Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : อารมณ์ของจิต(ในการดูจิต)


อารมณ์ของจิต(ในการดูจิต)

คำว่าอารมณ์ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ได้

เช่นเมื่อตามองไปเห็นแมว รูปแมวก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางตา

เมื่อได้ยินเสียงเพลง เสียงเพลงก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางหู

เมื่อเราคิดนึกปรุงแต่งทั้งดี ชั่ว และเป็นกลาง

ความคิดนึกปรุงแต่งเหล่านั้นก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางใจ เป็นต้น

 

นักปฏิบัติในขั้นเบื้องต้นนั้น ให้รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเสียก่อน

ถ้าเป็นผู้ที่จิตใจยังไม่เคยสงบเลย

ก็ให้เอาสติกำหนดรู้อารมณ์อันใดอันหนึ่ง

หรือทางทวารอันใดอันหนึ่ง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ

รู้อย่างสบายๆ ให้ต่อเนื่องไว้

 

เช่นเดินจงกรม ก็จับความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้นเรื่อยไป

นั่งกำหนดลมหายใจ ก็จับความรู้สึกที่ลมกระทบจมูก

หรือจุดใดจุดหนึ่งตั้งแต่ปลายจมูก จนถึงท้อง

ขอให้สนใจที่จะจับความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้น หรือลมกระทบกายไว้

ไม่ใช่เอาสติจับเข้าไปที่เท้า หรือที่ตัวลมหายใจ

เพราะการจับความรู้สึกนั้น ง่ายที่จะพัฒนาไปสู่การดูจิตที่ละเอียดยิ่งขึ้นต่อไป

เนื่องจากจิต เป็นเรื่องของความรู้สึก ไม่ใช่รูปธรรม

ส่วนการใช้สติจับเข้าไปในวัตถุเช่นเท้าและลม

ง่ายที่จิตจะน้อมไปสู่ความสงบในแบบสมถกรรมฐาน

โดยเพ่งแช่จมอยู่กับเท้า หรือลมหายใจนั้น

 

บางคนถามว่า ถ้าไม่กำหนดให้รู้การกระทบทางทวารหนึ่งทวารใด

แต่ปล่อยให้สติตามรู้การกระทบในทุกๆ ทวาร

แล้วแต่ว่าขณะใด ความรู้สึกทางทวารใดจะเด่นชัดที่สุด จะได้หรือไม่

ขอเรียนว่า ถ้าทำไหวก็ได้ แต่ถ้าเป็นมือใหม่ที่ยังไม่ชำนาญ ก็เห็นจะทำยากสักหน่อย

เปรียบเหมือนนักมวย เวลาเขาฝึกซ้อม เขาก็ฝึกซ้อมไปทีละอย่างก่อน

เช่นวิ่งออกกำลังกาย กระโดดเชือก แล้วซ้อมเต้น ซ้อมเตะ ซ้อมต่อยไปทีละท่า

พอชำนิชำนาญแล้วจึงซ้อมชกจริงๆ แล้วขึ้นเวทีต่อไป

 

การวิ่งออกกำลังกาย เปรียบเหมือนการทำสมถกรรมฐาน

อันเป็นกำลังพื้นฐานเพื่อใช้งานต่อไป

นักปฏิบัติจึงไม่ควรละเลยเสียทีเดียว ควรจะมีเวลาเข้าหาความสงบจิตใจบ้าง

โดยทำกรรมฐานใดๆ ก็ได้ ที่ทำแล้วสงบง่าย

 

การซ้อมเต้น ซ้อมต่อย ซ้อมเตะ ซ้อมศอก ซ้อมเข่า เหล่านี้

เปรียบเหมือนการฝึกซ้อม รู้ความรู้สึกทางทวารใดทวารหนึ่ง

ที่ง่ายที่สุดก็คือทวารกาย เช่นเท้ากระทบพื้น ลมกระทบจมูก เป็นต้น

 

เมื่อมีความพร้อมพอแล้ว เวลาลงสนามจริง

จะได้ไม่ถูกกิเลสไล่ถลุงเอาเป็นไก่ตาแตก

ไม่ว่าอารมณ์จะเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

ก็สามารถจับความรู้สึกที่ส่งเข้ามากระทบจิตได้ทันท่วงที

 

การฝึกหัดปฏิบัติเข้มเป็นบางเวลา กับการลงสนามปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

จึงมีส่วนเกื้อกูลกันดังที่กล่าวมานี้

แต่ถ้าใครเห็นว่าจิตของตนแข็งแรงพอแล้ว ไม่ต้องการทำสมถะ

และสติสัมปชัญญะว่องไวดีแล้ว ไม่คิดจะเข้าค่ายซ้อม

จู่ๆ จะลองโดดลงสนาม ไปปฏิบัติเอาในชีวิตประจำวันเลย ก็ได้

ถ้าชกชนะกิเลส ก็จะมีกำลังเข้มแข็งขึ้น โดยเริ่มชนะกิเลสระดับปลายแถวก่อน

แล้วค่อยเขยิบขึ้นไปต่อกรกับกิเลสที่ละเอียดแนบเนียนต่อไปตามลำดับ

แต่ส่วนมาก ผู้ที่ละเลยการทำความสงบ และการฟิตซ้อมที่ดี

มีโอกาสจะถูกกิเลสชกเอาเสียมากกว่า

เพราะกิเลสนั้น เป็นมวยระดับแช้มป์โลก

จะเข้าต่อกรด้วยมวยวัด ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก

 

เมื่อเราหัดจับความรู้สึก เช่นความรู้สึกตอนที่เท้ากระทบพื้น

หรือลมหายใจกระทบปลายจมูก ไปมากพอแล้ว

ความรู้สึกจะรวมเข้ามาที่กลางอกเองโดยอัตโนมัติ

พอเท้ากระทบพื้น ก็จะเห็นความไหวของอารมณ์ขึ้นที่กลางอก

กระพริบตาวิบเดียว ก็จะเห็นความไหวเข้ามาที่กลางอก

ทำนองเดียวกับเวลาเราตกใจ จะมีความรู้สึกวูบเข้ามาที่กลางอกนั่นเอง

คนไทยโบราณ ท่านเข้าใจธรรมชาติของจิตไม่ใช่น้อยทีเดียว

ท่านจึงมีศัพท์บัญญัติเกี่ยวกับความรู้สึกในอกอยู่มาก

เช่นอิ่มอกอิ่มใจ ร้อนอกร้อนใจ เสียอกเสียใจ คับอกคับใจ

เสียวแปลบในหัวอก วูบในหัวอก เสียใจจนอกจะแตกตาย

สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ ฯลฯ

 

ความรู้สึกที่ผุดขึ้นที่กลางอกนี้ ขอให้มันเกิดขึ้นเอง เพราะการรู้อารมณ์

แล้วจับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรู้อารมณ์นั้นได้

จนกระทั่งยกระดับขึ้นมารวมลงในอก

เราไม่ควรใจร้อน เพ่งใส่อก เพราะจะกลายเป็นการเพ่งวัตถุธาตุที่ประกอบขึ้นเป็นอก

ไม่ใช่จับความรู้สึกที่ปรากฏขึ้นในอก

 

อย่างไรก็ตาม ถ้ารู้สึกว่ามีความไหวอยู่ที่อื่น นอกจากอก ก็ไม่ต้องตกใจ

มันจะไหวอยู่ที่ใด เช่นเวลาโกรธ แล้วไปรู้สึกวูบที่สมอง ก็ไม่เป็นไร

อย่าไปกังวลกับที่ตั้งมากนัก

ปล่อยให้มันเป็นไปเองตามธรรมดา จะดีที่สุดครับ

แล้วเวลาเกิดกิเลส เช่นความสงสัย หรือความโกรธ

คอยเฝ้ารู้มันไว้ มันดับลงตรงไหน ก็รู้อยู่ที่ตรงนั้นเอง

ไม่ต้องเที่ยวไปหาจุดที่ตั้งอื่นใดให้วุ่นวายใจ

 

อนึ่ง บางคนอาจจะสงสัยว่า ความรู้สึกต่างๆ ที่แสดงออกมาในอกนี้

อาจจะเป็นเพียงอาการทางกายเท่านั้น

เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นปัญหาหลัก ที่จะต้องอภิปรายถกเถียงกันในที่นี้

เพราะเราเพียงต้องการอาศัยรู้ความรู้สึกที่กำลังปรากฏเท่านั้น

เพื่อที่จะก้าวต่อไปให้ถึงจิต

ทำนองเดียวกับการตกปลา จะใช้เหยื่อจริง หรือเหยื่อปลอมก็ไม่มีปัญหา

ขอให้จับปลา คือจิต ได้ก็แล้วกัน

 

ความรู้สึกต่างๆ ในอกนี้ ก็กลายเป็นอารมณ์ คือเป็นสิ่งที่ถูกรู้เช่นกัน

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อ วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 339 times, 1 visits today)

Comments are closed.