Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : หัวใจของการปฏิบัติตามสายหลวงพ่อเทียน


หัวใจของการปฏิบัติตามสายหลวงพ่อเทียน

ครูบาอาจารย์ที่พวกเรารู้จักและเคารพนับถือ

ส่วนมากจะเป็นพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ

ซึ่งหลักคำสอนของท่านจะเริ่มโดยให้บริกรรมพุทโธ

พอจิตสงบแล้วจึงเจริญกายคตาสติ

แล้วในขั้นสุดท้ายจึงข้ามภพข้ามชาติกันด้วยการพิจารณาจิต พิจารณาธรรม

(มีบ้างส่วนน้อย ที่ครูบาอาจารย์สายนี้บางองค์

ปรับวิธีการปฏิบัติแตกต่างจากแนวทางหลักนี้ไปบ้าง

เช่นหลวงปู่ดูลย์ จะสอนศิษย์บางท่านให้ข้ามการเจริญกายคตาสติไปเลย

หรือหลวงพ่อทูล ไม่นิยมให้ศิษย์บริกรรมพุทโธ เป็นต้น)

 

ที่จริงท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงพระป่าสายหลวงปู่มั่น

ยังมีท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในสายอื่นๆ อยู่อีก

เท่าที่ผมทราบแนวทางปฏิบัติของท่านก็เช่น

ท่าน ก.เขาสวนหลวง และหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ แห่งวัดสนามใน เป็นต้น

หลวงพ่อเทียนนั้น แรกเริ่มที่ปฏิบัติ ท่านก็บริกรรมพุทโธเหมือนกัน

แต่ไม่ประสบความสำเร็จใดๆ เลย เพราะไม่ถูกจริตของท่าน

ต่อมาท่านประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม

ด้วยการเคลื่อนไหวกายอย่างเป็นจังหวะ เพื่อสร้าง ความรู้สึกตัว

คือ “ให้รู้สึกตัว…ตื่นตัว รู้สึกใจ…ตื่นใจ”

จนกระทั่งเกิดญาน ปัญญาเป็นลำดับไปจนถึงที่สุด

ผมขอเสริมคำสอนของหลวงพ่อเทียนสักเล็กน้อยครับ

 

ประการแรก หัวใจของการปฏิบัติตามแนวทางของท่าน

คือการเจริญสติ ระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของกาย

จะเคลื่อนแบบทำจังหวะก็ได้

จะรู้อยู่ในชีวิตประจำวันก็ได้

รวมตลอดไปถึงการรู้ความรู้สึกนึกคิดด้วย

 

ประการที่ 2 ท่านให้รู้ความเคลื่อนไหว โดยไม่ต้องใช้ความคิดกำกับลงไป

เช่นจะเดินก็ไม่ต้องกำหนดคิดว่า ยกหนอ ย่างหนอ

 

ประการที่ 3 ท่านเน้นเรื่องความต่อเนื่อง

ถ้าทำต่อเนื่องก็ได้ผล ทำไม่ต่อเนื่องก็ไม่ได้ผล

 

ประการที่ 4 ท่านไม่เน้นเรื่องการทำความสงบ

ซึ่งจุดนี้มีข้อถกเถียงกันได้มากเหมือนกันครับ

เพราะผู้ทำความสงบก่อน แล้วเจริญสติได้ผล ก็มี

ที่เจริญสติไปเลย แล้วเกิดความสงบทีหลัง ก็มี

อันนี้คงต้องสังเกตตนเองเอาเอง

ว่าทำอย่างใดแล้วสติสัมปชัญญะดีขึ้น ก็เอาอย่างนั้นแหละ

 

ประเด็นสุดท้าย อันนี้ไม่ได้เสริมคำสอนของหลวงพ่อ

แต่เป็นข้อสังเกตว่า คำสอนเรื่องความรู้ตัว เป็นสิ่งที่เข้าใจยากมาก

นักปฏิบัติจำนวนมาก ไปกำหนดรู้อารมณ์ในขณะที่จิตกำลังหลง กำลังเคลื่อน กำลังฝัน

แต่หลงคิดว่า กำลังรู้ตัวอยู่

แม้จะขยับมือตามจังหวะ ก็หลงอยู่กับความคิดเรื่องการเคลื่อนไหวมือบ้าง

หรือจิตเคลื่อนเข้าไปเพ่ง/แช่ อยู่กับมือบ้าง

ปัญหาเกี่ยวกับการทำความรู้จักกับ ความรู้ตัว

จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับนักปฏิบัติทั้งหลาย

 

หากผู้ปฏิบัติมีความรู้ตัวขึ้นเมื่อใด

รูป เวทนา สัญญา และสังขาร จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้

และไม่ใช่ตัวเราในทันทีนั้น

และในระหว่างที่รู้ตัวอยู่นั้น

ก็จะเห็นความเจริญและความเสื่อมของจิตอยู่เสมอ

เป็นการป้อนข้อมูลที่เป็นจริงให้จิตได้เรียนรู้

สวนทางกับความหลงผิดเก่าๆ ของจิต

ที่เห็นว่าขันธ์ 5 เป็นเรา เราเป็นขันธ์ 5

 

เมื่อจิตได้เห็นความจริงมากเข้าๆ จนยอมจำนนต่อข้อเท็จจริงแล้ว

จิตจึงจะยอมรับความจริงว่า

สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ดับไป

และไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ที่จะเป็นตัวเรา ของเรา อย่างแท้จริง

 ปราศจากความรู้ตัว ผู้ปฏิบัติจะเข้ามาถึงจุดที่ว่านี้ไม่ได้เลย

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พุธ ที่ 31 พฤษภาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 691 times, 1 visits today)

Comments are closed.