Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ศัตรูร้ายของนักปฏิบัติ


ศัตรูร้ายของนักปฏิบัติ

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า

ศัตรูร้ายของนักปฏิบัติชาวเมือง หรือพวกปัญญาชนที่สำคัญที่สุด

ได้แก่ความสงสัยอย่างหนึ่ง กับความเบื่ออีกอย่างหนึ่ง

 

ความสงสัยนั้นมีตั้งแต่สงสัยว่า จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง

จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง

ตลอดไปถึงความสงสัยว่า

ปฏิบัติเพียงตามรู้ปรากฏการณ์ทางกายและจิตเท่านี้น่ะหรือ

จะทำให้ถึงมรรคผลนิพพานได้จริง

 

ส่วนความเบื่อนั้น เกิดจากการที่เคยอ่านมาก ฟังมาก คิดมาก

เมื่อต้องมาเฝ้ารู้ความเกิดดับของอารมณ์ซ้ำๆซากๆ อยู่ในกาย เวทนา จิต

ก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เพราะรู้สึกจำเจ ไม่เห็นมีอะไรแปลกใหม่

หรือเบื่อที่จะเฝ้ารู้ เพราะไม่สนุกเร้าใจเหมือนกามคุณทั้ง 5

ถูกกามคุณทั้ง 5 ชักจูงให้เบื่อการปฏิบัติ

 

ถ้าผู้ปฏิบัติเพียงแต่รู้ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของความสงสัย

ก็ไม่ต้องมีเรื่องให้คิดค้นคว้าใดๆ อีก คงตั้งหน้า รู้ ไปอย่างเดียว

และเมื่อเห็นความเบื่อหน่ายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

ผู้ปฏิบัติก็จะปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะปฏิบัติไปด้วยความไม่เบื่อ

 

ผมพากเพียรบอกกับพวกเรามานาน ซ้ำแล้วซ้ำอีก

จนบางคนรู้สึกขำ แล้วเอาไปพูดล้อเลียนเล่นกันก็มี

คือบอกว่า สงสัยก็ให้รู้ว่าสงสัย เบื่อก็ให้รู้ว่าเบื่อ

แต่ไม่ว่าจะพูดบ่อยเพียงใด ก็หาคนที่เข้าใจ และปฏิบัติตามได้ยากเต็มที

เพราะรู้สึกว่าเป็นธรรมที่ตื้นเหลือเกิน

ดังนั้น คนที่ผ่านด่านคู่นี้ได้ จึงมีไม่มากนัก

เมื่อคุณพัลวันผ่านด่านความสงสัยได้อีกคนหนึ่ง จึงเป็นเรื่องน่าอนุโมทนา

 

ความสงสัย ความเบื่อ ความรัก ความโลภ

ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่

ความสุข ความทุกข์ ความสงบ ตลอดจนกุศลธรรมทั้งปวง

ล้วนแต่เป็นกิริยาอาการหรือความปรุงแต่งของจิตทั้งสิ้น

ถ้าเป็นความปรุงแต่งฝ่ายอกุศล ก็ล้วนเป็นความเศร้าหมองของจิต

ถ้าเป็นความปรุงแต่งฝ่ายกุศล ก็เป็นความแจ่มใส เบาสบายของจิต

แต่ทั้งหมดก็ล้วนไม่ใช่จิต ถ้าเข้าใจจุดนี้และจิตฉลาด

ไม่ถูกความปรุงแต่งครอบงำ จิตก็จะเป็นอิสระ หมดภาระวุ่นวายต่างๆ

 

แต่การจะรู้ความสงสัย (หรือความปรุงแต่งอื่นๆ) ต้องรู้ให้ถูกด้วย

คือรู้เข้าไปที่  “ความรู้สึกสงสัย” อันเป็นสิ่งที่ี่นักอภิธรรมเรียกว่าปรมัตถธรรม

ไม่ใช่ไปรู้ “เรื่องที่สงสัย” อันเป็นบัญญัติ

เช่นเมื่อฟังคำสอนเรื่องการดูจิตแล้ว เกิดสงสัยว่า

“เอ แล้วเราจะดูจิตอย่างไรดี?” อันนี้เป็นเรื่องที่สงสัย เป็นของสมมุติบัญญัติ

เราไม่ต้องไปเฝ้าดูความคิดหรือประโยคที่ว่านี้

แต่ให้ระลึกรู้ตรงเข้าไปที่ “ความรู้สึกสงสัย”

ตัวความรู้สึกสงสัยนี้แหละเป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่แสดงไตรลักษณ์ได้

เมื่อรู้เข้าไปที่ความรู้สึกนี้แล้ว จะเห็นระดับความเข้มของความรู้สึกสงสัย

ว่าไม่คงที่ แล้วก็เห็นมันดับไป อันนี้คือการเห็นไตรลักษณ์

 

ถ้ารู้ปรมัตถธรรมของความสงสัยเป็นแล้ว

ก็ไม่ยากที่จะรู้ปรมัตถธรรมของความรู้สึกอื่นๆ ได้ไม่ยาก

 

ดังนั้น อย่ามองข้ามการรู้ความสงสัยเลยครับ

นี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องพูดกันเล่นสนุกๆ แต่อย่างใด

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 105 times, 1 visits today)

Comments are closed.