Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

คนเราทะเลาะกันก็เป็นเพราะหลงสมมุติ


mp3 for download: คนเราทะเลาะกันก็เป็นเพราะหลงสมมุติ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

คนเราทะเลาะกันก็เป็นเพราะหลงสมมุติ

คนเราทะเลาะกันก็เป็นเพราะหลงสมมุติ

หลวงพ่อปราโมทย์ : สภาวธรรมทั้งหลาย ปรมัตถธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มาตั้งแต่ไหนแต่ไร คือไม่ใช่อัตตา ไม่มีอัตตาตัวตน เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ความสำคัญผิดนะ ไปหลงสมมุติน่ะ มองไม่เห็นสภาวธรรมที่อยู่เบื้องหลังสมมุติ ก็เลยไปคิดว่ามีสัตว์ มีคน มีเรา มีเขา ไปหลงสมมุติเพราะอะไร เพราะไม่รู้ความจริง งานหลักของเราชาวพุทธก็คือ ฝึกใจจนกระทั่งมันรู้ความจริง พามันดูลงไปให้ถึงตัวสภาวะแท้ๆ อย่าไปหลงอยู่แค่สมมุติ

เห็นคนใช่มั้ย มองไปก็ อ้อ..นี่เเห็นคน จริงๆเห็นอะไร ตอบได้มั้ย.. อ้อ ตอบเห็นรูป เห็นรูปก็ถูกเหมือนกัน รูปชนิดไหนล่ะ.. สี เราเห็นสี เรียกว่า “วรรณรูป” ไม่ใช่วัณโรคนะ เห็นสี สีสันวรรณะ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นจริงๆนะคือสีที่ตัดกันนะ สีดำ สีขาว สีน้ำตาล สีเหลือง อะไรอย่างนี้ สีแดง สีเทาๆ สีเขียว อะไรอย่างนี้ ตัดกันไปตัดกันมา แล้วเราก็เข้าไปหมายเอา สัญญาเข้าไปหมาย จำได้ว่าสีที่ตัดกันอย่างนี้เขาเรียกว่ารูปนะ รูปคน อาศัยความจำนะ จำอะไร ก็จำสมมุติมาทั้งหมดเลย ทีนี้ เรียกอย่างนี้ว่าคนมานานแล้ว พอเห็นรูปแบบนี้นะ ที่แท้เห็นสีแต่ไม่เคยรู้เลยว่าเห็นสี

หูได้ยินอะไร หูได้ยินเสียง เสียงคนเสียงสัตว์หรือเสียงนก หรือเสียงลมพัด ความจริงหูได้ยินเสียง เป็นคลื่นเสียงสูงๆต่ำๆนะ หูรับรู้อย่างนั้น แล้วใจเข้าไปหมายว่าเสียงนั้นเสียงนี้ จำได้ จำสมมุติได้ว่า เสียงอย่างนี้เขาด่า เสียงอย่างนี้เขาชม

โกรธขึ้นมา เสียงอย่างนี้เขาด่าแล้วโกรธขึ้นมา เห็นมั้ย โกรธเพราะอะไร เพราะหลงสมมุติ เสียงกระทบหูจริงๆไม่โกรธหรอก เพราะจิตเป็นอุเบกขา ไม่โกรธหรอก เฉยๆ แต่พอแปลได้นะ แปลเสียงอย่างนี้ สูงต่ำอย่างนี้ โอ๊ะ!นี่เป็นคำด่านี่หว่า เราหลงสมมุตินะ กิเลสก็เกิดขึ้นมา

เพราะฉะนั้นเราหัดนะ เราค่อยๆเรียนรู้ไป สมมุติก็ส่วนสมมุตินะ สมมุติก็ต้องเอาไว้ใช้ บางทีก็สมมุติมีหลายแบบหลายระดับ สมมุติซ้อนสมมุติก็มี เช่น นี่ผู้หญิง เริ่มตั้งแต่นี่คน นี่คนผู้หญิง คนนี้ชื่อรัตน์ คนนี้ชื่อแมว อะไรอย่างนี้ คนนี้ชื่อต่าย เราสังเกตนะ ผู้หญิงชื่อเป็นสัตว์เยอะกว่าผู้ชาย มีชื่อไก่ ชื่ออะไรอย่างนี้เยอะ แต่ขาดแรด ไม่เคยได้ยิน มีมั้ยสมมุติชื่อแรด คงไม่มีนะ เพราะอะไร เพราะให้ค่าไว้ไม่ดี ไม่น่ารัก

เพราะฉะนั้นเราค่อยๆเรียนความจริงนะ เรียนความจริงก็คือ เรียนให้เห็นตัวสภาวะ เห็นปรมัตถธรรมแท้ๆนะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง “ความรู้สึกโลภ” เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาวะ “ความรู้สึกโลภ” คำเรียกว่า “โลภ” เป็นสมมุติบัญญัติแล้ว “ความรู้สึกโกรธ” เป็นสภาวะ ตัวความรู้สึกแท้ๆเป็นสภาวะ คนไทยโกรธ หรือคนจีนโกรธ หรือฝรั่งโกรธเนี่ย ยกตัวอย่าง คุณรูธโกรธ หรือคุณแมวโกรธ ความรู้สึกเหมือนกัน เป็นสภาวะ แต่ชื่อที่เรียกสภาวะอันนี้ไม่เหมือนกัน ฝรั่งก็เรียกอย่างหนึ่ง คนจีนก็เรียกอย่างหนึ่ง คนไทยก็เรียกอีกอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้นะ อะไรเป็นสมมุติ อะไรเป็นบัญญัติ อะไรเป็นสภาวะ คนเราทะเลาะกันก็เป็นเพราะหลงสมมุตินั่นแหละ สมมุติไปสมมุติมานะ มันเริ่มตั้งแต่สมมุติว่ามีเรา เราไปสมมุติเอาขันธ์ ๕ กลุ่มนี้ ซึ่งเป็นสภาวธรรมล้วนๆ ไม่มีเจ้าของนะ มาเป็นตัวเราก่อน แล้วก็เลยเกิดของเราขึ้นมา มี “เรา” แล้วก็เลยมี “เขา” ขึ้นมา มี “ของเขา” ขึ้นมา มีการแก่งแย่ง มีการชิงดีนะ

เห็นคนทะเลาะกันนะ รู้เลย พวกนี้มันหลงสมมุติ


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๓
File: 530103.mp3
ลำดับที่ ๑๒
ระหว่างนาทีที่ ๑๖ วินาทีที่ ๒๖ ถึง นาทีที่ ๒๑ วินาทีที่ ๑๙

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 345 times, 2 visits today)

Comments are closed.