ธรรมะจากชาดก
เรื่องชาดกซึ่งรวมถึงทศชาติ เช่นเรื่องพระมหาชนก และพระเวสสันดรนั้น
คนสมัยนี้ฟังแล้วไม่ค่อยเลื่อมใสศรัทธา หรืออาจจะนึกดูถูกเสียด้วยซ้ำไป
เพราะเห็นว่าจริยาวัตรของพระโพธิสัตว์ไม่ถูกต้อง
เช่นการยกลูกเมียให้เป็นทาน เพื่อแลกกับโพธิญาณ
หรือการว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรถึง 7 วัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
เราลืมนึกถึงข้อเท็จจริงไปหลายอย่าง
เช่นวัฒนธรรมของคนโบราณ ที่ลูกและเมียคือทรัพย์สินของพ่อแม่และสามี
ซึ่งคนในยุคที่ผู้หญิงกับผู้ชายเท่าเทียมกัน ยอมรับไม่ได้
และเราเอากำลังกายมาตรฐานของมนุษย์ยุคนี้ ไปประเมินพระมหาชนก
ทั้งที่ไม่ทราบแน่ชัดว่า พระมหาชนกนั้น เป็นมนุษย์สายพันธุ์เดียวกับเราหรือไม่
แล้วก็สรุปว่า เรื่องพระมหาชนก เป็นไปไม่ได้
หากมองในแง่ภาษาคน-ภาษาธรรมตามทัศนะของท่านพุทธทาส
เรื่องราวของชาดกจะน่าฟังอย่างยิ่ง
เช่นถ้าไม่มีจิตใจมั่นคง ถึงขนาดปล่อยวางความผูกพันในลูกเมีย
หรือไม่มีความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ไม่ย่อท้อในสิ่งที่คนทั่วไปยอมจำนน
ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงสุดได้
ผมเองไม่รู้สภาพจิตใจของท่านผู้บรรลุธรรมขั้นสูง
ไม่ต้องถึงขั้นพระพุทธเจ้าหรอก
กระทั่งระดับพระอรหันตสาวก ผมก็ประเมินไม่ถูกแล้ว
แต่เวลาอ่านเรื่องพระมหาชนกแล้ว ผมรู้สึกเห็นจริงเห็นจังมาก
เพราะเห็นว่า คนเรานี้ไม่ต่างอะไรกับคนที่กำลังลอยคออยู่กลางทะเล
คนส่วนมาก ไม่มีหวังว่าจะขึ้นฝั่งได้
ก็เอาแต่แหวกว่ายตามๆ กันไป แล้วก็จมน้ำตามๆ กันไป
มีส่วนน้อยที่มีโอกาสได้สดับคำสอนของพระอริยะเจ้า
ที่ท่านพยายามร้องบอกว่า ฝั่งอยู่ทางไหน
ผู้มีศรัทธา ก็พยายามว่ายน้ำไปตามทางที่ท่านบอก
ตรงนี้ ท่านเปรียบเทียบไว้น่าฟังมากว่า
พระโสดาบันนั้น เหมือนคนที่เริ่มมองเห็นฝั่งด้วยตนเองแล้ว
ท่านเหล่านี้หมดความสงสัยในพระรัตนตรัย
เพราะรู้แน่แล้วว่า ท่านผู้ค้นพบฝั่งก่อนหน้านั้น หรือพระพุทธเจ้ามีอยู่แน่ๆ
ฝั่ง คือธรรม ก็มีอยู่แน่ๆ
ผู้ว่ายน้ำไปตามทางนี้ก่อนหน้าเรา คือพระสาวกทั้งหลาย ก็มีอยู่แน่ๆ
เขาย่อมตั้งใจจะว่ายเข้าหาฝั่ง แม้ใครจะชวนให้ว่ายไปทางอื่น ก็ไม่ไปแล้ว
เป็นผู้มีศรัทธาตั้งมั่นไม่คลอนแคลนแสวงหาบุญญเขตนอกพระศาสนา
และไม่หลงงมงาย ว่าทางพ้นทุกข์อยู่ที่อื่น
พระสกิทาคามีนั้น คือผู้แหวกว่ายต่อไปจนเข้าเขตน้ำตื้น
คลื่นลมของกิเลสตัณหาอ่อนกำลังลง
ไม่เหน็ดเหนื่อยทุกข์ยากกับการปฏิบัติเท่าเมื่อก่อน
พระอนาคามีนั้น ท่านเปรียบเทียบได้กับผู้ที่เข้าถึงน้ำตื้น สามารถยืนทรงตัวได้มั่นคง
คือผู้มีความแน่นอนว่า จะไม่ถูกคลื่นซัดกลับลงทะเลอีก
หมายถึงผู้ไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก
ส่วนพระอรหันต์คือผู้รอดแล้ว ขึ้นถึงฝั่งแล้ว หมดธุระแล้ว
เวลาเราปฏิบัติไปตามลำดับ เราจะรู้สึกตรงกับคำเปรียบเทียบนี้ ไม่มีผิดเลย
และรู้สึกเห็นภาพของพระมหาชนก (ที่ท่านว่ายน้ำนำไปก่อนแล้ว)
ได้อย่างชัดเจนทีเดียว
โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)
เมื่อ วัน อาทิตย์ ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2543
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่