Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การบรรลุธรรมของพระอานนท์


การบรรลุธรรมของพระอานนท์

คนที่พยายามเลียนแบบท่านพระอานนท์ ด้วยการเอนนอนโดยหวังมรรคผล

ทำให้ผมนึกขึ้นได้ เพราะเคยได้ยินเรื่องทำนองนี้บ่อยๆ ในหมู่ผู้ปฏิบัติ

เช่นบางท่านได้ยินว่า ครูบาอาจารย์แก้การนั่งหลับในด้วยการไปนั่งริมหน้าผา

ก็เลยเลียนแบบ แต่ย้ายจากริมหน้าผาซึ่งหายาก ไปนั่งริมระเบียงกุฏิแทน

ผลก็คือหลับแล้วตกระเบียงกุฏิ

บางท่านได้ยินว่า คนนั้นคนนี้ไปนั่งในถ้ำที่ผีดุแล้วภาวนาดี ก็เอาบ้าง

ปรากฏว่าภาวนาได้ไม่ดี

ทั้งนี้ก็เพราะเป็นการปฏิบัติแบบมีมารยาสาไถย คิดที่จะจัดฉากเลียนแบบดารา

เมื่อมีความจงใจอย่างนั้น ความจงใจนั้นแหละปิดกั้นความเป็นธรรมดาของจิต

จึงไม่สามารถเจริญวิปัสสนา คือการรู้สภาวธรรมอันเป็นปัจจุบันตามความเป็นจริงได้

 

การปฏิบัติในขั้นแตกหักนั้น ต้องเจริญสติให้ต่อเนื่องไว้

พยายามอย่าให้ขาดวรรคขาดตอน

ผมเองเคยได้ยินตำรากล่าวเรื่องพระอานนท์บรรลุธรรมบ่อยๆ

ส่วนมากจะระบุว่า ท่านพยายามอย่างเต็มที่แล้ว ไม่สำเร็จ

จึงปล่อยวางการปฏิบัติ เอนกายลงนอน เลิกปฏิบัติเพื่อพักผ่อน

ตรงนี้ก็เคยสงสัยเสมอมาเหมือนกัน ว่าจริงอย่างที่กล่าวกันนั้นหรือไม่

เพราะจิตในขั้นที่เป็นมหาสตินั้น จงใจเลิกปฏิบัติได้เสียที่ไหนกัน

และเมื่ออ่านพระไตรปิฎก ก็ไม่เห็นมีตรงไหนบอกว่า

ท่านเลิกปฏิบัติในขณะที่เอนกายลงนอน

หากแต่ท่าน รู้ อริยาบถที่กำลังเอนลงนอนอย่างละเอียด

ซึ่งก็คือการเจริญกายคตาสติที่ยังไม่ขาดตอนนั่นเอง

ขอให้พิจารณาข้อความต่อไปนี้ดูนะครับ

[617] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม

 ข้อที่เรายังเป็นเสกขบุคคลอยู่จะพึงไปสู่ที่ประชุมนั้น ไม่ควรแก่เรา

 จึงยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วย กายคตาสติ

 ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรีจึง เอนกาย ด้วยตั้งใจว่า จักนอน

แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น

 ในระหว่างนั้น จิตได้หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น

 ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เป็นพระอรหันต์ได้ไปสู่ที่ประชุม ฯ

[พระวินัยปิฎก  เล่ม  7  จุลวรรคภาค  2  ขันธกะ ]

จะเห็นว่า ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่า

ท่านยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ

ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี จึงหยุดเจริญสติ แล้วเอนกายลงนอน

หากแต่ท่านเอนกายลงนอนด้วยความรู้เท่าทันตลอดว่าจะนอน

 

จุดที่น่าสังเกตอีกจุดหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าจะหาคำตอบจากพระไตรปิฎกไม่ได้

ก็คือตรงที่ระบุว่า ท่านใช้เวลาส่วนมากกับการเจริญกายคตาสติ

ก็แล้วเวลาส่วนน้อยที่เหลือ ท่านใช้ไปกับอะไร?

 

พระไตรปิฎกนั้น มีเหตุมีผล มีประเด็นน่าสนุกสนานให้พิจารณาไตร่ตรอง

เพียงแต่อย่าอ่านแบบข้ามๆ

ไม่เจริญปัญญาเพราะถูกความเชื่อตามๆ กันมาปิดกั้นปัญญาเสียแล้ว

ถ้าอ่านอย่างคนมีปัญญา ก็จะได้แง่มุมเพื่อการปฏิบัติอีกมากมายทีเดียว

 ใครอยากทราบคำตอบ

ขอให้ลองเจริญกายคตาสติแบบใดก็ได้ดูเอาเอง

แล้วจะทราบแก่ใจเองว่า

อะไรที่เข้ามาแทรกการเจริญกายคตาสติอยู่เป็นระยะๆ ในช่วงสั้นๆ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พฤหัสบดี ที่ 11 พฤศจิกายน 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 1,527 times, 1 visits today)

Comments are closed.