Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : สัมมาสติ สัมมาสมาธิ


สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

สัมมาสตินั้น เป็นสัมมาสติได้เพราะอาศัยพื้นฐานจากสัมมาสมาธิ

และเมื่อเจริญสัมมาสติไปจนเต็มภูมิแล้ว จิตก็จะมาหยุดอยู่ในสัมมาสมาธิ

ก่อนที่จะก้าวกระโดดไปสู่อริยมรรค อริยผล

ส่วนสัมมาสมาธิ จะเป็นสัมมาสมาธิได้ ก็ต้องอาศัยสัมมาสติ

 

ธรรมคู่นี้ จึงเป็นธรรมที่เกื้อกูลกันเองอย่างมาก

ถ้าขาดอันหนึ่ง อีกอันหนึ่งก็เกิดขึ้นไม่ได้

 

ก่อนที่เราจะเจริญสติปัฏฐานหรือทำสัมมาสติได้นั้น

เราต้องเตรียมจิตให้พร้อมที่จะเจริญสติปัฏฐานเสียก่อน

นั่นคือจิตจะต้องมี สัมมาสมาธิ

ได้แก่การที่จิตมีความเป็นหนึ่ง ตั้งมั่น เป็นกลาง ปราศจากความยินดียินร้ายในโลก

มีความอ่อนโยน ว่องไว ควรแก่การงาน

เครื่องมือที่จะใช้สร้างสัมมาสมาธิ ก็คือสติ

โดยการมีสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่อง

จนจิตเกิดปีติ สุข เอกัคตาขึ้นมาในปฐมฌาน

จากนั้นจึงสามารถสังเกตเห็นว่า ปีติ สุข นั้น เป็นสิ่งที่ถูกรู้

ธรรมอันเอกคือจิตผู้รู้ มีอยู่ต่างหาก ในทุติยฌาน

แล้วจิตก็ปล่อยวางสิ่งที่ถูกรู้ไปตามลำดับ จิตดำเนินเข้าสู่ความละเอียด

จนเหลือเพียงจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง และมีสติว่องไว ในจตุตถฌาน

 

สำหรับมิจฉาสมาธินั้น มันมีรอยแยกจากสัมมาสมาธิอยู่ตรงที่ว่า

เมื่อจิตมีปีติสุขขึ้นมาแล้ว จิตหลงอยู่กับปีติสุขด้วยอำนาจของราคะ

ไม่สามารถแยกจิตให้เป็นอิสระออกจากอารมณ์ได้

ตรงนี้จิตมักดำเนินไปใน 2 ลักษณะคือ

เพ่งจ้องอย่างแรงจนจิตขาดความคล่องแคล่ว ว่องไว

สติเซื่องซึมเพราะจิตไปเกาะกับอารมณ์เหนียวแน่น

อีกอย่างหนึ่งคือ จิตขาดสติ ตกภวังค์เงียบไปเลย

หรือถ้าไม่เข้าเงียบ ก็เคลื่อนเคลิ้มไปเรื่อยๆ ด้วยอำนาจของโมหะ

 

เมื่อจิตมีสัมมาสมาธิ คือมีตัวรู้ที่ตั้งมั่นเป็นกลางแล้ว

จึงน้อมสติออกไประลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

เกิดเป็นสัมมาสติขึ้นมา

คนธรรมดามีสติระลึกรู้อารมณ์ได้ แต่ไม่มีกำลังหนุนของสัมมาสมาธิ

จิตจึงเคลื่อนเข้าไปยึดอารมณ์ที่ถูกรู้นั้น

สติที่เกิดในภาวะที่จิตเคลื่อนไปเกาะอารมณ์นั้น

ไม่ใช่สติที่บริสุทธิ์ที่จะรู้อารมณ์ตามความเป็นจริงได้ เพราะขาดอุเบกขาธรรม

มันจึงไม่อาจจัดเป็นสัมมาสติในองค์มรรค

มันเป็นสติเหมือนกัน แต่ไม่ใช่สติที่สะอาดบริสุทธิ์ด้วยอุเบกขา

เปรียบเหมือนคนที่ตกน้ำ ไหลไปตามน้ำ มองเห็นไม่ชัดว่า มีอะไรไหลมาในน้ำบ้าง

ส่วนสัมมาสตินั้น เหมือนคนนั่งบนตลิ่ง

แล้วมองสายน้ำไหลผ่านหน้าไปเฉยๆ ก็เห็นชัดว่า มีอะไรไหลตามน้ำมาบ้าง

 

เมื่อจิตดำเนินสัมมาสติไปจนเต็มภูมิแล้ว

จิตจะวางอารมณ์ภายนอกทั้งปวง แล้วรวมลงที่จิต

เป็นสัมมาสมาธิที่บริสุทธิ์เต็มที่ ประกอบพร้อมด้วยศีล สมาธิ และปัญญา

แล้วตัดกระแสอารมณ์ละเอียดภายในต่อไป

ถัดจากนั้นจึงจะเกิดวิปัสสนาญาณ (ในบางครั้ง ไม่ได้เกิดทุกครั้งที่จิตรวมลง)

 

สัมมาสติ กับสัมมาสมาธิ ต่างก็ทำหน้าที่ของตนดังที่เล่ามานี้ครับ

และสัมมาสมาธิกับสมาธิธรรมดานั้น มีทางแยกกันตรงฌานที่ 2

อันหนึ่งมีธรรมอันเอกผุดขึ้น อันหนึ่งหลงไปด้วยราคะและโมหะ

ส่วนสัมมาสตินั้น จิตเป็นอุเบกขาต่อสิ่งที่ไปรู้เข้า

ในขณะที่มิจฉาสตินั้น จิตเคลื่อนตามสิ่งที่ไปรู้เข้า

 

สิ่งที่ผมเล่านี้ เล่ามาจากประสบการณ์

จะให้หมดจดบริบูรณ์เหมือนตำราไม่ได้หรอกครับ

ถ้าใครมีตำราที่เป็นพุทธวัจนะ ขอให้ถือตำราเป็นหลักไว้นะครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 227 times, 1 visits today)

Comments are closed.