Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

คนเราแสวงหาความพ้นทุกข์ด้วยการดิ้นรนปรุงแต่ง ๓ แบบ


mp 3 (for download) : คนเราแสวงหาความพ้นทุกข์ด้วยการดิ้นรนปรุงแต่ง ๓ แบบ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

คนเราแสวงหาความพ้นทุกข์ด้วยการดิ้นรนปรุงแต่ง ๓ แบบ

คนเราแสวงหาความพ้นทุกข์ด้วยการดิ้นรนปรุงแต่ง ๓ แบบ

หลวงพ่อปราโมทย์ : ธรรมะเป็นเรื่องง่าย การปฏิบัติจริงๆเป็นเรื่องง่าย ทำแล้วมีความสุข ถ้าเราปฏิบัติได้ถูกต้องชีวิตจะพบความสุขอย่างรวดเร็วมากเลย ธรรมะของพระพุทธเจ้าอัศจรรย์จริงๆ ถ้าทำถูกต้องใช้เวลาไม่นาน ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องใช้เวลานาน ที่ไม่ถูกต้องคือไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ ท่านไม่ได้สอนให้พวกเราหนี ชาวพุทธจริงๆต้องเป็นนักต่อสู้ไม่ใช่คนขี้แพ้ ความทุกข์อยู่ที่ไหนท่านสอนให้เราเข้าไปเรียนรู้ที่นั่น

ความทุกข์อยู่ที่กายให้เข้าไปเรียนรู้ที่กาย

ความทุกข์อยู่ที่จิตใจให้เข้าไปเรียนรู้ที่จิตใจ

ที่จริงแล้วคนก็แสวงหาทางพ้นทุกข์มาตลอด ใครๆก็อยากพ้นทุกข์กันทั้งนั้น ก่อนพระพุทธเจ้าก็แสวงหาทางพ้นทุกข์ กระทั่งหมูเห็ดเป็ดไก่ก็แสวงหาทางพ้นทุกข์ของมัน แต่การแสวงหาทางพ้นทุกข์ที่มีมาตลอด แสวงหาได้ตามชั้นตามภูมิ ตามความเข้าใจ ตามสติปัญญาของแต่ละคนแต่ละท่านไม่เหมือนกัน

  • บางคนหาทางพ้นทุกข์ด้วยการเสพย์สุข แสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น กลุ้มใจขึ้นมาก็ไปดูหนังฟังเพลง ไปหาอะไรสวยๆดู ไปทัศนาจร ไปหาของอร่อยๆกินแก้กลุ้ม หรือคิดอะไรให้เผลอๆเพลินๆ นี่ก็เป็นวิธีหาความสุขหนึ่ง หาความสุขอย่างโลกๆ หาความสุขโดยอาศัยการกระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิธีการหาความสุขอย่างนี้ พวกสัตว์เดริฉานก็ทำเป็น เช่น เช่นมันหิวอะไรขึ้นมาก็ไปหาอะไรกิน พอกินอิ่มแล้วก็มีความสุข
  • ทีนี้บางคนมีสติปัญญามากขึ้น ลำพังวิ่งหาความสุขตาม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ต้องเที่ยวหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจไปเรื่อยๆ พึ่งสิ่งภายนอกมากเกินไป หลายคนเลยมาหาความสุขในจิตใจของตัวเอง โดยเฉพาะพวกเข้าวัดทั้งหลาย มีความรู้สึกขึ้นมาอยู่เรื่อยๆเลย ถ้าเราสามารถเข้าควบคุมจิตใจของเราให้อยู่ในอำนาจของเราได้ เราจะมีความสุข จึงเกิดการแสวงหาความสุข วิธีที่ ๒ ขึ้น คือการรักษาใจของเราให้ดี คนด่าใจเราก็เฉย คนชมใจเราก็เฉย วิธีการหาความสุขอย่างนี้ก็เพื่อให้ตัวเรามีความสุข นี่ก็ยังไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้าทีเดียว เป็นการปรุงแต่งฝ่ายกุศล ปรุงแต่ความดีขึ้นมา ชีวิตจะได้มีความสุขอย่างคนดีๆ มีความสุขอย่างคนดีๆได้ ก็มีความทุกข์อย่างคนดีได้นะ
  • บางคนฉลาดกว่านั้น ตราบใดที่เรายังต้องรักษาจิตใจเอาไว้ มีการกระทบกระเทือน ต้องคอยรักษาอยู่เรื่อยๆ ยังไม่สุขจริง อีกพวกหนึ่งจึงคิดพัฒนาขึ้นไป ถ้าเราไม่ต้องกระทบอารมณ์เลยจะมีความสุข พวกนี้จึงฝึกเข้าฌาน อรูปฌาน พรหมลูกฟัก ไม่รับรู้อารมณ์โลกภายนอก ไม่สนใจโลกภายนอก ไม่มีอะไรมากระเทือน ไม่มีสิ่งใดมากระทบ พอไม่มีอะไรมากระทบใจก็ไม่ต้องกระเทือน

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีวิธีการหาความสุขอยู่ ๓ แบบ

(๑) เที่ยวหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ ตอบสนองกิเลสไปเรื่อยๆ แล้วก็มีความสุข การหาความสุขแบบนี้เป็นการปรุงแต่งฝ่ายอกุศล หรือ อปุญญาภิสังขาร หรือเป็นความสุดโต่งในทางที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ตามใจกิเลสแล้วมีความสุข

(๒) คอยควบคุมคอยบังคับตัวเอง เป็นการปรุงแต่งฝ่ายกุศล เรียก ปุญญาภิสังขาร หรือเรียก อัตตกิลมถานุโยค การบังคับควบคุมตัวเอง

(๓) หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ เรียก อเนญชาภิสังขาร

ในโลกมีการปรุงแต่ง ๓ อย่างนี้ การปรุงแต่งทั้ง ๓ อย่างนี้ กระทำไปเพื่อตอบสนองอัตตาตัวตนทั้งสิ้น เพราะเราไม่รู้ความจริง ว่ากายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่ตัวเรา เพราะคิดว่า กายนี้ ใจนี้ เป็นตัวเรา อยากให้ตัวเรามีความสุข อยากให้ตัวเราพ้นทุกข์ ก็เลยต้องดิ้นรนปรุงแต่ง ๓ แบบนี้

พระพุทธเจ้าท่านฉลาดแหลมคม ท่านบอกว่าตราบใดที่ยังคิดปรุงแต่งอยู่อย่างนี้ ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุด ไปแก้ปัญหาทางปลายทางเท่านั้น ตรงจุดจริงๆ คือ ตัวตนมีไหม เข้ามาศึกษากาย ศึกษาใจของเราเอง จนวันหนึ่งปัญญามันแจ้งว่า กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา พอปล่อยวางความยึดถือกายได้ ปล่อยวางความยึดถือใจได้ ละอวิชชา คือเราไม่รู้ว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์ เราคิดว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเรา เป็นตัวดีเป็นตัวดีเป็นตัววิเศษ เราก็ต้องดิ้นรนให้มันดีไปเรื่อยๆ ให้มันสุข อยากให้มันพ้นทุกข์ไปเรื่อยๆ ถ้าเราสามารถเรียนรู้ รู้ลงเข้ามาที่กาย รู้ลงเข้ามาที่ใจ นี่วิธีการของพระพุทธเจ้า เรียนรู้ลงเข้ามาที่กายที่ใจตัวเอง จนเห็นความจริงเลย กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา กายนี้เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ ความดิ้นรนหวงแหนในร่ายกายก็จะสลายไป หรือเรียนรู้ลงไปที่จิตใจ จะเห็นเลยจิตใจเป็นของไม่เที่ยง เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย สุขชั่วคราว ทุกข์ชั่วคราว ดีชั่วคราว ชั่วก็ชั่วคราว ทุกอย่าที่ผ่านเข้ามาที่จิตที่ใจเราล้วนแต่เป็นของชั่วคราวทั้งนั้น กระทั่งตัวจิตตัวใจเองก็ของชั่วคราว จิตเกิดทางตาเดี๋ยวก็ดับไป เกิดทางหูเดี๋ยวก็ดับไป เกิดทางใจแล้วก็ดับไป มีแต่ของชั่วคราวทั้งหมด

พอเห็นอย่างนี้เห็นความจริงแล้ว จิตนี้ไม่ใช่ตัวเราที่เที่ยงแท้ถาวรอะไร ความดิ้นรนที่จะให้จิตมีความสุข ความดิ้นรนที่จะให้จิตพ้นทุกข์มันก็จะสลายไป ความพ้นทุกข์ที่แท้จริงเกิดจิตใจที่ฉลาด รู้ความจริงของกายของใจจนหมดความดิ้นรน

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมที่ศาลาลุงชิน ครั้งที่ ๑ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙

CD: ศาลาลุงชิน ครั้งที่ ๑ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙
File:
490521.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๒ วินาทีที่ ๒๘ ถึง นาทีที่ ๙ วินาทีที่ ๙

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 1,349 times, 1 visits today)

Comments are closed.