดในพระราชบัญญัติพระสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันเป็นอุปสรรคอย่างอื่นในการบริหารจัดการศาสนสมบัติ ของวัด โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ในการจัดการดูแลรักษา และหาประโยชน์ในศาสนสมบัติ เนื่องจากวัดเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๒ ได้กำหนดให้ผู้มีหน้าที่ในการดูแลรักษาและจัดประโยชน์ในศาสนสมบัติของวัด หลายฝ่ายด้วยกัน ซึ่งอาจจะอยู่ในฐานะ “ผู้แทน” ของวัด หรือ “ตัวแทน” ของวัด ถ้าได้กระทำกิจการใดๆ ในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยชอบด้วย กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ แล้ว ก็ถือว่าได้กระทำภายในกิจการเพื่อประโยชน์แก่วัด โดยชอบด้วยกฎหมาย วัดจึงมีหน้าที่ต้องผูกพันในกิจการนั้นๆ

๖.อำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาในคณะสงฆ์ในการควบคุมดูแลการจัดประโยชน์ในศาสนสมบัติของวัด

การปกครองคณะสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้กำหนดไว้ในมาตรา ๒ “คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหาเถรสมาคม” และมาตรา ๒๐ ทวิ ได้บัญญัติไว้ว่า “เพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้มีเจ้าคณะใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์” สำหรับการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ได้จัดแบ่งเขตปกครองเป็นภาค จังหวัด อำเภอ และตำบล โดยมีเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล เป็นผู้ปกครองตามลำดับชั้น การปกครองคณะสงฆ์มีขั้นตอนที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการค่อนข้างยาวนาน อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการควบคุมดูแลในปกครองของสงฆ์ได้ โดยเฉพาะการบริหาร จัดการผลประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของวัด อีกทั้งไม่มีข้อบัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพระสังฆาธิการที่เป็นผู้บังคับ บัญชาของเจ้าอาวาส ในการควบคุมดูแลการจัดประโยชน์ในศาสนสมบัติของวัดกฎกระทรวงกำหนดไว้เป็น เพียงการเสนอเรื่องตามลำดับชั้นถึงกรมการศาสนา

๗.วัด สำนักสงฆ์ และที่พักสงฆ์

วัดในประเทศไทย ตามสถิติข้อมูลของกรมการศาสนามีวัดซึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา จำนวนทั้งสิ้น ๓๒,๗๑๐ วัด๖ โดยไม่ได้กล่าวถึงจำนวนสำนักสงฆ์ ซึ่งวัดตามมาตรา ๓๑ แห่งพระบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มีสองอย่างคือ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์ และมาตรา ๓๒ กล่าวว่า “การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย การยุบเลิกวัด และการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ให้เป็นตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง” ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๗) ที่อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้บัญญัติถึงการสร้างวัด การตั้งวัด การรวมวัด การย้ายวัด การยุบเลิกวัด และการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา โดยไม่ได้กล่าวถึงการสร้างสำนักสงฆ์ ดังนั้น สำนักสงฆ์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ย่อมเป็นการใช้เรียกชื่อพ้องเป็นเพียงที่พักสงฆ์ คือ เป็นที่พำนักของพระภิกษุที่ไม่ได้ขออนุญาตสร้างวัดและตั้งวัดเพราะสำนักสงฆ์ ตามมาตรา ๓๑ นั้น อาจแปลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ วัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งถ้าเกิดคดีความขึ้น๗ กรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่า ที่พักสงฆ์ที่ไม่ได้ขออนุญาตในการสร้างวัดและการตั้งวัดย่อมไม่อยู่ในความ คุ้มครองหรือในบังคับของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ดังเช่นมาตรา ๓๔ บัญญัติว่า “ที่วัด และที่ธรณีสงฆ์ จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ๘ และห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่ วัด และที่ธรณีสงฆ์” มาตรา ๓๕ บัญญัติว่า “ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการ บังคับคดี๙” เมื่อที่พักสงฆ์ไม่ใช่วัด ย่อมไม่อยู่ในสายการปกครองของคณะสงฆ์ ทั้งฝ่ายสงฆ์ และฝ่ายบ้านเมืองจึงควบคุมได้ยาก อีกทั้งการจัดประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ ก็อาจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อาจก่อให้เกิดกรณีพิพาทขึ้นได้ ซึ่งอาจเป็นที่เสื่อมเสียแก่พระศาสนาได้เหมือนกัน

เอกสารอ้างอิง

๑. พ.ร.บ. คณะสงฆ์พ.ศ. ๒๕๐๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

๒. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๐๓-๑๐๐๕/๒๕๐๐ จำเลยรับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ มีสมณศักดิ์เป็นพระครูสรกิจพิมล มีอำนาจหน้าที่จัดการดูแลศาสนสมบัติของวัดพระพุทธบาท และมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ที่ว่า “พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่า เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา” ซึ่งจำเลยโต้แย้งว่าเป็นเพียงการให้อำนาจไว้ เพื่อควบคุมและคุ้มครองวัดอย่างเดียวกับเจ้าพนักงานเท่านั้น มิได้มีผลบังคับว่า ถ้าทำผิดจะต้องเป็นเรื่องเจ้าพนักงานกระทำผิดด้วยโดยตรง ดังที่กฎหมายลักษณะอาญาบัญญัติไว้ ในเรื่องเจ้าพนักงานกระทำผิดนั้น ฯลฯ ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า “ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา” นั้น บ่งชัดว่า อำนาจ และหน้าที่ พร้อมมูลทั้ง ๒ ประการ กล่าวคือ เมื่อมีอำนาจในวัดเหมือนเจ้าพนักงานแล้ว หากกระทำผิดในหน้าที่ก็ต้องผิดฐานเจ้าพนักงานกระทำผิดด้วย โดยนัยเช่นเดียวกัน

๓. คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๗/๒๕๓๙

๔. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๐๖/๒๕๑๒

๕. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๓๔/๒๕๓๖, ๓๙๔๗/๒๕๒๒, ๑๔๗๑/๒๕๓๖

๖. http://www.moe.go.th

๗. คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๙๐/๒๕๔๒ ระหว่างวัดโนนสูง และนายสมร บุญคน กับพวกจำเลยว่า วัดที่ได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นวัดได้ แต่ยังไม่ดำเนินการจัดตั้งเป็นวัด เป็นเพียงสำนักสงฆ์ไม่มีอำนาจฟ้องคดี จึงถือว่ายังไม่เป็นนิติบุคคล

๘. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๔๑/๒๕๔๑ ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สนที่พระภิกษุ ส. ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ และพระภิกษุ ส. ไม่ได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิติหรือทำพินัยกรรมอย่างอื่น ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัด ซึ่งเป็นวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ ส. ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๒๓ ดังนี้ ไม่ว่าโจทก์จะชื้อมาโดยสุจริตไม่ก็ตาม โจทก์ก็ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เพราะตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๔ ที่วัดจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติโจทย์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขับ ไล่จำเลยซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทได้

๙. คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๒๘/๒๕๓๓ พ. ยกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินให้แก่ วัดจำเลย โดยให้นาง ข. ซึ่งเป็นภรรยามีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิต และจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแล้วเช่นนี้ ที่ดินพิพาทได้ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดจำเลยตั้งแต่ พ. ยกให้ และจำเลยรับไว้แล้วเป็นต้นมา นาง ข. เป็นเพียงผู้ครอบครองแม้ต่อมานาง ข. จะได้ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ และโจทก์ได้ครอบครองที่ดิดพิพาทสือต่อมาก็ตาม วัดจำเลยก็ยังคงมีสิทธิครองครองเช่นเดิม เพราะโจทก์ห้ามมิให้ยกยายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่ ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๔

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 16,085 times, 1 visits today)

Comments are closed.