Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

ความจริงของกายคือไตรลักษณ์ ความจริงของจิตคือไตรลักษณ์


mp3 for download: ความจริงของกายคือไตรลักษณ์ ความจริงของจิตคือไตรลักษณ์

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์: ปัญญานี้จะเป็นตัวล้างความเห็นผิด เพราะฉะนั้นความเห็นผิดนี้แหละเป็นกิเลสชั่วหยาบ ชั่วร้ายสุดๆเลย ความเห็นผิดก็คือตัวอวิชานั่นเอง ซ่อนเนียนๆอยู่ในใจ

ถ้าใครเชื่อว่าจิตนี้ดีอยู่แล้ว ปภัสสรอยู่แล้วแสดงว่าบริสุทธิ์อยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ต้องใช้ สัมมาทิฎฐิไม่ต้องมี พวกนี้จะนอนจมกิเลสโดยไม่รู้เรื่องอยู่อย่างนั้น กี่ภพกี่ชาติก็จะจมอยู่กับกิเลสอย่างนั้นเลย

เพราะฉะนั้นจิตไม่ได้ดีอยู่แล้วนะ จิตชั่วอยู่แล้ว ต้องกลับข้างเลยนะ จิตมีอวิชาครองโลกครองหัวใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องล้างอวิชาให้ได้ จะล้างอวิชาได้นะ ต้องล้างลูกน้องมันก่อน ต้องล้างกิเลสหยาบๆ กิเลสอย่างกลางเข้าไป สู้ของมันไป

กิเลสละเอียด ล้างได้ด้วยปัญญา วิธีใช้ปัญญานะ มีสติ รู้ทัน ปัญญานี้เป็นเครื่องซักฟอก เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ อวิชาเนี่ยเป็นความไม่รู้อริยสัจจ์ อริยสัจจ์ข้อที่ ๑ คือ ทุกข์ อวิชาทำให้เราไม่รู้ทุกข์ อะไรคือทุกข์ รูปธรรม นามธรรม นั้นแหละคือตัวทุกข์ นะ เรียกว่า รูปนาม เป็นตัวทุกข์

ทีนี้เราไม่รู้ ว่าตัวทุกข์ก็คือรูปธรรมนามธรรม คือสิ่งซึ่งเราเห็นว่าคือตัวเรานั่นเอง ถ้ารู้รูปรู้นามก็เรียกว่า รู้ทุกข์ เพราะฉะนั้นวิธีปฎิบัตินะ ให้รู้ทุกข์ คือ รู้รูป รู้นาม รู้กาย รู้ใจ ของตัวเองนี้แหละ รู้เข้าไป ซักฟอกเข้าไป ว่ากายนี้จริงๆเป็นอย่างไร เราต้องการรู้ความจริง เพราะฉะนั้นเราไม่ดัดแปลงความจริง ร่างกายเคลื่อนไหว ก็ดูมันเคลื่อนไหวไป ไม่ต้องดัดแปลงมัน ทำให้มันนิ่ง หรือว่าเคลื่อนไหวผิดธรรมชาติธรรมดา

เคยเดินท่าไหนก็เดินได้นะ ยกเว้นจะเดินในพิธีการ คนอื่นเขาเดินช้าๆ เราจะไปจ้ำๆตามควายอยู่คนเดียวมันก็ไม่ได้ เดี๋ยวไปเหยียบคนอื่นเขาเข้า เดินให้เหมือนๆเขา แต่ในธรรมชาติธรรมดาของเราน่ะ เดินจงกรมแต่ละคนนะ มีท่าที่ตัวเองถนัดก็เดินไปอย่างนั้น แต่ไม่ใช่เดินถนัดเอ้อระเหยนะ (สติ)หนีไปหมดเลย

เพราะฉะนั้นเราไม่ดัดแปลง เราไม่เริ่มต้นด้วยการดัดแปลง เราต้องการรู้ว่าจริงๆเป็นอย่างไร จริงๆเป็นอย่างไร กายนี้เป็นอย่างไร จิตนี้เป็นอย่างไร เราต้องการรู้ทุกข์ เราไม่ต้องการดัดแปลงทุกข์ เราไม่ต้องการละทุกข์นะ ไม่ใช่ละทุกข์นะ ยกตัวอย่างนั่งสมาธิปวด ทำอย่างไรจะหายปวด อันนั้นอยากละทุกข์แล้ว ทุกข์ให้รู้ ไม่ใช่ให้ละ หน้าที่ของเรา รู้ รู้รูป รู้นาม ตามที่เขาเป็น

อยากรู้ตามที่เขาเป็น ต้องไม่ไปดัดแปลงเขา เขาเป็นอย่างไร รู้ว่าเขาเป็นอย่างนั้นนะ ทำใจเป็นแค่คนดูนะ ทำใจเป็นแค่คนดู ใจที่เป็นคนดูได้นั้นแหละ คือใจที่มีสมาธิแล้ว เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นผู้รู้นะ ไม่ใช่ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง เพราะฉะนั้นใจที่ไหลไปแล้วรู้ ไหลแล้วรู้ มันจะตั้งขึ้นมา พอใจมันตั้งขึ้นมา ก็เรียกว่าใจเรามีสมาธิแล้ว มาดูรูป ดูนาม มันทำงาน ดูด้วยใจที่ตั้งมั่น สบายๆ เป็นผู้รู้ผู้ดูนี่เอง

เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว เห็นจิตใจมันเคลื่อนไหว ใจเราเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู สบายๆ ในที่สุดจะเห็นความจริง ความจริงของกายคืออะไร ความจริงของกายคือไตรลักษณ์ ความจริงของจิตคืออะไร คือไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นความจริงของกายก็ไตรลักษณ์ ความจริงของจิตก็ไตรลักษณ์ อันเดียวกันนั้นเอง คือความเป็นไตรลักษณ์

เราดูเพื่อให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ของกายของใจ การเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจนี้แหละ ชื่อว่า เจริญปัญญา มีปัญญา ถ้าไปเห็นอย่างอื่นไม่เรียกว่าปัญญานะ ไปเห็นว่าร่างกายนี้คือตัวเรา ร่างกายนี้เที่ยงถาวร อย่างนี้ไม่เรียกว่าปัญญา ต้องเห็นเลย มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์นะ มันทนอยู่ไม่ได้ มันเคลื่อนไหว มันเปลี่ยนแปลง มันหมุนเวียนไปเรื่อย ไม่มีตัวเรา เนี่ยดูไปเรื่อยๆ

ดูจนกระทั่งเห็นความจริงเลย กายนี้ไม่ใช่เรา ใจนี้ไม่ใช่เรา เป็นแค่รูปธรรม เป็นแค่นามธรรม มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ ตัวนี้สำคัญนะ จะเห็นอย่างนั้นจริงๆ เห็นเลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นน่ะ ไม่ใช่สิ่งที่อมตะ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีตัวเราถาวร ไม่มีสิ่งที่เป็นตัวเราถาวร ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีสิ่งใดถาวรเลย ไม่เฉพาะว่าสิ่งที่เป็นตัวเรานะ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดถาวร มีสิ่งถาวรอันเดียวคือนิพพาน ซึ่งเรายังไม่เห็น

ต้องเห็นรูปเห็นนามให้แจ้งนะ เห็นรูปเห็นนามให้แจ้ง พอเห็นรูปเห็นนามแจ้งแล้ว ตอนที่เกิดอริยมรรคนั้นน่ะ จิตจะสัมผัสกับพระนิพพาน ตอนที่ได้โสดาปัตติมรรคนั่นแหละ คือครั้งแรกในสังสารวัฏฏ์ ที่สัมผัสกับพระนิพพาน

พระนิพพานเป็นอย่างไร พระนิพพานไม่มีไม่เป็นอะไร เป็นสภาวะที่พ้นจากความมีความเป็น นิพพานมีอยู่มั้ย มีอยู่ มีลักษณะอย่างไร มีลักษณะสันติ สงบ สันติ ไม่ใช่ไม่มี ไม่ใช่นิพพานแห้งแล้ง โหวงๆเหวงๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราว จิตที่สัมผัสนิพพานเป็นอย่างไร มีบรมสุข เพราะนิพพานเป็นบรมสุข เราไปสัมผัสบรมสุขนะ มันก็บรมสุขไปด้วยนะ เราไปสัมผัสไฟ ไฟมันร้อนใช่มั้ย มันก็บรมร้อนไปด้วยแหละ ใช่มั้ย สัมผัสน้ำแข็งมันก็บรมเย็นแหละ สัมผัสพระนิพพานบรมสุขนะ สุขจริงๆนะ สุขจนธาตุขันธ์มนุษย์แทบจะทนอยู่ไม่ได้เลย สัมผัสทีแรกแทบตายเลย

แต่ว่าตอนโสดาฯ สกทาคาฯ อนาคาฯ นี่ สัมผัสแป๊บเดียว ไม่ทันตายหรอกนะ ไม่ทันรู้สึกหรอก ต้องภาวนาให้มันสุดขีดนะ นึกถึงพระนิพพาน จิตมันทรงอยู่อย่างนั้นน่ะ ทรงกับพระนิพพาน โอ้โหมันมีความสุข เรื่องนี้ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังนะ หลวงพ่อแค่อวดข้อมูลที่ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟัง

หลวงปู่สุวัจน์ (สุวัจน์ สุวโจ วัดป่าเขาน้อย ต. เสม็ด อ. เมือง จ. บุรีรัมย์) ท่านบอกนะ ท่านบอกว่า ตอนที่ท่านปล่อยวางจิตนะ ท่านมีความสุขอยู่ตั้งปีกว่าๆ สุขมหาศาล สุขเหมือนจะทนอยู่ไม่ไหวเลย สุขมหาศาล สุขแทบตาย สุขมาก ต่อๆไปใจก็ค่อยๆคุ้นเคยนะ ใจก็ค่อยๆเป็นอุเบกขา ก็มีความสุขบ้าง อุเบกขาบ้าง ไม่หวือหวาเหมือนทีแรก มีความสุขมาก

เนี่ยพวกเราอยากได้สัมผัสความสุขอันนี้นะ เราต้องพ้นทุกข์ให้ได้ ตัวทุกข์ก็คือ รูป นาม กาย ใจ ของเรานี่เอง เราจะพ้นทุกข์ได้ ใจจะปล่อยวางรูปนาม ปล่อยวางกายวางใจได้ ใจต้องมีปัญญาเห็นความจริงของรูปของนามนะว่า ไม่ใช่ของดีของวิเศษ..

แสดงธรรมที่สวนสันติธรรม
เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ก่อนฉันเช้า
ระหว่างนาทีที่ ๑๙ วินาทีที่ ๒๙ ถึงนาทีที่ ๒๖ วินาทีที่ ๕

CD สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๕
ลำดับที่ ๒๑
File: 530730A.mp3

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 1,143 times, 2 visits today)

Comments are closed.