Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : มารในแง่ของการภาวนา


มารในแง่ของการภาวนา

มาร คือสิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ

หรือตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี

ตามตำราชั้นหลังประมวลจากพระไตรปิฎกไว้เป็น มาร 5 ได้แก่

1 กิเลสมาร มารคือกิเลส (พบคำนี้ในพระไตรปิฎก 6 แห่ง)

2 ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ (พบ 4 แห่ง)

3 อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขารที่ปรุงแต่งกรรม

 (ไม่พบมารชนิดนี้ในพระไตรปิฎก แต่มีร่องรอยที่ทำให้ตำราชั้นหลัง

ท่านสถาปนามารชนิดนี้ขึ้นไว้เหมือนกัน ซึ่งจะกล่าวในตอนท้าย)

อภิสังขารเป็นมารเพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม ทำให้เกิดชาติชรา เป็นต้น

ขัดขวางไม่ให้หลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์

4 เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร (พบ 1แห่ง)

5 มัจจุมาร มารคือความตาย (พบ 1 แห่ง)

 

มารทั้ง 5 นี้ ขัดขวางผู้ปฏิบัติ เช่นเมื่อกิเลสมารคุกคาม จิตก็ไม่ตั้งมั่น

เมื่อมัจจุมารคือความตายคุกคาม ก็หมดโอกาสปฏิบัติธรรม เป็นต้น

 

ความจริงเรื่องมาร 5 นี้ ที่ผมเคยอ่านแล้วจับใจที่สุด

เป็นมาร 5 ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงต่อพระราธะ

จึงอัญเชิญมาให้อ่านกันเอาเองครับ

 (จากพระสุตตันตปิฎก  เล่ม 9 สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

2. ราธสังยุต ปฐมวรรคที่ 1  มารสูตร  ว่าด้วยขันธมาร

 

 [366] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะ

ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว

นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า มาร มาร ดังนี้

ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล จึงเรียกว่า มาร?

 

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรราธะ

เมื่อรูปมีอยู่ มาร (ความตาย) จึงมี ผู้ทำให้ตายจึงมี ผู้ตายจึงมี

เพราะฉะนั้นแหละ ราธะ เธอจงพิจารณาเห็นรูปว่า เป็นมาร

เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร

เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์

บุคคลเหล่าใดพิจารณาเห็นรูปนั้นอย่างนี้

บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมเห็นชอบ.

 

เมื่อเวทนามีอยู่ ฯลฯ  เมื่อสัญญามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสังขารมีอยู่ ฯลฯ

เมื่อวิญญาณมีอยู่ มารจึงมี ผู้ทำให้ตายจึงมี  ผู้ตายจึงมี

เพราะฉะนั้นแหละ ราธะ เธอจงพิจารณาเห็นวิญญาณว่า เป็นมาร

เป็นผู้ทำให้ตาย  เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร

เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์

บุคคลเหล่าใดพิจารณาเห็นวิญญาณนั้นอย่างนี้

บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมเห็นชอบ.

 

อายาจนวรรคที่ 3  มารสูตร ว่าด้วยการละความพอใจในขันธมาร

[389] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะ

ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานพระวโรกาส

ทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์

ที่ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท

มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด.

 

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราธะ สิ่งใดแลเป็นมาร

เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด

ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในสิ่งนั้นเสีย.

 

ดูกรราธะ ก็อะไรเล่าเป็นมาร?

ดูกรราธะ รูปเป็นมาร เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด

ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในรูปนั้นเสีย.

เวทนาเป็นมาร … สัญญาเป็นมาร … สังขารเป็นมาร …

วิญญาณเป็นมาร เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด

ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในวิญญาณนั้นเสีย.

 

ดูกรราธะ สิ่งใดแลเป็นมาร เธอพึงละความพอใจ ความกำหนัด

ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในสิ่งนั้นเสีย.

 

นี่แหละครับ มาร 5 ในเชิงปฏิบัติ ที่น่าสนใจมากทีเดียว

 

ความจริงในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงมารชนิดต่างๆ

เช่นกิเลสมาร และเทวปุตตมารไว้เช่นกัน

ทั้งยังกล่าวถึงมารอีกหลายชนิด ที่ตำราชั้นหลังไม่ได้กล่าวถึง

ลองอ่านดูเองนะครับ จากพระสุตตันตปิฎก  เล่ม 22  ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

 

 [427] คำว่า มารย่อมไปตามสัตว์ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล

ความว่า ขันธมาร ธาตุมาร อายตนมาร คติมาร อุปบัติมาร ปฏิสนธิมาร

ภวมาร สังสารมาร วัฏฏมาร อันมีในปฏิสนธิ

ย่อมไปตาม คือ ตามไป เป็นผู้ติดตามไป ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้น นั่นแล.

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 334 times, 1 visits today)

Comments are closed.