Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

Dhammada News : หลวงปู่ศรีมหาวีโร (พระเทพวิสุทธิมงคล) วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุง) ละสังขารแล้ว


หลวงปู่ศรี มหาวีโร (พระเทพวิสุทธิมงคล) วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุง) อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากุงท่านละสังขารด้วยอาการสงบ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2554 เมื่อเวลา 05.33 น. สิริอายุ 94ปี 3เดือน 13วัน พรรษา65

พระครูวินัยธร วิกรมธรรมเตโช เลขานุการของหลวงปู่ศรี ในฐานะรองเจ้าอาวาสวัดป่ากุง กล่าวว่า ขณะนี้ กำหนดการประกอบพิธีต่างๆ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้หลวงปู่ศรีต้องรอคณะสงฆ์ จ.ร้อยเอ็ด พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ใน จ.ร้อยเอ็ด และจากหลายจังหวัด ประชุมหารือกันก่อน ทั้งนี้ หลวงปู่ศรีได้เริ่มอาพาธตั้งแต่กลางปี 2550 ด้วยโรคหัวใจรั่วและโดยได้เข้ารับการรักษาที่ รพ.ร้อยเอ็ด และ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ก่อนจะมรณภาพเมื่อเวลา 05.34 น. วันที่ 16 ส.ค.

ชีวประวัติ
หลวงปู่ศรี มหาวีโร เดิมชื่อ ศรี เกิดในสกุล ปักกะสีนัง เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๖๐ ตรงกับวันศุกร์ เดือนหก ปีมะเมีย ที่บ้านขามป้อม อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม โยมบิดาชื่อ อ่อนสี โยมมารดาชื่อ ทุม ช่วงปฐมวัย ท่านเข้าศึกษาที่โรงเรียนประชาบาล วัดบ้านขามป้อม จบชั้นประถมปีที่ ๖ จากนั้นได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนสารคามพิทยาคม จ.มหาสารคาม จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ ต่อมาท่านได้เข้ารับราชการเป็นครูอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้บรรพชาอุปสมบท เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ ณ พัทธสีมาวัดราษฎร์รังสรรค์ บ้านป่ายาง จ.ร้อยเอ็ด  โดยมี พระโพธิญาณมุนี (ดำ โพธิญาโณ) เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธรรมยุต) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนา เป็นภาษามคธว่า “มหาวีโร”

พรรษาแรก ท่านได้ศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่กับ พระอาจารย์คูณ อุตตโม วัดประชาบำรุง จ.มหาสารคาม ปีต่อมา ท่านได้จาริกไปจำพรรษาที่วัดป่าแสนสำราญ จ.อุบลราชธานี  และมีโอกาสศึกษาปฏิบัติธรรม เจริญวิปัสสนา กับ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งเป็นศิษย์สำคัญของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ศรี มหาวีโร ท่านจาริกแสวงธรรม ไปตามป่าตามเขาต่างๆ ซึ่งเป็นสัปปายะสถาน ที่พ่อแม่ครูอาจารย์พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ เคยธุดงค์จาริกมาก่อนหน้านี้ เป็นแหล่งเจริญธรรม ที่ผู้กล้าแห่งกองทัพธรรมได้มาประพฤติธรรม บำเพ็ญเพียร ด้วยเป็นสถานที่อยู่ไกลจากชุมชน ขาดแคลนขัดสนในปัจจัยสี่ แต่มีภูมิทัศน์ที่เหมาะแก่การพัฒนาภูมิธรรมสัมมาปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมา หลวงปู่ศรี มหาวีโร ท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดบ้านนาแก จ.นครพนม ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นดินแดนที่คุกรุ่นไปด้วยสถานการณ์แห่งความขัดแย้ง ด้านอุดมการณ์ทางการเมือง และสังคม แต่ท่านก็อยู่ด้วยความราบรื่น ปราศจากอันตราย จนกระทั่งออกพรรษา ท่านได้จาริกไปยัง จ.สกลนคร จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นการเดินตามทางรอยธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์ คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระบุพพาจารย์ใหญ่ ด้านวิปัสสนากรรมฐาน

จนถึงช่วงที่พระอาจารย์มั่น ล่วงสู่ปัจฉิมวัย พำนักอยู่ที่สำนักป่าบ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ท่านได้ขออนุญาตพำนักจำพรรษา และศึกษาธรรมกับพระอาจารย์มั่น ด้วยนับเป็นโอกาสอันเป็นมหามงคลในชีวิตบรรพชิต ที่มีโอกาสศึกษาธรรม และอุปัฏฐากพระบุพพาจารย์ใหญ่ รวมทั้งมีโอกาสเจริญธรรม กับสหธรรมิกร่วมสำนัก ร่วมครูอาจารย์เดียวกัน

หลวงปู่ศรีมีโอกาสได้ถวายการปฏิบัติจนถึงวาระสุดท้าย เมื่อพระอาจารย์มั่นถึงแก่มรณภาพ ก็ได้ถวายสักการะสรีระพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งสุดท้าย ในงานฌาปนกิจที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร หลังจากนั้น หลวงปู่ศรี ท่านได้จาริกไปจำพรรษาตามวัดต่างๆ หลายแห่ง จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านได้มายัง วัดป่ากุง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาประมาณ ๑๗๐ ปี ท่านได้เป็นผู้นำคณะศรัทธาญาติโยมในการพัฒนา วัดป่ากุง จากสภาพวัดเก่าอันโรยร้าง ให้เจริญเรืองรุ่งขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเป็น วัดประชาคมวนาราม ที่งามสง่า เป็นศาสนสถานอันไพศาล สำหรับชาวพุทธผู้ศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนา

หลวงปู่ศรี ได้จำพรรษาที่ วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๗ เป็นต้นมา จนถึงทุกวันนี้ ด้วยความเอาใจใส่เป็นธุระในทุกกิจการงานของพระศาสนาอย่างตั้งใจ จริงจัง และมั่นคง  สิ่งที่เป็นผลงานอันยิ่งใหญ่อลังการของ หลวงปู่ศรี มหาวีโร คือ การก่อสร้าง พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ณ วัดผาน้ำทิพย์ อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งนับเป็นผลานิสงส์แห่งแรงศรัทธาของชาวพุทธ ต่อพระบวรพุทธศาสนา ต่อพระสุปฏิปันโน ต่อบารมีธรรมในหลวงปู่อย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนา สืบสานศิลปวัฒนธรรม งานพุทธศิลป์ ให้สถิตสถาพรสืบไป

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล มีรูปแบบอันวิจิตรงดงามยิ่ง เป็นศิลปะผสมความยิ่งใหญ่ของ พระปฐมเจดีย์ กับความโอฬารของ พระธาตุพนม กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประดิษฐานตระหง่านตระการตา ด้วยศิลปกรรม อันล้ำเลิศ ด้วยฝีมือลูกหลานไทย เป็นนฤมิตกรรมแห่งยุคสมัย ที่จะเป็นปูชนียสถานสำคัญของคนไทยทั่วประเทศ และของโลกวัฒนา สืบต่อไปภายภาคหน้า

ทุกวัน…ในยามเช้า จะมีคณะศรัทธาชาวบ้านทั้งใกล้และไกล จากหลายถิ่น มารวมกันที่หน้า วัดประชาคมวนาราม เพื่อเตรียมถวายภัตตาหาร บิณฑบาตพระคุณเจ้า และจะเป็นโอกาสที่พุทธศาสนิกชนจะได้กราบไหว้ขอพร หลวงปู่ศรี มหาวีโร อย่างใกล้ชิด ซึ่งท่านได้เมตตาโดยเสมอหน้า ถ้วนทั่วทุกๆ  คน

การบิณฑบาต เป็นธุดงควัตรที่พระกรรมฐานประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นประจำสำหรับ หลวงปู่ศรี ท่านจะตื่นแต่ดึก ออกเดินไปรอบๆ วัด จนถึงเวลาบิณฑบาต พระราชสังวรอุดม ท่านจึงเป็นผู้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง แม้จะมีอายุถึง ๙๒ ปีแล้วก็ตาม

หลวงปู่ศรี จึงนับเป็นพระวิปัสนาจารย์กรรมฐาน ที่มีความสามารถอย่างสูงในการแจกแจงแสดงธรรม หลวงปู่ศรี เป็นพระเถราจารย์ผู้เปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรม เป็นเนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่ ของพระพุทธศาสนา เป็นพระป่า พระกรรมฐาน ที่มีศิษยานุศิษย์ให้ความเคารพศรัทธาอย่างมหาศาล เป็นสมณะผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบที่น่ากราบไหว้สักการะเป็นอย่างยิ่ง

ในส่วนของพระเครื่องวัตถุมงคล หลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้มีคณะศิษย์สร้างถวายท่านอยู่เสมอ เพื่อขอบารมีให้ท่านแผ่เมตตาอธิษฐานจิตเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้นำไป สักการบูชา มีหลากหลายรุ่นด้วยกัน และเมื่อปีที่ผ่านมา (๒๕๕๑) ได้มีคณะศิษยานุศิษย์ จัดสร้าง พระปิดตามีโชคมีลาภยันต์ หลวงปู่ศรี มหาวีโร รุ่นแรก ประกอบด้วยเนื้อทองคำ เงิน นวโลหะแก่เงิน สัมฤทธิ์ ทองแดง และชนิดเป็นช่อ (หลายองค์) พร้อมกับ รูปเหมือนปั๊ม รุ่นแรก ประกอบด้วยเนื้อทองคำ เงิน ทองแดง ทองเหลือง และชินตะกั่ว

VDO แนะนำ

1. หลวงตามหาบัวและหลวงปู่ศรี


2. หลวงปู่ศรีแสดงธรรม


เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 1,650 times, 1 visits today)

Comments are closed.