Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

คู่มือการปฏิบัติธรรม (๗) ฝึกจิตให้ย้อนกลับมารู้สึกตัวให้ได้

mp 3 (for download) : คู่มือการปฏิบัติธรรม (๗) ฝึกจิตให้ย้อนกลับมารู้สึกตัวให้ได้

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : เพราะงั้นก่อนที่เราจะมารู้กายรู้ใจตัวเองได้ เราต้องมาฝึกจิต ให้มันย้อนกลับมารู้ตัวให้ได้ก่อน ต้องรู้สึกตัวให้ได้ก่อน ถึงจะดูกายได้ ต้องรู้สึกตัวให้ได้ก่อน ถึงจะดูจิตใจของตัวเองได้ ถ้าเรารู้สึกตัวไม่ได้ มีร่างกายนะ ก็เหมือนไม่มี เราลืมมันทั้งวัน

อย่างเวลาที่เราหลงไปคิด เวลาที่เราหลงไปคิด รู้สึกไหม ร่างกายเราก็ยังอยู่นะ แต่เราลืมมัน จิตใจของเราสุขบ้างทุกข์บ้าง ดีบ้างร้ายบ้าง เวลาที่เราหลงไปคิดนี่ จิตใจก็สุขบ้างทุกข์บ้าง ดีบ้างร้ายบ้าง แต่เราไม่เห็น เรามัวแต่ไปรู้เรื่องราวที่คิด หรือไม่ก็สนใจออกนอก ไปดูคนอื่น ไปฟังเสียงข้างนอกนะ ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส เนี่ยใจเราออกนอก ไปอยู่ที่รูปที่เสียง ที่กลิ่นที่รส ไปอยู่ที่สิ่งที่มาสัมผัสร่างกาย หรือไปอยู่กับเรื่องราวที่คิดนึกนั้น เรียกว่าธรรมารมณ์ทางใจ ใจไปคิดไปนึก ไปปรุงไปแต่ง ใจมันไม่ย้อนเข้ามา ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ มันไม่สนใจตาหูจมูกลิ้นกายใจ มันสนใจที่รูปที่เสียง ที่กลิ่นที่รส ที่สัมผัส เรียกว่าโผฏฐัพพะ สัมผัสทางกาย และก็เรื่องราวที่คิดนึกทางใจ

เนี่ยมันสนใจออกนอกทั้งหมดเลย มันสนใจรูป มันไม่สนใจตา มันสนใจเสียง มันไม่สนใจหู มันสนใจกลิ่น มันไม่สนใจจมูก มันสนใจรส มันไม่สนใจลิ้น มันสนใจความเย็นความร้อน ความอ่อนความแข็ง ที่มากระทบร่างกาย ไม่สนใจร่างกาย สนใจแต่เรื่องราวที่คิดนึกปรุงแต่ง ไม่สนใจว่าจิตใจของตนเป็นอย่างไร

เนี่ยใจมันออกนอกอย่างนี้ตลอดเวลานะ เรียกว่าใจไม่ตั้งมั่น ใจไม่ถึงฐาน ใจไม่มีสมาธิ ใจมันออกไปหมด งั้นมันจะไปอยู่ที่รูปที่เสียง ที่กลิ่นที่รส ที่โผฎฐัพพะ ที่ธรรมารมณ์คือเรื่องราวต่างๆ ที่ใจไปคิดไปนึกขึ้นมา เราต้องกลับข้างให้ได้นะ อย่าปล่อยให้ใจไหลออกไปทางตา แล้วลืมตัวเอง อย่าปล่อยให้ใจไหลไปทางหู แล้วลืมตัวเอง อย่าปล่อยให้ใจไหลไปคิด แล้วลืมตัวเอง พยายามรู้สึกตัวให้มากที่สุด พยายามรู้สึก รู้สึกไป เราต้องมาฝึกที่จะรู้สึกตัว เพราะตั้งแต่เกิดมานั้น ใจเราคุ้นเคยกับความไม่รู้สึกตัว ใจเราคุ้นเคยที่จะไหลออก ไปทางตาทางหู ทางจมูกทางลิ้น ทางกาย ไหลไปคิดนึกทางใจ ใจเคยไหลออกนอกตลอดเวลา เราไม่คุ้นเคยนะ ที่จะย้อนกลับเข้ามา แล้วมารู้สึกตัวอยู่

งั้นต้องฝึก ธรรมชาติของจิตนั้น เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้  สั่งไม่ได้ แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ งั้นไม่ใช่ว่าจิตเป็นอนัตตา แล้วก็ต้องปล่อยตามเวรตามกรรม ไม่ใช่ จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ มันถูกฝึกให้ออกนอกมาตลอดตั้งแต่เกิด สนใจสิ่งภายนอกมาตลอด สังเกตไหม เราไปเยี่ยมเด็กเล็กๆ เราชอบเอามือไปล่อมัน รู้สึกไหม เห็นเด็กมันเกิดใหม่ๆนะ มือไปแกว่งหน้ามัน ล่อมันให้ออกนอกนะ เวรกรรมนะเนี่ย สอนให้เด็กส่งจิตออกนอก ตั้งแต่เล็กๆขนาดนั้นเลย เห็นไหม ใครเคยเป็นบ้าง ไปเจอเด็กแล้วต้องไปแหย่ๆ ยกมือซิ เออ เนี่ยมีกรรมนะ ไปพาเด็กส่งจิตออกนอก เห็นไหม เราถูกสอนอย่างนี้ตั้งแต่เกิดเลย เล็กๆก็ถูกสอน นี่พ่อนะนี่แม่นะ สอนไหม นี่ตัวเธอเองนะ เธอย้อนมาดูนะ มีใครสอนไหม มีแต่นี่พ่อนะนี่แม่นะ ส่วนมากจะแม่ก่อน แม่ เรียกแม่สิลูก แม่ๆๆ ให้ออกนอก ทุกอย่างมีแต่เรื่องออกนอก สมัยก่อนไม่มีอะไรให้เด็กดูนะ เอาปลาตะเพียนมาห้อยไว้ ใครเคยเห็นบ้าง ปลาตะเพียนใบลานน่ะ ใครเคยนอนดูปลาตะเพียนใบลานบ้าง มีไหม เหลือน้อยเต็มทีแล้ว ต้องรุ่นเก๋ากึ้กอย่างหลวงพ่อเลย นอนดูปลาตะเพียน ออกนอกไหม

เห็นไหมว่าเราถูกฝึก ให้ออกนอกตลอดเวลา เราไม่เคยถูกฝึก ให้ย้อนกลับมาที่ตัวเราเองเลย เพราะงั้นเราต้องฝึกนะ อยู่ๆมันไม่ย้อนเข้ามาหรอก ต้องฝึก มันเคยชินที่จะไปข้างนอก


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่บ้านจิตสบาย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

CD: บ้านจิตสบาย วันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕
File: 550805A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๒ วินาทีที่ ๖ ถึง นาทีที่ ๑๖ วินาทีที่ ๒๕

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ใจที่เป็นกลาง ไม่ปฏิเสธสิ่งแวดล้อมที่มากระทบ

mp 3 (for download) : ใจที่เป็นกลาง ไม่ปฏิเสธสิ่งแวดล้อมที่มากระทบ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงปู่บุดดา ถาวโร

หลวงปู่บุดดา ถาวโร

หลวงพ่อปราโมทย์ : ร้อนมั้ย ร้อน ไม่ร้อน จริงน่ะ ไม่จริงมั้ง มีครูบาอาจารย์หลวงปู่บุดดา น่ารัก อะไรๆท่านพอดีหมดเลย ร้อนก็ร้อนพอดี หนาวก็หนาวพอดี คนทำน้ำปานะไปถวายท่าน เห็นว่าท่านแก่แล้วต้องการวิตามินซีสูง ทำให้เปรี้ยวสุดๆเลย ตัวเองไม่ได้ชิมนะ เอาไปถวายท่าน เหลืออยู่หน่อยนึงนะแอบไปชิม โห เปรี้ยว อีกวันแก้ตัวทำให้หวาน ไปถามท่านว่าเมื่อวานน้ำปานะเปรี้ยวไปมั้ย ท่านบอกเปรี้ยวพอดี ถวายอันใหม่ไปนะท่านก็ฉันตัวเองเอามาชิมทีหลังนะ โห หวานไป ไปถามท่านนะหวานไปปล่าว ท่านบอกหวานพอดี เอากับท่านสิ

ถ้าใจพอดี คือใจไม่ปฏิเสธสิ่งแวดล้อม ใจท่านไม่ปฏิเสธ สิ่งแวดล้อมจะเป็นรูปเป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะ สิ่งที่มากระทบร่างกายความร้อนความหนาวความอ่อนความแข็ง สิ่งแวดล้อมที่มากระทบนี้ ใจท่านเป็นกลาง

ใจเป็นกลางใจไม่ดิ้นไม่ปรุงแต่ง ถ้าใจไม่ดิ้นใจไม่ปรุงแต่งใจก็ไม่ทุกข์ มันทุกข์ขึ้นมาเพราะใจมันดิ้นรนปรุงแต่ง เกิดจากมันไม่ยอมรับความจริงของสิ่งแวดล้อม สิ่งที่มากระทบทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ยอม เช่นสิ่งที่มากระทบมันไม่ดี อยากให้ดี สิ่งที่มากระทบมันไม่ดี อยากให้หายไป อยากให้หาย อยากให้สิ่งที่ดีๆมากระทบ ถ้าสิ่งดีๆมากระทบแล้วอยากให้อยู่ตลอด ไม่ยอมรับความจริงว่าทุกอย่างมันก็มาแล้วก็ไปมาแล้วก็ไป ทุกอย่างจะมาหรือไม่มาเพราะมันมีเหตุ สิ่งที่มากระทบเรานั้นจะชั่วหรือจะดีนะ มันมีเหตุ
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ก่อนฉันเช้า


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๐
Track: ๒
File: 540501A.mp3
ระหว่างวินาทีที่ ๓ ถึง นาทีที่ ๒ วินาทีที่ ๑๘

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ผู้ปฏิบัติเพ่งได้ ๔ แบบ

mp 3 (for download) : ผู้ปฏิบัติเพ่งได้ ๔ แบบ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ผู้ปฏิบัติเพ่งได้ ๔ แบบ

ผู้ปฏิบัติเพ่งได้ ๔ แบบ

หลวงพ่อปราโมทย์ : ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านสอนนะ รู้แล้วจบลงที่รู้นะ เราก็ฟังก็เพลินๆไปอย่างงั้นแหละ มันไม่จบหรอก รู้แล้วก็ปรุงแต่ง รู้แล้วหยุดไม่ได้หรอก มันยังไงก็ต้องปรุงแต่ง เพราะปัญญามันไม่พอ

บางคนก็อยากจะไม่ปรุงแต่งต่อ พอรู้อะไรแล้วก็รีบกำหนดลงไปเลย เช่น ตามองเห็นรูปกำหนดอยู่ที่ตาบ้าง กำหนดอยู่ที่รูปบ้าง กำหนดอยู่ที่ผัสสะบ้าง กำหนดอยู่ที่จิตทางตาบ้าง จิตก็นิ่งๆไปเลย เพราะจิตที่เกิดที่ตาก็เป็นอุเบกขา ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์อะไรอยู่แล้วโดยตัวมันเอง ก็คิดว่าดี จิตที่เกิดที่ตาเป็นวิบากจิต ไม่มีกุศล อกุศล ก็คิดว่าอยู่ตรงนี้แล้วดี ไปเพ่งอยู่ที่ตาบ้าง เพ่งอยู่ที่หูบ้าง เพ่งอยู่ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายบ้าง เพ่งอยู่ จิตก็เฉยๆแล้วคิดว่าดี ตรงที่จงใจเพ่งนั่นแหละทำต่อเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่รู้แล้วจบลงที่รู้ รู้แล้วมีการแทรกแซง คือตามองเห็นรูปปุ๊บ เห็นหนอ นี่ แทรกแซงนะ คิดละ นี่คิดฟุ้งซ่านไปละ หรือไปเพ่งอยู่ที่จิตที่เกิดที่ตา ตอนที่ตากระทบรูปนี่เพ่งได้สี่แบบ นี่ไม่มีใครสอนนะ สอนเอง เพ่งอะไรได้บ้าง

อันหนึ่งเพ่งรูป อันที่หนึ่งนะ  เพ่งรูปที่ตาไปเห็น

อันที่สองเพ่งจักขุประสาท ประสาทตา เพ่งได้นะ เพ่งประสาทตา เพ่งรูปออกข้างนอก เพ่งประสาทตาอยู่ข้างใน เพ่งอายตนะ

เพ่งที่สามคือ จดจ่ออยู่ที่การกระทบ อยู่ตรงจุดกระทบ ตรงที่กระทบสัมผัสทางตา

อีกอันนึงเพ่งอยู่ที่จิตที่เกิดที่ตา ทำได้สี่แบบ

บรรดานักเพ่งทั้งหลายนะ หนีไม่รอดสี่อย่างเนี้ย  นี่หลวงพ่อสรุปมาจากการสังเกตตัวอย่างมากมายของผู้ปฏิบัติ มันก็ผิดอยู่อย่างนี้แหละ ซ้ำๆซากๆเหมือนๆกันหมดแหละ ตรงที่ไปเพ่งไว้นะก็คือแทรกแซงเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่รู้แล้วจบลงที่รู้ ถ้ารู้แล้วจบลงที่รู้ทำยังไง เช่น ตามองเห็นรูป ใจมันพิจารณาเลย ใจมันพิจารณารูปนี้ อุ๊ยนี่ผู้หญิงสวย จิตก็ทำงานตอนมีราคะ

นี่มันทำของมันเองนะ เราไม่ได้ทำ นี่แหละเรียกว่ารู้แล้วจบลงที่รู้ ไม่ใช่ตามองเห็นรูปปุ๊บ จ้องเลย ไม่รู้ว่ารูปอะไร นี่รูปเฉยๆ ไม่มีผู้หญิงผู้ชาย นี่แทรกแซง เพราะงั้นตามองเห็นรูป จิตรู้ว่านี่รูปผู้หญิงสวย จิตเกิดราคะ รู้ว่ามีราคะ รู้ว่ามีราคะแล้วทำยังไง ไม่ทำอะไร ก็ดูมันไปสิ ถ้าตามดูทุกอย่างที่กำลังปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตา นี่้แหละสักว่ารู้ ไม่ได้เข้าไปแทรกแซง ถ้าเข้าไปแทรกแซงเมื่อไหร่ ไปพยายามล็อคมัน ไปพยายามห้ามมัน ไปพยายามรักษามัน

ผู้ปฏิบัตินะ อดแทรกแซงไม่ได้หรอก ชอบมาถามหลวงพ่อว่า “ทำยังไงแล้วหนูจะดี” ทำนั่นแหละแทรกแซง ทำไมไม่รู้เอาล่ะ “หนูควรจะยังไง ห้ามอะไรบ้าง อันไหนไม่ควร อันไหนควร” คิดมาก คิดมากยากนาน รู้ลงสิ รู้ลงปัจจุบันไป รู้ไปเรื่อยเลย จนปัญญามันแก่รอบขึ้นมา มันเห็นว่าทุกอย่างชั่วคราว ทุกอย่างชั่วคราว จิตมันเป็นกลางเอง

คราวนี้กระบวนการที่จิตทำงาน มันทำของมันเองนะ แต่พอตากระทบแล้วจิตพิจารณาแล้วแทนที่อกุศลจะเกิดนะ กุศลมันจะเกิดแทน สติปัญญามันจะเกิดขึ้นมาแทน ในชวนจิตมันจะกลายเป็นจิตที่เป็นกุศลขึ้นมา แต่บางทีก็อกุศลเกิด พออกุศลเกิดก็มีสติรู้ทันอีก จิตก็ขึ้นวิถีอันใหม่ ขึ้นวิถีใหม่ที่เป็นกุศล จิตก็หมุนๆๆๆไปเรื่อย

ดูเขาทำงานไปนะ ดูเขาทำงานไปเรื่อยๆ ดูเล่นๆไป วันนึงปัญญาก็แก่กล้าขึ้นมา เห็นทุกอย่างมันไหลไปเรื่อยๆ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไหลไปเรื่อยๆเหมือนดวงดาวโคจรอยู่ในท้องฟ้า ไหลไปเรื่อยๆ ไหลไปตามเหตุของมัน ไหลไปแง่ใดมุมใด ก็ไปตามหลักของมัน ตามกฎของมัน จิตใจก็ทำงานไปเคลื่อนไหวไป เราทำหน้าที่แค่รู้นะ รู้ไปเรื่อยไปวันนึงเห็นเลย มันไม่ใช่เราหรอก มันทำงานของมันได้เอง เห็นว่ามันไม่ใช่เราก็ได้โสดา เป็นพระโสดาบัน กายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา

สวนสันติธรรม
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๒๙
Track: ๑
File: 520210A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๐ วินาทีที่ ๘ ถึง นาทีที่ ๑๔ วินาทีที่ ๓๔

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ผู้ใดเห็นว่าจิตผู้รู้เที่ยง เป็นมิจฉาทิฎฐิ

mp3 for download : ผู้ใดเห็นว่าจิตผู้รู้เที่ยง เป็นมิจฉาทิฎฐิ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ผู้ใดเห็นว่าจิตผู้รู้เที่ยง เป็นมิจฉาทิฎฐิ

ผู้ใดเห็นว่าจิตผู้รู้เที่ยง เป็นมิจฉาทิฎฐิ

หลวงพ่อปราโมทย์ : ทำอย่างไรจะเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ต้องดูให้เห็นว่าจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตเองก็เกิดดับได้นะ

วิธีดูจิตที่เกิดดับนี้  จิตไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน ดูมันตรงๆจะไม่เห็นอะไร เราต้องดูอ้อมๆ ดูผ่านสิ่งอื่นเข้ามา จิตไม่ได้เกิดลอยๆ จิตไม่ได้เกิดคนเดียว จิตต้องเกิดร่วมกับสิ่งอื่น จิตเกิดร่วมกับอะไร? จิตเกิดร่วมกับเจตสิก ความรู้สึกที่ประกอบจิต จิตเกิดร่วมกับกับอะไร? จิตเกิดร่วมกับอายตนะได้ เกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจได้

เพราะฉะนั้นเราสังเกตความมีอยู่ ความเกิดดับของจิต ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความดับไปของจิต สังเกตผ่านเจตสิก และสังเกตผ่านอายตนะ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไปดูจิตตรงๆจะไม่มีให้เห็นเลย ไม่มีอะไรเลย ถ้าอยู่ๆเรานึกอยากดูจิต แล้วก็ดูปุ๊บลงไป เราจะเอาจิตไปดู เราไม่ได้ดูจิต ดูไม่ถึงจิตหรอก

หรือดูไปๆ ก็จะเห็นว่า ว่างๆ ยกตัวอย่างไปนั่งจ้องไว้อย่างนี้นะ นั่งจ้องไว้ ก็จะว่างๆ คิดว่าว่างๆเป็นจิต ว่างๆไม่ใช่จิต ว่างเป็นเจตสิก เป็นสังขารชนิดหนึ่ง ชื่อ “อากาสานัญจายตนะ” ไม่ใช่จิตหรอก

เพราะฉะนั้นถ้าอยากเห็นจิตจริงๆ อย่าเที่ยวหาจิต หลวงปู่ดูลย์เคยสอนหลวงพ่อว่า “อย่าใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปป์หนึ่งก็ไม่เจอ” สอนอย่างนี้นะ หาอีกกัปป์หนึ่งก็ไม่เจอ ไม่ต้องหามันนะ ให้เรียนรู้จากเจตสิก

ตอนที่หลวงปู่มั่นสอนหลวงปู่ดูลย์นะ ก็สอนอย่างนี้นะ หลวงปู่มั่นสอนหลวงปู่ดูลย์บอกว่า สัพเพ สังขารา เห็นไหมให้เรียนที่สังขารนะ “สัพเพ สังขารา สัพพะ สัญญา อนัตตา* สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย ไม่เที่ยง สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา ท่านสอนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นหลวงปู่ดูลย์มาดูจิต เริ่มจากอะไร ดูสังขารนะ ไม่ใช่ดูจิต

จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ ความสุขเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้น ทีแรกยังไม่รู้สึกว่าความสุขความทุกข์เกิดขึ้น แต่จะรู้สึกว่ามีเราสุขเราทุกข์นะ ต่อมาค่อยๆสังเกต อ๋อ จิตมันมีความสุขขึ้นมา จิตมันมีความทุกข์ขึ้นมา จิตมันโลภ จิตมันโกรธ จิตมันหลงขึ้นมา ถ้ายังดูไม่เป็นก็จะรู้สึกว่า จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตสุข จิตทุกข์

ถ้าค่อยๆดูนะ สติปัญญาแก่กล้าขึ้น จะเห็นว่า จิตก็อยู่ส่วนหนึ่ง ความสุขความทุกข์ก็อยู่ส่วนหนึ่ง ความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ส่วนหนึ่ง สามารถแยกเจตสิกออกจากจิตได้นะ เห็นไหม เราเรียนรู้จิต ผ่านการดูเจตสิกนะ แล้วสามารถแยกมันออกไปได้ ในที่สุดจะรู้ ว่าธรรมชาติรู้นี้ เป็นอย่างไร

ธรรมชาติรู้นี้ ไม่มีอะไร แต่เป็นแต่ธรรมชาติรู้ นี่ค่อยแยก แต่ว่าไม่ใช่เอาตัวนี้นะ ยังต้องเห็นว่าตัวนี้เองตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อีกทีหนึ่ง ถ้ายังเห็นว่าตัวรู้เที่ยง เป็นมิจฉาทิฎฐิเลย มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่งชื่อ หลวงปู่หล้า อยู่ภูจ้อก้อ ที่มุกดาหาร บอกว่าใครเห็นตัวผู้รู้เที่ยงนะ เป็นมิจฉาทิฎฐิ จิตเที่ยง เป็นมิจฉาทิฎฐิ สอนขนาดนี้นะ สอนตรงพระอภิธรรมเปี๊ยบเลย จิตก็เกิดดับ

เพราะฉะนั้นเมื่อเราเห็นตัวผู้รู้แล้ว แยกเอาเจตสิกออกไปแล้ว จะเจอตัวผู้รู้นะ บางทีก็อาศัยการรู้ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ แล้วเห็นการเกิดดับของจิตได้นะ ค่อยๆฝึกไป หมดเวลาซะแล้ว เทศน์ยังไม่จบเลย วันนี้ เอ้า… พวกเรา ไปทานข้าว…

*หมายเหตุ เคยเห็นปรากฎในที่บางแห่งว่า “สัพเพสังขารา อนิจจา สัพพะสัญญา อนัตตา” – ผู้ถอดคลิปส์


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๓
ลำดับที่ ๗
File: 530606A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๒๕ วินาทีที่ ๔๖ ถึง นาทีที่ ๒๙ วินาทีที่ ๑๕

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นไม่มีจิตที่เที่ยง เป็นตัวตนถาวร

mp3 for download: จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นไม่มีจิตที่เที่ยง เป็นตัวตนถาวร

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นไม่มีจิตที่เที่ยง เป็นตัวตนถาวร

จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นไม่มีจิตที่เที่ยง เป็นตัวตนถาวร

หลวงพ่อปราโมทย์: ตัวจิตเองเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ลองสังเกตง่ายๆ อย่างความรับรู้ทางตา เอ้า..ทุกคนช่วยกันมอง มองพัด มองมาแล้วรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ หรือรู้สึกเฉยๆที่ตา มีมั้ย ความรู้สึกที่ตาเป็นความรู้สึกแบบไหน ไม่มีเลย.. น่าสงสาร ความรับรู้ทางตาเนี่ยนะ มีเวทนาเหมือนกัน แต่เป็นเวทนาเฉยๆ ความรับรู้ทางหูล่ะ จิตที่รู้เสียงน่ะ มีสุข มีทุกข์ หรือเฉยๆ ก็คือเฉยๆนะ ก็ค่อยๆสังเกตเอานะ อย่านึกเอา ค่อยๆไปดูเอา

จิตที่ได้กลิ่นน่ะ มีสุขหรือมีทุกข์ หรือเฉยๆ สมมุติว่าเดินๆไป อยู่ๆได้กลิ่น ขณะแรกที่ได้กลิ่นใช่มั้ย จิตเฉยๆใช่มั้ย ต่อมาจิตจำได้ สัญญามันทำงานแล้ว อู๊ว์นี่กลิ่นหมาเน่า ความนี้ใจไม่เฉยๆแล้วใช่มั้ย ใจเป็นทุกข์แล้ว ใช่มั้ย จมูกได้กลิ่นจมูกไม่ทุกข์นะ หรือจิตที่ไปรู้กลิ่น จิตตัวนั้นไม่ทุกข์ แต่พอจิตคิดนะ มันเกิดทุกข์ทางใจ มันเป็นจิตอีกดวงหนึ่งนะที่ทุกข์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นการรับรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นเนี่ย จิตเหล่านี้เป็นอุเบกขาทั้งหมดเลย ไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์หรอก เฉยๆ แล้วมันค่อยมาสุขมาทุกข์ตอนให้ค่าที่ใจ

จิตที่รู้สัมผัสทางกาย มีสุขมีทุกข์มั้ย.. มี ไม่เหมือนกับทางตานะ ตามองเห็นรูป เป็นอุเบกขา แต่การกระทบทางกายมีสุขมีทุกข์ได้ จิตที่รับรู้อารมณ์สดๆร้อนๆเนี่ย จิตตัวนี้รู้ไม่ทุกข์ รู้นะ

เนี่ยจิตก็ทำหน้าที่ของจิตนะ คือทำหน้าที่รู้อารมณ์ไป บางทีรู้อารมณ์อย่างนี้ รู้ทางทวารนี้มันเฉยๆ รู้ทางทวารนี้มันสุขมันทุกข์ได้ รู้ทางทวารนี้มันสุขมันทุกข์มันเฉยๆได้ นี่ มีหลายแบบแน่ะ รู้ทางใจ มีสุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ เฉยๆก็ได้ ใช่มั้ย

เพราะฉะนั้นจิตก็ทำหน้าที่ของจิตนะ ทำหน้าที่รู้ไป บางทีก็ประกอบด้วยความสุข บางทีก็ประกอบด้วยความทุกข์ บางทีก็ประกอบด้วยความเฉยๆ

จิตที่ประกอบด้วยความสุข ก็เป็นจิตคนละดวงกับจิตที่ประกอบด้วยความทุกข์ ไม่เกิดร่วมกัน จิตที่มีความทุกข์กับจิตเฉยๆ ก็คนละแบบคนละดวงกัน จิตเองก็เกิดดับไปเรื่อยๆนะ หมุนเวียนไปเรื่อยๆ จิตบางดวงสุข บางดวงทุกข์ บางดวงเฉยๆ จิตบางดวงก็เป็นกุศล จิตบางดวงก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นตัวจิตเองแปรปรวนตลอดนะ จิตนี้มีเยอะแยะมากเลย

ในทางตำรานะ จำแนกจิตเอาไว้ตั้ง ๘๙ ดวง แต่ของเราไม่มี ๘๙ ดวงนะ ของเรามีไม่มากเท่าไหร่ เราตัดโลกุตระจิตออกไป ไม่มีนะ มี ๘๑ ดวง ทั้ง ๘๑ ดวงเนี่ย ของคนทำฌานได้อีกส่วนหนึ่ง คนทำฌานไม่เป็นอีกส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นจิตที่เรามีจริง มีไม่ถึง ๘๑ หรอกนะ เราดูจิตที่เรามีจริงๆนะ ไม่ต้องไปดูจิตที่ไม่มีนะ

จิตโลภเรามีมั้ย จิตโกรธมีมั้ย จิตหลงมีมั้ย จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ พวกนี้มี จิตสุข จิตทุกข์ มีมั้ย จิตมีสติมีมั้ย จิตมีสติและปัญญามีมั้ย เนี่ยไม่ค่อยมีแล้ว ทำมาพยักหน้านะ ไม่ค่อยมีแล้วอันนี้

แล้วดูของมัน ดูของจริงนะ จิตทุกชนิดมันเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นเมื่อจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับนะ ไม่มีจิตที่เที่ยง เป็นตัวตนถาวร เนี่ยเราดูความจริงลงในรูปในนาม ในขันธ์ ๕ ในกายในใจ ดูลงไปเรื่อย เพื่อถอนความเห็นผิดว่ามีเรา

เพราะฉะนั้นงานหลักในทางพระพุทธศาสนา งานหลักในการปฏิบัติธรรมเนี่ย ไม่ได้ทำเพื่ออันอื่นหรอก ทำเพื่อล้างความเห็นผิด


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๓
File: 530103.mp3
ลำดับที่ ๑๒
ระหว่างนาทีที่ ๑๑ วินาทีที่ ๔๗ ถึง นาทีที่ ๑๖ วินาทีที่ ๒๕

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่