Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

ให้เรียนรู้ของที่แปรปรวน เพื่อวันหนึ่งจะพบสิ่งที่ไม่แปรปรวน

mp 3 (for download) : ให้เรียนรู้ของที่แปรปรวน เพื่อวันหนึ่งจะพบสิ่งที่ไม่แปรปรวน

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณ ตากล้อง ข้างธรรมาสน์

หลวงพ่อปราโมทย์ : งั้นเฝ้ารู้นะ การเจริญปัญญาเนี่ย ก็คือการที่คอยรู้สภาวะทั้งหลาย ที่เป็นรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย จะเป็นร่างกายนี้ เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า เห็นร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนอน ร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด ร่างกายกินอาหาร ร่างกายขับถ่าย เห็นร่างกายมันทำงานไป มีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่ความทุกข์บีบคั้น ร่างกายเป็นแค่วัตถุธาตุ ไม่ใช่ตัวใช่ตน ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา นี่เดินปัญญาดูกาย

เดินปัญญาดูจิตดูใจ ก็เห็นเลยสุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง กุศลก็ไม่เที่ยงอกุศลก็ไม่เที่ยง ตัวจิตเองก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวเป็นจิตดู เดี๋ยวเป็นจิตฟัง เดี๋ยวเป็นจิตคิด เห็นแต่ของที่แปรปรวนตลอดเวลา ให้เราเรียนรู้ของที่แปรปรวนนะ แล้ววันนึงเราจะพบสิ่งซึ่งไม่แปรปรวน คือพระนิพพาน

วันใดที่จิตปล่อยวางความยึดถือในรูปธรรมนามธรรมนะ นิพพานจะปรากฎขึ้นต่อหน้าต่อตา


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่ สวนสันติธรรม
เมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๑๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ ก่อนฉันเช้า

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๔
File: 550212A
ระหว่างนาทีที่ ๑๗ วินาทีที่  ๒๑ ถึง นาทีที่ ๑๘ วินาทีที่ ๓๐

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ เพราะสุขและทุกข์ต่างก็แสดงไตรลักษณ์เหมือนๆ กัน

mp 3 (for download) : สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ เพราะสุขและทุกข์ต่างก็แสดงไตรลักษณ์เหมือนๆ กัน

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

เอื้อเฟื้อภาพโดย ชมรมสารธรรมล้านนา

หลวงพ่อปราโมทย์ : งั้นจะเป็นพระโสดาฯก็ดี เป็นพระอรหันต์ก็ดี อยู่ที่การเจริญปัญญา มาเรียนรู้สภาวะที่เกิดดับ จะเป็นสภาวะของรูปธรรมก็ได้ สภาวะของนามธรรมก็ได้ เพราะทั้งรูปธรรมและนามธรรมก็แสดงสิ่งเดียวกัน จะเป็นสภาวะของความสุขก็ได้ จะเป็นสภาวะของความทุกข์ก็ได้ เพราะความสุขและความทุกข์ก็แสดงลักษณะอันเดียวกัน คือ แสดงสามัญลักษณะเหมือนๆกัน จะเป็นกุศลก็ได้ จะเป็นอกุศลก็ได้ เพราะกุศลและอกุศลก็แสดงไตรลักษณ์เหมือนกัน สามัญลักษณะเหมือนกัน

ใจมันจะเกิดความเป็นกลางขึ้น มันจะเห็นเลย สุขก็เท่านั้นแหละ ทุกข์ก็เท่านั้นแหละ กุศลก็เท่านั้นแหละ อกุศลก็เท่านั้นแหละ ร่างกายนี้ก็เท่านั้นแหละ ใจจะหมดความยินดี หมดความยินร้าย ถ้าจิตเราไม่ได้ฝึกสติปัญญาให้พอนะ มีความสุขขึ้นมาก็ยินดี มีความทุกข์ขึ้นมาก็ยินร้าย มีกุศลขึ้นมาก็ยินดี มีอกุศลขึ้นมาก็ยินร้าย

แต่ถ้าเห็นว่าความสุขก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็หมดความยินดีในความสุข เห็นความทุกข์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็หมดความยินร้ายในความทุกข์ เห็นกุศลไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นะ ก็หมดความยินดีในกุศล เห็นอกุศลไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หมดความยินร้ายในอกุศล จิตเข้าไปสู่ความเป็นกลาง กลางระหว่างสุขกับทุกข์ กลางระหว่างกุศลกับอกุศล

แต่เราจะทำชั่วไม่ได้เด็ดขาดเลยนะ บางคนได้ยินแค่นี้ก็คิดเอาเอง เมื่อมันเป็นกลางแล้วดีกับชั่วเท่าเทียมกัน ก็ทำชั่วได้ ที่จริงทำชั่วไม่ได้มาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะเราฝึกมา มีศีลมาก่อน เรามีศีลมาก่อนแล้ว เรามีสมาธิชนิดมีจิตตั้งมั่น แค่จิตมีสมาธิมันก็ข่มกิเลสยับเยินไปแล้ว นะ จนมาเห็น มีปัญญาแล้วเห็นทุกสิ่งทุกอย่างไร้สาระ คนเรามีกิเลส กิเลสย้อมตัวเองได้ ฮึ..มันมีตัวมีตนนะ มันยึดถือในตัวในตน ตัวตนไม่มี กิเลสจะไปย้อมแมวที่ไหน


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๑๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ ก่อนฉันเช้า


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๔
File: 550212A
ระหว่างนาทีที่ ๑๕ วินาทีที่  ๑๓ ถึง นาทีที่ ๑๗ วินาทีที่ ๒๑

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เรียนธรรมะที่เป็นคู่ จึงจะเห็นไตรลักษณ์

mp3 (for download): เรียนธรรมที่เป็นคู่จึงจะเห็นไตรลักษณ์

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

เรียนธรรมะที่เป็นคู่ จึงจะเห็นไตรลักษณ์

เรียนธรรมะที่เป็นคู่ จึงจะเห็นไตรลักษณ์

หลวงพ่อปราโมทย์ : ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจไว้นะ รู้สิ่งซึ่งเป็นคู่ๆนี้แหละ สุขบ้างทุกข์บ้าง ดีบ้างชั่วบ้าง ให้เรียนรู้สิ่งที่เป็นคู่แล้ววันหนึ่งจะเจอสิ่งที่เป็นหนึ่ง

ให้ดูให้ดี อารมณ์ทั้งหลายในสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้ายกขึ้นมาให้เราเรียนรู้นั้น เป็นอารมณ์ที่เป็นคู่ทั้งสิ้น เช่น หายใจออกกับหายใจเข้า ใช่มั้ยเป็นคู่ๆเรียนรู้เป็นคู่ๆ ยืนเดินนั่งนอนใช่มั้ย นี่ก็เป็นคู่ หมายถึงว่ามีตัวเทียบเคียง

คำว่าคู่ไม่ใช่แปลว่าสองนะ หมายถึงมีสิ่งที่เทียบเคียงได้ ไม่ใช่มีอันเดียว ยืนเดินนั่งนอนนี่มี ๔ อัน หรือเวทนา มีสุขมีทุกข์มีเฉยๆ มี ๓ อัน หรือจิตมีราคะไม่มีราคะนี้ ๑ คู่ จิตมีโทสะไม่มีโทสะนี้ ๑ คู่ จิตมีโมหะไม่มีโมหะนี่อีกคู่หนึ่ง จิตฟุ้งซ่านกับจิตหดหู่นี้อีกคู่หนึ่ง

ให้เราเรียนธรรมคู่ เรียนเป็นคู่ๆ ทำไมต้องเรียนเป็นคู่ๆ เรียนสิ่งซึ่งเป็นคู่เพื่อจะได้เห็นว่า แต่ละอันๆนั้นไม่เที่ยง แต่ละอันๆทนอยู่ไม่ได้นาน แต่ละอันๆบังคับไม่ได้ เรียนเพื่อให้เห็นตรงนี้นะ เช่นเราเห็นว่าความสุขก็ไม่เที่ยงความทุกข์ก็ไม่เที่ยงเฉยๆก็ไม่เที่ยง อะไรก็ไม่เที่ยง เลือกก็ไม่ได้ด้วยว่าจะสุขหรือจะทุกข์หรือจะเฉยๆ

หรือยืนเดินนั่งนอนเห็นมั้ยมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆบังคับมันไม่ได้หรอก ขืนอยู่นั่งอยู่อิริยาบถเดียวนานๆนะ ความทุกข์บีบคั้น ร่างกายจะถูกความทุกข์บีบคั้นมาก ทนไม่ไหว ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ

หายใจออกแล้วก็อยู่นิ่งไม่ได้ใช่มั้ย หายใจออกตลอดเวลาไม่ได้ ต้องสลับด้วยหายใจเข้า เพราะอะไร เพราะความทุกข์มันบีบคั้น เนี่ยให้รู้อย่างนี้นะ

เห็นมั้ยความโกรธเกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็หายโกรธ ไม่มีใครโกรธได้เป็นชั่วโมงนะ ไม่มี ไม่มีใครโกรธได้(นาน-ผู้ถอด)แม้แต่นาทีเดียว ความจริงความโกรธเกิดแล้วก็ดับๆ แต่มันต่อเนื่องซ้ำๆซ้ำๆ เราเลยรู้สึกว่าเราโกรธได้เป็นวันๆ แต่ถ้าเราสติดีเราจะเห็นมันเกิดดับๆอยู่ตลอดเวลา เนี่ยเรียน ๑ คู่ เพื่อจะได้เห็นความเกิดดับนั่นเอง

แต่ถ้าเรียนธรรมเดี่ยวก็จะไม่มีการเกิดดับ เพราะนิพพานไม่มีเกิดดับ นิพพานเที่ยง นิพพานไม่มีทุกข์ เพราะไม่มีอะไรเสียดแทง ไม่มีอะไรบีบคั้น เพราะฉะนั้นให้เราเรียนสิ่งซึ่งเป็นคู่ๆนี้เอง ก็คืออารมณ์ทั้งหลายในสติปัฏฐาน รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย คอยรู้ลงไปเรื่อย ในที่สุดจะเห็นว่าสภาวะทั้งหลายทั้งปวงเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ถ้าเห็นอย่างนี้ได้ก็ได้เป็นพระโสดาบัน

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่ สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ หลังฉันเช้า

CD: ๒๔
File: 510308
ระหว่างนาทีที่ ๑๕ วินาทีที่ ๑๗ ถึงนาทีที่ ๑๗ วินาทีที่ ๕๘

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

สภาวะหยาบหรือละเอียด ก็แสดงไตรลักษณ์

mp3 for download : ไม่ต้องเห็นสภาวะละเอียด สภาวะหยาบก็แสดงไตรลักษณ์เหมือนกัน

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

สภาวะหยาบหรือละเอียด ก็แสดงไตรลักษณ์

สภาวะหยาบหรือละเอียด ก็แสดงไตรลักษณ์

หลวงพ่อปราโมทย์ : อยู่ที่สติปัญญานะ ค่อยฝึกค่อยรู้ค่อยดูของเราไป ในที่สุดใจก็สักว่ารู้สักว่าเห็นแท้ๆเลย จิตจะขยับไปก็เห็น จิตจะทรงอยู่ก็เห็น เห็นแต่เรื่องบังคับไม่ได้ อันนี้สำหรับพวกปฏิบัติละเอียดนะ

บางคนไม่ต้องละเอียด บางคนแค่เห็นว่าเดี๋ยวจิตก็สุขเดี๋ยวจิตก็ทุกข์เดี๋ยวจิตก็เฉยๆเห็นแค่นี้ก็ได้ บางคนเห็นว่าเดี๋ยวจิตก็โกรธเดี๋ยวจิตก็ไม่โกรธ บางคนเห็นว่าเดี๋ยวจิตก็เผลอเดี๋ยวจิตก็ไม่เผลอ เห็นแค่นี้ก็ได้ ไม่ต้องละเอียดก็ได้

การเห็นละเอียดเนี่ยเหมาะสำหรับคนบางคน เนื่องจากมีจริตนิสัยละเอียด จะเห็นแต่สภาวธรรมล้วนๆเลย จะว่าดูจิตมันก็ไม่เชิงนะ มันเหมือนๆเห็นสภาวธรรมล้วนๆเลย ไม่รู้ว่าคืออะไรหรอก เห็นแต่สภาวธรรมบางอย่างไหววับ ดับวับ ดับไป ไม่รู้ว่าคืออะไร

แต่ไม่จำเป็นต้องละเอียด เพราะฉะนั้นไม่ต้องพยายามทำให้ละเอียด รู้ได้หยาบๆก็รู้หยาบๆไป หลวงพ่อตอนหัดแรกๆก็ไม่ได้ดูละเอียด แค่เห็นว่าจิตนั้นมันไหลเข้าไปแช่ไปรวมกับอารมณ์บ้าง จิตมันแยกออกจากอารมณ์บ้าง เห็นขันธ์กระจายตัวออกไปบ้าง ขันธ์รวมกันมาเป็นตัวเราบ้าง เห็นกิเลสหยาบๆ โลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่ สงสัย เห็นแต่ของหยาบๆก็ดูของหยาบๆไป ไม่จำเป็นต้องพยายามทำให้ละเอียด ของหยาบหรือของละเอียดแสดงไตรลักษณ์เท่าๆกัน แล้วแต่จริตนิสัย

แต่บางคนดูของหยาบแล้วไม่สะใจ สติปัญญามันมากไป ดูของหยาบแล้วมันไม่พอ ก็ดูของที่ละเอียดขึ้น แต่ว่าไม่ว่าสภาวะที่หยาบหรือละเอียด สภาวะภายในหรือภายนอกนะ สภาวะที่ใกล้ที่ไกล สภาวะทั้งหลายทั้งปวง เกิดแล้วดับ เห็นแค่ว่าสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับ นี่ภาวนาเอาตรงนี้เอง เอาแค่นี้ล่ะ เห็นว่าสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับไป สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับไป ซ้ำแล้วซ้ำอีก ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี บางคน ๓ เดือนก็มีนะ แต่ ๓ เดือนหมายถึงดูเป็นแล้ว ดูเป็นแล้วดูลูกเดียวเลย

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่ สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๑ ก่อนฉันเช้า

CD: ๒๔
File: 510414A
ระหว่างนาทีที่ ๗ วินาทีที่ ๕๕ ถึงนาทีที่ ๑๐ วินาทีที่ ๑๐

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ใจดิ้นเพราะรักสุขเกลียดทุกข์

Mp3 for download: 460331B_1 over the other

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ใจดิ้นเพราะรักสุขเกลียดทุกข์

ใจดิ้นเพราะรักสุขเกลียดทุกข์

หลวงพ่อปราโมทย์: เราก็จะเอาด้านนึงไม่เอาด้านนึง เพราะว่าเราคิดว่าถ้าได้สิ่งนี้มาแล้วจะมีความสุข ถ้าไม่มีอย่างนึง ถ้าไปเจออีกอย่างนึงแล้วจะเป็นทุกข์ อย่างเนี้ย จิตใต้สำนึกก็คือความรักสุข เกลียดทุกข์นี่แหละ ก็พาให้ดิ้นไปเรื่อยๆ ทั้งในทางโลกในทางธรรมแหละ

เพราะฉะนั้นอุตส่าห์เรียนแทบตาย ไปทำมาหากินก็หวังว่าจะมีความสุข คนไปอยู่มีครอบครัวก็หวังว่าจะมีความสุข มีครอบครัวแล้วต้องมีลูกถึงจะมีความสุข หวังไปเรื่อยๆ มีทุกข์ไปเรื่อยๆ

นักปฏิบัติก็เหมือนกันแหละ ปฎิบัติไปแล้วชอบความสงบ ชอบความสุข วันไหนสงบก็ชอบ ดีใจว่าปฏิบัติดี ไม่สงบก็ไม่ชอบ กลุ้มใจ

ที่จริงแล้วธรรมะที่เป็นคู่ๆ เขาแสดงความจริงตลอดเลย แสดงว่าบังคับไม่ได้หรอกไม่เที่ยง มันทนไม่ได้ มีความสุขแล้วก็ไม่มี ไปแช่อยู่ในความสุขทั้งวันนั้นมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราปฏิบัติเนี่ยไม่ใช่เพื่อเอาด้านนึงไม่เอาอีกด้านนึง แต่ปฏิบัติจนกระทั่งเห็นว่าทั้งสองด้านนั้นน่ะ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา จิตใจปล่อยสองฝั่ง ปล่อยทั้งสองฝั่งเข้าไปสู่ความเป็นกลาง เป็นกลางต่อต่อสังขาร ฝึกไปจนใจเป็นกลางต่อสังขารเพราะปัญญา ไม่ใช่กลางด้วยการเพ่ง เป็นกลางด้วยปัญญาเรียกว่าสังขารุเบกขาญาณ เป็นวิปัสสนาญาณตัวท้ายๆ ละ ถัดจากนั้นจิตดำเนินเองละ

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สวนโพธิญาณ หนองตากยา ท่าม่วง กาญจนบุรี
แสดงธรรมเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖ หลังฉันเช้า

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๒
Track: ๑๑
ระหว่างนาทีที่ ๑ วินาทีที่ ๕๙ ถึง นาทีที่ ๔ วินาทีที่ ๐๕

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ตราบใดที่ยังเป็นสอง ไม่ใช่ของจริง

mp 3 (for download) : ตราบใดที่ยังเป็นสอง ไม่ใช่ของจริง

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

วิโมกข์: ความพ้น

วิโมกข์: ความพ้น

หลวงพ่อปราโมทย์ : พระอนาคามีนะ ศีลบริบูรณ์ สมาธิบริบูรณ์ มีปัญญาปานกลาง ปัญญาในขั้นกลาง คือรู้ว่าถ้าอยากถ้ายึดเมื่อไหร่ ก็ทุกข์เมื่อนั้น รู้ว่าตัณหาหรือสมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ทีนี้ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่เมื่อทำมาถึงตรงนี้ จะรัก จะหวงแหนจิตผู้รู้นี้มากที่สุดเลย เพราะรู้ว่าถ้าเราอยู่กับตัวจิตผู้รู้เนี่ย ความทุกข์จะไม่ข้องแวะ เพราะฉะนั้นจิตจะมีอยู่สองชนิด คือจิตผู้รู้กับจิตผู้หลง จิตผู้รู้นี้มีแต่ความสุข จิตผู้หลงตามอารมณ์ตามกิเลสจะมีแต่ความทุกข์ จะรู้สึกว่ามีอยู่สองอย่าง เพราะฉะนั้นจะหวงแหนถนอมรักษาจิตผู้รู้นะ หวงที่สุด ส่วนมากผู้ปฎิบัติจะจบลงตรงนี้ ไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะพอใจแล้ว

คล้ายๆคนๆหนึ่งอยากจะเจอเหมืองทอง อยากได้เหมืองทองคำ เดินไปเจอเยาวราชนะ พอใจแล้ว ไม่ไปไหนแล้ว เฝ้ามันอยู่ตรงนี้ล่ะ ไม่ไปหาเหมืองแล้ว ผู้ปฏิบัติจำนวนมาก ก็จะหยุดอยู่ที่ตรงนี้ พอตายไปก็ไปอยู่ในภูมิพรหมโลก ไปเป็นพระพรหม แต่พรหมพวกนี้ไม่เป็นไรไม่ต้องกลับมาเกิดอีกแล้ว จะนิพพานในพรหมโลก

ทีนี้ถ้าเราปฏิบัติต่อไปเนี่ย สติปัญญาจะบีบวงแคบเข้ามา เพราะจิตใจมันเด่นดวงขึ้นมาแล้ว มันไม่ได้ออกไปแส่ส่ายหาอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ภายนอกนะ ไม่ยุ่ง มีแต่จิตแต่ใจล้วนๆเลย พอจิตใจมันบีบวงเข้ามาอยู่ที่จิตที่ใจเนี่ย ถ้าสติปัญญาเพียงพอ ส่วนมากสติปัญญาไม่เพียงพอหรอก ต้องได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือว่าช่างสังเกต หรือมีครูบาอาจารย์บอกให้ ถ้าช่างสังเกตก็จะสังเกตได้เหมือนกัน

ยกตัวอย่างครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง หลวงปู่มั่น ท่านสังเกตเอา ถ้าตรงนี้ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ ยังอิงอาศัยจิตผู้รู้อยู่ นิ่งนอนใจไม่ได้ ยังไม่พ้นทุกข์จริง หรือเรา ถ้าพวกเราช่างสังเกต เราก็จะรู้ว่า จิตเรายังมีสองอย่างอยู่ มีจิตผู้รู้ที่มีความสุข กับจิตผู้หลงที่ไม่มีความสุข ตาบใดที่ยังมีสองยังไม่ใช่ของจริง จำไว้นะ ตราบใดที่ยังเป็นสองยังไม่ใช่ของจริงหรอก ยังหลงอยู่กับสุขกับทุกข์ กับดีกับชั่ว กับสงบฟุ้งซ่านกับภายในภายนอก หยาบละเอียด อะไรๆที่ยังเป็นคู่ๆเนี่ย งานยังไม่เสร็จแน่นอน ถ้างานเสร็จจะเป็นหนึ่งเดียวรวดเลย ฐีติจิต จิตก็เป็นหนึ่งนะ ฐีติธรรม ธรรมก็เป็นหนึ่ง คำที่หลวงปู่มั่นท่านใช้

ทีนี้ถ้าเราไม่นิ่งนอนใจ เราก็คอยรู้เท่าทันจิตใจของเราต่อไป เสร็จแล้วมันจะพ้นสติปัญญาเราไม่ได้หรอก ตัวผู้รู้เนี่ย บางท่านก็จะเห็นว่ามันไม่เที่ยง มันผ่องใสอยู่ ผ่องใสอยู่ทั้งวันทั้งคืนนะ ถึงจุดหนึ่งมันหมองได้ คือมันไม่เที่ยง บางท่านพอเห็นว่าไม่เที่ยงก็ปล่อยวางได้ อย่างนี้เรียกว่า เป็นประเภทหลุดพ้นที่เรียกว่า อนิมิตตวิโมกข์ เห็นแต่ว่าเกิดแล้วดับๆ ตัวผู้รู้ก็เกิดดับ

บางท่านเห็นว่ามันเป็นทุกข์ พวกที่ทรงสมาธิมากๆ จะเห็นว่ามันเป็นทุกข์ เพราะถ้าท่านไม่เห็นว่าจิตผู้รู้เป็นทุกข์นะ จะไม่ยอมปล่อย เพราะสมาธิมากตัวผู้รู้มีแต่ความสุขนะ ถ้าปัญญาแก่รอบจริงๆจะเห็นเลย เป็นตัวทุกข์ ทุกข์แบบไม่มีอะไรเหมือน พอเห็นว่าตัวผู้รู้ก็เป็นทุกข์ จิตมีอันเดียวนะ คือจิตที่เป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ว่าจิตมีทุกข์บ้างสุขบ้าง แต่เดิมเคยเข้าใจว่าจิตนี้ ถ้ารู้ตัวเป็นผู้รู้แล้วมีความสุข ถ้าเป็นผู้หลงแล้วมีความทุกข์ เข้าใจผิด แต่เมื่อไรสติปัญญาแก่รอบ ตัวจิตเองนั้นแหละตัวทุกข์ล้วนๆ จะปล่อยวาง ตรงคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านสอนบอกว่า ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ล้วนๆนะ ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้าง

พวกเราแค่เห็นร่างกาย ก็ยังเห็นว่าร่างกายเราทุกข์บ้างสุขบ้างเลย อย่าว่าแต่จิตใจเลย จิตใจยังไงก็ยังเห็นว่าทุกข์บ้างสุขบ้าง สุขทุกข์ของเราอยู่ที่ว่า ได้อย่างที่อยากมั้ย ถ้าไม่ได้อย่างที่อยากก็ทุกข์ ถ้าได้อย่างที่อยากก็ไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้นทุกข์ของเราที่พวกเรารู้จัก นี่คือทุกข์จากความไม่สมอยาก ส่วนทุกข์ของพระอนาคามีที่ท่านรู้เนี่ย ทุกข์เพราะความอยาก เห็นว่าถ้าอยากแล้วทุกข์นะ ของเราเห็นได้แค่ว่า ถ้าไม่สมอยากแล้วทุกข์ พระอนาคามีเห็นว่า แค่มีความอยากก็ทุกข์แล้ว ก็ยังมีสองอย่าง มีทุกข์กับสุข ถ้าอยากหรือไม่อยาก

ถ้าปัญญาเห็นแจ้งจริงๆเลย มีแต่ทุกข์ล้วนๆ จะอยากหรือไม่อยากก็ทุกข์แล้ว ทุกข์ไม่ใช่อยู่ที่อยากแล้ว ทุกข์อยู่ที่ตัวขันธ์เองแหละเป็นตัวทุกข์ อย่างนี้เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว จิตจะปล่อยวางลง ปล่อยวางจิต ทีนี้บางท่านก็เห็นว่าจิตนี้เป็นสุญญตา เป็นความว่างเปล่าจากความเป็นตัวเป็นตน ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา คืน ยอมคืน ยอมสลัดคืนให้กับโลกเขาไป พวกนี้เรียกว่าสุญญตวิโมกข์ พวกปัญญากล้า หลุดพ้นด้วยการเห็นจิตใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ปลดปล่อยออกไปแล้ววางออกไป

ทางที่จิตดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นเนี่ย มีสามช่องในขั้นสุดท้าย เบื้องต้นของเราเนี่ยนะ คอยรู้กายคอยรู้ใจไว้ พอรู้กายเต็มที่นะ มันจะปล่อยวางกาย มันจะย้อนทวนเข้าหาธาตุรู้ ตัวจิต พอรู้จิตเต็มที่เนี่ย ว่าเป็นอนิจจัง หรือเป็นทุกขัง หรือเป็นอนัตตา ในมุมใดมุมหนึ่งก็ปล่อยวางจิต พอปล่อยวางหมดทั้งกายหมดทั้งจิตนะ จิตใจก็จะพ้นจากความทุกข์จริงๆ พ้นจากขันธ์ นิพพานก็คือจิตมันพรากออกจากขันธ์ มันสำรอกออกจากขันธ์ หลุดออกจากขันธ์ได้

    หมายเหตุ วิโมกข์ มี 3 อย่าง คือ

  • สุญญตวิโมกข์ ความพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นไตรลักษณ์คืออนัตตา
  • อนิมิตตวิโมกข์ ความพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นไตรลักษณ์คืออนิจจัง
  • อัปปณิหิตวิโมกข์ ความพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ทุกขัง

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมที่ศาลากาญจนาภิเษก (ศาลาลุงชิน) เมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๙

CD: ศาลาลุงชิน ครั้งที่ ๓
File: 490716.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๙ วินาทีที่ ๔๐ ถึง นาทีที่ ๒๕ วินาทีที่ ๓๑

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

การปฎิบัติ คือรู้ทันจิตที่ปรุงแต่ง

mp3 (for download): การปฎิบัติ คือรู้ท้ันจิตที่ปรุงแต่ง

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

การปฎิบัติ คือรู้ทันจิตที่ปรุงแต่ง

การปฎิบัติ คือรู้ทันจิตที่ปรุงแต่ง

หลวงพ่อปราโมทย์ : จิตจะปรุงแต่งอะไรไม่สำคัญนะ ปัญหาไปอยู่ที่เราไปปรุงแต่งจิต จิตจะปรุงความสุข ปรุงความทุกข์ ปรุงกุศล ปรุงอกุศล ไม่ใช่ปัญหาเลย จิตเขาก็ทำงานไปตามความคุ้นเคยของเขานั่นแหละ

ยกตัวอย่างเราเดินอยู่ดีๆ เรามีนิสัยขี้โมโห เดินๆอยู่นะ คนมาเหยียบขาเราหน่อยนะ โมโหแล้วนะ ความโกรธเกิดขึ้นนี้ จิตปรุงความโกรธขึ้นมา ไม่ใช่ปัญหานะ จิตมันโกรธไม่ใช่ปัญหา เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปห้ามมัน แต่พอจิตมีความโกรธขึ้นมาแล้วเนี่ย ถ้าใจคล้อยตามความดโกรธเนี่ย เป็นปัญหาละ หรือถ้าใจต่อต้านความโกรธ เป็นปัญหาละ ใจต่อต้านความโกรธ เช่น พอโกรธปุ๊บ อุ๊ยโกรธไม่ดี ไม่โกรธดีกว่า ใช่มั้ย เข้าไปสู่ความเป็นคู่แล้ว อันหนึ่งดีอันหนึ่งไม่ดีละ เริ่มให้ค่าๆ ใจก็เริ่มดิ้นสิ ทำอย่างไรจะหายโกรธ ก็ดิ้นๆใหญ่นะ พุทโธๆ โกรธหนอๆ จะให้หายโกรธนะ ตรงนี้แหละใจเรากำลังปรุงแต่งอยู่

เพราะฉะนั้น จิตใจนะ มันมีธรรมชาติปรุงแต่งของมันเองอยู่แล้ว ไม่เป็นไร มันจะปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว ไม่เป็นไร แต่พอสติเราไประลึกรู้แล้วเรารู้ไม่ทันขึ้นมาจริงๆนะ มันเกิดยินดียินร้าย ยินดียินร้ายแล้วคราวนี้ล่ะ เราปรุงแต่งล่ะ ไม่ใช่จิตปรุงนะ แต่เราปรุงแต่งล่ะ ตัวนี้คือตัวปัญหา

มันง่ายกว่าที่นึกนะ ง่ายสุดขีดเลย เพราะเราไม่ต้องทำอะไร เราดูกายดูใจเขาทำงานของเขาไป เราดูกายดูใจเขาปรุงแต่งของเขาไป แล้วเราไม่ต้องทำอะไร รู้ลูกเดียว* รู้แล้ววันหนึ่งแล้วจะเข้าใจเลย กายกับใจเป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่ง เรียก สังขตธรรม เป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่ง ไม่ใช่ไปฝึกให้มันไม่ปรุงแต่ง แต่เมื่อมันปรุงแต่งแล้วเราไม่หลงยินดียินร้าย เราไม่ไปช่วยมันปรุงแต่ง

ตัวนี้ต่างหากล่ะ สบายเลยคราวนี้ จิตใจนะไม่ต้องทำงาน จิตใจว่างงาน ที่ว่าสิ้นชาติสิ้นภพจบพรหมจรรย์ สิ้นชาติคือจิตไม่ไปหยิบฉวยรูปธรรมนามธรรมใดๆขึ้นมายึดถือไว้ให้เป็นภาระหนักหน่วงถ่วงจิตใจอีกต่อไป สิ้นภพคือสิ้นการทำงานทางใจ สิ้นชาติ สิ้นภพ จบพรหมจรรย์ คือไม่ต้องมีการศึกษาเรียนรู้การปฏิบัติธรรมใดๆอีกแล้วนะ งานทำเสร็จแล้ว เพราะใจปล่อยวางไปหมดแล้ว ใจพ้นจากการปรุงแต่ง พ้นจากการทำงานแล้ว

เนี่ย พ้นไปได้อย่างนี้นะ เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง มีแต่ความสุขล้วนๆ ทีนี้จะพ้นได้ก็เพราะมีสติขึ้นมา รู้ทันการปรุงแต่งของกายของใจไป โดยที่ไม่ไปช่วยมันปรุงแต่ง พอเรารู้ทันการปรุงแต่งของกายของใจนะ ใจมันก็จะปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วอะไรขึ้นมา ก็แล้วแต่มัน ไม่ห้ามมันหรอก ไม่ใช่ว่าจะต้องดีด้วยซ้ำไป ไม่ใช่ฝึกเอาดีนะ ไม่ใช่ฝึกเอาดี ไม่ใช่ฝึกเอาสุข ไม่ได้ฝึกเอาสงบ แต่ฝึกเพื่อเห็นเลยว่า จิตใจมันก็ทำงานของมันไป ในใจเรารู้ทันแล้วก็เป็นกลาง ไม่ไปแตะต้องแล้วก็ไม่ไปทำอะไรมัน

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันศุกร์ที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๑๗
File: 500105
ระหว่างนาทีที่  ๑๕ วินาทีที่ ๑๘ ถึง นาทีที่ ๑๘ วินาทีที่ ๒๓

หมายเหตุ
เราดูกายดูใจเขาทำงานของเขาไป เราดูกายดูใจเขาปรุงแต่งของเขาไป แล้วเราไม่ต้องทำอะไร รู้ลูกเดียว
หมายถึง ในขณะที่เจริญวิปัสสนา ให้ตามรู้ตามดูโดยไม่เข้าไปแทรกแซงจิตใจ มิได้หมายความว่า การดำเนินชีวิต ห้ามทำสมาธิ ห้ามรักษาศีล แต่อย่างใด นอกจากนั้น หลวงพ่อปราโมทย์ท่านยังสอนให้รู้จักรักษาศีล และทำสมาธิ (ทำตามรูปแบบ) อย่างสม่ำเสมออีกด้วย เพราะทั้งสองอย่างนั้น เป็นคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้การเจริญวิปัสสนาเป็นไปด้วยดีอีกด้วย  อ่าน:การรักษาศีล ๕ สำคัญมาก จะทำให้จิตตั้งมั่น มีสมาธิได้ง่าย, วิธีฝึกให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู และ ถ้ามีสติ จากไม่มีศีลก็มีศีล จากไม่มีสมาธิก็มีสมาธิ จากไม่มีปัญญาก็มีปัญญา

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

สภาวะธรรมเพียงคู่เดียวก็เพียงพอที่จะรู้สึกตัวได้ทั้งวัน

mp3 (for download): สภาวะธรรมเพียงคู่เดียวก็เพียงพอที่จะรู้สึกตัวได้ทั้งวัน

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

สภาวะธรรมเพียงคู่เดียวก็เพียงพอที่จะรู้สึกตัวได้ทั้งวัน

สภาวะธรรมเพียงคู่เดียวก็เพียงพอที่จะรู้สึกตัวได้ทั้งวัน

หลวงพ่อปราโมทย์ : ในความเป็นจริงแล้วธรรมะ ถ้าเราเข้าใจแก่นของมัน เพียงอันใดอันหนึ่งก็พอนะ เพียงอันใดอันหนี่งก็พอ เพียงแค่รู้สภาวะธรรมคู่เดียวก็พอ เช่นจิตเผลอไปกับจิตรู้สึกตัว รู้แค่นี้ก็พอแล้ว รู้เป็นหลักไว้ แล้วมันก็รู้อันอื่นเองแหละ เดี๋ยวมันโกรธขึ้นมามันก็รู้เอง มันโลภขึ้นมามันก็รู้เอง จะเห็นจิต แค่รู้คู่เดียวก็พอแล้ว

คือเวลาเรียนกรรมฐาน เรียนสติปัฏฐาน เราไม่ได้เรียนตัวเดียวโดดๆหรอก เราเรียนเป็นคู่ๆ เป็นกลุ่มๆ เรียกว่าเรียนในสิ่งที่เป็นธรรมคู่ สิ่งที่เป็นธรรมคู่เช่น หายใจออกกับหายใจเข้าเป็นคู่ ทำไมต้องเรียนคู่หนึ่ง เพราะมันพลิกแพลง มันเปลี่ยนแปลงให้ดู เดี๋ยวหายใจออกแล้วมันก็หายใจเข้า หรือยืนเดินนั่งนอนนี่ก็อีกกลุ่มหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นธรรมคู่เหมือนกัน ยืนเดินนั่งนอน เดี๋ยวก็ยืน เดี๋ยวก็เดิน เดี๋ยวก็นั่ง เดี๋ยวก็นอน ทั้งวันมันก็มีแต่ยืนเดินนั่งนอน ถ้ายืนเดินนั่งนอนรู้สึกตัว ก็รู้สึกตัวได้ทั้งวัน หายใจเข้าหายใจออกแล้วรู้สึกตัว ก็หายใจรู้สึกตัวได้ทั้งวัน กรรมฐานเนี่ยนะ อันใดอันหนึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คู่ใดคู่หนึ่งก็พอ พอที่จะมีสติอยู่ทั้งวัน

หรือดูเวทนาสุขทุกข์เฉยๆ ถ้ามีความสุขก็มีสติ มีความทุกข์ก็มีสติ เฉยๆ ก็มีสติ ก็คือมีสติทั้งวัน พอมีสติแล้วก็ขาดสติอีก พอมีสติกับขาดสติก็เป็นของคู่กันอีก เห็นไหม เรียนก็เรียนคู่ เรียนเป็นคู่ๆ นะ จิตมีราคะกับจิตไม่มีราคะก็เรียนเป็นคู่ๆ เวลาเรียนเรียนตัวไหน ก็เรียนตัวตัวที่มันเด่น อย่างราคะมันเกิดใช่ไหม ผุดขึ้นมาเราก็เห็นว่าจิตมีราคะ ทันทีที่เห็นจิตมีราคะ ราคะก็หายไปแล้ว กลายเป็นจิตที่ไม่มีราคะ แต่ใจเราจะไปเพ่งเล็งที่จิตที่มีราคะ มันจะไม่มาเพ่งเล็งที่จิตไม่มีราคะ งั้นบางที พูดย่อๆ ก็บอกว่าจิตมีราคะให้รู้ จิตมีโทสะให้รู้ จิตมีโมหะให้รู้ สิ่งที่ควบมาก็คือจิตที่ไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ

คนใดคนหนึ่ง คนไหนขี้โมโห ก็ดูจิตที่มีโทสะไป แล้วก็เห็นทั้งวันจิตมีสองอย่าง จิตมีโทสะกับจิตที่ไม่มีโทสะ คนไหนขี้โลภ โลภะมากตัณหามากก็ดูจิตที่มีความอยาก เดี๋ยวก็อยาก เดี๋ยวก็ไม่หาย พอรู้ว่าอยากมันก็หายไป จริงๆ แล้วดูเป็นคู่ๆ ความอัศจรรย์ของธรรมะก็คือ ให้เราเรียนรู้ธรรมคู่นะ พอรู้แจ้งในธรรมคู่เราจะรู้ธรรมหนึ่ง จะเข้ามารู้ธรรมที่เป็นหนึ่ง ส่วนธรรมที่เป็นหนึ่งต้องเฉลียวใจขึ้นมารู้เอง เฉลียวใจขึ้นมารู้เอง มันจะปิ๊งขึ้นมาเอง

ให้เราเรียนสิ่งที่เป็นคู่ๆ นี่แหละ สิ่งที่เป็นคู่ๆ มันแสดงไตรลักษณ์ให้ดู สิ่งที่เป้นหนึ่งไม่แสดงไตรลักษณ์ สิ่งที่เป็นหนึ่งก็คือธรรมหนึ่งกับจิตหนึ่ง

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันศุกร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๒๔
ลำดับที่  ๓
File: 510222
ระหว่างนาทีที่ ๒ วินาทีที่ ๓๙ ถึง นาทีที่ ๕ วินาทีที่ ๕๔

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

จิตไม่ได้เสื่อม แต่เกิดจากการเปรียบเทียบของเราเอง

เสื่อม

เสื่อม

mp3 (for download) : จิตไม่ได้เสื่อม แต่เกิดจากเปรียบเทียบของเราเอง

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : จริงๆคำว่า”เสื่อม” ไม่เคยมีเลย คำว่า “เสื่อม” นี้เกิดจากความเห็นผิดของเรา เกิดจากการเปรียบเทียบสภาวะสองสภาวะ  มันเคยดีแล้วคราวนี้ไม่ดีเท่าเก่า บอกเสื่อม แท้จริงนั้นจิตมันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา จิตดวงที่ดี มันเกิดแล้วมันก็ดับไป ไม่ใช่มันเสื่อม จิตดวงที่ไม่ดีมันเกิดขึ้นแทน  จิตดวงที่ไม่ดีมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป ก็ไม่ใช่ว่ามันเจริญ  แท้จริงก็คือ จิตที่เสื่อมก็เกิดแล้วก็ดับ  จิตที่เจริญเกิดแล้วก็ดับ

ทีนี้ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราก็ไม่คิดว่าจิตมีดวงเดียว เดี๋ยวเจริญเดี๋ยวเสื่อม  ความสำคัญผิดมันคิดว่าจิตมีดวงเดียว ฉะนั้นอยากทำให้มันดีตลอด อยากให้มันถาวร  ความจริงไม่มีหรอกจิตที่เป็นดวงเดียวน่ะ มีแต่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับนะ คำว่า “เจริญ” คำว่า “เสื่อม”เกิดจากการเปรียบเทียบทั้งหมดเลย เปรียบเทียบสภาวะสองอันทั้งๆ ที่มันไม่ได้เกี่ยวข้องกัน

ฉะนั้นถ้าเห็นว่า จิตเจริญ เจริญแล้วมันก็ดับไป จิตที่เสื่อมเิกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปนะ ใจเป็นกลาง  เจริญก็ไม่หลงดีใจ เสื่อมก็ไม่หลงเสียใจ  นี่เป็นกลาง ในที่สุดจิตเป็นกลางต่อทุกสภาวะ จิตที่เป็นกลางต่อทุกสภาวะนะ จะเลิกดิ้นรน

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แสดงธรรมที่ สวนโพธิญาณ หนองตากยา ท่าม่วง กาญจนบุรี
เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๘

CD สวนสันติธรรมแผ่นที่ ๑๐
ลำดับที่ ๘
File 481022B
ระหว่างนาทีที่ ๔ วินาทีที่ ๐๐ ถึงนาทีที่ ๕ วินาทีที่ ๒๐

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

จิตที่มีสัมมาทิฏฐิมีแนวโน้มไปสู่นิพพาน เว้นแต่จะไปติดขัดอยู่กลางทาง เปรียบเหมือนท่อนไม้ลอยน้ำ

เปรียบเหมือนท่อนไม้ลอยน้ำ

เปรียบเหมือนท่อนไม้ลอยน้ำ

mp 3 (for download) : จิตที่มีสัมมาทิฏฐิมีแนวโน้มไปสู่นิพพาน เว้นแต่จะไปติดขัดอยู่กลางทาง เปรียบเหมือนท่อนไม้ลอยน้ำ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์: พระพุทธเจ้าท่านเคยเทียบ บอกว่าจิตของเราเนี่ย ที่แสวงหาความหลุดพ้นเนี่ยนะ เหมือนท่อนไม้ลอยอยู่ในแม่น้ำคงคา ท่านไม่ยกว่าเป็นแม่น้ำเจ้าพระยานะ ท่านยกแม่น้ำคงคา บอกว่า ท่านชี้ให้พระดูท่อนไม้ลอยน้ำ ท่านบอกว่าไม้ท่อนนี้นะ ถ้ามันลอยไปเรื่อยๆ มันไม่ไปติดฝั่งซ้าย ไม่ไปติดฝั่งขวา ไม่ไปเกยตื้น ไม่ไปติดเกาะอะไรอย่างนี้นะ ไม่ไปถูกมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวน ไม่เน่าใน ไม่ผุพังเสียเอง ถึงวันหนึ่งมันจะไปสู่ทะเล

จิตซึ่งมีสัมมาทิฎฐิ สิ่งที่พวกเราเรียนจากหลวงพ่อคือตัวสัมมาทิฎฐินั่นเอง จิตซึ่งมีสัมมาทิฎฐิรู้ทิศทางว่าเราจะทำอะไรเพื่ออะไรจะทำอย่างไร ระหว่างทำไม่หลงไม่เผลอ จิตมันมีสัมมาทิฎฐิอยู่อย่างนี้ ระดับเบื้องต้นซึ่งเรียกว่า “สัมปชัญญะ” รู้ทิศทาง รู้แนวทาง จิตที่มีสัมมาทิฎฐินั้นนะ มีแนวโน้ม น้อมโน้ม โน้มเอียง ลาดลุ่ม ไปสู่นิพพาน เหมือนท่อนไม้นี้ไหลตามน้ำไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ไปติดฝั่งซ้ายฝั่งขวา เกยตื้น ไม่ถูกมนุษย์ อมนุษย์ จับไว้ ไม่เน่าใน ไม่ถูกน้ำวนดูดไปนะ ไม้ท่อนนี้ต้องไปถึงทะเล

จิตซึ่งมีสัมมาทิฎฐิ จิตของเรานี้ไม่ต้องไปทำอะไรมัน อย่าไปเกยอยู่ที่ไหนก็แล้วกัน มันจะไหลไปสู่นิพพานเอง จะไหลไปสู่มรรคผลนิพพานเอง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ต้องทำอะไร แต่อย่ามัวไปเกยตื้นอยู่ที่ไหนซะล่ะ

คำว่าติดฝั่งซ้าย ติดฝั่งขวา ก็คือไปหลงในสิ่งที่เป็นคู่ๆ เช่นอายตนะภายในภายนอกนี่คู่หนึ่ง ตัวอย่างนะ ไปติดในความสุข หรือไปติดในความทุกข์ ติดในความทุกข์ก็คือเกลียดทุกข์ รักสุขเกลียดทุกข์อะไรอย่างนี้ ใจก็ยังดิ้นอีก เนี่ยติดในสิ่งที่เป็นคู่ๆ ติดความดี ความเลว เจออะไรเลวๆแล้วทนไม่ได้ ทุรนทุราย อยากจะให้โลกนี้ดี สวยงามอย่างเดียว อะไรอย่างนี้ จิตก็วุ่นวายติดในสิ่งที่เป็นคู่ๆ

ไปเกยตื้น ก็คือไปติดในผลประโยชน์ทั้งหลาย ถ้าเป็นพระก็เรียกว่าไปติดลาภสักการะ ติดครอบครัวโน้น ตระกูลนี้ อะไรอย่างนี้ ไปถูกมนุษย์จับไว้ อย่างพวกเรา คุณสุเมธ ถูกมนุษย์จับไว้ ถูกมนุษย์เป็นร้อยๆเลยนะ คุณสุเมธก็ห่วง มาหรือยัง มาหรือยัง กลัวเขาไม่ดี นี่เรียกว่าถูกมนุษย์จับไว้ ถูกอมนุษย์จับไว้ เช่น อยากดัง อยากมีชื่อเสียง อยากเด่น นี่ถูกอมนุษย์จับไว้ หรือติดใน อยากขึ้นสวรรค์นะ ไปเป็นเทวดาเป็นพรหมอะไรอย่างนี้ นี่เรียกว่าถูกอมนุษย์จับไว้

ไปหลงลาภสักการะ นี่ก็ไปเกยตื้นไว้ ถูกอมนุษย์จับก็หลงชื่อเสียง เป็นอาจารย์กรรมฐานดัง หลงอย่างนี้เสร็จเลยนะ ไปนิพพานไม่ได้ ถูกน้ำวนก็คือหลงอยู่ในกาม วันๆคิดแต่จะหาความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือความเพลิดเพลินทางใจ นี่เรียกว่ากามทั้งหมดเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่ากามคุณ ทางใจเรียกว่ากามธรรม เช่นเราคิดเพลิดเพลินไปในกาม นี่คิดเอาเอง ก็เป็นกามเหมือนกัน บางคนก็ชอบคิดใช่มั้ย ฝันๆ แหมมีความสุข คิดไปในอดีต แก่หน่อยก็คิดไปในอดีตใช่มั้ย เด็กๆก็ฝันไปในอนาคต อะไรอย่างนี้ นี่ก็หลงๆไปนะ

พวกเน่าในคือพวกทุศีล พวกไม่มีศีล ๕ ศีล ๕ จำเป็น อย่าดูถูกเด็ดขาดนะ ศีล ๕ จำเป็นที่สุดเลย ขาดศีล ๕ อย่าพูดเรื่องมรรคผลนิพพานเลย ศีล ๕ จำเป็นมาก แต่ถ้าทำผิดศีลไปแล้วอย่ากังวล ตั้งใจระวังรักษาเอาใหม่ อย่าให้การทำบาปอกุศลที่ทำไปแล้ว มากดถ่วง ทำให้เราพัฒนาตัวเองต่อไปไม่ได้ เพราะเรา สมมุติว่าเราทำผิดศีลอะไรมาอย่างนี้ ยังไงก็ไม่มากเท่าที่พระองคุลีมาลเคยทำใช่มั้ย เราฆ่าคนไม่ได้พันคนหรอก ทำไมท่านไปได้ ใช่มั้ย เพราะฉะนั้นถ้าเราผิดศีลแล้วเรา ก็อย่าทำอีก นะ อย่าให้กังวลใจ

ถ้าหากจิตใจเราไม่ได้ติดในสิ่งเหล่านี้ ที่กล่าวมานี้นะ ๗ ประการ ไปนับเอาเองก็แล้วกัน เจ็ดประการนี้ถ้าเราไม่ติดนะ แล้วเรามีสัมมาทิฎฐิ เรารู้แล้วว่าการปฏิบัตินี่เราต้องรู้กายรู้ใจตัวเอง ด้วยจิตที่เป็นกลาง รู้ลงปัจจุบัน รู้แล้วไม่ไปแทรกแซง รู้จนเห็นความจริงของเขา ว่าเขาไม่เที่ยง เขาเป็นทุกข์ เขาเป็นอนัตตา รู้จนไม่ยึดถืออะไร นี่ถ้าเรารู้ มีสัมมาทิฎฐิอย่างนี้นะ แล้วเราไม่ไปติด ๗ ข้อนั้นนะ ยังไงก็นิพพาน

นี่ไม่ใช่หลวงพ่อพูดเองนะ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ เราก็สำรวจตัวเองนะ เราไปติดอะไรบ้าง ติดฝั่งซ้าย ติดฝั่งขวามั้ย ไปเกยตื้นมั้ย ไปเกยตื้นยกตัวอย่าง บางคนภาวนา พวกที่ติดสมถะนั้นแหละ พวกเกยตื้น วันๆก็ไปสร้างภพที่ละเอียด ปราณีต ว่างๆ ทำให้ดูก็ได้… เนี่ย แล้วก็ไปอยู่ในความว่าง เหมือนอยู่คนละโลกกัน นะ เห็นมั้ย เสียงยังเปลี่ยนเลย…

อย่างนี้เกยตื้น กี่ปีกี่ชาติก็อยู่ตรงนี้แหละ นะ ใ้ช้ไม่ได้ ไปดูเอานะ แล้วสำรวจตัวเอง ที่พวกเราได้จากหลวงพ่อกับได้จากพรรคพวกรุ่นพี่ ต้องเรียกว่ารุ่นพี่นะ เขาเป็นซือเฮีย ซือเจ๊ ใช่มั้ย ถึงเราอายุ ๕๙ แล้ว เด็กๆพวกนี้ก็ยังเป็นซือเฮีย ซือเจ๊

เนี่ย อาศัยการได้ฟังธรรมนะ เรารู้ว่าเราจะทำอะไร ทำเพื่ออะไร จะทำอย่างไรแล้ว แล้วก็รู้ไปเรื่อย ปฏิบัติไปเรื่อย นะ อย่าไปเกยตื้น อย่าไปติดอะไรอยู่ที่ไหนซะ สำรวจตัวเองเป็นระยะๆ การสำรวจตัวเองว่าไปติดไปข้องอะไรใน ๗ ประการนั้นไว้ ก็เรียกว่าโยนิโสมนสิการ สำรวจตัวเองไปเรื่อย เรื่อย เรื่อย ในที่สุดใจนี้ก็จะไหลไปถึงมหาสมุทร ใจนี้แหละจะบรรลุพระนิพพานโดยตัวของเขาเอง ไม่ใช่เราไปเสือกไสไม้นี้ไปสู่มหาสมุทรนะ มันไหลไปเอง

จิตนี้เหมือนกัน ถ้ามีสัมมาทิำฎฐิแล้วไหลไปสู่นิพพานเอง สิ่งที่เราทำขึ้นมาไม่ใช่ช่วยใ้ห้มันไปเร็วขึ้น สิ่งที่เราทำก็คือ ๗ อย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้นเลิกซะ แล้วก็รู้กายอย่างที่เขาเป็น รู้กายอย่างที่เขาเป็น ไปเรื่อยๆ


สวนสันติธรรม
CD: ธรรมเทศนา ๔ วันในสวนสันติธรรม
Track: ๘
ระหว่างนาทีที่ ๑๐ วินาทีที่ ๔๙ ถึง นาทีที่ ๑๗ วินาทีที่ ๓๖

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เรียนธรรมะอย่างนักวิจัย เลือกตัวอย่างมาศึกษาเพื่อเข้าใจทั้งหมด

mp3 (for download) : เรียนธรรมะอย่างนักวิจัย

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ :

คือ การเรียนศาสนาพุทธนะ อย่างนักรบเป็นนักวิชาการเรียน อย่างเวลาเราจะศึกษาอะไรสักอย่างหนึ่ง เราหาตัวอย่าง หากรณีมาศึกษา เป็นตัวแทนของความรู้ทั้งหมด เรียนศาสนาพุทธก็ศึกษาแบบมีตัวแทนเหมือนกัน อย่างตัวแทนสิ่งที่เรียกว่า ตัวเรานี้ ถ้าซอยออกไปก็คือ สติปัฎฐาน ทั้งหลายนั่นเอง แค่รู้หายใจเข้ารู้หายใจออก รู้แค่นี้ก็รู้ทั้งหมดได้แล้ว หายใจเข้าหายใจออกนะ เราจะเห็นเลย ร่างกายหายใจไป จิตเป็นคนดู ร่างกายที่หายใจอยู่นี้ไม่ใช่ตัวเรา แค่หายใจอย่างเดียว เอาลมหายใจมาเป็นตัวอย่างในการศึกษา แค่ศึกษาตัวเดียวนี้แหล่ะ ก็บรรลุมรรคผลได้ หรือบางคนรู้ อิริยาบถสี่ เอาอิริยาบถสี่มาเป็นตัวแทนในการศึกษา เป็นตัวอย่างที่จะศึกษา แทนที่จะต้องรู้รูปทั้งหมดก็มารู้รูป ยืน เดิน นั่ง นอน นี้ เรียกว่า กายในกาย เรียนอย่างมีตัวอย่างนั่นเอง สุ่มตัวอย่างมาเรียน เพื่อเป็นตัวแทนของความรู้ทั้งหมด ที่เรียกว่า ในกาย ในเวทนา ในจิต เนี้ยไม่ใช่เรียนทั้งหมด แต่เรียนแค่บางอันซึ่งเป็นตัวอย่าง

อย่างเราจะทำแบบสอบถามอยากรู้ความเห็นของคนล้านคนทำไม่ได้ เราก็สุ่มตัวอย่าง นี่ตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าให้สุ่มก็คือ สติปัฎฐาน นั่นเอง อารมณ์ในสติปัฎฐานนั่นแหล่ะ แค่รู้กายที่มันยืน มันเดิน มันนั่ง มันนอน นี้ ก็จะเห็นเลย ไอ้ร่างกายมันยืน มันนั่ง มันนอน ไม่ใช่ตัวเราหรอก มันเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆเหมือนหุ่นยนต์ เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ใจที่เป็นคนรู้ก็อยู่ต่างหาก จิตใจก็ไม่ใช่ตัวเราอีกแล้ว  รู้ทั้งกาย รู้ทั้งใจได้ แค่ทำอันเดียวก็พอแล้ว

บางคนรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย และการหยุดนิ่ง เรียกว่า เจริญสัมปชัญญะบรรพ รู้การเคลื่อนไหว การหยุดนิ่ง เคลื่อนไหวก็รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่งก็รู้สึก รู้สึกไปเรื่อยๆก็จะเห็นเลยว่า ร่างกายก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่งจะแยกกัน กายไม่ใช่ตัวเรา จิตไม่ใช่ตัวเรา เกิดปัญญา หรือบางคนท่านก็สอนให้สุ่มเรียนเวทนา ความปวด ความเมื่อย ความสุข อะไรนี้ จะเห็นเลย เวทนาก็ส่วนหนึ่ง กายก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง ก็กระจายขันธ์ออกมาเหมือนกัน แต่กระจายละเอียดกว่าการรู้กาย นั้นเวทนา สุข ทุกข์ เฉยๆ สามอย่างนี้เกิดขึ้นทั้งวัน ถ้ามันสุข มันทุกข์ มันเฉยๆ เรามีสติ ก็คือ เรามีสติทั้งวัน

นั้นอารมณ์ที่พระพุทธเจ้าให้เป็นตัวอย่างในการศึกษาของเรา เป็นอารมณ์ที่เกิดทั้งวันทั้งหมดเลย หายใจเข้า หายใจออก เกิดทั้งวัน ยืน เดิน นั่ง นอน เกิดทั้งวัน เคลื่อนไหว หยุด นิ่ง เกิดทั้งวัน สุข ทุกข์ เฉยๆ เกิดทั้งวัน หรือบางทีท่านก็ให้สุ่ม บางคนจริตนิสัยคิดมาก ตัวอย่างของการศึกษาที่ท่านให้ทำก็คือ ดูจิต ดูจิตมีตั้ง ๑๖ ตัวแหน่ะ ที่ใช้ในสติปัฎฐาน หรือมี ๘ คู่ แท้จริงเรียนคู่ใดคู่หนึ่งก็ปฏิบัติได้ทั้งวันแล้ว เช่น จิตมีโทสะ กับ จิตไม่มีโทสะ จิตเรามี ๒ ประเภทเท่านั้นเอง คือ จิตที่มีโทสะ กับ ที่ไม่มีโทสะ นี้แบ่งโดยเอาโทสะเป็นตัวตั้ง ถ้าศึกษาอย่างนี้ไปเรื่อยๆจะเห็นเลย จิตที่มีโทสะเป็นตัวแทนของจิตอกุศล จิตที่ไม่มีโทสะ รู้ว่าเมื่อกี๊มีโทสะ เป็นตัวแทนจิตฝ่ายกุศล แล้วจิตทั้ง ๒ ฝ่าย ล้วนแต่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น ทั้งกุศลและอกุศล เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น

การรู้จิตก็ทำให้รู้กายด้วย ไม่ใช่รู้แต่จิต ก็จะเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นสิ่งที่จิตเข้ามาอาศัยอยู่ กายนี้ไม่ใช่ตัวเรานะ หรือบางคนดูแค่จิตมีราคะ กับ จิตไม่มีราคะ ๒ ตัวนี้ก็คลุมเวลาปฏิบัติทั้งหมดแล้ว เพราะจิตก็มี ๒ พวกเท่านั้นเอง จิตที่มีราคะ กับ ไม่มีราคะ ก็เป็นตัวแทนของการศึกษา จิตที่มีราคะเป็นตัวแทนของอกุศล จิตไม่มีราคะเป็นตัวแทนกุศล ทั้งหมดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น เหมือนกันอีก จิตมีโมหะ จิตหลงไป กับ จิตรู้สึกตัว จิตไม่มีโมหะ ก็เป็นตัวแทนแบบเดียวกัน

เพราะฉะนั้นคนแต่ละคนนี้ ใช้อารมณ์กรรมฐานจริงๆใช้นิดเดียว อารมณ์กรรมฐานที่พระพุทธเจ้าเลือกให้ เป็นอารมณ์ที่เกิดตลอดเวลา ถ้าตามรู้ ตามดู เราก็จะมีสติ ตื่นขึ้นมาได้ทั้งวัน สามารถเห็นกายตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรา เห็นจิตตามความเป็นจริงว่า จิตทุกอย่างเลยไม่เที่ยงนะ จิตดีหรือจิตเลว กุศล อกุศลเกิดแล้วดับหมดเลย บังคับก็ไม่ได้ เลือกก็ไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะแบบนี้ เรียกว่า ธรรมวิจยะ เราวิจัยธรรมะ ไม่ได้เรียนทั้งหมด เห็นไหม เราเลือกตัวอย่างของการศึกษาขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา วิชาการสมัยใหม่นะ ตามหลังมาก วิธีการศึกษา โอ้ อัศจรรย์นะพระพุทธเจ้า ท่ามกลางคนที่ใช้ศรัทธาเนี้ย พระพุทธเจ้าเกิดปัญญาได้ขนานี้

CD สวนสันติธรรม 10

480926B

17.30 – 22.56

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่