Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

การภาวนาคือการเรียนรู้ตัวเอง ไม่ใช่การดัดแปลงตัวเอง


mp3 for download : การภาวนาคือการเรียนรู้ตัวเอง ไม่ใช่การดัดแปลงตัวเอง

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

มนุษย์ดัดแปลง

มนุษย์ดัดแปลง

หลวงพ่อปราโมทย์ : โยนิโสมนสิการ ไม่ใช่แปลว่า คิดส่งเดช คิดตามใจชอบ นึกจะคิดก็คิดเอาเอง ไม่ใช่ แต่ต้องคิดให้อยู่ในหลัก อยู่ในแนวทางที่พระพุทธเจ้าสอน เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรก่อน

พระพุทธเจ้าสอนอริยสัจจ์นะ ง่ายๆเลย ทุกข์ให้รู้ ทุกข์คืออะไร ทุกข์คือกายกับใจ หน้าที่ของเราก็คือ รู้กายรู้ใจ เห็นมั้ยง่ายๆ รู้ไปเรื่อยแล้ววันหนึ่งละสมุทัยเอง ละความอยาก พอหมดความยึดในกายในใจก็หมดความอยากที่จะให้กายให้ใจเป็นสุข หมดความอยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์

เมื่อไรจิตหมดความอยาก จิตก็จะเห็นนิพพาน นิพพานคือสภาวะที่พ้นจากความอยาก ยังอยากอยู่นะไม่เห็นนิพพาน ยังอยากปฏิบัติยังไม่มีวันเห็นนิพพานหรอก อยากได้ผลนะยิ่งไม่มีทางเห็นใหญ่ ตราบใดที่ความอยากยังครองหัวใจอยู่ ตราบนั้นยังไม่เกิดมรรคผลหรอก

เนี่ยเราสังเกตของเราไปเรื่อยๆ อยู่ในหลักนี้แหละ รู้ทุกข์ไป รู้กายรู้ใจอย่างที่เขาเป็น รู้ไปเรื่อย ท่านให้รู้นี่ ท่านไม่ได้ให้บังคับ ไปเพ่งกายเพ่งใจเรียกว่ารู้กายรู้ใจหรือเปล่า? เพ่งกายเพ่งใจก็ไม่ใช่รู้กายรู้ใจ

ยกตัวอย่างบางคนไปดูท้องพองยุบนะ เพ่งอยู่ที่ท้อง ทำไมต้องเพ่ง เบื้องหลังการเพ่งคือโลภะ อยากปฏิบัติ เบื้องหลังโลภะก็คือความเห็นผิดว่ามันเป็นตัวเรา เราอยากให้เราพ้นทุกข์นะ อวิชามีอยู่ เห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นเรา ยึดถือว่าเป็นตัวดีตัววิเศษ เพราะมีอวิชาก็เลยมีตัณหา-อยาก พออยากแล้วก็ทำตามอยาก สนอง

คนทั่วๆไป สัตว์ทั่วๆไป พอเกิดความอยากก็ตามใจมัน สนองกิเลสไปเรื่อย ความอยากก็หมดไป เช่น อยากไปดูหนังแล้วไปดูหนังก็หายอยาก

ทีนี้นักปฏิบัตินะ ชอบบังคับตัวเอง จิตมีความอยากปฏิบัติอยากอะไรนะ ลงมือปฏิบัติ ลงมือบังคับตัวเอง คิดถึงการปฏิบัติเมื่อไหร่ก็ลงมือบังคับตัวเองเมื่อนั้น บังคับกายบังคับใจ กายก็ต้องเรียบร้อย นิ่งๆ ทำอะไรต้องช้าๆ ไปสังเกตดู ครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนาดี ไม่เห็นมีองค์ไหนท่านช้า ยกเว้นแต่ท่านช้าของท่านเอง ช้ามาแต่ไหนแต่ไร ยกตัวอย่างหลวงปู่เทสก์ท่านนุ่มนวล ท่านทำอะไรก็ช้าๆหน่อย ท่านนุ่มนวล อาจารย์มหาบัว ชึบชับๆ ว่องไว แก่ป่านนี้ท่านยังว่องไวอยู่เลย เห็นมั้ย ท่านไม่ได้ดัดจริตทำเป็นช้าๆให้ดูน่านับถือ ไม่มีหรอกไม่มีเสแสร้งเลย

เพราะฉะนั้นการภาวนาไม่ใช่ไปดัดแปลง คิดถึงการปฏิบัติก็ดัดแปลง เคยเดินท่านี้ก็เปลี่ยนท่าเดิน เคยนั่งอย่างนี้ก็เปลี่ยนท่านั่ง เคยกินอย่างนี้ก็ต้องเปลี่ยนวิธีกิน บางคนกินข้าวนะ กินข้าวเช้ากว่าจะเสร็จข้าวบูดไปแล้ว กินนาน…มากเลยนะ แปรงฟันมื้อเช้านะจนเพื่อนเขากินมื้อกลางวันเสร็จแล้วยังแปรงไม่เสร็จเลยก็มีนะ ไม่ใช่ไม่มี อะไรจะดัดแปลงตัวเองมากขนาดนั้น

การภาวนาคือการเรียนรู้ตัวเอง ไม่ใช่คือการดัดแปลงตัวเอง รู้กายลงไป รู้ใจลงไป ดูของจริงในกายในใจ กายนี้ไม่เที่ยงหรอก เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอด กายนี้ทนอยู่ในสภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้ กายเป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุนะ ไม่ใช่ตัวเราหรอก ดูลงไป

จิตก็เหมือนกันนะ มันไม่เที่ยง เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทนอยู่ในภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ถูกตัณหาบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เพราะเราบังคับมันไม่ได้ สั่งมันไม่ได้จริงหรอก

เรียนจนเห็นของจริงนะ พอเห็นความเป็นจริงแล้วจะเบื่อ เพราะเห็นตามความเป็นจริงก็เบื่อหน่าย


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ หลังฉันเช้า

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๐
File: 520426B.mp3
ลำดับที่ ๕
ระหว่างนาทีที่ ๒ วินาทีที่ ๔๘ ถึง นาทีที่ ๖ วินาทีที่ ๒๓

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 547 times, 1 visits today)

Comments are closed.