Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : สอนการเดินจงกรม


สอนการเดินจงกรม

ผมเดินจงกรมเหมือนกับนั่งสมาธิครับ
เพียงแต่ตอนเดิน จะรู้การเคลื่อนไหวของกายกับจิต
(แล้วแต่ว่า ขณะนั้น สติจะจดจ่อลงที่ใด)
ส่วนตอนนั่งและนอน จะรู้ลมหายใจกับจิต

จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่การยืน เดิน นั่ง นอน
แต่อยู่ที่ความต่อเนื่องของสติและสัมปชัญญะ

 ระดับความเร็วของการเดิน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีปัญหามาก
 บางคนจะพยายามเดินช้า – ช้ามาก – ช้าที่สุด
 ก้าวหนึ่งกำหนดได้ 6 – 7 จังหวะ
 แต่บางคนก็เดินเร็วเหมือนตามควาย (คุณดังตฤณใช้คำว่าตามโจร
 ซึ่งผมเห็นว่า ตามโจรบางทีก็ต้องซุ่ม ต้องย่องย่าง ไม่เร็วเสมอไปหรอก :) )

การเดินเร็วโดยนับจังหวะก้าวไปด้วย หรือบริกรรมไปด้วย
อาจจะมีประโยชน์บ้าง ในตอนที่จิตฟุ้งซ่าน
คือเดินและนับหรือบริกรรมเร็วๆ จิตจะได้ไม่มีเวลาไปคิดเรื่องอื่น

ส่วนการเดินช้า – ช้ามาก – ช้าที่สุด นั้น
เขาว่ากันว่าเพื่อให้กำหนดสติทัน
แต่ผมเดินแบบนั้นไม่เป็น จึงไม่เห็นประโยชน์ของการเดินช้าเพื่อให้สติตามทัน
กลับเห็นว่า เราควรฝึกสติสัมปชัญญะให้ไว ให้ทันการเดินปกติให้ได้
เพื่อจะเจริญสติสัมปชัญญะได้จริงในชีวิตประจำวัน
แต่อันนี้ เป็นเรื่องความถนัดส่วนตัวครับ ใครอยากเดินอย่างไรก็ไม่ว่ากัน
ให้มีสติสัมปชัญญะให้ต่อเนื่องได้จริงๆ ก็แล้วกัน

ถ้าสติไวจริงๆ แค่เอื้อมมือหยิบแก้วน้ำมาดื่มด้วยความเร็วปกติ
หรือก้าวเท้าเดินจงกรมด้วยความเร็วปกติ
ก็จะเห็นรูปเกิดดับต่อเนื่องกันถี่ยิบ ไม่ผิดกับภาพการ์ตูนเลย
นับไม่ทันด้วยซ้ำไปว่า มันกี่สิบกี่ร้อยจังหวะกันแน่
และการไล่นับ ก็จะเป็นภาระอันใหญ่หลวง เข้าขั้นทรมานจิตทีเดียว
เหมือนกับการพยายามนับเม็ดฝนที่ตกลงต่อหน้าเรา

 เวลาเดินจงกรมนั้น จุดสำคัญอยู่ตอนที่จะหยุด หมุนตัว และเริ่มก้าวเดินใหม่
อันนี้จริงอย่างที่คุณดังตฤณกล่าวไว้
ยิ่งถ้าอายุมากแบบผม ขืนเดินพรวดพราดไปสุดทางจงกรม
ก็เหวี่ยงเท้าหมุนตัวกลับหลังหันทันที
ถึงสติจะไม่เคลื่อน แต่สังขารร่างกายเคลื่อนแน่นอน
ดีไม่ดีหน้ามืด ล้มคว่ำเอาง่ายๆ
ดังนั้นเดินไปสุดทางจงกรมแล้วหยุดอย่างสบายๆ เสียก่อน
ทำความรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วค่อยหมุนตัวกลับ
จะเห็นรูปกายเกิดดับต่อเนื่องกันถี่ยิบในตอนหมุนตัว
แล้วก็มาหยุดรู้รูปยืนสักหน่อยหนึ่ง พอตั้งมั่นไม่ซวนเซแล้วจึงค่อยเดินต่อไป

งานกรรมฐานเป็นงานละเอียด
ปฏิบัติไปอย่างสบายๆ ประณีต เป็นธรรมชาติธรรมดา
อย่าไปปฏิบัติด้วยแรงจูงใจของกิเลส จนต้องวางมาดเป็นผู้ปฏิบัติ
แต่ถ้ากำลังจงใจ กำลังวางมาด กำลังกดข่มบังคับกายและจิต
ก็ให้คอยรู้เท่าทันไว้
เดี๋ยวมันก็เป็นธรรมดาเองแหละครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน 14 ก.พ. 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 417 times, 1 visits today)

Comments are closed.