พระโสดาบัน กับ ตัวเราไม่มีสองความหมายที่ต้องเข้าใจ
ผู้ที่ได้ฟังธรรมซึ่งหลวงพ่อปราโมทย์นำมาแสดง
มักจะได้ยินหลวงพ่อพูดถึงเรื่อยๆ ว่า
ถ้าเห็นแจ้งว่า ตัวเราไม่มี หรือเราไม่มี ก็ได้เป็นพระโสดาบัน
หลายคนคงคิดเหมือนผมว่า
ถ้า “ตัวเรา” ไม่มี ก็ไม่น่าจะมี “ของเรา”
แล้วเหตุใดหลวงพ่อจึงได้พูดต่อไปอีกว่า
เมื่อได้พระโสดาบันแล้ว จิตจะยังยึดถือรูปนามอยู่ว่าเป็นของเรา
เรื่องนี้ก็เลยเป็นเรื่องชวนให้หลงคิดฟุ้งเอาง่ายๆ ว่า
ในเมื่อยังยึดถือว่าเป็นของเรา ก็ต้องมีตัวเราอยู่ซิ
ถ้าไม่มีตัวเราแล้วจะมีของเราขึ้นมาได้อย่างไร
ฟังไปฟังมา คิดไปคิดมาก็เข้าใจแบบจินตมยปัญญาเอาเองว่า
.
“ตัวเราไม่มี” จะมีความหมายอยู่ 2 ความหมาย
ความหมายแรก จะหมายถึง ความเห็นถูกว่าไม่มีตัวเราที่เที่ยงถาวร
หรือไม่มีตัวเราที่เป็นตัวตนโดยตัวมันเองได้
ซึ่งจะมีตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ที่จะมีความเห็นถูกเช่นนี้อย่างบริบูรณ์ได้
.
ความหมายที่สอง จะหมายถึง ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเราของเราอยู่เลย
ไม่มีเพราะจิตหมดสิ้นความถือในขันธ์ทั้งห้าได้แล้ว
จึงไม่สามารถมีอะไรที่จะเป็นตัวเราหรือของเราขึ้นมาได้อีก
.
ดังนั้น ที่ว่า พระโสดาบันเห็นว่าตัวเราไม่มี หรือไม่มีตัวเรานั้น
จึงหมายถึง ตัวเราไม่มี ตามความหมายแรกนั่นเอง
เพราะสิ่งที่พระโสดาบันจะละได้คือ
ละความเห็นผิดว่ามีตัวเรา
ละความเห็นผิดว่ามีเราคนเดิมที่เที่ยงถาวรอยู่
หรือเรียกว่า ละความเห็นผิดว่ามีตัวตน (ละสักกายทิฏฐิ)
แต่ถึงแม้พระโสดาบันจะละความเห็นผิดว่ามีตัวเราที่ถาวรลงได้
แต่จิตจะยังมีความยึดในขันธ์ห้าอยู่
เมื่อยังยึดในขันธ์ห้า ก็ยังรู้สึกได้ว่ามีตัวเรา มีของเราอยู่
แต่ทุกครั้งที่เกิดความมีตัวเรามีของเราปรากฏขึ้น
จิตพระโสดาบันจะไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดว่าเป็นตัวเราที่เที่ยงถาวร
แต่จะประกอบไปด้วยความเห็นถูกอยู่ว่า
ตัวเราของเราที่ปรากฏขึ้นนี้ เป็นเพียงความปรุงแต่งอย่างหนึ่ง
ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปเป็นธรรมดา
ไม่มีตัวเราที่เที่ยงถาวร ไม่มีขันธ์ใดเลยที่เที่ยงถาวรอยู่
มีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปเป็นธรรมดา.
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่
(Visited 147 times, 1 visits today)