Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป (๔)


แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป (๔)

๔. ปัญหาและความผิดพลาดในการภาวนา

จากแนวทางอันเดียวกันข้างต้น

เมื่อแต่ละคนลงมือปฏิบัติธรรมจริงๆ

กลับปรากฏปัญหาปลีกย่อยแตกต่างกันเป็นจำนวนมาก

ปัญหาหลักก็มาจาก การเจริญสติสัมปชัญญะ ไม่ถูกต้อง

 

พวกเราจำนวนมากในขณะนี้ ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งเกิดความคลาดเคลื่อน

ยิ่งขยัน ยิ่งพลาดไปไกล

จุดที่พากันพลาดมากในช่วงนี้ก็คือ

แทนที่จะ รู้ ตามความเป็นจริง

พวกเรากลับไป สร้าง อารมณ์อันหนึ่งขึ้นมา

แล้วพากันเข้าไปติดอยู่ในอารมณ์อันนั้น

 

ความผิดพลาดนั้นเกิดจากบางคนรู้สึกว่าตนฟุ้งซ่านมากไป

จึงเห็นว่าจำเป็นต้องฝึกสมถกรรมฐานเสียก่อน

แล้วการฝึกสมถกรรมฐานนั้น ก็กระทำอย่างผิดพลาด

คือแทนที่จะกระทำสัมมาสมาธิ

กลับไปทำมิจฉาสมาธิอันไม่ประกอบด้วยความรู้ตัว

โดยการเพ่งเข้าไปที่อารมณ์อันเดียว

กล่อมจิตให้เคลื่อน เคลิ้ม เข้าไปเกาะอารมณ์อันเดียว

แทนที่จะมีสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียวไปอย่างสบายๆ

โดยมีความรู้ตัวไม่เผลอ ไม่เพ่ง

จิตแค่ระลึกรู้อารมณ์อันเดียวอย่างสบายๆ เป็นธรรมเอก

 

เมื่อทำมิจฉาสมาธิ จิตเคลื่อน ไปเกาะอารมณ์ที่สร้างขึ้นมา

พอหยุดการทำสมาธิ หันมาดูจิต หรือเจริญสติปัฏฐาน

ก็เอาจิตที่เกาะติดอารมณ์นั้นเอง มาใช้ดูจิต

ซึ่งจิตชนิดนี้ ใช้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้จริง

เพราะกระทั่งจิตติดอารมณ์อยู่ก็มองไม่เห็นความจริงเสียแล้ว

 

สาเหตุของความผิดพลาดที่เป็นกันมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ

แทนที่จะรู้อารมณ์ไปตามธรรมดา ง่ายๆ สบายๆ

พวกเราจำนวนมากกลัวจะเผลอ กลัวจะหลงมากเกินไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่พบกับผม หรือใกล้จะพบกับผม

จิตจะเกิดการตื่นตัวขึ้น เกิดอาการเกร็ง ระวังตัวแจ

ไม่ผิดอะไรกับนักวิ่ง เวลาเข้าเส้นสตาร์ท

 

สาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือ การปฏิบัติธรรมด้วยความอยาก

เช่นอยากรู้ธรรมเห็นธรรมเร็วๆ

อยากเป็นคนเก่ง เป็นดาวเด่น อยากได้รับการยอมรับและคำชมเชยจากหมู่เพื่อน

พออยากมาก ก็ต้อง “เร่งความเพียร”

แต่แทนที่จะเจริญสติสัมปชัญญะอย่างเป็นธรรมชาติให้ต่อเนื่องตลอดเวลา

อันเป็นความหมายที่ถูกต้องของการเร่งความเพียร

กลับกลายเป็นการปฏิบัติด้วยความหักหาญ เคร่งเครียด

ดูผิวนอกเหมือนจะดี แต่จิตภายในไม่มีความสงบสุขใดๆ เลย

 

สาเหตุที่นึกได้ในตอนนี้ทั้ง 3 ประการนี้แหละ

ทำให้พวกเราจำนวนมาก หลงไปยึดอารมณ์อันหนึ่งไว้

แล้วคิดว่า สามารถรู้จิตรู้ใจได้อย่างแจ่มชัด

ตอนนี้บางคนพอจะแก้ไขได้บ้างแล้ว

เมื่อเริ่มรู้ทัน การที่จิตไปสร้าง ภพของนักปฏิบัติขึ้นมา

แทนที่จะ รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง

มีเรื่องขำๆ เรื่องหนึ่งคือน้องคนหนึ่งจิตติดอารมณ์ภายในอยู่

ผมก็แนะนำว่า ให้ดูให้รู้ว่ากำลังติดอยู่

ถ้ารู้แล้วจะได้กลับออกมาอยู่ข้างนอก

และแทนที่จะเพ่งเข้าไปข้างใน

ให้พยายามรู้ตัวออกไปยังภายนอก ออกไปสัมผัสสิ่งแวดล้อมให้ดี

จิตที่ติดอยู่ข้างในจะได้หลุดออกมา

น้องคนนั้นฟังแล้วกลุ้มใจมาก เพราะคิดว่าผมสอนให้ส่งจิตออกนอก

ยังดีว่าสงสัยแล้วถามผมเสียก่อน

ไม่นำไปเล่าถวายครูบาอาจารย์ ว่าผมสอนให้ส่งจิตออกนอก

มิฉะนั้น ถ้าท่านพบผม ท่านคงทุบผมตกกุฏิเลย

 

ความจริงการที่หลงสร้างอารมณ์ออกมาอันหนึ่ง

แล้วตนเองเข้าไปติดอยู่ภายในนั้น

ก็เป็นการส่งจิตออกนอกแล้ว คือออกไปนอกจาก รู้

ผมพยายามแก้การส่งจิตออกไปสร้างภพโดยไม่รู้ตัวให้

ไม่ได้ปรารถนาจะให้หัด ส่งจิตออกนอก แต่อย่างใด

 

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่พวกเราส่วนน้อยเป็นกัน

ได้แก่การหลงตามอาการของจิต

เช่นหลงในนิมิต แสง สี เสียง ต่างๆ

หรือหลงในการกระตุกของร่างกาย ฯลฯ

พอเกิดอาการขึ้น บางคนก็ยินดี บางคนก็ยินร้าย

ต้องคอยปลอบคอยแนะให้หันมาสังเกตรู้ความยินดียินร้ายของจิต

จนจิตเข้าถึงความเป็นกลางเอง

แทนการไปเพ่งใส่อาการต่างๆ เหล่านั้น

และมีราคะ โทสะ หรือโมหะ ครอบงำโดยไม่รู้ตัว

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 120 times, 1 visits today)

Comments are closed.