Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เรียนรู้ดูขันธ์กับ อ.สุรวัฒน์ : ร่ำเรียนมาได้ความว่า…


ร่ำเรียนมาได้ความว่า …


(๑) แม้จะโง่เพราะเรียบเรียงธรรมะแจกแจงธรรมะอะไรไม่ได้
หรือได้นิดหน่อยไม่มากมาย ไม่ใช่คนที่แตกฉานในธรรมะ
แต่ถ้าฝึกที่จะเรียนรู้ดูขันธ์ อย่างมีสติ มีความตั้งมั่น เป็นกลางอยู่เนืองๆ
วันหนึ่งก็จะเห็นไตรลักษณ์ของขันธ์ได้จริงๆ ^_^


(๒) เมื่อ”รู้”ได้ว่าเผลอลืมตัวไป จิตก็จะมีสติรู้สึกตัว
จิตที่มีสติรู้สึกตัว จะมีความตั้งมั่นได้ชั่วขณะหนึ่ง
แต่ก็เพียงพอที่จะใช้ในการเรียนรู้ดูขันธ์ได้เป็นอย่างดี
และในชั่วขณะนั้นถ้าจิตมารู้กาย
ก็จะรู้สึกได้ว่ากายเป็นส่วนหนึ่งจิตที่รู้กายเป็นอีกส่วนหนึ่ง
หรือที่เรียกกันว่า แยกรูปแยกนาม นั่นเอง ^_^


(๓) ความตอนที่ ๒ กระโดดข้ามไปไกลเลย
ถอยกลับมาตรงนี้ก่อนว่า…

ก่อนจะลงมือหัดปฏิบัติธรรม
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า
จิตแบบไหนเอามาใช้เจริญสมถะ
จิตแบบไหนเอามาใช้เจริญวิปัสสนา
ไม่เช่นนั้นการปฏิบัติธรรมจะพลาดไปจากสมถะ
กลายเป็นฝืนใจข่มจิตจนเครียด
พลาดไปจากวิปัสสนา แทนที่จะเห็นลักษณะที่เป็นจริง
ก็กลายเป็นเห็นผิดไปจากที่เป็นจริง
แต่ถ้ายังไม่เข้าใจว่าจิตแบบไหนใช้เจริญอะไรได้
ก็ให้มา”ตั้งต้นทำความเข้าใจ จิตที่มีสติ รู้สึกตัว กันก่อน”
แล้วหนทางข้างหน้าจะสดใสไม่พลาดหลงไปง่ายๆ


(๔) จิตที่มีสติ รู้สึกตัว เป็นอย่างไร?
ก็เป็นจิตที่รู้สึกได้ว่ามีกาย มีใจตัวเองกำลังเป็นอย่างไร
เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหว ก็อยู่ก็รู้สึกได้ว่า
มีร่างกายกำลังยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหว
โดยมีจิตเป็นผู้ที่ทำหน้าที่รู้ไปสบายๆ ไม่เคร่งเครียด
หากอะไรปรากฏขึ้นที่จิตที่ใจ
เช่น มีกิเลสตัณหาเกิดขึ้น ก็รู้สึกตัวอยู่
ไม่หลงลืมตัวไปทำอะไรตามแรงขับของกิเลสตัณหานั้น
จิตที่มีสติ รู้สึกตัวอยู่ จึงเป็นจิตที่มีทั้งศีลและมีสมาธิตั้งมั่นอยู่นั่นเอง ^_^


(๕) จะฝึกให้จิตมีสติ รู้สึกตัวได้อย่างไร?
ก็ฝึกได้ด้วยการหมั่นสังเกต หมั่นรู้สึกอยู่กับตัวเอง
ให้รู้สึกได้ว่ามีตัวเองกำลังทำนั่นทำนี่อยู่ในโลกใบนี้
ร่างกายเป็นอย่างไรก็ให้รู้สึก จิตใจเป็นอย่างไรก็ให้รู้สึก
หากจิตใจเกิดมีกิเลสตัณหา ก็ให้สำรวมกายวาจา
ให้รักษาศีลเอาไว้ให้ดี แล้วก็หัดรู้หัดดูจิตไปแบบ แค่รู้แค่ดู
โดยไม่ต้องแทรกแซงการทำงานของจิตใจ
แต่ถ้ากิเลสตัณหารุนแรงเกินไปจนอาจทำผิดศีลได้
ก็ให้หลบไปทำใจให้สบายให้สงบก่อน
แล้วค่อยกลับมาเริ่มหัดรู้สึกร่างกาย หัดรู้สึกจิตใจ ต่อไปใหม่

อ้อ…แล้วก็ทุกวันต้องหาเวลามาฝึกกันเป็นการเฉพาะ
เช่นฝึกด้วยการสวดมนต์ เดินจงกรม หรือใช้รูปแบบอื่นๆ บ้าง
จะฝึกได้วันละกี่สิบนาทีก็ให้ฝึกไปเท่าที่สามารถฝึกได้สบายๆ
อย่าตั้งกำหนดเวลาไว้นานเกินกว่าจะทำได้อย่างสบายๆ ทุกวัน
เพราะถ้าทำไม่ได้ตามที่กำหนดเวลาไว้นานเกินไป
จะเป็นการบั่นทอนกำลังใจไปซะเปล่า ๆ


(๖) ไม่มีใครที่เพิ่งฝึกแล้วจะมีสติ รู้สึกตัวได้ตลอดเวลา
ใหม่ๆ ก็จะเผลอเพลินลืมตัวไปนานเลย
กว่าจะนึกได้ว่าต้องรู้สึกตัว ก็ผ่านไปเกือบวันหนึ่ง
จึงต้องตั้งเจตจำนงที่จะนึกให้ได้ว่าต้องมีสติ รู้สึกตัวเอาไว้
แล้วก็หัดสังเกตอะไรเป็นหลักเอาไว้สักอย่างสองอย่างก่อน
เช่น หัดสังเกตดูร่างกายตัวเองกำลังเคลื่อนไหวบ่อยๆ
กับหัดสังเกตอารมณ์ทางใจที่เกิดขึ้นบ่อยๆ
หรือจะหัดรู้เอาเลยว่า เมื่อกี้เผลอลืมตัวไป ก็ได้


(๗) การฝึกสติ รู้สึกตัว ให้ฝึกไปสบายๆ
อย่าเคร่งเครียดอย่าฝืนที่จะไม่ให้เผลอลืมตัว
เพราะตอนนี้ยังไงก็ต้องเผลอลืมตัว
ดังนั้นเผลอลืมตัวจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ
ที่ต้องหัดเพิ่มเมื่อเกิดการเผลอลืมตัวไปแล้ว
ก็คือ ให้หัด”รู้”ว่าเมื่อกี้เผลอลืมตัวไป
หัดรู้ให้ได้บ่อยๆ แล้วจิตจะมีสติมีกำลังตั้งมั่นมากขึ้น
เมื่อจิตมีสติมีกำลังตั้งมั่นมากพอ
ก็จะเจริญปัญญาเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามต่อไปได้


(๘) เมื่อจิตที่มีสติรู้สึกตัว รู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
ได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องฝืนบังคับไว้
จิตแบบนี้แหละที่กำลังเจริญสมถะอยู่
ผลของสมถะเบื้องต้นจะทำให้จิตมีความสงบ
เมื่อฝึกบ่อยๆ คนที่เก่งทางสมถะ
จิตก็จะสงบปราณีตได้มากขึ้นจนถึงสภาวะที่เรียกว่า ฌาน
แต่ถ้าใครฝึกแล้วไม่ถึง ฌาน ก็ไม่เป็นไรหรอกนะ
เพราะแค่จิตมีความสงบได้บ้างตามสมควร
ก็เพียงพอที่จะช่วยให้การเจริญวิปัสสนาดำเนินต่อไปได้แล้ว


(๙) ในส่วนของการเจริญวิปัสสนานั้น
จิตจะต้องมีสติ มีความตั้งมั่นและเป็นกลาง
(ไม่เอียงไปทางชอบ-ชัง)
เห็นร่างกายเป็นอีกส่วนหนึ่งถูกรู้ถูกดูอยู่
แล้วถ้ามารู้สึกต่อสภาวะทางใจ ก็จะรู้สึกว่า
จิตในขณะปัจจุบันกับจิตในขณะที่เพิ่งผ่านมาสดๆร้อนๆ
มีความแตกต่างกัน จะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ของจิต
จะรู้สึกถึงการดับไปแบบสดๆร้อนๆของจิตที่เป็นอกุศล
จะรู้สึกว่าจิตจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่มากระทบ
จะห้ามไม่ให้จิตเป็นอย่างที่ไม่ต้องการก็ห้ามไม่ได้
จะสั่งให้จิตเป็นไปตามต้องการก็สั่งไม่ได้
การเห็นสภาวะของจิตแบบนี้แหละ ที่เป็นการเห็นได้ว่า
จิตเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง) เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน)
เมื่อจิตดวงหนึ่งดับไปแล้วก็เกิดจิตอีกดวงหนึ่งขึ้นมา
(ที่ว่าจิตเป็นดวงๆ หมายถึง จิตจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามสิ่งปรุงแต่งจิตนั่นเอง)

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 250 times, 1 visits today)

Comments are closed.