แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป (จบ)
๕. การป้องกันความผิดพลาดในการภาวนา
การปฏิบัตินั้น ถ้าจะป้องกันความผิดพลาด
ก็ควรจับหลักให้แม่นๆ ว่า
“เราปฏิบัติเพื่อรู้ทันกิเลสตัณหา ที่คอยแต่จะครอบงำจิตใจ
ปฏิบัติไปจนจิตฉลาด พ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหา”
ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อสิ่งอื่น
หากปฏิบัติโดยแฝงสิ่งอื่นเข้าไป
เช่นความอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากเด่น อยากดัง อยากหลุดพ้น
โอกาสพลาดก็มีสูง เพราะจิตมักจะสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา
แทนที่จะรู้ทุกอย่างตามความเป็นจริง
แล้วก็ควรสังเกตจิตใจตนเองไว้บ้าง
หากรู้สึกว่า จิตใจเกิดความหนักที่แตกต่างหรือแปลกแยกจากธรรมชาติแวดล้อม
ก็แสดงว่าจิตไปหลงยึดอะไรเข้าให้แล้ว
เพราะโดยธรรมชาติของสิ่งภายในภายนอกนั้น มันไม่มีน้ำหนักอะไรเลย
ที่มีน้ำหนักขึ้นมา ก็เพราะเราไปแบกไปถือไว้เท่านั้นเอง
ลองสังเกตดูตอนนี้ก็ได้ครับ
ลองทำใจให้สบายๆ สังเกตไปยังสิ่งแวดล้อมภายนอก
เช่นอาคารบ้านเรือน โต๊ะเก้าอี้ ต้นหมากรากไม้
จะเห็นว่า สิ่งภายนอกนั้นโปร่ง เบา ไม่มีน้ำหนัก
เพราะเราไม่ได้เข้าไปแบกหามเอาไว้
ส่วนจิตใจของเรานั้น มองย้อนเข้ามาจะเห็นว่ามันหนักมากบ้างน้อยบ้าง
ถ้ายึดมากก็หนักมาก ยึดน้อยก็หนักน้อย
มันยังแปลกแยกออกจากธรรมชาติ ธรรมดา
สิ่งที่แปลกแยกนั่นแหละครับ
คือส่วนเกินที่เราหลงสร้างขึ้นมาโดยรู้ไม่เท่าทันมายาของกิเลส
เมื่อรู้แล้ว ก็สังเกตจิตตนเองต่อไปว่า
มันยินดียินร้ายต่อสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามานั้นหรือไม่
แล้วก็รู้เรื่อยไป จนจิตเป็นกลางต่ออารมณ์ทั้งปวง
ธรรมชาติภายใน กับธรรมชาติภายนอกก็จะเสมอกัน
คือไม่มีน้ำหนักให้ต้องแบกหามต่อไป
พระศาสดาทรงสอนว่า ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนัก
บุคคลแบกของหนักพาไป เขาย่อมไม่พบความสุขเลย
คำสอนของพระองค์นั้น คำไหนก็เป็นคำนั้น
ขันธ์เป็นของหนักจริงๆ สำหรับคนที่มีตาที่จะดูออกได้
โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)
เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2543
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่