Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

ผู้ใดเห็นว่าจิตผู้รู้เที่ยง เป็นมิจฉาทิฎฐิ


mp3 for download : ผู้ใดเห็นว่าจิตผู้รู้เที่ยง เป็นมิจฉาทิฎฐิ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ผู้ใดเห็นว่าจิตผู้รู้เที่ยง เป็นมิจฉาทิฎฐิ

ผู้ใดเห็นว่าจิตผู้รู้เที่ยง เป็นมิจฉาทิฎฐิ

หลวงพ่อปราโมทย์ : ทำอย่างไรจะเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ต้องดูให้เห็นว่าจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตเองก็เกิดดับได้นะ

วิธีดูจิตที่เกิดดับนี้  จิตไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน ดูมันตรงๆจะไม่เห็นอะไร เราต้องดูอ้อมๆ ดูผ่านสิ่งอื่นเข้ามา จิตไม่ได้เกิดลอยๆ จิตไม่ได้เกิดคนเดียว จิตต้องเกิดร่วมกับสิ่งอื่น จิตเกิดร่วมกับอะไร? จิตเกิดร่วมกับเจตสิก ความรู้สึกที่ประกอบจิต จิตเกิดร่วมกับกับอะไร? จิตเกิดร่วมกับอายตนะได้ เกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจได้

เพราะฉะนั้นเราสังเกตความมีอยู่ ความเกิดดับของจิต ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความดับไปของจิต สังเกตผ่านเจตสิก และสังเกตผ่านอายตนะ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไปดูจิตตรงๆจะไม่มีให้เห็นเลย ไม่มีอะไรเลย ถ้าอยู่ๆเรานึกอยากดูจิต แล้วก็ดูปุ๊บลงไป เราจะเอาจิตไปดู เราไม่ได้ดูจิต ดูไม่ถึงจิตหรอก

หรือดูไปๆ ก็จะเห็นว่า ว่างๆ ยกตัวอย่างไปนั่งจ้องไว้อย่างนี้นะ นั่งจ้องไว้ ก็จะว่างๆ คิดว่าว่างๆเป็นจิต ว่างๆไม่ใช่จิต ว่างเป็นเจตสิก เป็นสังขารชนิดหนึ่ง ชื่อ “อากาสานัญจายตนะ” ไม่ใช่จิตหรอก

เพราะฉะนั้นถ้าอยากเห็นจิตจริงๆ อย่าเที่ยวหาจิต หลวงปู่ดูลย์เคยสอนหลวงพ่อว่า “อย่าใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปป์หนึ่งก็ไม่เจอ” สอนอย่างนี้นะ หาอีกกัปป์หนึ่งก็ไม่เจอ ไม่ต้องหามันนะ ให้เรียนรู้จากเจตสิก

ตอนที่หลวงปู่มั่นสอนหลวงปู่ดูลย์นะ ก็สอนอย่างนี้นะ หลวงปู่มั่นสอนหลวงปู่ดูลย์บอกว่า สัพเพ สังขารา เห็นไหมให้เรียนที่สังขารนะ “สัพเพ สังขารา สัพพะ สัญญา อนัตตา* สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย ไม่เที่ยง สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา ท่านสอนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นหลวงปู่ดูลย์มาดูจิต เริ่มจากอะไร ดูสังขารนะ ไม่ใช่ดูจิต

จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ ความสุขเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้น ทีแรกยังไม่รู้สึกว่าความสุขความทุกข์เกิดขึ้น แต่จะรู้สึกว่ามีเราสุขเราทุกข์นะ ต่อมาค่อยๆสังเกต อ๋อ จิตมันมีความสุขขึ้นมา จิตมันมีความทุกข์ขึ้นมา จิตมันโลภ จิตมันโกรธ จิตมันหลงขึ้นมา ถ้ายังดูไม่เป็นก็จะรู้สึกว่า จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตสุข จิตทุกข์

ถ้าค่อยๆดูนะ สติปัญญาแก่กล้าขึ้น จะเห็นว่า จิตก็อยู่ส่วนหนึ่ง ความสุขความทุกข์ก็อยู่ส่วนหนึ่ง ความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ส่วนหนึ่ง สามารถแยกเจตสิกออกจากจิตได้นะ เห็นไหม เราเรียนรู้จิต ผ่านการดูเจตสิกนะ แล้วสามารถแยกมันออกไปได้ ในที่สุดจะรู้ ว่าธรรมชาติรู้นี้ เป็นอย่างไร

ธรรมชาติรู้นี้ ไม่มีอะไร แต่เป็นแต่ธรรมชาติรู้ นี่ค่อยแยก แต่ว่าไม่ใช่เอาตัวนี้นะ ยังต้องเห็นว่าตัวนี้เองตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อีกทีหนึ่ง ถ้ายังเห็นว่าตัวรู้เที่ยง เป็นมิจฉาทิฎฐิเลย มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่งชื่อ หลวงปู่หล้า อยู่ภูจ้อก้อ ที่มุกดาหาร บอกว่าใครเห็นตัวผู้รู้เที่ยงนะ เป็นมิจฉาทิฎฐิ จิตเที่ยง เป็นมิจฉาทิฎฐิ สอนขนาดนี้นะ สอนตรงพระอภิธรรมเปี๊ยบเลย จิตก็เกิดดับ

เพราะฉะนั้นเมื่อเราเห็นตัวผู้รู้แล้ว แยกเอาเจตสิกออกไปแล้ว จะเจอตัวผู้รู้นะ บางทีก็อาศัยการรู้ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ แล้วเห็นการเกิดดับของจิตได้นะ ค่อยๆฝึกไป หมดเวลาซะแล้ว เทศน์ยังไม่จบเลย วันนี้ เอ้า… พวกเรา ไปทานข้าว…

*หมายเหตุ เคยเห็นปรากฎในที่บางแห่งว่า “สัพเพสังขารา อนิจจา สัพพะสัญญา อนัตตา” – ผู้ถอดคลิปส์


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๓
ลำดับที่ ๗
File: 530606A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๒๕ วินาทีที่ ๔๖ ถึง นาทีที่ ๒๙ วินาทีที่ ๑๕

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 222 times, 2 visits today)

Comments are closed.