Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เรียนรู้ดูขันธ์กับ อ.สุรวัฒน์ : การภาวนาของ อ.สุรวัฒน์ จากเริ่มต้นจนได้พบหลวงพ่อปราโมทย์ (พิเศษ)


การภาวนาของ อ.สุรวัฒน์ จากเริ่มต้นจนได้พบหลวงพ่อปราโมทย์ (พิเศษ)

สนทนาประสาฆราวาส กับ อ.สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา

ณ บ้านจิตสบาย วันเสาร์ที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕

ผมน่ะ กว่าจะเข้าใจว่าต้องภาวนาอย่างไร ใช้เวลาตั้ง ๑๒ ปี ก็ผมเคยทำผิดมาหมดแล้ว เมื่อก่อนผมเป็นนักเพ่งตัวฉกาจเลยล่ะ เพ่งจนกระทั่งเหมือนกับในหัวตัวเอง มีอะไรหนักๆ อยู่ในหัวก้อนหนึ่ง ใหญ่ๆ  นั่งตรงไหน ก็จะหลับตรงนั้น เพราะว่ามันเพ่งใส่ตัวเองมันไม่ไหวแล้ว มันเครียดจน ร่างกายมันต้องพักของมันเองอัตโนมัติด้วยการหลับ ผมเป็นอย่างนั้นอยู่เป็น ๑๐ ปีเลยนะ ไม่หายเพ่ง ยังไงก็ไม่หาย  ผมทำผิดมาหมดแล้ว พอมาปฏิบัติและเจอวิธีที่เหมาะกับเรา หรือเราเข้าใจว่ามันต้องทำอย่างนี้ พอมันจะเพ่ง เราก็รู้ทัน เข้าไปเพ่งอีกแล้ว เราก็หยุด เวลาทำอะไรแล้วเพ่ง ต้องหยุดทำอันนั้น ก็จะหายเพ่ง

เพราะฉะนั้นที่ผิดๆน่ะ ผมผิดมาหมดแล้ว ผมก็เคยตีความว่า “พิจารณา”ผิด ไปแปลว่า คิด โอ้ นั่งคิดใหญ่เลย คิดเรื่องขันธ์๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ ไล่คิดไปเรื่อยๆเลย คิดอยู่นั่นแหละ ครูบาอาจารย์บอกเป็นวิปัสสนึก ก็ไม่เฉลียวใจอีก นึกๆ คิดๆ เอา กว่าจะเข้าใจว่า ออ มันต้องใช้วิธีการ “รู้”เอา ก็ใช้เวลาตั้งนาน  ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คนที่มาหัดภาวนารุ่นหลังๆ โชคดีหน่อย มีซีดีหลวงพ่อฯฟัง ท่านพยายามที่จะบอกวิธีว่า ต้องทำอย่างนี้ๆ นะ คนที่ทำผิดอยู่จะได้ไม่หลงไปไกลมาก โชคดีกว่ารุ่นผมเรียนแรกๆ เยอะเลย รุ่นแรกๆ เขายังไปไม่ถึงไหนกันทั้งนั้น รุ่นหลังๆ มาแซงพรวดๆ ไปหมดแล้ว รุ่นแรกๆ ไม่มีซีดีฟัง นานๆ ได้เจอสักทีหนึ่ง เดี๋ยวนี้ไปไหนก็พกซีดีไป ก็เท่ากับได้เจอหลวงพ่อฯตลอดเลย พอมีคนมาเรียนเยอะ มันก็จะมีการปฏิบัติที่ผิดๆ คล้ายๆ กันเยอะ พอคนที่ทำผิดไปถามหลวงพ่อฯ เรามาเปิดซีดีฟัง เอ้า นี่มันก็เหมือนของเรา ก็มีตัวช่วยให้เราภาวนาได้ง่ายขึ้นเยอะนะ สมัยนี้โชคดีมากเลย

ลุงชิน ผู้ก่อตั้งศาลากาญจนาภิเษก (ศาลาลุงชิน)

รุ่นแรกๆ โอ้โห เรียนกันทรมานมากเลย อย่าง ผมได้เจอหลวงพ่อ ตอนนั้นท่านยังไม่ได้บวช ได้เจออย่างมากที่สุด เดือนละ ๒ ครั้ง เจอที่ศาลาลุงชินครั้งหนึ่ง แล้วก็ไปขอนัดเจอพิเศษ ตอนกลางวันที่ท่านพักเที่ยงเดือนละสักครั้ง ได้เต็มที่แค่นั้น แล้วก็เมื่อก่อนท่านไม่ได้สอนแจกแจง ละเอียดยิบแบบนี้ อะไรๆท่านก็บอกให้ไปรู้เอา ไปดูเอา ท่านก็แค่ชี้ให้ดู หัดให้เราดูว่า เผลอเป็นอย่างไร เพ่งเป็นอย่างไร แบบที่ผมบอกให้ดูนี่แหละ ว่า นั่งๆ อยู่ หนีไปคิดแล้ว มันก็จะลืมกายลืมใจไป ท่านสอนให้รู้แค่ ให้หัดดู เผลอ กับ เพ่ง ๒ อย่างนี้เอง ไม่ได้สอนอะไรมากมายเลย เดี๋ยวนี้ สอนให้ดูเยอะเลย ให้ดูแยกธาตุ แยกขันธ์ สมัยก่อน ไม่มีสักคำหนึ่ง

พอรู้สึกตัวเป็นแล้ว ท่านก็บอกผมว่า “สุรวัฒน์ รู้สึกตัวเป็นแล้วนะ ต่อไป ไปหัดเจริญสติปัฏฐาน๔ ไป แต่ทำอย่างไรไปหาเอาเองนะ” ไม่มีบอกนะว่าต้องทำอย่างไร เดี๋ยวนี้ไปดูสิ ซีดีกี่แผ่นๆ ท่านบอกหมดเลย บอกวิธีตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งเจริญปัญญา เกิดมรรค เกิดผล ไปถึงตรงโน้น มันต้องเดินไปอย่างไร ท่านชี้ไว้หมดเลย เมื่อก่อนยากมากเลย ต้องคลำกันเอาเอง ต้องงมกันเอาเอง แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าตัวเองทำผิดหรือถูก งงมากเลย ไม่มีซีดีจะมาเปิดเทียบฟัง ไม่มีหนังสือให้เปิดอ่าน อย่างมากก็มีแต่บทความที่ท่านตอบคำถามอยู่ในอินเตอร์เน็ต สมัยก่อนเท่านั้นเอง ที่พอจะใช้เป็นที่ค้นคว้าได้ เดี๋ยวนี้สบาย อย่าไปท้อ เดี๋ยวนี้เครื่องไม้เครื่องมือช่วยเยอะ เหลือแต่เราหัดของเราไปเรื่อยๆ ไม่แน่นะ คนที่บอกยากๆ พรุ่งนี้เช้าปิ๊งขึ้นมาก็ได้ ใครจะไปรู้

ตอนผมไปเรียนหัดทำกรรมฐานใหม่ๆ ผมไม่ได้เรียนกับหลวงพ่อปราโมทย์ ผมเพิ่งมาเจอท่านทีหลัง ผ่านมาตั้ง ๑๑-๑๒ ปีแล้ว จึงจะได้เจอหลวงพ่อปราโมทย์ ตอนหัดเรียนแรกๆ กับครูบาอาจารย์ ผมก็มีความรู้สึกอย่างนี้ “ทำไมมันยาก ไม่เข้าใจ ทำไม่ได้” ท้อแล้วท้ออีก ท่านก็เมตตา ให้กำลังใจ บอกว่า “ของแบบนี้ มันเหมือนตักน้ำใส่ตุ่ม ค่อยๆ ตักไปวันละขัน สองขัน เดี๋ยวมันก็เต็มตุ่ม” ด้วยความน้อยใจ ผมก็บอกว่า “หลวงปู่ ของผมไม่ใช่ตักทีละขันเหมือนหลวงปู่นี่ครับ ผมตักทีละฝ่ามือ แล้วเมื่อไหร่มันจะเต็มตุ่มล่ะครับ” ท่านก็ใจดี เมตตา ไม่ให้เราเสียกำลังใจ ท่านก็บอก “โอ้ย ของแบบนี้มันไม่แน่นะ วันนี้ไม่ได้ พรุ่งนี้ ปุ๊บ มันอาจจะได้เต็มตุ่มขึ้นมาเลยก็ได้” ท่านก็ให้กำลังใจ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องให้กำลังใจตัวเอง อย่าไปท้อแท้

แต่เรื่องท้อนี่เป็นเรื่องปกติ ผมเคยท้อถึงขนาดนั่งร้องไห้มาแล้วนะ ภาวนาไม่ได้ ทำสมถะไม่ได้ หัดอยู่สิบกว่าปียังไม่ได้ คนอื่นมาหัด วันสองวัน เอ๊ะ ทำไมเขาทำได้ โอ้โห เราร่วม๑๐ ปี ทำไม่ได้ นั่งร้องไห้ ปล่อยโฮเลย ขนาดนั้นก็เป็นมาแล้ว เพราะฉะนั้นท้ออย่างไรก็ต้องลุกขึ้นเดินให้ได้ อย่าท้อและอย่าทิ้ง ถ้าท้อและทิ้ง เราก็ไม่มีโอกาสแล้ว แต่ถ้าเราท้อแล้วไม่ทิ้งนี่ ยังกลับมาได้ แต่ถ้าไม่ท้อและไม่ทิ้งนี่สบายเลย ไปได้เรื่อยๆ วันหนึ่งก็ต้องถึงเป้าหมาย

อันหนึ่งที่มันคอยตีหัวเราอยู่ เราไม่ค่อยรู้คือ ลึกๆ เราอยากภาวนาได้ดี อยากก้าวหน้า อยากพ้นทุกข์ แต่เราไม่เห็นมัน เพราะฉะนั้นเราต้องหัดดูตัวนี้ด้วย ดูตัวความอยากภาวนาได้เก่งๆ อยากภาวนาได้ดีๆ ด้วย ถ้าติดความอยากอยู่อย่างนี้ มันก็คอยตีหัวเราอยู่เรื่อยๆ เราก็ไปไหนไม่รอด อยากพ้นทุกข์น่ะอยากได้ แต่ให้รู้ทันความอยากด้วย ไม่ใช่พออยากพ้นทุกข์ แต่เราไม่รู้ว่าเราอยากพ้นทุกข์ เราก็จะเริ่มดิ้นรนปรุงแต่งการภาวนาขึ้นมา บางคนภาวนาดีๆ อยู่ มันเกิดอยากพ้นทุกข์ขึ้นมา มันก็ปรุงแต่งไปโน่นเลย ว่า ที่ภาวนาอยู่ มันไม่ดี มันต้องไปทำแบบโน้น มันถึงจะดีกว่า นี่ ทำดีอยู่แล้ว กลับกลายเป็นคิดว่าสิ่งตัวเองทำอยู่มันไม่ถูก พลิกกลับไปหาสิ่งผิดๆ อีก มันก็ลำบากเหมือนกัน ถ้าไม่รู้ทันความอยาก ก็หัดรู้ทันมันด้วย

แม้กระทั่งตอนที่ผมมาหัดเจริญสติตามที่หลวงพ่อฯสอนใหม่ๆ หัดไปสักเดือนสองเดือน หรือสามเดือนแล้ว มันก็ยังมีความรู้สึก อย่างนี้ว่า ทำไมมันไม่ได้สักที มันอยากได้ แต่เราดูไม่ทันความอยาก เราก็จะรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมมันไม่ได้สักที วิธีนี้มันจะใช้ได้หรือ? เริ่มแล้วเห็นไหม ไม่น่าได้นะไปเรียนวิธีอื่นเถอะ ถึงขนาดนั้นจริงๆ ผมเกือบจะเลิกไปแล้วนะ แต่ด้วยอะไรสักอย่างมันมาสะกิดใจผมว่า เอ๊ะ เราทำอย่างอื่นมาตั้ง ๑๐ ปีแล้ว เราจะทำวิธีนี้อีกสัก ๑๐ ปี ถ้ามันไม่ได้จริงๆ เดี๋ยวค่อยว่ากัน ตอนนั้นจึงตั้งใจเด็ดเดี่ยวเลยว่าจะหัดอย่างนี้ ผิดอย่างอื่นมาได้ ๑๐ ปี ถ้าอย่างนี้จะผิดอีกสัก ๑๐ ปี จะเป็นไรไป ยอมถึงขนาดนั้น เพราะถ้าเลิกไปตอนนั้น ป่านนี้ก็ ไม่รู้ไปลงเหวลงบ่อที่ไหนแล้ว

ธรรมะนี่มันไม่ยาก มันยากตรงที่เราพยายามทำ ถ้าเราไม่พยายามทำมัน เราแค่รู้เฉยๆ มันง่ายมากเลย แค่รู้ ง่ายนิดเดียว ทำเมื่อไหร่แหละยาก อย่าง ไปดูกระจก พอจิตไปอยู่ในกระจก ถ้าเราแค่รู้ว่าจิตไปอยู่ในกระจกมันง่ายนะ แต่ถ้าเมื่อไหร่เราทำให้มันไม่อยู่ในกระจก ยากทันทีเลย แม้แต่ดูทีวีก็เหมือนกัน แค่รู้ทันว่าจิตมันไหลไปอยู่ในทีวี จบแล้ว ไม่ใช่ไปพยายามดูทีวีแล้วก็ไปดึงจิตเอาไว้ ไม่ให้เข้าไปในทีวี อันนี้ยาก เพราะมันจะทำไม่ได้ มันจะฝืนธรรมชาติ ผิดธรรมชาติ อันนั้นเอาไว้เป็นพระอรหันต์แล้วรับรองดูทีวี จิตไม่ไหลเข้าไปแล้ว ไม่ต้องถึงพระอรหันต์ แค่พระอนาคามี ตามตำราเขาบอก พระอนาคามี จิตจะไม่ส่งออกไปทางตา หู จมูก ลิ้น และการสัมผัสทางร่างกาย เพราะฉะนั้นพระอนาคามีดูทีวี จิตไม่ไหลไป จิตมีความตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ ไม่ไหลไปในทีวี เราไม่ใช่พระอนาคามี เราก็แค่รู้ทันว่ามันไหลไปนี่ก็เก่งแล้ว

หัดใหม่ๆ ผมก็ดูละครนะ แฟนดูละคร เราก็ต้องดู เราทำเป็นไม่ดูละคร ไปเดินจงกรม เดี๋ยวก็อาจจะโดนแฟนงอนเอาก็ได้ ฉะนั้นผมก็นั่งดูละคร ก็สังเกตเอาสิ ดูละครแรกๆ ที่หัดใหม่ๆ ไม่รู้หรอกว่าจิตไหลไปอยู่ในทีวี ดูๆ ไป ฝึกๆ ไป ทุกวันๆ จนวันหนึ่งดูละคร ละครตัดไปโฆษณาปั๊บ มันรู้ขึ้นมา เฮ้ย เมื่อกี้จิตเราอยู่ในทีวีนี่ แวบเดียวเท่านั้น ทีนี้คอยดูใหม่ ว่ามันจะเข้าไปอยู่ในจอไหม พอละครตอนต่อไปมันก็เหมือนเดิมเพราะจิตมันเคยชิน มันเข้าไปตอนไหนไม่รู้เลย มารู้อีกทีตัดโฆษณาอีกแล้ว เอ้า ไม่เป็นไร เราก็ดูเล่นๆ ว่าเมื่อกี้มันหลงไปอยู่ในทีวีอีกแล้ว แล้วก็ดูใหม่ ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันหนึ่ง ดูๆ ไปละครเปลี่ยนฉาก ภาพมันพลิก ขึ้นมาเป็นภาพใหม่ เฮ้ย เมื่อกี้จิตไปอยู่ในจอ เห็นไหม มันเริ่มไวขึ้นๆ หลังจากนั้นก็สังเกตมาตลอด หัดดูอย่างนี้ไป เพราะฉะนั้นทำกิจกรรมอะไร เราก็หัดได้ ขอให้เราหัดไปเรื่อยๆ ก็แล้วกัน แต่อย่าไปพยายามฝืน บังคับมันไว้ มันเป็นอย่างไรก็รู้ไปตามที่มันเป็น แล้วก็หัดให้ต่อเนื่อง หัดให้ได้ทุกวัน วันหนึ่งมันก็ง่ายเอง

เราทราบหลักแล้ว เรารู้วิธีแล้ว เราก็อย่าท้อแท้ ต้องเพียรไป ทำให้เต็มกำลัง มีน้อยคนนะ ที่จะได้ภาวนาจริงๆ จังๆ มันเหมือนปิรามิด คนทั่วไปเหมือนฐานปิรามิด กว้างใหญ่มากเลย คนที่ภาวนาอยู่บนยอดปิรามิดเล็กๆ นิดเดียว ข้างล่างนี่ โอ้โห คนไม่ได้ภาวนาทั้งนั้นเลย ฉะนั้นสัดส่วนมันน้อยมาก เรามีโอกาสได้เจอนี่มีบุญมหาศาลแล้ว เหลือแต่พากเพียรไปให้ถึงตามที่พระพุทธเจ้า ชี้นำทางไว้เท่านั้นเอง หลายคนเกิดมาได้เจอพระพุทธศาสนาก็ทอดทิ้งไปเสีย น่าเสียดาย คนที่จะมาพากเพียรตั้งใจทำจริงๆ มีน้อย มีส่วนน้อยด้วยนะ ที่สนใจเอง โดยที่ไม่มีเหตุอะไรมาสะกิดใจ เหมือนกับว่าตั้งแต่จำความได้มีความสนใจพระพุทธศาสนามาแต่เล็กแต่น้อย หาได้ยากมาก เมื่อก่อนเด็กๆ ผมก็ไม่สนใจ ยิงนก ตกปลาไปเรื่อย อยู่บ้านนอก อยู่ต่างจังหวัด ไม่มีอะไรทำก็คว้าคันเบ็ดไป ขุดไส้เดือน จับไส้เดือนเสียบเบ็ดแล้วไปนั่งตกปลาช่อน ปลาหมอ ตกได้บางทีก็เอากลับมาบ้านบ้าง เอาไปปล่อยบ้าง คือทำสนุกๆ เจอนกก็เอาหนังสะติกยิงไปเรื่อย เด็กๆ ไม่ได้สนใจเลยว่าจะมีอะไรที่เราอยากจะค้นคว้าหาอะไรให้ชีวิตเรา ไม่มีเลย ใช้ชีวิตเหมือนเด็กปกติทั่วไป ทำชั่วมาก็เยอะ แต่พอถึงจุดๆ หนี่ง มันทุกข์ใจมากๆ มันเริ่มที่จะรู้สึกว่า มันไม่ไหวแล้ว ทำไมเราต้องทุกข์ขนาดนี้ด้วย พอมาเริ่มรู้สึกว่าทำไมมันต้องทุกข์ขนาดนี้ มันอาจจะเป็นโชคดีของคนไทยที่เกิดมาอยู่ในแวดล้อมของศาสนาพุทธ ขนาดไปเดินร้านหนังสือก็ยังเจอหนังสือธรรมะ ตอนนั้นผมทุกข์ใจมากเลย ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ก็เดินเข้าไปในร้านหนังสือ เดินเล่นๆ เหมือนเราไปเดินในห้างให้มันหายเครียด ให้มันลืมๆ ไป ใช้วิธีแบบชาวบ้านๆ นี่แหละ ไม่สบายใจก็ไปหาอะไรทำให้มันลืมๆ แต่ดีอย่างหนึ่งคือไม่ดื่มเหล้า เกิดมาไม่เคยจะคิดจะดื่มเหล้า เดินไปในร้านหนังสือ เดินๆ ไปเจอโซนที่เขาขายหนังสือของหลวงพ่อพุทธทาส หันไปเห็น สะดุดตาแวบหนึ่งตรงเล่มชื่อ “เกิดมาทำไม” เขาตัดบางตอนมาทำขายเล่มเล็กๆ ผมก็หยิบมาเปิดดู อืม เกิดมาทำไม มันก็ชวนให้คิดดีนะ หยิบมาเปิดอ่านๆ ไม่ซื้อด้วยนะ อ่านเอาตรงนั้นแหละ ประหยัดตังค์มากเลย เปิดไปปุ๊บ ก็เปิดสุ่มๆ ด้วย ไม่ได้เปิดไล่ไปอ่านตั้งแต่คำนำเหมือนบางคนจะไปซื้อหนังสือ ต้องไล่อ่านคำนำก่อน ผมก็เปิดปุ๊บ กางออกผั๊วะมาเลย “คนเราเกิดมาเพื่อหวังแค่ ๓ ก.คือหวังแค่กิน แค่กาม แค่เกียรติเท่านั้นหรือ มนุษย์มีสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้รับ คือมีชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นทุกข์” โป้งเลย รู้สึก เฮ้ย ใช่เลย เราจะมาทุกข์อยู่อย่างนี้ทำไม เราต้องหาทางมีชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นทุกข์สิ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผมหันมาศึกษาธรรมะ พอดีที่บ้านก็มีหนังสือของหลวงพ่อพุทธทาสอยู่ แต่ก็ไม่เคยสนใจนะ ตอนเด็กๆ ไม่เคยเปิดดู พอไปอ่านหนังสือของหลวงพ่อพุทธทาสประโยคนั้นจบปุ๊บ กลับมาบ้านนึกได้ว่าที่บ้านมีหนังสือของหลวงพ่อพุทธทาส ไปรื้อในตู้มาอ่าน เล่มแรกที่อ่านจริงๆ จังๆคือ “คู่มือมนุษย์” อ่านแล้วก็ตะลุยทำ แต่ก็ทำผิดเพราะว่าไม่อ่านให้รอบคอบ ไม่ศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ก่อนว่า ถ้าจะปฏิบัติ มันต้องเริ่มตรงไหน ต้องทำอะไร พอคิดจะปฏิบัติสิ่งแรกที่นึกถึงคือนั่งสมาธิ เอาเลย นั่งเลย นั่งอย่างไรล่ะ ได้ยินมาว่าพุทโธบ้างอะไรบ้างก็นั่งไปสิ นั่งไปปุ๊บ ใจมันคิดอยู่ว่า มันต้องเข้าฌานให้เป็นก่อน ต้องมีฤทธิ์ด้วย ถึงจะเป็นพระอรหันต์ได้ สมัยก่อนผมโง่ขนาดนั้นเลย โง่ขนาดนั้นจริงๆ เอาเลยทีนี้ ทำอย่างไรให้เข้าฌานได้ เปิดตำราอ่านเลย ก็พยายามทำจิตให้เข้าฌานให้ได้ ทำไปๆ ก็มีแต่ฟุ้ง กับ หลับ มีอยู่ ๒ อย่าง ไม่ไหวแล้ว ทำอย่างไรก็มีแต่ฟุ้งกับหลับ ไปหาครูบาอาจารย์ดีกว่า ก็ดิ้นรนไปหาครูบาอาจารย์

หลวงปู่วัย จัตตาลโย

หลวงปู่วัย จัตตาลโย

สมัยนั้นไปเรียนกับหลวงปู่วัย หลวงปู่วัยท่านเก่งมาก เก่งทั้งสมถะและวิปัสสนา ไปหาท่านปุ๊บ ไปถึงไปกราบท่าน บอกว่า “ผมจะมาขอเรียนกรรมฐาน” ท่านบอก “เรียนกับฉัน ต้องเรียนให้รู้จริง” อย่างลมหายใจเข้าไป มันเย็น ออกมามันมีความร้อน มันต้องเรียนให้ละเอียดว่ามันมีธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ท่านเรียนของท่านมาอย่างนั้น เรารู้สึก โอ้โห ฟังแล้วฮึกเหิมมาก เอาล่ะ เรียนแบบหลวงปู่นี่แหละ กลับบ้านไปนั่งหายใจบ้าง หลับบ้าง ฟุ้งบ้าง สาระพัดเลย หลวงปู่สอนอะไรใครแล้วเราได้ยินได้ฟัง เอามาลองหมด อย่างเพ่งกสิณ ทำหมดเลย ไม่สำเร็จสักอย่าง บอกกับหลวงปู่ “หลวงปู่ ทำไปไม่เห็นจะได้อะไร” หลวงปู่บอก “ทำไปเถอะ เดี๋ยวมันก็รู้เอง” ท่านสอนแค่นี้ แต่ผมก็ทำ ทำไปอย่างนั้น ท่านสอนอะไรมา ก็มาหัดทำๆ ทำไม่ได้ก็ไม่ท้อไม่ทิ้ง ถึงแม้นั่งสมาธิไม่ได้ นั่งสมาธิแล้วมันฟุ้งกับหลับ แต่มันมีความรู้สึกว่าวันไหนไม่ได้นั่งสมาธิ มันเหมือนชีวิตขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง ไม่ได้มันต้องนั่ง นั่งหลับก็ต้องนั่ง นั่งอยู่อย่างนั้น หลับทุกวัน วันละครึ่งชั่วโมง เป๊ะเลย นั่งไปบางทีก็ไม่รู้เรื่องรู้ราว มาตื่นอีกที อ้าว ครึ่งชั่วโมง โอ สบาย ได้หลับ เป็นอย่างนี้ทุกวัน อย่างเดินจงกรม หลวงปู่พูดถึงให้เดินจงกรม ท่านก็ไม่ได้สอนละเอียด ท่านก็บอกให้เดินจงกรม ผมก็มาหัดเดินจงกรม เดินๆไปแล้วก็จับจังหวะเดิน จับไปจับมา มันได้ ๖ จังหวะ ก็ไปค้นตำรา มีสอนเหมือนกัน เดินจงกรม ๖ จังหวะ มันตรงกับที่เราเห็น ๖ จังหวะ แต่ไม่เห็นมันจะได้อะไรเลย เดินๆ ไป บางวันเดินๆ หลับ หลับคาทางจงกรมก็เป็นมาแล้ว หลับเพราะมันเพ่งมากไป เพ่งจนกระทั่งร่างกายมันไม่ไหวแล้วมันหลับไปเลย หัวทิ่มตรงทางจงกรมมาแล้วนะ แต่ก็เดินอยู่ทุกวันอย่างนี้ บางวันเดินไป เฮ้ย ทำไมเราเหลือแต่หัว ก็มันมาเพ่งไว้ที่หัว จนกระทั่งร่างกายส่วนล่างไม่รู้สึก พอนึกขึ้นได้ว่า ทำไมเราเดินมีแต่หัว เคยได้ยินว่าเดินจงกรมเขาให้ไปดูที่เท้า ไปจับความรู้สึกที่เท้า ก็เพ่งลงไปที่เท้า พอเพ่งลงไปที่เท้า ทีนี้มันเหลือแต่ท่อนล่าง เหลือแต่ขาเดิน ท่อนบนหายไปจากความรู้สึก เหมือนคนตัวขาดครึ่งตัว มาเพ่งใส่หน้าอกอีก พอเพ่งใส่หน้าอก ทีนี้หัวหาย ก็เลยนึกว่านี่ท่าทางเหมือนผีหัวขาด ผีหัวขาดต้องเป็นอย่างนี้แน่เลย เดินไปได้แต่ไม่รู้สึกว่ามีหัวตัวเองอยู่ คือผิดมาหมดแล้วเป็นมาหมดแล้ว ที่ผิดๆ ทั้งหลาย เวลาใครคุยอะไร ผมจึงรู้ ถ้าใครเดินแล้วหัวหาย เพ่งแน่นอน เป็นมาหมดแล้ว ทำอยู่อย่างนี้ สิบกว่าปีก็ทำอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งหลวงปู่มรณภาพ ไม่มีครูสอนแล้ว

ไม่มีครูสอนก็ทำเอง เอาหนังสือของหลวงปู่เก่าๆ มานั่งเปิด นั่งอ่าน หลวงปู่สอนเรื่องดูจิตด้วย มีหนังสืออยู่แต่ว่าสมัยนั้นอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เลยว่าที่หลวงปู่สอนอย่างหนึ่งคือการดูจิต เหมือนกันเปี๊ยบเลย แต่ว่าในตอนนั้น เราไม่ได้ใส่ใจที่จะเรียนรู้และไม่ได้สนใจด้วย ก็เลยไม่ได้เรียนวิธีนั้น พอท่านไม่อยู่แล้วก็ดิ้นรนทำเอง

จนกระทั่ง วันหนึ่งมาเล่นอินเตอร์เน็ตเจอเวบไซต์ อ่านเจอข้อความ เฮ้ย ที่นี่แปลก มีคนมาคุยธรรมะกันด้วย ไม่เคยเห็น เข้าไปอ่านสักหน่อยสิ อ่านๆ ไป ก็ไปเจอข้อเขียนของหลวงพ่อปราโมทย์สมัยที่ท่านยังไม่บวช เมื่อก่อนท่านใช้ชื่อ “สันตินันท์” พออ่านๆ ไป น่าสนใจ เอ๊ะ ทำไมมันง่ายอย่างนี้ อะไรก็มีแต่รู้ๆ มันง่ายนะ ก็เลยตามอ่านสักพักหนึ่ง จึงชวนญาติธรรม บอก “ไป ไปหาคนนี้กันดีกว่า” อ่านแล้วท่าทางง่ายดี แต่ก่อนจะไป ก็ยังไม่รู้ว่าท่านสอนอยู่ที่ไหน ผมก็โพสต์กระทู้ถามว่าผมอยากจะถามเรื่องการปฏิบัติ ก็มีคนตอบผมมา บอกว่าเดี๋ยวนี้ท่านไม่ได้เข้ามาที่นี่แล้ว และมีคนให้อีเมล์มา ก็ส่งอีเมล์ไปถาม เล่าให้ท่านฟังว่าเวลาผมภาวนาตอนนี้ เวลาที่จิตมันมีความโกรธ ผมก็จะหยิบความโกรธมานั่งดูนั่งคิด คิดใคร่ครวญดูเพื่อจะทำให้ความโกรธมันหาย ผมทำแบบนี้ถูกหรือผิด ก็ส่งเมล์ไป ท่านก็ตอบมา เปิดอ่านปุ๊บ ประโยคแรก “ที่ทำอยู่ ผิด” นั่งตัวชาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เลย

ภาวนามา ๑๒ ปี เราก็คิดว่าเราแน่เหมือนกัน เจอประโยคแรกนั่งตัวชาเลย “ที่ทำอยู่ ผิด” มีต่อข้างล่างอีก ท่านก็เมตตาอธิบายอีก ท่านอธิบายว่า “ที่ผิดเพราะว่า ที่ทำอยู่ ทำด้วยความอยาก” เหมือนที่ผมอธิบายให้ฟังเมื่อกี้ “ที่ทำอยู่ ทำด้วยความอยาก ความอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้าเราทำตามความอยาก เราก็ไม่มีทางที่จะพ้นทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตเกิดความโกรธ ให้เราเพียงแค่รู้ว่า มีความโกรธ ให้รู้ว่าจิตมีความโกรธ” ท่านก็ตอบมาสั้นๆ สมัยนั้นคงมีคนเขียนไปถามเยอะ ท่านก็ตอบมาแค่นั้น ท่านบอกให้ “รู้” เอา พออ่านจบปุ๊บ มันรู้สึกโล่ง เพราะเราเลิกทำ เราจะหัดรู้ มันก็รู้สึกว่าก้อนที่อยู่ในหัว ที่เคยหนักๆ อยู่ มันหายไปไหนก็ไม่รู้ เพราะเราเลิกเพ่ง เรามัวแต่สนใจที่จะดูจิตแล้ว พอมันหาย โล่งๆขึ้นก็รู้สึก เออ สบายขึ้นตั้งเยอะ แต่ด้วยความเคยชิน มันก็กลับไปเพ่งอีกด้วยความเคยชิน ผมโล่ง หายหนักได้สักประมาณไม่ถึงครึ่งชั่วโมง มันกลับมาหนักอีก หนักอึ้งขึ้นมาอีก เป็นแบบเดิมอีกแล้ว และก็ไม่หายด้วย เพราะมันเคยชิน เหมือนกับหมดกำลังแล้ว ตอนอ่านที่ท่านตอบมาก็ได้แรง มีกำลังขึ้นมาแป๊บหนึ่ง หายเพ่งไปชั่วขณะ จึงดิ้นรนไปหาท่าน ทราบว่าท่านไปที่ศาลาลุงชิน แต่ไม่รู้ว่าท่านไปวันไหน ก็ไปถามๆ ดู เขาบอกว่าที่ศาลาลุงชินมีการทำบุญทุกวันอาทิตย์ที่ ๒ และ ๔ ของเดือน

ผมก็ไปศาลาลุงชิน แต่ท่านไปเดือนละครั้ง ผมไปตรงกับวันอาทิตย์ที่ท่านไม่ไป ไม่พบท่าน ไปถามเจ้าหน้าที่ที่ศาลาลุงชินว่า คนไหนคุณสันตินันท์ ไม่มีใครรู้จักเลยสักคนเดียว ไม่เจอก็ไม่เจอ มารู้ทีหลังว่าวันนั้นท่านไม่ได้ไป ก็ไปใหม่อีก พอไปอีกทีก็ไปเจอ เห็นคนกลุ่มหนึ่งหนุ่มๆ ทั้งนั้นเลย เด็กๆ วัยรุ่น อ่อนกว่าผมทั้งนั้น นั่งล้อมวงอยู่ นั่งคุยกับหลวงพ่อ ตอนนั้นท่านยังไม่ได้บวช ก็ เอ๊ะ คนนี้หรือเปล่า ก็ไปถามเจ้าหน้าที่ คนที่นั่งอยู่ใช่คุณสันตินันท์หรือเปล่า เจ้าหน้าที่ไม่รู้จัก ไม่รู้ใคร ผมก็เดินเข้าไปหาน้องๆ ที่นั่งอยู่ด้านหลัง ไปสะกิดถามว่า นี่ ใช่คุณสันตินันท์หรือเปล่า เขาบอกใช่ๆ ก็หาโอกาสเข้าไป

พอเริ่มมีคนลุกออกมา ก็เดินเข้าไปหา ไปสวัสดี และแนะนำตัวบอก “ผมชื่อสุรวัฒน์ที่เคยเขียนอีเมล์มาถาม” ท่านก็พยักหน้าเหมือนจะจำได้ มีเก้าอี้ว่างอยู่ข้างๆ ท่าน ท่านก็บอกให้นั่งเก้าอี้ ยังไม่ทันหย่อนก้นลงนั่งเลย ท่านสอนมาแล้ว บอกว่า “สุรวัฒน์ ยังรู้สึกตัวไม่เป็นนะ ต้องหัดรู้สึกตัวให้เป็นก่อน” เฮ้อ เหมือนกับโดนตีแสกหน้า พอท่านบอกว่ายังรู้สึกตัวไม่เป็น เรารู้สึกได้เลยว่าตอนนั้นเหมือนกับมีคนมาปลุกเราให้ตื่นจากความหลับใหล มันเหมือนจิตมันสว่าง โล่งขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง ความที่เราไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร จึงยังไม่รู้เรื่องว่าตอนนั้นมันคืออะไร ก็นั่งไป และฟังท่านสอนคนอื่นไป เราก็นั่งเพ่งของเราไปตามปกติ เพราะเคยชินกับการเพ่ง หน้าตามันบ่งบอก ท่านก็หันมาบอก “นี่ เพ่งอยู่” พอท่านบอกว่าเพ่งอยู่ปุ๊บ มันเหมือนกับเราทำอะไรเพลินๆ แล้วมีคนมาสะกิดเรียกเรา เฮ้ย เมื่อกี้เพ่งเหรอ ก็จำๆ ไว้ก่อนว่าแบบนี้เรียกว่า “เพ่ง” เราก็นั่งๆไป ท่านก็สอนคนอื่นไป เราก็นั่งฟังไป ก็คิดเพลินไป หน้าตามันบ่งบอกอีกแหละ ท่านก็บอกว่า “นี่ เผลอไปแล้ว” พอโดนสะกิดเรียก เผลอไปแล้ว อ้าว นี่เผลอไปแล้วเหรอ วันนั้น รู้จัก ๒ อย่าง “เผลอ” กับ “เพ่ง”

กลับมาบ้านก็มานั่งดูตัวเองไป พอนั่งไป ใจลอย เอ้า เมื่อกี้เราเผลอ เห็นไหม มันจำได้ว่าแบบนี้เรียกว่า “เผลอ” นะ พอเราไปนั่งสมาธิ เราก็เพ่งๆ เอ้า เมื่อกี้เพ่งอีกแล้ว ก็เริ่มรู้ทันแล้วว่าวันๆ หนึ่งก็มีแต่เพ่งกับเผลอนี่แหละ ๒ อย่าง ก็หัดดูอย่างนี้อยู่ในชีวิตประจำวัน ผมดูแค่ ๒ อย่าง จนกระทั่งวันหนึ่งตื่นขึ้นมากำลังแปรงฟันอยู่ ใจมันก็คิดว่าเดี๋ยวต้องนั่งสมาธิแล้ว ด้วยความเคยชิน มันอยากนั่งสมาธิ วันนั้นมันเห็นตัวเองอยากนั่งสมาธิขึ้นมา เฮ้ย อยากนั่งสมาธิ แต่เดี๋ยวพอเราไปนั่ง เราก็เพ่งเหมือนเดิม ไม่เพ่งเราก็หลับ วันนี้เราไม่นั่งดีกว่า ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาผมจึงไม่นั่งสมาธิ แทนที่จะนั่งสมาธิก็ไปหาอะไรทำ ทำแล้วก็สังเกตตัวเอง เผลอไปอีกแล้ว ทำอันนี้ ก็เผลอไปอีกแล้ว มันก็เริ่มเลิกเพ่งเพราะเราไม่นั่งสมาธิเราก็ไม่เพ่งแล้ว เดินจงกรมก็ไม่เดินแล้ว เพราะเดินแล้วเพ่ง เราก็เก็บไว้ก่อน ไปหาอะไรทำให้มันเพลินๆ แล้วก็รู้ว่าเผลอเอา ตอนหลังก็มาหัดรู้ว่าเผลอเป็นหลักเลย อย่างขับรถไปทำงาน ขับๆ ไป ผ่านไฟแดง เฮ้ย เมื่อกี้เราลืมดูไฟแดง เผลอไปแล้วเพราะเราไปคิดอะไรก็ไม่รู้ รู้สึกตัวขึ้นมาแวบหนึ่งกลับมาอยู่กับการขับรถ มันเริ่มรู้ว่าจิตที่เผลอไป กับจิตที่รู้สึกตัวอยู่ มันมีความรู้สึกไม่เหมือนกัน ผมก็จับเอาอย่างนี้

หรือขับรถไปเปิดวิทยุฟัง รถติดไฟแดงอยู่ ฟังวิทยุ ฟังๆ ไป เอ้า เมื่อกี้ลืมฟังวิทยุ นี่ มันคือเผลอไป ก็รู้อยู่แค่นี้ เมื่อกี้เผลอไปคิดแล้ว กลับมานั่งฟังวิทยุใหม่ ผมก็หัดอยู่อย่างนี้ ขับๆ รถไปปุ๊บ มีสาวๆ เดินอยู่ข้างถนน มองไปที่สาวๆ แล้วก็เห็นตัวเองว่าเมื่อกี้เราลืมตัวไปมอง หัดอยู่อย่างนี้ กระทั่งวันหนึ่งขับรถอยู่ เห็นสาวเดินอยู่ข้างถนนปุ๊บ มันรู้สึกว่าจิตวิ่งปรู๊ดออกไป วิ่งยังไม่ทันถึง นึกขึ้นมาได้ มันเผลอไปแล้ว ปุ๊บ มันกลับมา วันนี้ไม่ไปแล้ว มันก็ได้เรียนรู้อีกอย่างหนึ่งว่าถ้าเรามีสติขึ้นมา จิตมันจะหยุดไหลออกไปข้างนอก กลับมารู้สึกตัว ผมก็หัดอยู่อย่างนี้ แค่นี้เอง

อย่างดูทีวี อ้าว เมื่อกี้เผลอไปแล้ว นั่งดูบอลอยู่ ผมน่ะคอบอลเลย ดูทุกนัด ดูบอลอยู่ เฮ้ย เมื่อกี้เราเผลอไปอยู่ในจอ อยู่แต่กับลูกบอล เราจะดูแต่ทีมที่เราเชียร์ ทีมคู่ต่อสู้เล่นอย่างไร เราไม่รู้เลย เพราะเราจะสนใจแต่ทีมของเรา เฮ้ย เมื่อกี้เราหลงไปอยู่ในจอ ผมก็หัดอยู่อย่างนี้ ก็ดูๆ ไป เริ่มสังเกตได้ว่า ถ้ากรรมการเป่านกหวีดเมื่อไหร่ เราจะกลับมารู้สึกตัว มันรู้สึกเอง ตอนที่บอลกำลังส่งไปส่งมา เราก็ไปตามลูกบอล พอกรรมการเป่านกหวีดขึ้นมา เฮ้ย เมื่อกี้เราหลงไปอยู่ในจอ ผมก็อาศัยดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านี้เลย ส่วนนั่งสมาธิกับเดินจงกรม ผมก็เก็บไว้ก่อนเพราะมันยังทำไม่ได้ ทำแล้วมันเครียด ทำแล้วมันเพ่ง

หัดไปสัก ๓ เดือน ก็ไปขอนัดพบหลวงพ่อ ตอนนั้นท่านยังไม่ได้บวช กลางวันคิวเต็ม นัดไม่ทัน ท่านสอนสมัยก่อน ขนาดพักกลางวัน ท่านยังไม่ได้พักเลย มีคนไปขอเรียนธรรมะ ปกติถ้านัดตอนกลางวันท่านจะไปนัดเจอที่โรงอาหาร ท่านทำงานอยู่องค์การโทรศัพท์ ผมก็ไปพบท่านที่โรงอาหาร นั่งกินข้าวไป ท่านก็สอนไป แต่วันนั้นคิวตอนกลางวันเต็ม ท่านก็ให้ไปตอนเย็น นัดกันที่ฟู้ดเซ็นเตอร์ ของจัสโก้ รัตนาธิเบศร์ในสมัยนั้น ท่านก็ไปนั่งรออยู่ก่อนแล้ว ผมก็เดินไป ตอนเดินไปไม่ได้สนใจจะปฏิบัติ เราก็เดินของเราไป เดินไปก็รู้สึกว่ามีตัวเองกำลังเดิน แต่ก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวหรอกตอนนั้น ก็แค่เดินไปแล้วก็แวบ รู้สึกว่าเรากำลังเดิน บางทีตาหันไปมองอะไร ก็รู้ทันว่าจิตมันไหลไปแล้วก็กลับมาอยู่กับการเดิน พอเดินไปถึงท่านก็บอกว่า “เนี่ย รู้สึกตัวเป็นแล้ว” ห๊า อะไร รู้สึกตัวเป็น คืออะไร ผมไม่เข้าใจ ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวเลย แล้วท่านก็ไปสอนคนอื่น ท่านไม่ค่อยสอนผมหรอกนะ เนี่ย สอนแค่ประโยคสองประโยค เพราะท่านคงรู้ว่าผมคงฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่ค่อยอธิบายอะไรให้ผมฟังเลย แล้วท่านก็ไปสอนคนอื่น ผมก็นั่งฟังไป พอเผลอไปแล้ว ก็รู้ทัน ก็กลับมาอยู่กับตัวเอง พอจะแยกย้ายกันกลับบ้าน ท่านก็บอกว่า “เนี่ย รู้สึกตัวเป็นแล้ว ต่อไปให้ไปเจริญสติปัฏฐานเอา” ผมก็ครับๆ แต่ไม่รู้ต้องทำอย่างไร สติปัฏฐานทำอย่างไรก็ไม่รู้ เคยอ่านหนังสือว่ามีกาย เวทนา จิต ธรรม แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ไม่เข้าใจ ท่านก็บอกว่าไปหาเอาเองแล้วกัน พอทำไม่เป็นก็ทำอะไรเป็นก็ทำอันนั้นแหละ รู้ว่าเผลอเป็น ผมก็รู้ว่าเผลอไป อย่างเดียวเลย ทำสติปัฏฐานไม่เป็น ก็รู้ว่าเผลอๆ ไปเรื่อยๆ หัดดูไปๆ พอไปอ่านหนังสือมันก็จะเริ่มเข้าใจ เผลอไปก็เป็นจิตอย่างหนึ่ง เวลาโกรธ เราก็รู้ว่าโกรธ เราก็หัดดูของเราไปอย่างนี้ พอผ่านไป มันจะค่อยๆ เข้าใจยิ่งขึ้นและเรียบเรียงเป็นเรื่องเป็นราวได้มากขึ้น นี่แหละ ทางเดินมันมาอย่างนี้เกือบทั้งนั้น เพราะฉะนั้นใครภาวนาแล้วไม่เข้าใจอะไร ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องธรรมดา ต้องใช้เวลา ก็ว่ากันไปตามแต่ละคน ที่สำคัญคืออย่าทิ้ง ท้อได้แต่อย่าทิ้ง ถ้าท้อแล้วทิ้งนี่ก็จอด ไปไหนไม่รอด

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 1,588 times, 1 visits today)

Comments are closed.