Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

ของวัด… หรือของพระ?


ของวัด… หรือของพระ?

เมื่อไม่นานนี้มีข่าวกรณีกลุ่มชาวพุทธรักษ์ศาสนายื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ขอให้มีการสอบสวนบัญชีเงินฝากของสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง และบัญชีเงินฝากของพระภิกษุในสถานปฏิบัติธรรมนั้น โดยมีการกล่าวหาว่า ปัจจัยบูชาธรรมที่มีผู้ถวายพระภิกษุดังกล่าวไม่ได้ถูกนำเข้าบัญชีเงินฝากของสถานปฏิบัติธรรม ผมเห็นว่าเรื่องลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องที่เราในฐานะพุทธศาสนิกชนควรจะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าปัจจัยหรือทรัพย์สินที่เรานำถวายในงานบุญ หรือเนื่องในโอกาสต่างๆ นั้นเป็นการถวายแก่บุคคลใด โดยมีหลักการดังนี้

ตามกฎหมายแล้วพระภิกษุ กับ วัดหรือสถานปฏิบัติธรรมนั้นมิใช่บุคคลเดียวกัน โดยพระภิกษุมีฐานะเป็นบุคคลธรรมดาตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งฐานะดังกล่าวมีนับแต่เมื่อคลอดอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย และไม่เปลี่ยนแปลงไปแม้ว่าจะได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วก็ตาม ในขณะที่วัด ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ได้แก่ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทต่างมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป จึงเห็นได้ว่าสถานะตามกฎหมายรวมทั้งสิทธิและหน้าที่ของวัดและพระภิกษุนั้นแยกออกจากกัน

ดังนั้นปัจจัยที่นำถวายแก่วัด ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน เงินบริจาค ทรัพย์สินใดๆ ย่อมต้องพิจารณาว่าเราได้นำถวายแก่บุคคลใด อาทิเช่น ปัจจัยที่ถวายแก่พระภิกษุในงานบุญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทำบุญตักบาตรยามเช้า ขึ้นบ้านใหม่ รวมทั้งงานกิจนิมนต์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งงานศพ ผมเห็นว่าล้วนแต่ปัจจัยที่ผู้ถวายมุ่งถวายแก่พระภิกษุผู้รับในขณะนั้นโดยมิได้มีเจตนาให้ปัจจัยดังกล่าวตกเป็นประโยชน์แก่วัด ในขณะเดียวกันบรรดาปัจจัยที่เกิดจากการเรี่ยไรเพื่อสร้าง หรือปรับปรุงพัฒนาวัด งานบุญทอดผ้าป่าสามัคคี การทำบุญในตู้รับบริจาคต่างๆ เห็นได้ว่าปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่มีเจตนาเพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์แก่วัดทั้งสิ้น แม้ในบางครั้งพระภิกษุจะเป็นผู้ทำการรับปัจจัยดังกล่าวจากผู้บริจาค ก็มีฐานะเพียงตัวแทนของวัดในการรับเท่านั้น

ตามที่อธิบายข้างต้นปัจจัยที่พระภิกษุได้รับเป็นการเฉพาะเจาะจงย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุผู้รับ ดังนั้นพระภิกษุย่อมเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ในการจำหน่าย จ่ายโอนและได้ประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าว เช่น เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารและได้รับดอกเบี้ย หรือหากได้รับเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นก็สามารถนำออกใช้ประโยชน์ เช่น ขาย หรือให้เช่า เป็นต้น หรืออาจนำปัจจัยที่ได้รับบางส่วนหรือทั้งหมดมอบให้แก่บุคคลอื่นเช่น บิดามารดา บุตร หรือแม้แต่ภรรยาของตน หรือบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติก็สามารถกระทำได้ รวมทั้งมอบให้แก่วัดต่อไป ท่านอาจสงสัยว่าทำไมผมจึงกล่าวว่าภรรยาของพระภิกษุ ผมขออธิบายด้วยความเคารพว่า ชายที่สมรสมีภรรยาถูกต้องตามกฎหมายแล้วเมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุมิได้ทำให้ความเป็นสามีภรรยาตามกฎหมายสิ้นสุดลงแต่อย่างใด หากแต่พระภิกษุดังกล่าวไม่อาจใช้ชีวิตอย่างฆราวาสอีกต่อไปเนื่องจากตนได้มาอยู่ภายใต้ศีลที่ต้องปฏิบัติ และเมื่อพระภิกษุดังกล่าวลาสิกขาแล้วก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับภรรยาของตนได้ตามปกติ

เมื่อเราพิจารณาถึงความเป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินหรือปัจจัยที่ได้พระภิกษุรับมาระหว่างอุปสมบทแล้ว จึงมีประเด็นต่อไปว่าหากพระภิกษุรูปนั้นมรณภาพลงแล้วทรัพย์สินดังกล่าวจะตกเป็นสิทธิแก่บุคคลใด ซึ่งมาตรา 1623 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติว่า “ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างอยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ให้ตกเป็นทรัพย์สินของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไประหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม” ซึ่งมาตราดังกล่าวมีหลักสำคัญดังนี้

(1) ต้องเป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุได้รับระหว่างอุปสมบทเท่านั้น ซึ่งไม่รวมถึงทรัพย์สินใดๆ ที่ได้รับหรือมีก่อนอุปสมบท หรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการเปลี่ยนแปลงทรัพย์ดังกล่าว เช่น ก่อนนาย ก อุปสมบท มีที่ดินแปลงหนึ่ง และเมื่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วพระ ก ได้ขายที่ดินดังกล่าวได้เงินจำนวนหนึ่ง เงินจำนวนดังกล่าวถือว่าเป็นทรัพย์สินที่พระ ก ได้รับก่อนการอุปสมบทโดยการเปลี่ยนแปลงทรัพย์จากที่ดินเป็นเงินนั้นเอง ซึ่งทรัพย์สินเหล่านั้นย่อมตกทอดแก่ทายาท ตามกฎหมายของพระ ก มิได้ตกแก่วัด แม้พระ ก จะมิได้จำหน่ายเงินดังกล่าวระหว่างมีชีวิต หรือมิได้ทำพินัยกรรมระบุให้ตกแก่บุคคลใดก็ตาม ซึ่งบัญญัติในมาตรา 1624 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

(2) พระภิกษุมิได้จำหน่ายระหว่างมีชีวิตดังที่กล่าวแล้วว่าเป็นทรัพย์ของพระภิกษุ และมิได้ทำพินัยกรรมระบุถึงทรัพย์ที่ได้รับมาระหว่างการครองสมณเพศให้ตกแก่บุคคลใด

หากข้อเท็จจริงปรากฏครบทั้ง 2 ข้อดังที่กล่าวมา ให้ทรัพย์ที่ได้รับมาระหว่างการครองสมณเพศตกแก่วัดที่พระภิกษุนั้นมีภูมิลำเนา ซึ่งหมายถึงวัดที่พระภิกษุนั้นจำวัดอยู่เป็นสำคัญ มิใช่ตามภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านนะครับ

ซึ่งจากที่ผมได้อธิบายทั้งหมดนี้ หวังว่าท่านผู้อ่านคงมีความเข้าใจถึงการถวายปัจจัยหรือทรัพย์สินแก่พระภิกษุหรือวัด รวมถึงสิทธิตามกฎหมายของพระภิกษุในการจัดการทรัพย์สินนั้น และการจัดการมรดกของพระภิกษุมากขึ้นนะครับ ทั้งนี้เพื่อประกอบการพิจารณาข่าวที่มีการนำเสนอต่อไป

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 77 times, 1 visits today)

Comments are closed.