Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

สติที่รู้กายรู้ใจเรียกว่าสติปัฏฐาน สติที่รู้อารมณ์อื่นๆเรียกว่าสติธรรมดา


สติที่รู้กายรู้ใจเรียกว่าสติปัฏฐาน สติที่รู้อารมณ์อื่นๆเรียกว่าสติธรรมดา

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

สติที่รู้กายรู้ใจเรียกว่าสติปัฏฐาน สติที่รู้อารมณ์อื่นๆเรียกว่าสติธรรมดา

สติที่รู้กายรู้ใจเรียกว่าสติปัฏฐาน สติที่รู้อารมณ์อื่นๆเรียกว่าสติธรรมดา

หลวงพ่อปราโมทย์: ศึกษาธรรมะนะ ดีแล้วล่ะ คนไหนมีธรรมะ ก็ชีวิตมีความมั่นคง เราไม่รู้อนาคตของแต่ละคนนะ ว่าเราจะเผชิญอะไรกับชีวิตบ้าง การที่เราเรียนธรรมะไว้เนี่ย เหมือนเราสร้างต้นทุนให้ตัวเองไว้ เพื่อจะต่อสู้กับชีวิต แต่ละคนๆนี่ กว่าจะตั้งหลักได้ ตั้งตัวได้ บางคนล้มลุกคลุกคลาน บางคนตั้งหลักตั้งตัวไม่ได้ทั้งชาติเลย

แต่ถ้าเรามีธรรมะไว้นะ เราจะชีวิตเรามีระเบียบ มีแบบแผน ไม่ค่อยตุปัดตุเป๋ออกนอกลู่นอกทาง โอกาสที่จะตั้งเนื้อตั้งตัวได้ก็เยอะหน่อย อยู่กับโลก บางที เราระวังเต็มที่แล้ว อยู่ๆก็เกิดเหตุการณ์ ซึ่งเราไม่คาดฝัน ในโลกนี้เต็มไปด้วยเรื่องที่คาดฝันไปไม่ถึง มันนำความทุกข์มาให้เรา เช่นเราอยู่ดีๆ พ่อแม่เราตายไป อะไรอย่างนี้ ก็เป็นไปได้ หรือว่ามีครอบครัว แฟนเรานอกใจเราอะไรอย่างนี้ ก็เป็นไปได้ ทำงานไปแล้วตกงาน หรือกิจการล้มละลาย ก็เป็นไปได้ มีลูกแล้วลูกเกเร ทำความหายนะให้ ทำความทุกข์ให้พ่อให้แม่ ก็เป็นไปได้อีก อยู่ดีๆยังแข็งแรงอยู่นะ อยู่ๆก็เจ็บป่วยขึ้นมาอะไรอย่างนี้ เป็นมะรงมะเร็ง เด็กๆก็เป็นนะ ไม่ใช่ไม่เป็น หลวงพ่อเคยเห็น ที่สถาบันมะเร็ง เด็กเล็กๆเลยก็เป็นมะเร็ง

เพราะฉะนั้นชีวิตเรานี่เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่แน่นอน เราก็ต้องศึกษาธรรมะเอาไว้ ถ้าคนไหนมีธรรมะไว้นี่ เราจะสามารถอยู่กับความไม่แน่นอนได้อย่างที่มีความมั่นคงพอสมควร

ยิ่งถ้าเรามีธรรมะมากๆนะ เรารู้สึกแน่นอนเลย ที่ใจเราจะไม่ทุกข์ โลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ แต่ใจเราจะไม่ทุกข์ นี่ถ้าภาวนาสำเร็จนะ ถึงที่สุดจริงๆแล้วจะไม่ทุกข์อีกแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสร้างต้นทุนให้ตัวเองไว้ ด้วยการศึกษาธรรมะเอาไว้

การศึกษาธรรมะ ไม่ใช่การศึกษาอะไรที่ยากๆหรอก อย่าไปคิดว่าธรรมะเป็นเรื่องยากๆ ธรรมะเป็นเรื่องห่างไกล ธรรมะเนี่ยต้องเรียนอีกหลายชาติ นะ ถึงจะสำเร็จ ไม่ใช่เลย ถ้าพวกเราเข้าใจหลักที่พระพุทธเจ้าสอนเนี่ย เราจะพัฒนาจิตใจของตัวเองได้อย่างรวดเร็วมากเลย ใช้เวลาไม่นานหรอก บางคนใช้เวลาเดือนเดียวนะ เรียนกับหลวงพ่อเดือนหนึ่ง ใจก็เปลี่ยนแปลงไปมากเลย เคยมีความทุกข์มากๆนะ ก็เหลือทุกข์น้อยๆ เคยทุกข์นานๆ ก็เหลือทุกข์สั้นๆ จิตใจมันมีความอบอุ่น จิตใจมีความมั่นคง

คนในโลกนี้นะ ทุกวันนี้ คนไม่มีความอบอุ่นเลย ความมั่นคงก็ไม่มีหรอก ทุกอย่างเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง รวดเร็วมากเลย ความอบอุ่นก็ไม่มี ครอบครัวแตกกระจัดกระจายไป อะไรอย่างนี้ แต่ถ้าเรามีธรรมะแล้ว นอกจากจะมั่นคงแล้วเรายังอบอุ่นด้วย มันมีความสุขอยู่ได้ด้วยตนเอง สมมุติว่าเราเป็นลูกกำพร้าเราก็มีความสุขนะ เพราะเรารู้พ่อแม่ที่แท้จริงอีกท่านหนึ่งของเราก็ยังอยู่ คือ พระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทอดทิ้งเรานะ อยู่ในใจเรานี่เอง ใจของเราเข้าถึงธรรมะแล้วก็จะเจอพระพุทธเจ้า ท่านถึงบอก “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” พวกเราไม่ได้เจอร่างกายของพระพุทธเจ้า แต่ว่าถ้าเราเข้าใจธรรมะเราจะเจอพระพุทธเจ้าตัวจริง คนไหนได้ธรรมะแล้วจะรู้สึก มีชีวิตมีความอบอุ่น ไม่ว้าเหว่ ไม่ขาดที่พึ่งที่อาศัย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องค่อยๆฝึก ค่อยๆเรียนธรรมะนะ

การเรียนธรรมะไม่ใช่ยากอะไรหรอก เราอย่าไปวาดภาพว่าการปฎิบัติธรรมนั้นคือการนั่งสมาธินะ เราอย่าไปวาดภาพการปฎิบัติธรรมว่าคือการเดินจงกรม ต้องเดินสวยๆ ต้องเดินนานๆ ไม่เกี่ยวกันเท่าไหร่หรอก การนั่งสมาธิ การเดินจงกรมเป็นแค่รูปแบบของการปฎิบัติ เหมือนเครื่องแบบนักเรียนเท่านั้นเอง ดูสวยๆ แต่เนื้อแท้คือการมีสติของเรา จิตเรามีสติจริงมั้ย จิตเรามีสัมมาสมาธิมีความตั้งมั่นจริงมั้ย เราสามารถเจริญปัญญาได้ถ้ามีสติแล้วก็มีสัมมาสมาธิ นี้เป็นเนื้อแท้ของการปฎิบัติ

การมีสติเนี่ย ไม่ใช่ว่าต้องเดินจงกรมอยู่ถึงมีสติ ต้องนั่งสมาธิอยู่ถึงมีสติ เราทำอะไรอยู่ก็มีสติได้นะ ถ้าค่อยๆฝึกไป เข้าห้องน้ำก็มีสติได้นะ นั่งถ่ายไป ท้องผูกท้องไม่ผูกอะไรเนี่ย ก็เจริญสติได้ จะกินข้าวเราก็มีสติได้ ทำอะไรๆเราก็มีสติได้ ยกเว้นเวลาเรียนหนังสือนะ เวลาอ่านหนังสือ เวลาไปเรียนหนังสือ ไม่ใช่เวลาเจริญสติปัฏฐาน แต่ต้องมีสติเรียนสิ่งที่อาจารย์สอน คนละอันกัน

คำว่าเจริญสติที่หลวงพ่อพูดว่า พูดถึง หมายถึง ‘สติปัฏฐาน’ ได้แก่ สติที่คอยรู้กายรู้ใจ สติที่รู้กายรู้ใจเรียกว่าสติปัฏฐาน สติที่รู้อารมณ์อื่นๆเรียกว่าสติธรรมดา เวลาเราเรียนหนังสือ เวลาเราทำงานที่ต้องคิด เราใช้สติธรรมดา จดจ่ออยู่กับการเรียนนะ แต่เวลาที่เหลือเนี่ย พยายามมีสติปัฏฐาน สร้างสติปัฏฐาน คือคอยรู้สึกตัวไว้ คอยรู้สึกกาย คอยรู้สึกใจไปเรื่อย ถ้ารู้สึกได้นะ ความทุกข์มันจะค่อยๆหายไปเอง


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ก่อนฉันเช้า
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๐
File: 521204B.mp3
ลำดับที่ ๑๒
ระหว่างนาทีที่ ๐ วินาทีที่ ๕๑ ถึง นาทีที่ ๖ วินาทีที่ ๓๗
 

 

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 69 times, 1 visits today)

Comments are closed.