mp3 (for download): หลักการดูจิตที่ถูกต้อง ใน ๓ กาล
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
หลวงพ่อปราโมทย์ : หลักการดูจิตที่ถูกต้อง จำไว้ง่าย ๆ นะ มันต้องดูถูกต้องใน ๓ กาล กาละนะ กาละ กาล ต้องดูถูกต้องใน ๓ กาลนะ ซึ่งยากมากเหมือนกันนะ ที่เราจะดูให้ถูกต้องทั้ง ๓ กาล
กาลที่ ๑ หมายถึงก่อนจะดู ก่อนจะดูเนี่ย อย่าไปดักไว้ อย่าไปเฝ้าดู อย่าไปจ้องเอาไว้ก่อน อย่าไปรอดูนะ ให้สภาวะธรรมใด ๆ เกิดขึ้นกับจิตก่อน แล้วค่อยมีสติรู้ไป เรียกว่าตามรู้นะ ให้มันโกรธขึ้นมาก่อน แล้วรู้ว่าโกรธ ให้มันโลภขึ้นมาก่อน แล้วรู้ว่าโลภ ให้ใจลอยไปก่อน แล้วรู้ว่าใจลอย นี่คือกฎข้อที่ ๑ ถ้าเราไปดักดูแล้วมันจะนิ่ง ทำไมเราต้องไปดักดู หลายคนพอคิดถึงการดูจิต ก็จ้องปึกเลย แล้วทุกอย่างก็นิ่งหมดเลยนะ มันเกิดจากความอยากดู ตัณหามันเกิดก่อน อยากปฏิบัติ อยากดูจิต พออยากดูจิตก็เข้าไปจ้อง ไปรอดู พอเข้าไปจ้องไปรอดู มันคือการเพ่งนะ เมื่อไรเพ่ง เมื่อนั้นจิตก็นิ่ง ไม่แสดงไตรลักษณ์ ไม่แสดงความจริงให้ดู ฉะนั้น กฎข้อที่ ๑ นะให้สภาวะธรรมเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยมีสติตามรู้ไป ตามรู้อย่างกระชั้นชิด อย่าไปดักรอดูด้วยความโลภที่อยากปฏิบัตินะ นี่ข้อที่ ๑ อย่าดักดู พวกเรามีคนไหนดักดูไหม เวลาดูจิต เอ้าช่วยยกมือ โชว์ตัวหน่อย พวกดักดู ดักทุกคนแหล่ะ พวกที่ไม่ยกเพราะดูไม่ออก หรือไม่ก็ขี้เกียจยกนะ ส่วนใหญ่พอคิดถึงการปฏิบัติก็เริ่มควาน ๆ ก่อนใช่ไหม เริ่มนึกจะดูอะไรดี ควาน ๆ ๆ อย่างนั้น เจออันนี้แหล่ะว้า จ้องไปอย่างนั้น จ้อง… ใจก็จะนิ่ง ๆ กลายเป็นเพ่งจิต ไม่ใช่ดูจิตล่ะ ฉะนั้นจะไม่เพ่งจิตนะ อันแรกเลยอย่าไปดักดู ให้สภาวะเกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยรู้
กาลที่ ๒ หรือลำดับที่ ๒ คือ ขณะที่ดู ก่อนดูไม่ไปดักดู ขณะดูอย่าถลำลงไปจ้องนะ ดูแบบคนวงนอก นี่เป็นกฏข้อสำคัญอีกข้อหนึ่ง ดูแบบคนวงนอกนะ ส่วนใหญ่พอเราเห็นสภาวะธรรมเกิดขึ้นแล้ว มันจะมีตัณหา ตัณหาก็คืออยากรู้ให้ชัด พออยากรู้ให้ชัดแล้วมันจะถลำลงไปจ้องนะ คล้าย ๆ เราดู ก่อนนี้ใครเคยดูหนังจีนไหม หนังจีนสมัยก่อนนะ กำลังภายใน จ้าวยุทธภพอะไรแบบเนี่ย มันชอบมีบ่อน้ำกลม ๆ เนี่ย ใครเคยเห็นไหม ที่มีขอบปูนนะ แล้วผู้ร้ายชอบจับเอานางเอกไปโยนลงบ่อเนี่ย บางทีก็เอาคัมภีร์ไปโยนลงบ่อ คล้าย ๆ กันนะ เวลาเราจะดูของที่อยู่ก้นบ่อเนี่ย เราชะโงกลงไปดูจนหัวทิ่มลงบ่อไป อย่างนี้ใช้ไม่ได้ เราต้องดูอยู่ห่างๆ ดูอยู่ปากบ่อ อย่าถลำลงไปจนตกบ่อ พวกเราเวลาที่ดูจิตดูใจเนี่ย เราอยากดูให้ชัด ชะโงกลงไป ชะโงกลงไป ในที่สุดจิตมันถลำลงไปเพ่ง กลายเป็นเพ่งอีกล่ะ ใช่ไหม อยากดูไปดักดูนะ ก็กลายเป็นการเพ่ง พอกำลังดูอยู่ อยากดูให้ชัด ถลำลงไปจ้องอีกนะ ก็กลายเป็นการเพ่งนะ กลายเป็นเพ่งทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นกฎข้อที่ ๑ ก่อนจะรู้เนี่ย อย่าไปดักรู้ ให้สภาวะเกิดแล้ว ค่อยรู้เอา ให้มันโกรธขึ้นมาแล้วรู้ว่าโกรธ โลภขึ้นมาแล้วรู้ว่าโลภ ใจลอยแล้วรู้ว่าใจลอย สภาวะที่ ๒ ขณะที่เห็นสภาวะเกิดขึ้น ขณะที่เห็นสภาวะเกิดขึ้น เช่น เห็นความโกรธเกิดขึ้น ดูอยู่ห่าง ๆ อย่าถลำตามความโกรธไป อย่าไปจ้องใส่มัน หลวงพ่อเคยทำผิดนะ เห็นกิเลสโผล่ขึ้นมา แล้วเราจ้อง พอเราจ้องแล้วมันหดลงไป หดลึก ๆ ลงไปอยู่ข้างในนะ เราก็ตามลงไป กะว่าวันเนี่ยจะตามถึงไหนถึงกันนะ ตามลึกลงไป ควานหามันใหญ่เลย บุญนักหนานะ ไปเจอหลวงปู่สิมเข้า หลวงปู่สิมท่านเตือน ผู้รู้ ๆ ออกมาอยู่ข้างนอกนี่ ที่แท้ตกบ่อไปแล้ว ไม่เห็น ตกบ่อนะ พอรู้ทัน อ้อ…ใจมันถอนขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดูนะ เห็นสภาวะผ่านไปผ่านมา คล้าย ๆ เราเห็นคนเดินผ่านหน้าบ้าน ใจเราอยู่ต่างหาก ใจเราอยู่ในบ้าน ใจเราไม่วิ่งตามเขาไปนะ ถ้าใจเราหลงตามอารมณ์ไป หลงตามสภาวะไป มันจะรู้ได้ไม่ชัดหรอก
ข้อที่ ๓ นะ ข้อที่ ๓ คือ เมื่อรู้แล้ว อันแรกอะ ก่อนจะรู้อย่าไปดักไว้ อันที่ ๒ ระหว่างรู้อย่าถลำลงไปจ้อง อันที่ ๓ เมื่อรู้แล้วนะ รู้ด้วยความเป็นกลาง อย่าไปหลงยินดียินร้ายกับมัน ถ้าหลงยินดีหลงยินร้ายเนี่ย จิตจะเข้าไปแทรกแซง เช่น เห็นความสุขเกิดขึ้นแล้วก็ยินดีนะ ก็จะเผลอเพลินไป หรืออยากให้ความสุขอยู่นาน ๆ พอความทุกข์เกิดขึ้นก็เกลียดมัน อยากให้มันหายเร็ว ๆ นะ เนี่ยใจที่มันไม่เป็นกลาง มันจะทำให้จิตเกิดการดิ้นรน เพราะฉะนั้นถ้าใจไม่เป็นกลางนะ ให้มีสติรู้ทัน มีสติรู้ไป มันยินดีขึ้นมาก็รู้ทัน มันยินร้ายขึ้นมาก็รู้ทัน ในที่สุดใจจะเป็นกลาง รู้สภาวะทั้งหลายด้วยจิตที่เป็นกลางนะ นี่คือกฎข้อที่ ๓ คือ รู้แล้วไม่แทรกแซง มันสุขก็ได้ มันทุกข์ก็ได้ มันดีก็ได้ มันชั่วก็ได้ มันสว่างก็ได้ มันมืดก็ได้ มันหยาบก็ได้ มันละเอียดก็ได้ สภาวะทั้งหลายนั้นเสมอภาคกันในการทำวิปัสสนา เพราะสภาวะทั้งหลายนั้นไม่ว่าจะสุข ทุกข์ ดี ชั่ว หยาบ ละเอียดนะ ก็ล้วนแสดงไตรลักษณ์ เกิด-ดับเหมือน ๆ กันทั้งสิ้น ไม่ใช่จะเอาอันหนึ่ง จะเกลียดอีกอันหนึ่งนะ ใจของเราเนี่ย พอเห็นอะไรก็แล้วนะ มันจะรักอันหนึ่ง จะเกลียดอันหนึ่งอยู่เสมอแหล่ะ เช่น รักสุข เกลียดทุกข์ รักดี เกลียดชั่วนะ รักความสงบ เกลียดความฟุ้งซ่าน เนี่ยใจเราไม่เป็นกลาง เนี่ยอาจารย์อนันต์ วัดมาบจันทร์ นะ ท่านก็สอนมา ท่านบอก หลวงพ่อชาสอนมาว่า เวลาดูจิตเนี่ย ให้ดูด้วยความไม่ยินดี ไม่ยินร้ายเนี่ยหลวงพ่อชาสอนมาอย่างนี้นะ หลักอันเดียวกันนะ ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ ๆ ที่ท่านภาวนาเก่ง ๆ นะ ท่านสอนเหมือนกันหมดเลย หลวงปู่ดุลย์ก็สอนอย่างเดียวกันนะ องค์ไหนๆ ก็สอนอย่างเดียวกันนะ รู้ด้วยความเป็นกลาง หลวงปู่เทสก์ใช้สำนวนบอกรู้ด้วยความเป็นกลาง หลวงพ่อชาบอกรู้ด้วยความไม่ยินดีไม่ยินร้ายนะ บางองค์ก็ว่ารู้แล้วสักว่ารู้นะ รู้แล้วไม่แทรกแซง ก็คือสิ่งเดียวกันนั่นเอง มันเป็นยังไง รู้แล้วเป็นอย่างนั้น นี่สำนวนอาจารย์สุรวัฒน์ จิตเป็นยังไง รู้ว่าเป็นอย่างนั้น กายเป็นยังไง รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ใครไม่รู้จักอาจารย์สุรวัฒน์ พยายามรู้จักไว้นะ เพราะแกเป็นกัลยาณมิตร แกต้องน่วมแน่ ๆ เลยรอบเนี่ย… ใครฟุ้งซ่านยกมือหน่อย เห็นไหม เออ…มีผู้ร้ายปากแข็งหลายคนนะ… ฟุ้งทั้งนั้นแหล่ะนะ
จำได้ไหมข้อที่ ๑… ข้อที่ ๑ เนี่ยมันผิดพลาดตรงที่อยากปฏิบัติ..อยากปฏิบัติ ก็ไปจ้องรอดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น มันก็เลยไม่มีอะไร นอกจากความนิ่งความว่าง ข้อที่ ๒ นะ อยากรู้ให้ชัด ก็เลยถลำลงไปจ้อง ไปเพ่งเอาไว้ ไม่ให้คลาดสายตา มันก็นิ่งเหมือนกัน กลายเป็นการเพ่ง ข้อที่ ๓ นะ อยากดี อยากให้พ้นทุกข์ อยากดีนะ อยากให้สุข อยากให้สงบ อยากให้พ้นจากความฟุ้งซ่าน ก็เข้าไปแทรกแซงนะ แล้วก็เลยไม่เป็นกลาง แล้วสรุปง่าย ๆ นะ ต่อไปนี้ สภาวะอะไรเกิดขึ้นก็รู้มันอย่างที่เป็นมันเป็น รู้แล้วก็อย่าเข้าไปแทรกแซงนะ รู้สบาย ๆ รู้อยู่ห่าง ๆ รู้แบบคนวงนอก รู้ด้วยความเป็นกลาง หัดรู้อย่างนี้เรื่อย ๆ พวกเรานะสำรวจใจตัวเองให้ดี ใน ๓ ข้อเนี่ย พวกเราผิดตัวไหนบ้างนะ หลวงพ่อถามที่วัดมาแล้วนะ คำถามนี่ ใครยกมือถามหลวงพ่อ หลวงพ่อถามเลย ใน ๓ ข้อเนี่ย ผิดข้อไหน พอตอบได้นะ ไม่ต้องมาถามหลวงพ่อ รู้แล้วนี่ ถ้ารู้ว่าผิดนะ มันก็ถูกของมันเองแหล่ะนะ พอเข้าใจไหม ไม่ยากนะ ง่าย