Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เรียนรู้ดูขันธ์กับ อ.สุรวัฒน์ : หลักการภาวนาของหลวงปู่ดูลย์


หลักการภาวนาของหลวงปู่ดูลย์

นึกถึงเรื่องที่คุยเมื่อวาน มีช่วงหนึ่งได้พูดถึงความไม่เข้าใจวิธีการภาวนา ได้คุยกันว่า ส่วนมากแล้วนักภาวนามักจะเข้าใจผิดคือ มักจะคิดเข้าใจผิดไปว่า การภาวนานั้นต้องคอยรักษาจิตไม่ให้ส่งออก พอจิตส่งออกก็เลยไม่ยินดี แล้วก็พยายามหาอุบายมาทำให้จิตไม่ส่งออก มาทำให้จิตมีความรู้ตัว ผมก็เลยตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะศึกษาหรืออ่านคำสอนไม่ครบถ้วน อย่างเช่นเรื่องอริยสัจจ์แห่งจิตที่หลวงปู่ดูลย์สอนเอาไว้ ส่วนมากจะอ่านกันแค่ท่อนแรกคือ

“จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย. ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค. ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ”

พออ่านแค่ท่อนนี้ ก็เลยไปตั้งความเห็นไว้ว่า จิตต้องไม่ส่งออก ต้องทำไม่ให้จิตส่งออก ซึ่งที่จริงแล้ว ข้อความท่อนนี้ เป็นการพูดถึงอริยสัจจ์แห่งจิต ไม่ได้พูดถึงวิธีการภาวนา หากจะจับเอาวิธีการภาวนา ก็ต้องอ่านท่อนต่อไปด้วย ท่อนต่อไปที่ว่า มีอยู่ในหนังสือ วิมุตติปฏิปทา หัวข้อ บันเทิงธรรม ที่หลวงพ่อปราโมทย์ได้เรียบเรียงไว้ตั้งแต่ก่อนบวช ซึ่งมีข้อความว่า….

” อนึ่ง ตามสภาพที่แท้จริงของจิต. ย่อมส่งออกนอกเพื่อรับอารมณ์นั้นๆ โดยธรรมชาติของมันเอง ก็แต่ว่า ถ้าจิตส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้ว. จิตเกิดหวั่นไหวหรือเกิดกระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้น เป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากจิตหวั่นไหวหรือกระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นๆ เป็นทุกข์ ถ้าจิตที่ส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้ว. แต่ไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นๆ มีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อม เพราะมีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นนิโรธ พระอริยเจ้าทั้งหลายมีจิตไม่ส่งออกนอก. จิตไม่หวั่นไหว จิตไม่กระเพื่อม เป็นวิหารธรรม. จบอริยสัจจ์ 4 “

จากข้อความในตอนนี้ หากจะจับหลักการภาวนา ก็ต้องจับเอาจากที่หลวงปู่ดูลย์กล่าวว่า

“อนึ่ง ตามสภาพที่แท้จริงของจิต. ย่อมส่งออกนอกเพื่อรับอารมณ์นั้นๆ โดยธรรมชาติของมันเอง ถ้าจิตที่ส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้ว. แต่ไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นๆ มีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นมรรค”

ซึ่งโดยเนื้อความแล้วก็คือ ปกติของคนเรา จิตนั้นก็ย่อมต้องมีการส่งออกเสมอ จึงไม่ใช่วิสัยที่เราจะไปบังคับเพื่อไม่ให้จิตส่งออก การภาวนาจึงมาอยู่ตรงที่ ทำอย่างไรจิตจึงจะไม่หวั่นไหวหรือไม่กระเพื่อมเมื่อส่งออกไปรับรู้อารมณ์แล้ว ซึ่งหลวงปู่ดูลย์ก็ได้สอนไว้ชัดเจนแล้วว่า…ให้มีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ หากเราสามารถทำให้เกิดมีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ได้ภายหลังจากที่จิตส่งออกไปแล้ว นั่นก็คือ การเจริญมรรค อันเป็นกิจที่พึงทำเพื่อการพ้นทุกข์ ซึ่งการทำให้เกิดสติอยู่อย่างสมบูรณ์ภายหลังที่จิตส่งออกไปรับอารมณ์แล้ว สามารถทำได้ด้วยการฝึกตามแนวทางที่หลวงพ่อปราโมทย์ได้สอนนั่นเอง พอฝึกไปๆ จนถึงจุดหนึ่ง จิตก็จะไม่ส่งออกอีกเลย ถึงตรงนั้นก็คือ มีจิตที่ไม่ส่งออกเป็นวิหารธรรม อันเป็นหลักชัยของนักภาวนา

ถาม : ถ้าอย่างนั้น คำสอนที่ว่า “อย่าส่งจิตออกนอก” จะให้ความหมายว่าอย่างไรถึงจะไม่เป็นการเข้าใจผิด แล้วทำให้บังคับห้ามไม่ให้จิตส่งออกนอกล่ะค่ะ

ตอบ : ต้องอ่านให้ครบเนื้อหา ไม่ใช่อ่านกันแค่ประโยคเดียว ซึ่งหากอ่านในวิธีเจริญภาวนาของหลวงปู่ดูลย์ เรื่องอย่าส่งจิตออกนอก มีข้อความกล่าวไว้ว่า “กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก เมื่อจิตเผลอคิดไป ก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ” ซึ่งท่านได้สอนไว้ชัดเจนแล้วว่า เราทำให้จิตไม่ส่งออกหรือห้ามไม่ให้ส่งออกไม่ได้ เมื่อเผลอหรือส่งออกไปแล้ว ก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม ไม่ใช่ว่าต้องคอยบังคับหรือรักษาไม่ให้จิตส่งออกนอก ถ้าจะรักษาก็ต้องรักษาสัมปชัญญะเท่านั้น


เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 136 times, 2 visits today)

Comments are closed.