Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เรียนรู้ดูขันธ์กับ อ.สุรวัฒน์: ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี


๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี

คงเคยอ่านเคยได้ยิน 

เรื่อง ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี กันมาแล้วซินะ

 

บางคนก็เข้าใจว่า 

ถ้าสามารถปฏิบัติภาวนาเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้ถูกต้อง

ก็จะบรรลุธรรมได้อย่างเร็วก็ ๗ วัน 

อย่างกลางก็ ๗ เดือน อย่างช้าก็ ๗ ปี

แต่เมื่อลงมืปฏิบัติเข้าจริง 

๗ วันก็แล้ว ๗ เดือนก็แล้ว ๗ ปีก็แล้ว

จนไม่รู้ว่าอายุ ๗๐ จะบรรลุอะไรได้บ้างมั้ย ^_^

 

ถามคำถามหนึ่งนะครับว่า

เราเองเคยรู้จริงหรือเปล่าว่า 

เรื่อง ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ที่ว่านี้

เป็นจริงตามตัวเลข หรือเป็นแค่สำนวนเท่านั้น

อย่างหลวงพ่อปราโมทย์ท่านก็เคยบอกว่า 

๗ เป็นสำนวน แปลว่าไม่มาก 

หรือพูดเป็นภาษาที่เราเข้าใจได้ว่า 

ไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี นั่นเอง

 

หยุดก่อน… 

ไม่ได้จะมาชวนคุยเรื่อง กี่วัน กี่เดือน กี่ปี หรอกนะครับ

แต่จะมาชวนคุยประเด็นที่ว่า

ทำไมใน มหาสติปัฏฐานสูตร

(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐  

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค)

จึงกล่าวไว้ว่า

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้

อย่างนี้ ตลอด ๗ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑ …

 

แล้วก็มีต่อด้วยข้อความแบบเดียวกัน 

แต่เวลาลดหลั่นลงไปจนถึง ๗ วัน

ซึ่งก็ยังคงกล่าวถึงผลเพียงสองประการคือ

เป็นพระอรหันต์ กับเป็นพระอนาคามี

 

เรื่องนี้เคยทำให้ผมต้องแขวนเรื่องนี้ไว้ข้างฝานานแล้ว

เพราะไม่เคยเข้าใจได้เลยว่า เหตุใดจึงไม่มีกล่าวถึงผลที่เป็น

พระโสดาบัน กับ พระสกทาคามี เอาไว้ด้วย

และเมื่อเข้าใจไม่ได้ ก็เลยต้องแขวนเรื่องนี้เอาไว้ก่อน

ไม่งั้นจะทำให้จิตหลงไปครุ่นคิดจนเสียเวลาหัดดูกายดูจิตไป

 

เวลาสงสัยอะไรทำนองนี้ ใจลึกๆ จะรู้สึกแต่ว่า

มีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะตอบได้ถูกต้อง

คำตอบจากครูบาอาจารย์หรือท่านผู้รู้ต่างๆ

ก็เป็นเพียงคำตอบตามทัศนะของท่าน 

หรือตามที่ท่านเข้าใจ 

ซึ่งจะถูกจริงไม่จริง ก็ไม่อาจฟันธงกันได้

 

ไม่รู้เพราะคิดอย่างนี้หรือเปล่า 

ทุกวันนี้จึงต้องเป็นคนรู้น้อยเท่าหางอึ่งอยู่นี่แหละ

 

แม้จะแขวนเรื่องที่ว่านี้ไปแล้ว

แต่จิตมันก็ชอบแอบสอยลงมาถือไว้อยู่เรื่อยๆ

โดยเฉพาะเวลามีคนมาชวนคุยเรื่องพระโสดาบัน

คงคิดกันว่า ผมมีความรู้มากมั้งจึงได้ชอบมาชวนคุยเรื่องนี้

ซึ่งผมเองก็จนใจที่จะแจกแจงให้ฟังได้ว่า

พระโสดาบันเป็นอย่างไรกันแน่

ที่ทราบก็มีเท่าแค่ว่า ท่านจะละสังโยชน์ ๓ ได้แล้ว

ซึ่งสังโยชน์ ๓ ผมก็ยังแจกแจงไม่ได้อีกว่าเป็นอย่างไร

อย่างแค่ สักกายทิฏฐิ ก็ทำเอาผมมึนตึบไปแล้วว่า 

สักกายทิฏฐิหน้าตาเป็นยังไงหว่า?

เปิดตำราก็บอกว่า เป็นความเห็นผิดว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน

แต่ เอ๊ะ ก็เห็นถามใครว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวตนหรือไม่เป็นตัวตน

เกือบทุกคนก็ตอบกันได้ว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตน

หรือว่าบ้านนี้เมืองนี้มีพระโสดาบันเยอะจนเดินชนกันเลยรึ

ก็เลยรู้สึกว่า แค่ตอบถูกว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตน 

ก็ยังไม่ใช่พระโสดาบันหรอก

 

จากที่มีคนชอบมาชวนคุยเรื่องพระโสดาบันนี่แหละ

ที่ทำให้ได้ยินเรื่องของพระโสดาบันบ่อยกว่าได้อ่านจากตำราซะอีก

(ก็ผมมันไม่ชอบอ่านตำรานี่นา ^_^)

บางคนก็ชอบมายกย่องว่าคนนั้นคนนี้เป็นพระโสดาบัน

ซึ่งผมเองก็ไม่รู้หรอกว่าใครเป็นไม่เป็น

แล้วที่เค้าว่าเป็นๆ กัน ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นจริงหรือไม่จริง

ครั้นจะไปถามพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ด้วยซิ

 

ด้วยเหตุนี้ ผมก็เลยต้องวางใจว่า

เราไม่รู้หรอกว่าใครแม้กระทั่งตัวเองเป็นพระโสดาบันจริงหรือไม่

จะดูตามตำราก็ดูไม่ออก 

ยิ่งฟังๆ คนมาเล่าถึงพระโสดาบันท่านนั้นท่านนี้

ก็ยิ่งสรุปอะไรไม่ได้ เพราะฟังแล้วแต่ละท่านไม่เห็นจะเหมือนกันเลย

ภาวนาก็ไม่เหมือนกัน 

สภาวะตอนก่อนเป็นพระโสดาบันก็ไม่เหมือนกัน

เป็นแล้วจริตนิสัยก็ยังแตกต่างกันอยู่มาก

ก็เลยสรุปไม่ได้ว่าใครเป็นจริงหรือไม่จริง

และเป็นแล้วจะต้องดูที่ตรงไหน ต้องก็ดูอย่างไร

แต่คงมีท่านผู้แตกฉานบางท่านที่อาจจะรู้ได้จริงนะครับ

 

ส่วนอย่างเราๆ ที่ไม่มีอะไรจะแตกฉาน (มีแต่สติจะแตก)

ฟังอะไรมาก็ให้ฟังแบบ สักว่าฟัง ก็แล้วกัน

จะได้ไม่ถูกหลอกจนกลายเป็นงมงาย

แล้วก็ไม่ต้องไปยกยอใครจะดีที่สุด

(ยกยอใคร เขาก็จะกลายเป็นปลาติดยอถูกจับไปกินเท่านั้น)

ส่วนใครจะเป็นไม่เป็นก็เรื่องของเขา

และมีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะบอกได้จริงๆ ว่าเป็นหรือไม่เป็น

แล้วก็เมื่อปฏิบัติภาวนาไป ไม่ว่าจะเกิดสภาวะอะไรขึ้นก็ตาม

อย่าปักใจเชื่อว่าตัวเองเป็นพระโสดาบันก็แล้วกัน

เพราะถ้าปักใจเชื่อแล้ว แต่หากไม่เป็นจริงละก็

จะกลายเป็น วิปัสสนูกิเลส ทำให้หลงผิดไปอีกนานเลยทีเดียว

 

ด้วยที่คนทั่วไปอย่างเราๆ ที่ไม่แตกฉานในธรรม

ก็เลยไม่อาจจะสรุปได้ง่ายๆ และได้ถูกจริง

ว่าใครเป็นพระโสดาบันหรือไม่ 

ครั้นจะไปสรุปว่าใครเป็นพระสกทาคามี 

ก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีกมากมาย

เพราะไม่อาจจะเปรียบเทียบได้ว่า

กิเลสที่เบาบางลงซึ่งเป็นตัวชี้วัดของพระสกทาคามี

ได้เบาบางลงหรือจริงไม่

ขนาดบางคนที่เค้าแค่ทำความสงบได้เก่งๆ

เค้าก็รู้สึกว่ากิเลสเบาบางลดลงเหลือน้อยแล้ว 

แต่เอาเข้าจริงก็เพียงแค่ข่มเอาไว้เท่านั้น

ที่ถูกข่มไว้ก็ยังมีเท่าเดิม ไม่ได้ลดน้อยลงจริง

หรือบางคนถึงกับเกิดวิปัสสนูกิเลส เพราะข่มกิเลสได้เก่ง

คิดว่าตัวเองเป็นสกทาคามีไปแล้วก็มี

 

เพราะฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติไปแล้ว ช่วงไหนเกิดรู้สึกว่า 

โลภะ โทสะ โมหะลดน้อยลงไปมากแล้ว

ก็อย่าปักใจเชื่อว่าตัวเองเป็นพระสกทาคามีกันนะครับ

แต่ให้หัดรู้หัดดูกันต่อไปนานๆ จะสิบปียี่สิบปีก็ดูไปเรื่อยๆ

แล้ววันหนึ่งอาจจะเห็นโลภะ โมหะ โทสะ

มันแสดงเป็นตัวโตๆ ให้ขึ้นอีกก็ได้ครับ

 

ด้วยที่ได้มีโอกาสคุยเรื่องแบบนี้บ่อยๆ

คุยไปคุยมาก็เลยรู้สึกว่า….

 

โอ้ คนที่ไม่แตกฉานธรรมะอย่างเรานี่

ดูไม่ออกว่าตัวเองเป็นไม่เป็นพระโสดาบัน

แล้วก็ยิ่งดูยากขึ้นไปอีกว่าตัวเองเป็นไม่เป็นพระสกทาคามี

เพราะเห็นตัวชี้วัดได้ลางเลือนเต็มที

แต่ถ้าไปดูตัวชี้วัดของพระอนาคามี 

จะรู้สึกเหมือนง่ายกว่าและชัดเจนกว่า

เพราะตัวชี้วัดบอกว่า 

ท่านจะละกามราคะและปฏิฆะได้หมดสิ้น

จิตจะไม่หลงไม่เผลอไปยินดียินร้าย

กับรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส

ทางตา หู จมูก ลิ้น และกายได้อีกแล้ว

แบบนี้ซิที่จะดูได้ง่ายและดูได้ชัดเจนแม่นยำกว่า

 

ก็เลยเหมือนจะได้คำตอบของเรื่องที่แขวนเอาไว้ว่า

ทำไมในมหาสติปัฏฐานสูตร 

จึงได้กล่าวถึงผลไว้เพียงสองประการคือ

เป็นพระอนาคามีกับเป็นพระอรหันต์

เพราะการจะให้คนรุ่นหลังๆ ที่ไม่แตกฉานในธรรมอย่างเรา

สามารถเทียบเคียงผลการปฏิบัติได้ถูกต้องแม่นยำ

ก็ต้องเทียบเคียงจากตัวชี้วัดที่ง่ายและชัดเจนนี่เอง

 

พอเข้าใจแบบนี้ จิตมันก็วางแบบไม่สนใจแล้วว่า

เราจะเป็นหรือไม่เป็นพระโสดาบัน จะเป็นหรือไม่เป็นพระสกทาคามี

เนื่องจากตัวชี้วัดมันเป็นตัวที่เราเห็นได้ยากเกินกว่า

ที่เราจะสรุปด้วยตัวเองได้ (เพราะเราเองไม่แตกฉานในธรรม)

แล้วก็ค่อยไปว่ากันอีกทีก็ตอนที่ตัวชี้วัดที่เป็นตัว

กามราคะและปฏิฆะ ถูกละลงไปจนสิ้นแล้ว

ประมาณว่า แม้จะเจอรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

ที่ไม่ว่าจะน่ายินพอใจมากเท่ามาก 

ไม่น่ายินดีพอใจมากเท่ามากก็ตาม

หรือไม่ว่าจะเจออยู่ในขณะที่ตัวเองอยู่ในสภาพใดก็ตาม

จิตจะต้องไม่เผลอหลงส่งออกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

แม้เพียงเศษเสี้ยวของเศษเสี้ยวขณะจิตก็ว่าได้.

 

หมายเหตุ

เรื่องที่เล่ามานี้ เป็นเรื่องจากทัศนะของผมเองเท่านั้นนะครับ

ผมก็ไม่รู้ว่าถูกตรงตามพระธรรมหรือไม่

ให้ถือว่าอ่านเป็นบันเทิงธรรมเท่านั้นนะครับ

อย่าเอาไปเป็นจริงเป็นจังหรือเอาไปอ้างถึงนะครับ

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 71 times, 1 visits today)

Comments are closed.