Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ทิฎฐิกับอุปาทานของพระอนาคามี


ทิฎฐิกับอุปาทานของพระอนาคามี

ปกติเมื่อพูดถึงคำว่า ทิฏฐิ

ในตำรามักจะหมายถึง มิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิด เท่านั้น

ไม่ได้แปลว่า ความเห็น ที่ครอบคลุมถึงความเห็นในทุกๆ เรื่อง

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนเราฆ่ากันได้เพราะขัดแย้งในเรื่องทิฏฐิทุกๆ เรื่อง

เช่นสามีอยากจะไปตีเทนนิส ภรรยาอยากจะไปตีแบดมินตัน

แต่ลงท้ายทั้งสองคนก็ตีกันเอง เพราะมีความเห็นขัดแย้งกัน

แล้วต่างคนต่างก็ยืดหยัดยึดมั่นในความเห็นของตน

 

เพื่อนบางท่านอาจจะงงๆ ว่าถ้าเราไม่มีความเห็นเสียเลย จะดีหรือ

ขอเรียนว่า จิตเขาย่อมมีความคิดและความเห็นเกิดขึ้นได้เสมอ

ไม่ใช่จะห้ามไม่ให้ผู้ปฏิบัติมีความคิดและความเห็น

เพียงแต่อย่าไปยึดมั่นในความเห็นของตนมากนัก เพราะตนเองจะเป็นทุกข์เอง

 

บางท่านอาจจะคิดต่อไปว่า ถ้าไม่ให้ยึดมั่นในความเห็น

ก็แสดงว่าชาวพุทธต้องไม่มีอุดมการณ์

เพราะอุดมการณ์คือความเห็นว่าสิ่งนี้ดี สมควรทำ หรือสมควรไปให้ถึง

ในจุดนี้ขอเรียนว่า ชาวพุทธมีอุดมการณ์ได้

หากพิจารณาโดยถ่องแท้ด้วยเหตุผลแล้ว

เห็นว่าสิ่งนี้ควรทำเพราะเป็นประโยชน์ต่อตน และ/หรือ ผู้อื่น

 

แต่ในการทำนั้น ก็ไม่ได้ยึดมั่นในอุดมการณ์จนลืมศีล 5

หรือถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

และหากทำไปเต็มที่แล้ว ได้ผลเพียงใดก็ยอมรับเพียงนั้น

ไม่ทุกข์ร้อนเพราะแรงยึดมั่นในอุดมการณ์

 

เมื่อพูดถึงความยึดมั่นในความเห็นแล้ว

ก็ขอแจกแจงถึงความยึดมั่นทั้ง 4 ประการเสียเลย

ตัวอุปาทานนั้น พระศาสดาทรงแจกแจงไว้ 4 ประการคือ

กามุปาทาน คือความยึดมั่นในกาม

ทิฏฐุปาทาน คือความยึดมั่นในความเห็น

สีลัพพตุปาทาน คือความยึดมั่นในศีลพรต

อัตตวาทุปาทาน คือความยึดมั่นในวาทะว่าเป็นตัวตน

เราจะเห็นว่า ทั้ง 4 ประการนี้ครอบคลุมสิ่งที่คนเรายึดมั่นไว้หมดแล้ว

 

ทีนี้ตำรารุ่นหลังท่านก็มาอธิบายต่อว่า

พระโสดาบัน ละ ทิฏฐุปาทานได้  เพราะไม่มีความเห็นผิดอีกแล้ว

ละ สีลัพพตุปาทาน คือความยึดมั่นในการถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างผิดๆ

และละ อัตตวาทุปาทาน คือการมีวาทะ(ทัศนะ)ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวตน

ส่วนกามนั้น ใครๆ ก็ทราบว่า พระอนาคามีท่านละกามได้

แต่ถ้าระบุว่า พระอนาคามีท่านละ กามุปาทาน ได้

แล้วจะเหลืออุปาทานอะไรให้ผู้เจริญอรหัตตมรรค ละกัน

 

ตำราก็เลยตีความใหม่ว่า กามุปาทาน ไม่ได้หมายถึงกามราคะเท่านั้น

แต่รวมถึงรูปราคะ และอรูปราคะเข้าไปด้วย

ดังนั้น พระอนาคามี ก็ยังมี กามุปาทาน ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์จึงละได้

 

ตำรารุ่นหลังเกิดจากการตีความของนักปราชญ์นั่นแหละครับ

เราควรรับฟังไว้ประกอบความรู้

แต่ในส่วนของผมเองแล้ว กลับเห็น(ความเห็นส่วนตัวนะครับ)ว่า

ท่านผู้เจริญอรหัตมรรค ท่านยังมีอุปาทานหลายอย่าง

(ผมหมายถึงพระอนาคามี ผู้กำลังพากเพียรเพื่อละสังโยชน์เบื้องสูงครับ ไม่ได้หมายถึงท่านผู้ได้ อรหัตตมัคคญาณ นะครับ เพราะแบบหลังนี้เพียงวับเดียวก็ถึงอรหัตตผลแล้ว)

จะเรียกว่าอุปาทานชนิดไหนก็แล้วแต่เถิด

แต่ไม่ใช่มีอุปาทานเฉพาะ กามุปาทาน แน่ๆ

เว้นแต่จะขยายการตีความคำว่า กามุปาทาน ออกไปให้กว้างสุดขีด

 

เช่นท่านยังยึดในความสุขสงบ ด้วยอำนาจกระตุ้นของรูปราคะและอรูปราคะ

ท่านยังยึดในความเห็นในทางดี ด้วยอำนาจกระตุ้นของอุทธัจจะ

เช่นเห็นว่า การทำทาน รักษาศีลเจริญภาวนา เป็นสิ่งที่ดี

หรือนิพพานเป็นของดีที่จะต้องพยายามไปให้ถึง

ที่สำคัญคือ ท่านยังยึดถือจิต ด้วยอำนาจกระตุ้นของมานะและอวิชชา

และจะต้องพยายามทำจิตให้หลุดพ้นให้ได้

 

ถ้าเอาของจริงๆ มาพูดกันก็มีปัญหาน้อยครับ

แต่ถ้ากางตำราเถียงกัน ก็อดมีความยึดในทิฏฐิ ไม่ได้หรอกครับ

พอยึดแล้วก็จะร้อน และเกิดก้อนแน่นๆ ที่หน้าอก

หาความสบายใดๆ ไม่ได้เลย

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 403 times, 4 visits today)

Comments are closed.