mp 3 (for download) : จิตปรุงแต่งไม่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่เราไปปรุงแต่งต่อ
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
จิตปรุงแต่งไม่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่เราไปปรุงแต่งต่อ
โยม: ช่วงนี้ก็หลงเยอะ แล้วก็นานด้วย แล้วก็จิต จิตแกว่งง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิ บวกขี้เกียจ แล้วพอจะรู้ตัวขึ้นมา เหมือนจะรู้นิดนึง ก็จะพยามข่มไว้นิดๆ
หลวงพ่อปราโมทย์: ดีนะ ดีที่รู้ว่า มันทำยังไง ดีที่รู้ว่าไปทำอะไรมัน สังเกตมั้ย มี ๒ อันนะ อันหนึ่งจิตมันทำงานไปนะ มันปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ไป อันนี้อันหนึ่ง อีกอันคือเราเข้าไปทำมัน เช่น เราเข้าไปข่มมันไว้ เราคล้อยตามมันไป
ตรงที่จิตปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ไม่มีปัญหานะ ยังไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ตรงที่พอเราไปรู้มันแล้ว ใจเราไปทำงานเข้า ไปปรุงต่อเข้าไปอีก ปัญหาไปอยู่ตรงนั้นเอง
อย่างความโกรธเกิดขึ้นนะ จิตมันจะโกรธ ห้ามมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่มีหน้าที่ไปห้าม พอความโกรธเกิดขึ้นแล้วอยากให้หาย พออยากให้หายเนี่ย หาทางแก้ไขความโกรธ ตัวนี้เป็นปัญหาล่ะ นี่คือความปรุงแต่ง ปรุงแต่งใหม่ เป็นกรรมใหม่
ตรงที่จิตมันโกรธขึ้นมา มันโกรธไปตามความเคยชินเดิมๆ ของมัน มันเคยโกรธ มันก็โกรธ พอมันโกรธขึ้นมา ใจเราไม่ชอบมัน หาทางแก้ ตรงที่ใจหาทางแก้หาทางทำนี่ล่ะ เป็นกรรมใหม่ ตรงนี้ต้องรู้ทันนะ ถ้ารู้ไม่ทันความทุกข์จะเกิด ใจจะแน่นขึ้นมา
เพราะฉะนั้น ถ้าสภาวะใดๆ เกิดขึ้นเนี่ยไม่ใช่ปัญหา ภาวะใดๆ เกิดขึ้นนะ เราสักว่ารู้สักว่าเห็นได้นี่ใช้ได้เลย ถ้าสภาวะใดๆ เกิดขึ้นเราไม่เข้าใจ เราพยามเข้าไปแทรกแซงแก้ไข อันนี้ใช้ไม่ได้ ที่ใช้ไม่ได้ ไม่ใด้ใช้ไม่ได้ตรงที่มีสภาวะเกิดขึ้นนะ ใช้ไม่ได้ตรงที่เข้าไปแทรกแซง ไปคล้อยตามบ้าง ไปต่อต้านบ้าง
สภาวะใดๆ เกิดขึ้นนะ ปล่อยให้เขาเกิดขึ้น ขันธ์ ๕ เนี่ยเป็น ‘สังขตธรรม’ เป็นธรรมะฝ่ายปรุงแต่งนะ เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ ต้องปรุงแต่งไปเรื่อยๆ เราไม่ได้ไปห้ามมัน อย่างจิตมีหน้าที่คิดนะ ก็คิดทั้งวันทั้งคืน ไม่ต้องไปห้ามมัน แต่พอคิดแล้วเกิดสุขเกิดทุกข์เกิดดีเกิดชั่ว เราก็ไม่ต้องไปห้ามมัน เพราะว่ามันต้องเกิด มันมีเหตุ มันไปคิดอย่างนี้เข้า มันไปกระทบอารมณ์อย่างนี้เข้า มันมีนิสัยเคยขี้โมโห มันก็เลยโมโหขึ้นมา อันนี้ห้ามไม่ได้
พอมันโกรธขึ้นมาแล้วเราไม่ชอบความโกรธ ตรงนี้ปัญหาอยู่ตรงนี้ล่ะ ตรงที่เราพอใจ เราไม่พอใจ ต่อสภาวะนั้น พอเราพอใจเราก็หาทางรักษา เราไม่พอใจเราก็หาทางผลักหาทางทำลายแก้ไขมันออกไป ตรงที่เราทำงานขึ้นมานี้แหละ เรียกว่าเราสร้างกรรมใหม่ เราสร้างภพอันใหม่ขึ้นมา จิตจะมีความทุกข์เกิดขึ้นทันทีเลย
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นสภาวธรรม เห็นรูปเห็นนาม เห็นกายเห็นใจ เขาปรุงของเขาไปเรื่อยนะ เราไม่ปรุงอะไรเราไม่ทุกข์นะ ขันธ์ต่างหากล่ะมันเป็นตัวทุกข์ มันก็ทุกข์ มันก็ทำงาน ดิ้นรนของมันตามหน้าที่ของมัน เพราะเป็นธรรมะฝ่ายปรุงแต่ง เป็นสังขตธรรม เราห้ามมันไม่ได้ มันก็ปรุงของมันไปเรื่อยๆ เราไม่เกี่ยวข้องนี้เราไม่ทุกข์นะ
แต่พอเรายินดียินร้ายกับมันขึ้นมา มันปรุงอย่างนี้เราชอบ มันปรุงอย่างนี้เราไม่ชอบ ไปยินดียินร้ายขึ้นมาเนี่ย ใจก็ดิ้นรน ใจก็มีความทุกข์ ให้คอยรู้เรื่อยๆ ง่ายๆ
จิตจะมีความสุขก็ได้ จิตจะมีความทุกข์ก็ได้ จิตจะเป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน เมื่อไหร่เข้าไปยุ่งเมื่อนั้นก็จะมีความทุกข์อันใหม่เกิดขึ้น จิตใจมีความทุกข์ขึ้นมา ตัวนี้คือตัวที่เราต้องรู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันเราจะปรุงทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นมา ขันธ์ ๕ ก็เป็นทุกข์โดยตัวของมันเองอยู่แล้ว มันต้องดิ้นรนไปเรื่อยๆ ปรุงแต่งไปเรื่อยๆ เพราะมันเป็นตัวทุกข์น่ะ ต้องดิ้นรนปรุงแต่งไปเรื่อยๆ แต่เราไม่พอใจขึ้นมา เราพอใจขึ้นมา ใจเราปรุงแต่งซ้อนขึ้นมาอีกที คราวนี้เราจะทุกข์แล้ว
ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์ก็ปรุงแต่งนะ ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์ไม่ปรุงแต่ง ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์ปรุงแต่ง แต่จิตของพระอรหันต์นั้นไม่มีอะไรปรุงแต่งได้เลย ด้วยเหตุขันธ์มันทำงานไปโดยจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่มีอะไรปรุงแต่งจิต ไม่ทำงานต่อ ที่เรียกบอกว่า หมด หมดกิจแล้ว จบกิจแล้ว คือใจไม่ต้องทำงานแล้ว เห็นแต่ขันธ์มันทำงาน ใจไม่ต้องทำอะไร ขันธ์ก็ทำงานไปตามหน้าที่ของขันธ์ จนวันหนึ่งก็สิ้นขันธ์ ตรงที่ใจมันพรากออกจากขันธ์ จิตมันพรากออกจากขันธ์ ขันธ์ไม่กระเทือนเข้าถึงจิต เรียกว่า ‘สอุปาทิเสสนิพพาน’ จิตถึงสอุปาทิเสสนิพพาน ตรงที่สิ้นขันธ์ไปแล้ว อันนี้เรียก ‘อนุปาทิเสสนิพพาน’
ค่อยๆ ฝึกนะ เราไม่ได้ฝึกเพื่อให้ขันธ์ผิดปกตินะ บางคนพยายามฝึกให้ขันธ์ผิดปกติ เช่น ไม่ให้คิดนะ ไม่ให้คิด ไม่ให้โลภ ไม่ให้โกรธ ไม่ให้หลง เนี่ยฝึกให้ขันธ์ผิดปกติ ให้มันคิดไป ให้มันโลภ ให้มันโกรธ ให้มันหลงไป แล้วตามรู้มันไป ตามรู้แล้วอย่าไปหลงยินดีกับมัน อย่าไปหลงยินร้ายกับมัน
สวนสันติธรรม
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๑๙
Track: ๖
File: 500106.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๒๘ วินาทีที่ ๒๕ ถึง นาทีที่ ๓๓ วินาทีที่ ๒๑
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่