Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

อย่างไรจึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา


Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

MP3 for download:อย่างไรจึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา

ทำอย่างไรจึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา

ทำอย่างไรจึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา

หลวงพ่อปราโมทย์:ถ้ามีสติจริงๆนะ สิ่งที่เป็นศีลนะจะอัตโนมัติเลย ถ้ามีสติจริงๆนะสมาธิจะเกิดอัตโนมัติได้ด้วย เพราะเมื่อไรจิตเราฟุ้งซ่าน เรามีสติรู้ทันนะ ความฟุ้งซ่านจะดับจิตจะตั้งมั่นขึ้นมา ได้สมาธินะ งั้นดูจิตๆไปได้สมาธิ เนี่ยบางทีครูบาอาจารย์บางท่านก็บอกว่า ดูจิตเป็นสมถะนะ ถูกของท่านนะ ดูจิตเป็นสมถะ ถูกของท่าน

แต่ถ้าดูเป็นก็เป็นวิปัสสนาได้ ดูกายก็เป็นสมถะได้นะ ไม่ใช่ดูกายเป็นวิปัสสนา ถ้าดูกายแล้วเห็นแต่กายไม่เห็นไตรลักษณ์นะ ก็เป็นสมถะล่ะ ดูจิตนะ เห็นจิตเราฟุ้งซ่าน เรารู้ทันนะ จิตก็สงบเข้ามา ตรงนี้เป็นสมถะ

แล้วมันเป็นวิปัสสนา จะขึ้นวิปัสสนาด้วยการดูจิตจะทำยังไง พูดมาแล้วนะเรื่องศีลใช่มั้ย มีสติรู้จิตเนี่ย ศีลเกิด  มีสติรู้จิต สมาธิเกิด มีสติรู้จิตแล้วทำยังไง ปัญญาจะเกิด การจะเกิดปัญญาได้เนี่ย เราต้องค่อยๆฝึกแยกธาตุแยกขันธ์ไป แยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นส่วนๆนะ งั้นพอเรารู้สึกตัวขึ้นมาละ อย่างเราดูจิตดูใจ เราเห็นจิตมีความโกรธเกิดขึ้น เราค่อยๆดูไป เราจะเห็นเลยความโกรธเป็นสิ่งหนึ่งนะ จิตที่เป็นคนรู้ความโกรธเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เนี่ย เป็นการแยกขันธ์ออกไป

ความสุขเกิดขึ้น เรารู้ทัน มีสติรู้ทันนะ จิตตั้งมั่นอยู่ ถ้ามีสติรู้ทัน แต่จิตไม่ตั้งมั่นมันจะไปเพ่ง ถ้ามีสติรู้ทันแล้วจิตตั้งมั่นเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู จิตมีสัมมาสมาธิหนุนหลังอยู่มันถึงจะเดินปัญญา มันจะแยกธาตุแยกขันธ์ได้

ความสุขเกิดขึ้นอยู่ จิตตั้งมั่นอยู่ สติรู้ความสุขที่เกิดขึ้น ในขณะที่จิตตั้งมั่นอยู่ มันจะเห็นทันทีว่าความสุขกับจิตนี้เป็นคนละอันกัน ความสุขกับจิตก็คนละอันกัน

ถ้าสติระลึกรู้ร่างกายแล้วจิตตั้งมั่นอยู่ มันจะเห็นว่าร่างกายก็อยู่ส่วนหนึ่ง จิตก็อยู่ส่วนหนึ่ง เป็นคนละอันกัน เนี่ยจะค่อยๆแยกนะร่างกายก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง

เวทนาคือความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์ รู้สึกเฉยๆก็อยู่ส่วนหนึ่ง จิตก็อยู่อีกส่วนหนึ่ง

กุศลอกุศลทั้งหลาย เช่น ความโลภความโกรธความหลง หรือสภาวะธรรมที่เป็นกลางๆทั้งหลาย ความปรุงแต่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง มันจะแยกจิตออกจากสิ่งอื่นๆ แยกจิตออกจากกาย แยกจิตออกจากเวทนา แยกจิตออกจากจิตสังขารที่เป็นกุศล อกุศล หรือเป็นกลางๆ จิตจะแยกตัวออกมา พอขันธ์มันแยกตัวออกไปแล้วเนี่ย สิ่งที่จะเห็นได้ชัดก็คือขันธ์แต่ละขันธ์แต่ละกองที่แยกออกไปนั้นไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นทันทีนะ ไม่ใช่ตัวเรา

อย่างพอเรามีสติขึ้นมา รู้ร่างกายอยู่ในขณะนั้น จิตตั้งมั่นอยู่ มันจะเห็นว่าจิตอยู่ส่วนหนึ่ง กายอยู่ส่วนหนึ่ง ปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา

ถ้าสติระลึกรู้เวทนา เช่น ความสุขเกิดขึ้น จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา จิตตั้งมั่นขึ้นมามันจะเห็นว่าเวทนาอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง เวทนาไม่ใช่ตัวเรา

ถ้าโทสะเกิดขึ้นมา สติระลึกรู้โทสะที่เกิดขึ้น จิตตั้งมั่นเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดูอยู่ มันจะเห็นว่าโทสะอยู่ส่วนนึง จิตอยู่อีกส่วนนึง โทสะไม่ใช่ตัวเรา เนี่ยมันจะเห็นลงไปเรื่อย แล้วเห็นว่าไม่มีเราในขันธ์ทั้งหลาย นี่คือการเจริญปัญญานะ

การหัดเจริญปัญญาขั้นแรกก็แยกขันธ์ออกไปก่อน อย่างโทสะกับจิตเนี่ยคนละอันกัน โทสะเนี่ยเรียกว่าสังขารขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์นะ ร่างกายก็ส่วนนึง ร่างกายเป็นรูปขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ เวทนาก็เป็นอีกขันธ์นึงเรียกว่าเวทนาขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์

ถ้าแยกออกไปแล้วเนี่ย มันจะเริ่มเห็นความจริงว่าขันธ์แต่ละขันธ์ที่แยกออกไปไม่ใช่ตัวเราหรอก พวกเราที่หัดภาวนากับหลวงพ่อนะ สังเกตมั้ยว่าไม่นานก็แยกขันธ์ได้ ถ้าไม่มีการแยกขันธ์อย่าพูดเรื่องเจริญปัญญา อย่าพูดเรื่องวิปัสสนา วิปัสสนาคือการเห็นความเกิดดับ เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์นั่นเอง ถ้าขันธ์ยังไม่แยกตัวออกไป ยังเป็นก้อนเดียวกันอยู่นะ มันจะไม่เกิดวิปัสสนาตัวจริงหรอก ทำไมต้องแยกออกไป เพราะวิธีการศึกษาของธรรมะของพระพุทธเจ้านะ ท่านเรียกว่าวิพัชวิธี วิพัชแปลว่าแยก แยกอะไร แยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นส่วนๆ แยกออกได้ห้าส่วนก็เรียกว่าขันธ์ห้า บางทีแยกอีกแบบนึง แยกเป็นหกส่วนเรียกอายตนะหก ความจริงก็คือขันธ์ห้าเหมือนกันแหละ แต่แยกออกไปอีกสไตล์นึง หรือแยกอีกแง่มุมนึงอีกมิตินึง แยกเป็นธาตุ ธาตุสิบแปดธาตุ ขันธ์ธาตุอายตนะเนี่ยคือวิปัสสนาภูมิ คือสิ่งซึ่งจะใช้เรียน ทำวิปัสสนา

งั้นบางคนเรียนเรื่องขันธ์ บางคนเรียนเรื่องธาตุ บางคนเรียนเรื่องอายตนะ แต่ใจความก็อันเดียวกันคือการแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นส่วนๆ เพื่อจะได้เห็นว่าแต่ละส่วนนั้นก็ไม่ใช่ตัวเรา สิ่งที่เรียกว่าตัวเรานั้น คือกายกับใจ คือขันธ์ห้าที่มารวมกัน แล้วเราก็มีการเข้าไปหมายรู้ผิดๆ มีสัญญาเข้าไปหมายรู้ผิดๆ เรียกว่าสัญญาวิปลาส  หมายรู้ผิดๆว่าก้อนนี้คือตัวเรา

วิธีที่จะทำลายความวิปลาสนี้นะก็คือหัดแยกขันธ์ไป พอสติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่นขึ้นมาเป็นคนดู กายกับจิตก็แยกกัน สติระลึกรู้เวทนานะ จิตตั้งมั่นเป็นคนดู เวทนากับจิตก็แยกกัน สติระลึกรู้สังขารนะ จิตตั้งมั่น สังขารกับจิตก็แยกกันละ คนละอันกัน

เนี่ยจะแยกอย่างนี้นะ พอมันแยกเป็นอันๆละ แต่ละอันจะไม่ใช่เรา”

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ ก่อนฉันเช้า

CD สวนสันติธรรมแผ่นที่ 32
File: 521128A
ระหว่างนาที่ ๑๔ วินาทีที่ ๓๒ ถึง นาทีที่ ๒๐ วินาทีที่ ๒๘

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 710 times, 2 visits today)

Comments are closed.