mp 3 (for download) : กฎของธรรมะ
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

กฎของธรรมะ
หลวงพ่อปราโมทย์: ถ้าเราภาวนานะ เรารู้เลย สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ สิ่งที่เรียกว่า “ตัวเรา” ไม่มี มีแต่รูปธรรมนามธรรมที่มีเหตุก็มารวมกันชั่วครั้งชั่วคราว เดี๋ยวก็แตกสลายออกไป เนี่ยเราภาวนาเพื่อจะล้างความเห็นผิดตรงนี้ ล้างความเห็นผิดที่ว่ามีตัวเรา แล้วก็จะหมดความสงสัยในอดีต หมดความสงสัยในอนาคตไปด้วย
นี่ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ทำหน้าที่ของเขานะ แต่ละอย่างๆ ไม่ใช่จะเดินปัญญาอย่างเดียว ไม่มีศีล ก็ทำผิด ทำความชั่วหยาบทางกายทางวาจา หรือคิดฟุ้งซ่านตลอดเวลา กระทั่งคิดธรรมะนะ ฟุ้งซ่านในธรรมะ ก็เรียกว่าไม่มีสมาธิเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึก เราค่อยๆฝึกให้ถึงพร้อมนะ ให้มีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีปัญญา เพื่อจะได้ล้างการกระทำผิดทางกายทางวาจา ล้างการคิดผิดๆ ล้างความเห็นผิดๆ ตัวสำคัญที่สุดคือความเห็นนี่แหละ พอ(มีความ)เห็นผิดเสียอย่างเดียวนะ มันก็คิดผิด ทำผิด พูดผิด เพราะฉะนั้นสูงสุดนะก็คือปัญญา แต่ว่าปัญญาอย่างเดียวไม่พอนะ ศีลกับสมาธิก็สำคัญด้วย มันต้องฝึก
เราจะมีศีล เราจะมีสมาธิ เราจะมีปัญญา เราต้องมีสติ ถ้าไม่มีสติอย่ามาคุยเรื่องมีศีล อย่ามาคุยเรื่องมีสมาธิ อย่ามาคุยเรื่องมีปัญญา ไม่มีหรอก เพราะศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมะฝ่ายกุศล ไม่เกิดลอยๆหรอก ต้องเกิดร่วมกับสติเสมอเลย ถามว่าแล้วอะไรเป็นเหตุของมันนะ แต่ละอย่างๆก็มีเหตุนะ แต่รวมความแล้วกุศลเนี่ย ต้นตอของกุศลทั้งหลายนะมาจาก “โยนิโสมนสิการ” ความแยบคาย แยบคายในการสังเกตตัวเองนะ สิ่งที่เราทำอยู่นี้ เราทำตามที่พระพุทธเจ้าสอนให้ทำหรือเปล่า? เรางดเว้นการกระทำที่พระพุทธเจ้าห้ามหรือเปล่า? เราทำถูกต้องตามที่ท่านสั่งมั้ย เนี่ยถ้าเราสำรวจตัวเองได้นะ มันจะค่อยๆพัฒนาตัวเองขึ้นมา
ต้องพัฒนาเครื่องมือสำคัญเลย คือความมีสติ คนในโลกนี้ไม่มีสตินะถึงได้ผิดศีล ไม่มีสติทำให้ขาดสมาธินะ ไม่มีสติก็ไม่มีปัญญา ขาดสติอันเดียวนะ ก็คือจิตไม่เป็นกุศลละ เมื่อไรจิตมีสติเมื่อนั้นจิตเป็นกุศล เมื่อไรจิตไม่มีสติเมื่อนั้นจิตเป็นอกุศล อันนี้เป็นกฎเลยนะ เป็นกฎ คล้ายๆ เขาเรียกว่าอะไร อย่างทฤษฎีเรขาคณิตมีกฎของมัน ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฏีทางธรรมะก็มีกฎของธรรมะเหมือนกัน เรียกว่า “ธรรมนิยาม”
กุศลกับอกุศลไม่เกิดร่วมกันหรอก จิตที่มีสติ เป็นจิตที่มีกุศล เป็นกุศล เพราะฉะนั้นถ้ามีสติเมื่อไหร่นะ อกุศลไม่มีเมื่อนั้น นี่เป็นกฎของธรรมะ สติคือความระลึกได้ ถึงรูปธรรมนามธรรมที่กำลังปรากฎ อันนี้เป็นสติชั้นสูงนะ เรียกว่าสติปัฏฐาน
ถ้าสติธรรมดาๆ สติระลึกอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศล ยกตัวอย่างอยากมาสวนสันติธรรมนะ อยากมาฟังเทศน์ อยากมาใส่บาตร อยากได้ความรู้ไปปฏิบัติ อะไรอย่างนี้ เป็นฉันทะ ไม่ใช่ตัณหาหรอก ฝ่ายดีเขาเรียกฉันทะ ฝ่ายชั่วเขาเรียกตัณหา เนี่ยจิตใจที่มันอยากทำดีทั้งหลายนะ จิตเป็นกุศล ในขณะนั้นมีสติ แต่เป็นสติธรรมดา เป็นสติที่จะพาเราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก แต่เป็นโลกที่ดี ไปสุคติ
แต่ถ้าสติที่จะข้ามโลกนั้นน่ะ จะต้องเป็นสติปัฏฐาน สติปัฏฐานก็คือเป็นสติที่รู้กายรู้ใจ รู้รูปรู้นาม ไม่ใช่รู้อย่างอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกให้มีสติปัฏฐานขึ้นนะ คอยรู้สึกตัว อย่าใจลอย คนในโลกนั้นใจลอยตลอดเวลา มันลืมตัวเองตลอดเวลา
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๓
Track: ๘
File: 521218.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๕ วินาทีที่ ๑๖ ถึง นาทีที่ ๙ วินาทีที่ ๒๗
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่