mp3 for download : เตรียมพร้อมจิตเพื่อเจริญวิปัสสนา
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
หลวงพ่อปราโมทย์ : วันสุดท้ายแล้วของพวกเข้าคอร์ส รู้เรื่องบ้างมั้ย คนไหนติดสมาธินะ เราก็รู้ทันใจที่ติดสมาธิ ใจที่ติดสมาธินี้เป็นใจที่เราเข้าไปแทรกแซง เราเข้าไปควบคุม ยกตัวอย่างเรากลัวมันหลง เราพยายามไปเฝ้าเอาไว้ เรากลัวจะรู้ไม่ชัด เราก็ไปคอยจ้องคอยดูไม่ให้คลาดสายตา เราก็จะเกิดการเพ่งขึ้นมา บางคนก็มีทฤษฎีที่ผิดๆคิดว่าต้องเพ่งไว้ก่อน ถ้าไม่สงบแล้วเดินปัญญาไม่ได้
ที่คิดอย่างนั้น เพราะแยกไม่ออกว่าสมาธิมี ๒ ชนิด คือ สมาธิชนิดสงบกับสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่เราจะภาวนา เบื้องต้นน้อมใจให้ซึมให้นิ่งๆ แล้วคิดว่านี่คือความสงบเป็นสมาธิ จะได้เดินปัญญา สมาธิที่น้อมเข้าไปนิ่งไปซึมไปทื่ออยู่ ไม่ได้เอาไว้ใช้เดินปัญญาหรอก เอาไว้พักผ่อนเล่น สมาธิที่ใช้เดินปัญญานั้น จิตจะตั้งมั่น จิตจะถอนตัวออกจากโลกของความคิด มาเป็นผู้รู้ผู้ดู
สมัยก่อนหลวงพ่อไปเรียนกับครูบาอาจารย์ ท่านชอบพูดคำว่า “จิตผู้รู้” หลังๆเราลืมคำว่า “จิตผู้รู้” ไป เรามีแต่จิตผู้เพ่ง ถ้าไม่เป็นจิตผู้เพ่งก็เป็นจิตผู้คิด จิตผู้เพ่งนั้นมันสุดโต่งไปข้างบังคับตนเอง จิตผู้คิดก็สุดโต่งไปข้างฟุ้งซ่าน หลงไปอยู่ในโลกของความคิด จิตผู้รู้นั้นไม่ใช่จิตผู้คิดไม่ใช่จิตผู้เพ่ง เป็นจิตที่หลุดไปในโลกของความคิด และก็เห็นปรากฏการณ์ทั้งหลายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง
เราจะไม่เพ่งไปที่ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่จิตไปรู้เข้า แล้วเราก็ไม่เพ่งใส่ตัวผู้รู้ด้วย ถ้าเพ่งใส่ตัวผู้รู้ก็เป็นผู้เพ่งนะ ไปเพ่งใส่ปรากฏการณ์ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย รู้ลมหายใจก็ไปเพ่งอยู่ที่ลมหายใจ นี่ก็เป็นจิตผู้เพ่ง ไม่ใช่จิตผู้รู้
จิตผู้หลง จิตผู้หลงจิตผู้คิด มันถูกกิเลสยั่วก็เลยฟุ้งซ่านออกไป ไม่มีกระทั่งความสงบ ส่วนจิตผู้เพ่งมีความสงบนะแต่ไม่ตั้งมั่น เราจะต้องมาฝึกเป็นจิตผู้รู้ จิตผู้รู้เนี่ยไม่ฟุ้งซ่าน ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เพ่งเอาไว้ มันทรงตัวสบายของมัน เป็นผู้รู้ผู้ดูสบายๆ
วิธีที่เราจะพัฒนาจิตผู้รู้ขึ้นมาก็คือหัดรู้ คอยรู้ทัน หาอารมณ์กรรมฐานขึ้นมาสักอันหนึ่ง จะพุทโธก็ได้ จะรู้ลมหายใจก็ได้ แต่ไม่ใช่พุทโธเพื่อจะน้อมจิตให้นิ่ง ไม่ใช่หายใจเพื่อน้อมจิตให้นิ่ง เราพุทโธเพื่อจะรู้ทันจิต เราหายใจเพื่อจะรู้ทันจิต คนไหนไม่ถนัดพุทโธไม่ถนัดรู้ลมหายใจ จะดูท้องพองยุบหรือทำกรรมฐานอะไรก็ได้ ไม่เลือกกรรมฐานหรอก
ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร จะดูท้องพองยุบหรือขยับมือทำจังหวะหรือพุทโธหรือลมหายใจหรือรู้อิริยาบถ ๔ รู้เวทนา บางคนก็เริ่มด้วยการรู้จิตไปเลย สำหรับบางคนดูความเปลี่ยนแปลงของจิตไปเรื่อยๆ อะไรก็ได้นะ แต่ว่าไม่ว่าจะรู้อะไรก็รู้ทันจิต พุทโธแล้วจิตหนีไปคิดก็รู้ทัน พุทโธจิตหนีไปคิดแล้วก็รู้ทัน ฝึกอย่างนี้เรื่อย พุทโธแล้วไปเพ่งจิตให้นิ่งๆอยู่ก็รู้ทัน
ตรงที่พุทโธแล้วหนีไปคิดเนี่ย สุดโต่งไปข้างหลงข้างคิดข้างฟุ้งซ่าน พุทโธแล้วไปเพ่งจิตให้นิ่ง สุดโต่งไปข้างบังคับตนเองนะ เป็นความสุดโต่งสองฝั่ง ให้คอยรู้ทัน ถ้าเรารู้ทันเราก็จะไม่สุดโต่งไปสองข้าง ก็จะเข้าทางสายกลาง หรือลมหายใจก็ได้ รู้ลมหายใจแล้วก็รู้ทันจิต หายใจไปจิตหนีไปคิดแล้วก็รู้ หายใจแล้วจิตหนีไปคิดแล้วรู้ หรือหายใจไปแล้วจิตไหลไปเพ่งอยู่ที่ลมไหลไปรวมอยู่ที่ลมหายใจไหลไปลงอยู่ที่ท้อง รู้ทันว่าจิตมันเคลื่อนไป ใช้กรรมฐานอะไรก็ได้แล้วก็รู้ทันจิต บทเรียนอันนี้ชือว่า “จิตตสิกขา”
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมที่ วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔
CD สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๑
ไฟล์ 540710
ระหว่างนาทีที่ ๐ วินาทีที่ ๐ ถึง นาทีที่ ๔ วินาทีที่ ๓๖
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่