Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

มีเครื่องอยู่ของจิตไว้อันหนึ่งนะ ถ้าจะฝึกให้จิตตั้งมั่น


มีเครื่องอยู่ของจิตไว้อันหนึ่งนะ ถ้าจะฝึกให้จิตตั้งมั่น

มีเครื่องอยู่ของจิตไว้อันหนึ่งนะ ถ้าจะฝึกให้จิตตั้งมั่น

mp3 for download: มีเครื่องอยู่ของจิตไว้อันหนึ่งนะ ถ้าจะฝึกให้จิตตั้งมั่น

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์: เพราะฉะนั้นเวลาที่กิเลสชั่วหยาบเกิดนะ คนจะทำผิดศีล เรายังสู้กิเลสหยาบๆไม่ได้ ตั้งใจไว้ รักษาศีลไว้ อย่างน้อยกิเลสชั่วหยาบเกิดขึ้นที่ใจก็ตาม อย่าให้มันทำผิดศีล ทางกายทางวาจาออกมา อย่าให้มันล้นออกมาทางกายทางวาจา มันไปเบียดเบียนคนอื่นเขา เพราะฉะนั้นศีลเนี่ยนะ ช่วยควบคุมพฤติกรรมทางกายทางวาจาของเรา ไม่ให้ไประรานผู้อื่น นี่ มันหยาบมาก มันก็ไประรานคนอื่น

กิเลสชั้นกลางชื่อว่านิวรณ์ เราจะสู้ด้วยสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต ไม่ใช่สู้ความสงบ แต่สู้ด้วยความตั้งมั่น สมาธิ แปลว่าความตั้งมั่น สมาธิไม่ได้แปลว่าความสงบ อย่าไปแปลผิดนะ ถ้าแปลผิดก็ภาวนาผิดอีก สมาธิคือความตั้งมั่น องค์ธรรมของสมาธิคือความตั้งมั่น ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวนั้นแหละ ถ้าเป็นสมาธิที่ดีก็ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศล ถ้าเป็นสมาธิที่ใช้เจริญวิปัสสนาก็ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์รูปนาม ถ้าเป็นสมาธิของพระอริยะเจ้าในขณะเกิดมรรคเกิดผล ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นิพพาน มีตลอดนะ สมาธิ กระทั่งก่อกรรมทำชั่วก็มีสมาธิ เพราะฉะนั้นสมาธิต้องดูให้ดี

สมาธิเป็นความตั้งมั่นของจิตอยู่ในอารมณ์ อารมณ์อันเดียว และถ้าตั้งเป็นนะ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา เราจะเห็นอารมณ์นั้นน่ะ กับจิตเป็นคนละอันกันนะ แยกกัน

นิวรณ์เป็นอะไร นิวรณ์ทั้งหมดเลยมี ๕ ตัว กามฉันทนิวรณ์ ความยินดีพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส พยาบาท ความไม่พอใจ ไม่พออกพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ความฟุ้งซ่าน อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความลังเลสงสัย วิจิกิจฉา แล้วก็ ถีนมิทธะ ความเซื่องซึม ของจิต ของเจตสิก จิตเซื่องซึม เจตสิกเซื่องซึม ซึมไปด้วยกัน ทำงานไม่ค่อยสะดวก ทำงานไม่ได้ รู้อารมณ์ได้ไม่ดีไม่ชัดเจน

นิวรณ์ทั้งหมดถึงจะมี ๕ ตัว แต่ถ้าจะว่าไปแล้ว โดยสภาวะของมัน เป็นความฟุ้งของจิตทั้งสิ้นเลย ฟุ้งไปในอารมณ์ที่ดีก็เรียกว่า กามฉันทะ ฟุ้งไปในอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เป็นพยาบาท ฟุ้งจับจด จับอารมณ์ไม่ถูก พวกนี้อุทธัจจะ ฟุ้งไปสงสัย คิดนึกปรุงแต่งใหญ่ เรียกว่า วิจิกิจฉา เห็นมั้ย ฟุ้งไปจับอารมณ์ไม่ได้เลย ไม่รู้เรื่องเลย เป็นถีนมิทธะ เซื่องซึม จับไม่ถูก เป็นเรื่องของจิตฟุ้งซ่านทั้งสิ้นเลย เพราะฉะนั้นถ้าจะสู้กับจิตฟุ้งซ่าน ก็ต้องจิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน คือ จิตที่ตั้งมั่น จิตมีสมาธิ จึงใช้สมาธิสู้กับนิวรณ์ เหมือนใช้ศีล ไปสู้กับ ราคะ โทสะ โมหะ ที่เป็นกิเลสชั่วหยาบ

เพราะฉะนั้นเราต้องมีนะ ต้องมี มีศีล มีสมาธิ วิธีฝึกให้จิตมีสมาธินะ สมาธิคือความตั้งมั่น ง่ายที่สุดเลย คอยรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น ง่ายสุดๆ เบื้องต้น หาเครื่องอยู่ให้จิตเสียก่อน เราจะรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเคลื่อนไหว ต้องมีอะไร หยุดนิ่งเอาไว้ เป็นตัวสังเกต จึงจะเห็นชัดว่ามันเคลื่อนไหวมากขนาดไหน

จิตธรรมดาล่องลอย ดูยาก ไม่รู้เคลื่อนไปกี่องศาแล้ว ถ้ามีเครื่องสังเกต สมมุติว่ามีเครื่องสังเกตอันหนึ่ง มันอยู่ตรงนี้ก็รู้ เคลื่อนนิดหนึ่งก็เห็นแล้ว มันเคลื่อนแล้ว เครื่องสังเกตของจิตเนี่ย เรียกว่าเครื่องอยู่ วิหารธรรม

เพราะฉะนั้นเรามีเครื่องอยู่ของจิตไว้อันหนึ่งนะ ถ้าจะฝึกให้จิตตั้งมั่น พุทโธก็ได้ รู้ลมหายใจก็ได้ อะไรก็ได้ เอาสักอันหนึ่ง ให้จิตตั้งมั่น ให้จิตเนี่ยไปรู้เครื่องอยู่นั้นอย่างสบายๆ รู้พุทโธอย่างสบายๆ รู้ลมหายใจอย่างสบายๆ รู้ท้องพองยุบสบายๆ รู้อิริยาบถ ๔ สบายๆ รู้ร่างกาย ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถ ๔ รู้ร่างกายพอง ร่างกายยุบ รู้อย่างสบายๆ

รู้แล้วทำอะไร รู้แล้วให้จิตนิ่งอยู่กับอารมณ์อันนั้นรึ? ไม่ใช่นะ ไม่ใช่รู้แล้วบังคับให้จิตสงบนิ่งๆอยู่ในอารมณ์อันเดียว แต่รู้ เพื่อจะรู้ทันจิตที่ฟุ้งซ่านไปแล้ว ที่เคลื่อนไปแล้ว เช่นเราพุทโธๆ นะ จิตหนีไปจากพุทโธเรารู้ทัน เรารู้ลมหายใจออกหายใจเข้า จิตหนีไปจากลมหายใจเรารู้ทัน ไม่ใช่บังคับจิตให้อยู่ที่ลมหายใจ ถ้าบังคับแล้วจิตจะแน่น

เพราะฉะนั้นเมื่อเราหัดพุทโธ หัดหายใจ หัดดูท้องพองยุบ แล้วรู้ทันจิตไว้บ่อยๆ จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดูได้นะ ไหลนิดหนึ่งก็เห็น ไหลนิดหนึ่งก็เห็น หลวงปู่มั่นสอนสมาธิให้กับฆราวาส สอนแบบนี้นะ สอนอย่างนี้นะ สอนให้ดูจิตนะ สอนให้ดูจิต ใครบอกว่า ดูจิต เป็นของใหม่ๆ เขาสอนกันมาแต่ไหนแต่ไร พระพุทธเจ้าก็สอน หลวงปู่มั่นเอามาสอนหลวงปู่ดูลย์ด้วย แล้วสอนฆราวาสด้วย

ฆราวาสเนี่ยท่านบอกให้มีเครื่องอยู่ไว้อันหนึ่ง อยู่กับพุทโธก็ได้ อยู่กับลมหายใจก็ได้ แล้วคอยรู้ทันจิตนะ จิตหนีไปแล้วรู้ จิตหนีไปแล้วรู้ ในที่สุดพอมันขยับหนีไป พอเรารู้ทันมันจะตั้งขึ้นเอง เพราะอะไร จิตที่หลงไป เป็นอกุศล มีโมหะ ทันทีที่สติระลึกได้ว่าจิตหลงไป จิตเป็นอกุศล จิตที่เป็นกุศลก็เกิด จิตไม่หลงแล้ว จิตตั้งขึ้นมาเอง อัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องบังคับนะ เพราะฉะนั้นเราฝึกบ่อยๆ

เนี่ย เราฝึกอย่างนี้ จิตไหลไปแล้วรู้ จิตไหลไปแล้วรู้ มีเครื่องอยู่ไว้อันหนึ่ง ไม่ได้บังคับจิตให้นิ่งอยู่ที่ลมหายใจ ไม่ได้บังคับจิตให้นิ่งอยู่กับพุทโธ ไม่บังคับจิตให้นิ่งอยู่กับท้องพองยุบ ไม่บังคับจิตให้นิ่งอยู่กับเท้าเวลาเดิน แต่จิตหนีไปจากอารมณ์ ที่เราใช้เป็นวิหารธรรม ให้รู้ทัน ถ้ารู้ทันอย่างนี้จิตจะกลับมาเอง เข้าบ้าน กลับบ้านได้ เมื่อจิตเข้าบ้านได้ ตั้งมั่น

พอจิตตั้งมั่นแล้วมาถึงขั้นของการเดินปัญญา..

แสดงธรรมที่สวนสันติธรรม
เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ก่อนฉันเช้า
ระหว่างนาทีที่ ๑๐ วินาทีที่ ๑๔ ถึงนาทีที่ ๑๖ วินาทีที่ ๓๒

CD สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๕
ลำดับที่ ๒๑
File: 530730A.mp3

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 2,177 times, 1 visits today)

Comments are closed.