mp3 for download : สติปัฏฐานทำให้เกิดปัญญา
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
หลวงพ่อปราโมทย์ : ทีนี้เราจะทำอย่างไรให้เราจะมีศีลบริบูรณ์ มีสมาธิบริบูรณ์ มีปัญญาบริบูรณ์ ขึ้นมาได้นะ เราต้องหัดเจริญสตินะ ถ้าเจริญสติถูกต้อง ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะเกิดขึ้นมา
สติที่จะทำให้ ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดเนี่ย ต้องเป็นสติปัฏฐาน ความจริง ถ้าพูดตรงๆก็คือ สติธรรมดาเนี่ยทำให้มีศีลได้ สติธรรมดาทำให้มีสมาธิได้ แต่สติธรรมดาทำให้เกิดปัญญาไม่ได้ ต้องสติปัฏฐานถึงจะทำให้เกิดปัญญา
ยกตัวอย่าง เรามีสตินะ กิเลสเกิดขึ้นในใจเราคอยรู้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้น เรารู้ทัน กิเลสครอบงำจิตไม่ได้นะ ศีลมันเกิดขึ้นเอง ยังไม่ทันจะเห็นความเป็นไตรลักษณ์เลย ยังไม่ได้เห็นว่า โลภ โกรธ หลง เป็นไตรลักษณ์เลยนะ แค่รู้ทันมัน มันดับไปเองแล้ว เพราะมีสติเมื่อไหร่นะ อกุศลจะดับทันที เมื่ออกุศลดับไปนะ อกุศลครอบงำจิตไม่ได้ จิตก็ไม่ผิดศีล เห็นมั้ย แค่มีสติธรรมดานี่แหละ ก็ไม่ผิดศีลได้
ยกตัวอย่าง มันเกลียดคนนี้มากเลย เห็นแล้วเกลียดมากเลย มันเกิดรู้ทันว่าเกลียดขึ้นมานะ ยังไม่ทันจะเห็นว่าความเกลียดก็เป็นไตรลักษณ์ จิตที่ไปรู้ความเกลียดก็เป็นไตรลักษณ์ ยังไม่เห็นน่ะ แค่มีสติขึ้นมาความเกลียดก็ดับไป ความเกลียดครอบงำจิตไม่ได้ ก็ไม่ฆ่าเขา ไม่ตีเขา ไม่ด่าเขา อะไรอย่างนี้ ศีลก็มีขึ้นมา
ไปเห็นของคนอื่น สวยๆงามๆ ใจมันอยากได้ เกิดรู้ทันว่าอยากได้ เนี่ยยังไม่ทันมีปัญญาเห็นไตรลักษณ์เลยว่า ความอยากก็เป็นไตรลักษณ์ จิตที่รู้จิตที่มีความอยากขึ้นมา ก็เป็นไตรลักษณ์ อะไรอย่างนี้ สิ่งที่เราไปอยากเข้าก็เป็นไตรลักษณ์ ยังไม่เห็นหรอก แค่มีสติขึ้นมานะ เห็นใจมันอยาก ความอยากก็ดับไปแล้ว
ทำไมมันดับได้เอง เพราะเมื่อไรมีสติเมื่อนั้นจิตเป็นกุศล จิตที่เป็นกุศล ไม่เกิดร่วมกับอกุศล อกุศลต้องดับไปเอง ไม่ต้องทำอะไร มันดับของมันเอง ตรงนี้ยังไม่ถึงขั้นวิปัสสนานะ ถึงขั้นมีสติรู้ทันก็ดับไป
หรือจิตใจของเราแส่ส่าย วิ่งซ้ายวิ่งขวาตลอดเวลา วิ่งร่อนเร่ไปเรื่อย เรามีสติรู้ทันนะ ใจก็ตั้งมั่นขึ้นมา หรือไปกำหนด มีสติไปจับอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข จิตจะสงบ จิตของเราปกติร่อนเร่ตลอดเวลา หนีไปหนีมาๆ เรื่อย ทำไมมันหนีได้ล่ะ มันถูกอารมณ์มายั่ว เที่ยวหาความสุข เที่ยวหนีความทุกข์ไปเรื่อย เรารู้ทันๆนะ ใจมันจะตั้งขึ้นมา เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นใจที่วิ่งไปวิ่งมานะ รู้เฉยๆนะ ใจก็จะตั้ง เพราะคนที่รู้เนี่ย ไม่ได้วิ่ง คนที่วิ่งไม่ได้รู้ จิตดวงที่วิ่งนั้นวิ่งไปแล้ว จิตอีกดวงหนึ่งเป็นคนรู้ ก็แยกออกมา ตัวที่วิ่งก็ดับไป เกิดตัวที่ตั้งมั่น เพราะฉะนั้นมีสตินะใจก็ตั้งมั่น ใจก็สงบได้เอง ยังไม่ได้ขึ้นวิปัสสนาเลย
แต่จะมีสติที่จะใช้ทำวิปัสสนา เดินปัญญา เรียกว่าเจริญปัญญา ต้องเป็นสติปัฏฐาน สติอื่นๆใช้ไม่ได้ มีคนหนึ่งเขียนจดหมายมาเล่าให้หลวงพ่อฟัง เขียนมายาวมากเลย เขียนมายาวมาก ไม่เคยเจอใครเขียนจดหมายมายาวเท่านี้ พอๆกับหนังสือเล่มหนึ่งเล็กๆ อ่านซะเหนื่อยเลย ก็เป็นเรื่องคอยรู้ทันนะ แล้วก็คอยคิดพิจารณา ยกตัวอย่างเห็นร่างกายก็พิจารณาเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ อะไรอย่างนี้ อันนี้ยังคิดอยู่ ยังเจือด้วยการคิดอยู่ ตราบใดที่ยังเจือด้วยการคิดจะไม่ขึ้นวิปัสสนาหรอก
ต้องทำสติปัฏฐานให้เป็นนะ คอยรู้ถึงความมีอยู่ของกาย รู้ถึงความมีอยู่ของใจ แล้วก็รู้ความเป็นจริงของกายของใจ ตามดูมันไปอย่างที่มันเป็น นี่คือการเจริญสติปัฏฐานนะ เบื้องต้นคอยรู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ อย่าไปเพ่งใส่มัน แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ รู้สึกไปเรื่อยนะ พอเรารู้สึกบ่อยๆ รู้สึกไปเรื่อยนะ ทีแรกเรารู้สึกจะรู้สึกเป็นจุดๆ แต่ที่เรารู้สึกที่ละจุดๆ ทีละขณะๆ เนี่ย พอมากๆเข้านะ มันจะเริ่มเห็นแล้ว ขณะนี้กับอีกขณะหนึ่ง มันเริ่มไม่เหมือนกัน มันจะเริ่มเห็นสภาวะเนี่ยมันเปลี่ยนๆๆไปเรื่อย
ยกตัวอย่างร่างกายนะ อยู่ตรงนี้ๆๆๆ มันก็เปลี่ยน หายใจออก หายใจเข้า เนี่ยมันเปลี่ยนนะ จิตก็เหมือนกัน จิตมันก็ขยับ ปั๊บๆๆๆ มันเปลี่ยนไปเรื่อย
ยกตัวอย่างความโกรธเกิดขึ้นนะ เห็น พุ่งขึ้นมาปึ๊บๆๆๆ ถึงหน้าแล้ว เรียกว่าเลือดขึ้นหน้า นี่โกรธแรง พอไปเห็น เดี๋ยวมันก็ลง ปุ๊บๆๆๆ เดี๋ยวก็ขึ้นอีก พอคิดอีก ขึ้นอีก พอไปรู้มัน มันก็ลง เราเห็น โอ๊ะ! มันเปลี่ยนแปลงแฮะ มันขึ้นๆลงๆได้เองแฮะ การที่เห็นมันเปลี่ยนแปลงเรียกว่าเห็นอนิจจังนะ เห็นเลยมันไม่คงทนอยู่ที่ใดที่หนึ่งนะ(ไม่คงทนอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่งนะ-ผู้ถอด) เรียกว่าทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เห็นว่ามันเป็นของมันเอง ถ้าเราคิดขึ้นมานะ โทสะก็เกิด พอไปรู้ทัน ไม่ได้คิดนะแต่ว่ารู้ทัน โทสะก็ดับ พอมีสติโทสะก็ดับ พอมีพยาบาทวิตก*โทสะก็เกิด เห็นมั้ย มันเป็นเองมัน ไม่ใช่เรา
นี่เราเดินปัญญา แต่ไม่ใช่คิดนะ ที่พูดให้ฟังเนี่ย ไปรู้เอา ทีแรกเราจะรู้เป็นจุดๆอย่างนี้ แต่รู้บ่อยๆแล้วเราจะเห็นว่ามันเปลี่ยน ไม่ใช่ดูไม่ให้คลาดสายตานะ บางคนเข้าใจผิด คิดว่าต้องจ้องไม่ให้คลาดสายตา เช่นดูพัดเนี่ย จ้องๆๆ อย่างนี้ไม่ใช่หรอกนะ
เวลาที่สติระลึก มันจะรู้ระลึกตรงนี้ได้แว้บหนึ่ง แล้วมันดับไป มันมาระลึกตรงนี้อีกแว้บหนึ่งแล้วมันดับ ระลึกตรงนี้อีกแว้บแล้วมันดับ มันจะเห็นน่ะว่ารูปแต่ละรูปมันเกิดดับได้ นามธรรมแต่ละอันก็เกิดดับวับๆๆๆไป อย่างนี้เรียกว่าเราเจริญปัญญาแล้ว มีปัญญา เห็นอะไร เห็นไตรลักษณ์
ทำสติปัฏฐาน มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจ ใจตั้งมั่นเป็นคนดู เราจะเห็นเลย ทั้งกายทั้งใจ เราเห็นปัจจุบันนะ เป็นขณะๆไป พอเห็นหลายๆอันนะ ต่อๆกันไปเรื่อยนะ ตามรู้เนืองๆ ท่านถึงบอกให้รู้เนืองๆ ไม่ใช่รู้ครั้งเดียว ถ้ารู้ครั้งเดียวไม่พอนะ ต้องรู้เนืองๆ
รู้เนืองๆไม่ใช่ว่า วันนี้โกรธแล้วรู้ พรุ่งนี้โกรธรู้อีก อย่างนั้นไม่ใช่ ถ้าความโกรธผุดขึ้นมาก็รู้ไปๆ เห็นมันดับไปนะ เดี๋ยวตัวอื่นเกิดขึ้นมาแล้วก็รู้..เห็นมันดับไป นี่รู้เนืองๆ แต่ไม่ได้จ้อง ถ้าจ้องเนี่ยรู้แบบไม่ให้คลาดสายตานะ ผิดนะ
*พยาบาทวิตก ความตริตรึกในทางคิดร้ายต่อผู้อื่น, ความคิดนึกในทางขัดเคืองชิงชัง ไม่ประกอบด้วยเมตตา
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๐
File: 520425.mp3
ลำดับที่ ๓
ระหว่างนาทีที่ ๙ วินาทีที่ ๙ ถึง นาทีที่ ๑๐ วินาทีที่ ๑๗
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่