Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

สันตินันทอุบาสก สุภาพบุรุษนักภาวนา : ปฎิบัติธรรมแล้วมีความสุขตรงไหน ?


ผมรู้จักนักปฏิบัติมามาก ได้เห็นบทเรียนของแต่ละคน แล้วรู้สึกเสมอว่า ระหว่างการบวช กับการปฏิบัติธรรมในเพศฆราวาสนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจได้ง่ายๆ เวลามีน้องๆ มาบอกกับผมว่า อยากเลิกกับแฟนเพราะคิดว่าจะไปบวชในอนาคต ผมจะไม่เคยอนุโมทนาสาธุการให้เลย มีแต่บอกว่าให้กลับไปพิจารณาให้ดีก่อน หรือบางคนจะลาออกจากงานเพื่อไปบวชตลอดชีวิต อย่างนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะยอมเห็นด้วยง่ายๆ เพราะเหตุใด

ก็เพราะเคยเห็นมาหลายรายแล้วครับ ที่เริ่มต้นด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า
ลาออกจากงานบ้าง เลิกกับแฟนบ้าง แล้วก็โกนผม ลุยเข้าวัดขอบวชเลย ประเภทยอมเอาชีวิตเข้าแลกกับพระสัทธรรม แต่กิเลสนั้นมันไม่เข้าใครออกใคร มันไม่เคยกลัวผ้าเหลือง เมื่อหักหาญกันอย่างรุนแรงไปสักช่วงหนึ่งด้วยความทุกข์ทรมาน ทั้งอดกิน อดนอน ทั้งลำบากตรากตรำต่อสู้สารพัดรูปแบบ จึงเริ่มพบความจริงว่า มรรคผลนิพพานนั้น อยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบแรงกายแรงใจที่ทุ่มเทลงไปนั้น ไม่ทราบว่าจะผลิดอกออกผลเมื่อใด คราวนี้จะทำอย่างไรดี อยู่ก็ไม่มีอนาคต ถอยก็ไม่รู้จะถอยไปไหน เพราะเวลาที่ศรัทธานั้น ลืมนึกถึงทางถอยของตนเองไปอย่างสิ้นเชิง พวกเราลองนึกถึงสภาพเช่นนี้เถอะครับ ว่ามันแย่ขนาดไหน
ดังนั้น ไม่ว่าเราจะศรัทธาในพระศาสนามากเพียงใด ก็ต้องมีความสมเหตุสมผล และมองความพร้อมของตนเองให้ออกจริงๆ เสียก่อน มรรคผลนิพพานเป็นที่น่าปรารถนาก็จริง แต่ความอยากได้มรรคผลอย่างเดียว ไม่ช่วยให้เราได้มรรคผลหรอกครับ

- = การรู้จักเลือกเส้นทางที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุดต่างหาก กลับจะช่วยให้เราเข้าใกล้มรรคผลไปตามลำดับ = -

ในระหว่างเส้นทางเดินนั้น หากพบคนที่ควรร่วมทางไปด้วยกัน ก็เดินเป็นเพื่อนกันไป แต่หากไม่พบเพื่อนร่วมทางที่ดี ก็ควรนึกถึงภาษิตบทหนึ่งที่ว่า “เอโก จเร ขักคะ วิสานะ กัปโป – พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด” ผมปฏิบัติธรรมมาโดยในตอนเริ่มต้นระวังเรื่องศีลข้อ 4 อย่างเดียว เพราะผมมีธรรมชาติไม่รังแก ไม่ขโมย ไม่ทำผิดในกาม และไม่เสพย์สิ่งเสพติด เพียงแต่เดิมนั้นชอบพูดเล่นตลกคะนอง เพราะชอบอ่าน พล นิกร กิมหงวน มาแต่เด็ก ดังนั้นสิ่งเดียวที่คอยควบคุมตนเองคือ การพูดเพ้อเจ้อ ส่วนสิ่งอื่นๆ นอกกรอบของศีล 5 ไม่เคยบังคับตนเองเลย เช่นไปอยู่วัดป่า ก็ไม่ได้ถือศีล 8 เหมือนคนอื่นเขา หิวก็กิน ง่วงก็นอน

สิ่งที่ทำจริงจังมีเพียงการเฝ้าเรียนรู้จิตใจของตนเองไปเรื่อยๆ เท่านั้น ซึ่งก็ไม่เห็นว่าจะทุกข์ยากอะไรนักหนา ความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้น ได้รับมาอย่างเป็นขั้นตอน นับตั้งแต่ความสุขของฌานสมาบัติ เวลากำหนดจิตลงไปจนไม่มีกายเหลือในความรู้สึก มีเพียงความรับรู้อันสว่างไสว หรือประณีตจนหมดความคิดนึกในบางคราว เป็นความสุขในสมาธิที่ไม่ทราบจะบรรยายอย่างไรได้ แต่เมื่อเจริญปัญญาชำนาญแล้ว ความจงใจเข้าไปเสพย์ความสุขชนิดนี้ก็หมดไป เดี๋ยวนี้ถ้าจิตจะเข้าพัก ก็พักเพียงแว้บๆ แล้วก็ออกมาทำงานต่อ เว้นแต่บางคราวที่จิตจะหลบอะไรบางอย่าง เช่นหลบการรบกวนไม่เลือกเวลาของโอปปาติกะ จิตก็จะดับเงียบหายไปเลยจนถึงเช้า พ้นจากการรบกวนสิ้นเชิง มีความสุขกับการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในจิตใจตนเอง เห็นกลไกการทำงานของจิต เห็นความสัมพันธ์ของจิตกับอารมณ์ รู้จักกิเลส ตัณหา รู้จักขันธ์ 5 ก็เป็นความสุขความเพลิดเพลินในการเจริญปัญญา

แต่ความสุขทั้งความสงบและการเจริญปัญญานั้น ก็ยังไม่เท่ากับความสุขอีกอย่างหนึ่ง คือความรู้สึกมั่นคง รู้สึกพึ่งตนเองได้ รู้จักตนเองว่ามีที่มาและที่ไปอย่างไร เหมือนคนที่เคยหลงทาง แล้วพบทางกลับบ้าน พ้นจากความคาดเดา หรือลังเลสงสัยว่า ชีวิตคืออะไร เรามาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน จะเกิดในอบายภูมิอีกหรือไม่ ถ้าจะเปรียบอีกอย่างหนึ่งก็เหมือนคนเรือแตกในทะเล แต่ก็กระเสือกกระสนจนปลายเท้าหยั่งเข้าถึงชายฝั่ง ก็เกิดความสุข เพราะรู้สึกมั่นคงในจิตใจขึ้นมา ที่ช่วยตนเองได้แล้ว สรุปแล้ว ปฏิบัติธรรมแล้วมีความสุขมากครับ

โดย คุณ สันตินันท์ เมื่อ 14 ก.พ. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 263 times, 1 visits today)

Comments are closed.