Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

จริตสำหรับการทำสมถะและวิปัสสนา

mp 3 (for download) : จริตในการทำสมถะและวิปัสสนา

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์: กรรมฐานในสติปัฏฐาน ๔ แยก กาย เวทนา จิต ธรรม กายและเวทนา นี่กลุ่มหนึ่ง จิตและธรรม เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง จริตนิสัยของคนเราในเวลาทำสมถะกับวิปัสสนา การแยกจริตจะไม่เหมือนกัน

ถ้าเวลาเราจะทำสมถะ เราดูจริตมี ๖ อย่าง ๑) ราคจริต ๒) โทสจริต ๓) โมหจริต ๔) พุทธิจริต ๕) วิตกจริต ๖ สัทธาจริต

อย่างพวกศรัทธามากๆ เนี่ย ก็คิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงอะไรอย่างนี้นะ ใจก็สบาย สงบ พวกฟุ้งมากๆ ก็รู้ลมหายใจไป อะไรอย่างนี้นะ พวกขี้โมโห ก็เจริญเมตตา พวกบ้ากามก็พิจารณาอสุภะอะไรอย่างนี้ พิจารณาความตายอะไรไป แล้วใจก็สงบ

แต่อารมณ์จริตนิสัย จริตที่ใช้ทำวิปัสสนานะ เราแยก ๒ ส่วนเท่านั้นเอง เรียกว่า

๑) ตัณหาจริต พวกรักสุข รักสบาย รักสวย รักงาม

๒) ทิฏฐิจริต พวกเจ้าความคิด เจ้าความเห็น

- พวกตัณหาจริต มีกรรมฐานที่เหมาะคือ การดูกาย หรือ เวทนา

- พวกทิฏฐิจริต เจ้าความคิดเจ้าความเห็น มีกรรมฐานที่เหมาะคือ ดูจิต หรือ ธรรม

ทำไมแต่ละจริตต้องมี ๒ อย่าง

-พวกรักสุข รักสบาย รักสวย รักงาม ดูกาย หรือ เวทนา พวกที่ปัญญาแก่กล้าแล้วจะไปดูที่เวทนา พวกที่ยังไม่แก่กล้าดูกาย กายดูง่ายกว่าเวทนา

-พวกเจ้าความคิด เจ้าความเห็นนี่ ดูจิตเอา เห็นจิตเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง นี่ดูง่าย ถ้าปัญญามันแก่กล้าขึ้นไปก็ไปดูธัมมา เจริญธัมมานุปัสสนานะ จะเห็นความละเอียดลึกซึ้งประณีตของสภาวธรรมแต่ละอันๆ อย่างจิตตานุปัสสนาเห็น จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ ดูแค่นี้เอง ถ้าขึ้นไปถึงธัมมานุปัสสนา มันจะประณีตขึ้นไปอีก อย่างจิตมีปฏิฆะ ความไม่พอใจเกิดขึ้น มีพยาบาท พยาปาทะ ไม่พอใจ คิดถึง ตรึกถึงอารมณ์ที่ไม่พอใจเนี่ยเห็นละ ไม่ต้องรอให้โกรธ มันประณีตกว่ากัน เรารู้ด้วยว่าทำไมถึงเกิดจิตที่มีความพยาบาทขึ้น รู้ด้วยว่าทำยังไงความพยาบาทจะไม่เกิดขึ้น เห็นมั้ยจะรู้เหตุ รู้ผล รู้ลึกซึ้งลงไปอีก หรือดูโพชฌงค์ จะเห็นเลยคุณธรรมมันค่อยๆ อัพเกรดขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ดูยากกว่ากัน

พวกเราสันนิษฐานไว้ก่อนก็แล้วกันนะเพื่อความปลอดภัยว่าพวกเราอินทรีย์อ่อน อินทรีย์แข็งคงไปเรียนจากพระพุทธเจ้าแล้วคงบรรลุกันไปหมดแล้วล่ะ สมัยนั้นพวกเราบางคนก็อาจจะเคยเจอพระพุทธเจ้ามาแล้วนะ แต่เราเป็นลูกศิษย์เทวทัตนะก็เลยไม่ได้ธรรมะอะไร แล้วสำคัญผิดอะไรอย่างนี้ หรือตอนเราไปเจอพระพุทธเจ้าแต่ตอนนั้นเราเป็นเดียรถีย์ เราไปแอนตี้พระพุทธเจ้าซะด้วยซ้ำไป งั้นบารมีพวกเรานี่ ตกมาถึงรุ่นนี้ ถือว่าบารมีอ่อนก็แล้วกันนะ

งั้นคนไหนรักสุข รักสบาย รักสวย รักงาม ให้ดูกายไว้ เพราะกายนี่จะสอนให้เห็นว่าไม่สุข ไม่สบาย ไม่สวย ไม่งาม

ถ้าคนไหนเจ้าความคิดเจ้าความเห็นให้ดูจิต จิตเดี๋ยวก็ดี จิตเดี๋ยวก็ร้าย คุ้มดีคุ้มร้ายทั้งวัน เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็หายโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหายโกรธ เดี๋ยวหลง เดี๋ยวหายหลง

งั้นเราดูจริตนิสัยของตัวเอง


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๗


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๕๖
File: 570914A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๘ วินาทีที่ ๓๔ ถึงนาทีที่ ๒๒ วินาทีที่ ๑๕

ตัด/ถอดคลิปส์โดยคุณ ok2077
ตรวจทานโดยคุณ พัลวัน

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ฝึกดูจิต ฝึกด้วยจิตของคนธรรมดาๆนี่ล่ะ

mp3 for download : ฝึกดูจิต ฝึกด้วยจิตของคนธรรมดาๆนี่ล่ะ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ขอขอบคุณภาพจาก บ้านจิตสบาย

หลวงพ่อปราโมทย์ : ถ้าเราดูจิตดูใจ แต่เราไม่ชำนาญถึงฌานในอรูปนะ เราจะดูจิตในชีวิตประจำวัน ดูอยู่ข้างนอกอยู่ที่เรามีนี่แหละ

ดูจิตจะยากอะไร ใครรู้จักความสุขมั้ย รู้จักมั้ยความสุข ความสุขเกิดขึ้น ความสุขกำลังมีอยู้ รู้ว่ามีความสุขอยู่ ก็แค่นี้เอง จะยากอะไร ความสุขหายไปก็รู้ว่าความสุขหายไป ความทุกข์มีขึ้นมา รู้ว่ามีขึ้นมา ความทุกข์หายไปรู้ว่าความทุกข์หายไป ก็แค่นั้นเอง ความโลภความโกรธความหลงผุดขึ้นมา รู้ทัน ความโลภความโกรธความหลงหายไป รู้ทัน ก็แค่นั้นเอง

การดูจิตดูใจไม่ใช่เรื่องลึกลับเลย แต่ว่ามันจะตรงกันกับที่พระพุทธเจ้าสอนในสติปัฏฐาน ในจิตตานุปัสสนา “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจิตมีราคะ ให้รู้ว่ามีราคะ” เห็นมั้ยง่ายๆ ท่านไม่เห็นต้องอธิบายมากเลย ก็แค่นั้นเอง จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะรู้ว่าไม่มีราคะ จิตมีโทสะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะให้รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะให้รู้ว่าไม่มีโทสะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีโมหะ คือมีความหลง ก็รู้ว่ามีโมหะ จิตไม่มีโมหะก็รู้ว่าไม่มีโมหะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจิตฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน เมื่อจิตหดหู่ให้รู้ว่าหดหู่ ง่ายๆทั้งนั้นเลย

เราดูไป ดูใจของเราไปเรื่อย อย่าไปจ้อง อย่าไปจ้องอยู่ที่จิต เคล็ดลับของการดูจิตก็คือ ห้ามไปจ้อง ห้ามไปรอดู ว่าจะมีอะไรให้ดู ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามีความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น อย่าไปเฝ้าดูนะ ถ้าเฝ้าดูจะเป็นการเพ่งจิต แล้วจะว่างๆ จะไม่มีอะไรให้ดูเลย มีแต่ว่างๆ ว่างๆเนี่ยเป็นการเพ่งอรูป ทำได้แล้วจะไปอรูปฌานนะ ไปเป็นอรูปพรหม เป็นพรหมไม่มีรูป ไม่มีตา ไม่มีหู พวกเราตาบอดเอามั้ยล่ะ แต่อยากไปเป็นพรหมชั้นสูง พรหมชั้นสูงไม่มีตา ไม่มีหูด้วย ตาบอดด้วย หูหนวกด้วย เอามั้ยล่ะ ไม่เอาใช่มั้ยล่ะ สัมผัสโลกไม่ได้ เรียนรู้อะไรไม่ได้นะ ยกเว้นที่ชำนาญดูจิตแล้วไปเข้าไปตรงนั้น ทำต่อได้ ไม่มีกาย ไม่มีกาย

เนี่ยเราเฝ้าดูของเราง่ายๆนะ ใจเราของคนธรรมดานี่แหละ เราจะเห็นเลยว่าใจของเราเปลี่ยนแปลงทั้งวัน เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ใจของเราเปลี่ยนเพราะอะไร เพราะมีผัสสะ คือมีการกระทบอารมณ์ ตาเรามองเห็นรูป เรียกว่า เรากระทบอารมณ์ทางตา ตาไปมองเห็นรูปที่พอใจ จิตก็มีความสุขขึ้นมา จิตมีความสุขขึ้นมา ก็เกิดความพอใจ คือราคะแทรกขึ้น ตาไปเห็นรูปที่ไม่ชอบใจ ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา โทสะก็แทรกนะ โทสะก็จะแทรกเข้ามา

หูได้ยินเสียงที่ชอบใจ เสียงที่ชอบใจอาจจะไม่ไพเราะก็ได้ ยกตัวอย่างเสียงบางคนนะ เสียงฟังไม่ได้เลย แต่เรากำลังคิดถึงคนๆนั้น เป็นเพื่อนเรา แต่เสียงไม่ไพเราะเลย ได้ยินเสียงแหบๆของคนๆนี้แล้วดีใจ เพราะเป็นเสียงที่ชอบใจ อาจจะไพเราะหรือไม่ไพเราะ จะอ่อนหวานหรือไม่อ่อนหวาน ไม่สำคัญหรอก แต่เป็นเสียงที่ชอบใจ พอการกระทบกับเสียงที่ชอบใจเกิดขึ้นนะ ก็จะเกิดความสุขขึ้นมาในใจ เรารู้ว่ามีความสุข พอมีความสุขแล้วเกิดความพอใจในเสียงอันนี้ขึ้นมาเรียกว่ามีราคะ รู้ว่ามีราคะเกิดขึ้น

นี่แหละการปฏิบัติง่ายๆอย่างนี้เอง ให้ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายกระทบสัมผัส ให้ใจมันคิดนึกปรุงแต่งไปตามธรรมชาติธรรมดา ไม่ห้ามเลยสักอย่างเดียว ตามองเห็นรูปเกิดสุขเกิดทุกข์ขึ้นที่ใจ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายกระทบสัมผัส เกิดสุขเกิดทุกข์ที่ใจ มีสติรู้ทัน ใจคิดนึกปรุงแต่งไป เกิดสุขเกิดทุกข์ที่ใจ มีสติรู้ทัน รู้ทันแล้วก็เห็น เกิดสุขอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ เกิดทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ นี่แหละเรียกว่าการเจริญปัญญา จะเห็นว่าความสุขมีแล้วก็หายไป ความทุกข์มีแล้วก็หายไป ดูอยู่อย่างนี้เรื่อยๆไป

แต่ถ้าดูสุขทุกข์ไม่ทันนะ ต่อไปก็จะเป็นกุศล-อกุศล มีความสุขขึ้นมา บางทีจิตก็มีราคะ มีความทุกข์ขึ้นมา บางทีจิตก็มีโทสะขึ้นมา ดูเวทนาไม่ทัน ดูสุขทุกข์ไม่ทัน ก็มาดูกิเลสเอา ดูง่ายๆ แค่นี้เอง


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ต.บางพระ อ.ศรีราชา ชลบุรี
แผนที่ : 1 2 3
แสดงธรรมที่ วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕
File: 550804B
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๖
ระหว่างนาทีที่ ๕ วินาทีที่ ๑๔ ถึงนาทีที่ ๙ วินาทีที่ ๕๐

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เริ่มหัดภาวนา อย่าไปยุ่งหรือดัดแปลงสัญญาขันธ์

mp3 for download : เริ่มหัดภาวนา อย่าไปยุ่งหรือดัดแปลงสัญญาขันธ์

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : นี่เป็นการหัดแยกขันธ์นะ แยกขันธ์ออกเป็นส่วนๆ รูปขันธ์ก็อยู่ส่วนหนึ่ง เวทนาขันธ์อยู่ส่วนหนึ่ง สังขารขันธ์อยู่ส่วนหนึ่ง วิญญาณขันธ์อยู่ส่วนหนึ่ง ทำไมหลวงพ่อไม่พูดถึงสัญญาขันธ์ สัญญาอย่าเพิ่งไปยุ่ง สัญญาของเราตอนนี้เป็นสัญญาวิปลาส พวกเราตอนนี้ สัญญาเพี้ยนอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปยุ่งกับมัน ตอนนี้

สัญญาเพี้ยนอย่างไร มันเห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง ยกตัวอย่างนะจิตใจของเราเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เราไปเห็นว่าในนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง คนนี้กับตอนเด็กๆก็คนเดิม คนนี้ในวันนี้กับคนนี้ในวันพรุ่งนี้ก็ยังเป็นคนเดิม เราไปเห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นของทนอยู่ไม่ได้ว่าทนอยู่ได้ เห็นของบังคับไม่ได้ว่าบังคับได้ รู้สึกมั้ยว่าร่างกายมันเป็นของเรา เราสั่งได้ รู้สึกอย่างนี้ สั่งได้ไม่ตลอดหรอก

เพราะฉะนั้นสัญญาของเรายังเพี้ยนอยู่ ตอนนี้ปล่อยไปก่อน พามันดูในของจริง ในรูป ในเวทนา ในสังขาร ในจิต พามันดูของจริงตัวนี้ให้มากนะ ต่อไปพอจิตมันฉลาดขึ้นมาสัญญามันก็ถูก สัญญาตอนนี้วิปลาส ต่อไปไม่วิปลาส มันยอมรับความจริงว่า เออ.. ขันธ์ทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เนี่ยหายวิปลาสแล้ว ขันธ์ทั้งหลายเป็นทุกข์ นี่หายวิปลาสแล้ว ขันธ์ทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา หายวิปลาสแล้ว เพราะฉะนั้นสัญญาแขวนมันเอาไว้ก่อน

บางคนไปใจร้อนนะ พยายามไปดัดแปลงสัญญา เคยมีนะ คนหนึ่ง เห็นโต๊ะเรียกเก้าอี้ เห็นสีเหลืองเรียกสีแดง สุดท้ายสติแตกเลย ไม่รู้จักสมมุติบัญญัติของโลกนะ ใช้ไม่ได้นะอย่างนั้นเพี้ยน อย่าไปทำอย่างนั้น

เราดูลงไปในสติปัฏฐานใช่มั้ย ท่านสอนเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรม แต่ในธรรม (หมายถึง ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน – ผู้ถอด) จึงค่อยมีตัวสัญญาอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นตอนนี้เว้นไว้ก่อน


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันศุกร์ที่ ๒o เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

File: 550120
CD : สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๓
ระหว่างนาทีที่ ๒๐ วินาทีที่ ๕ ถึงนาทีที่ ๒๒ วินาทีที่ ๑๐

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

สติปัฎฐานคืออะไร

mp 3 (for download) : สติปัฎฐานคืออะไร

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
ขอขอบคุณ ภาพจากงาน “ธรรมะกลางเมือง”

หลวงพ่อปราโมทย์ : พวกเราที่บอกว่าเป็นชาวพุทธๆ เราเคยได้ยินคำว่าสติปัฏฐานบ้างมั้ย ใครเคยรู้จักสติปัฏฐานยก(มือ)ซิ มีมั้ย มีคนบางส่วนไม่รู้จักนะ น่าเสียดายมากเลย

    สติปัฏฐานเนี่ยเป็นการที่เรามีสติ เรียนรู้ความจริงของกายของใจนั่นแหล่ะ สติปัฏฐานมี ๔ อย่าง

  • กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติเรียนรู้ความจริงของร่างกาย ของกาย
  • เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาเรียนรู้ความจริงของเวทนา คือความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ทางกาย ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆ ทางใจ
  • จิตตานุปัสสนา มาเรียนรู้ความจริงของจิต ที่เป็นกุศลและอกุศล อย่างจิตโลภจิตโกรธจิตหลง จิตดีจิตร้ายอะไรพวกนี้ มาเรียนรู้ความจริงเหล่านี้
  • ธัมมานุปัสสนาเนี่ย เป็นการเรียนรู้ความจริง ของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ว่ามันมาได้ยังไง ทำไงมันไม่มาหรือทำไงมันจะมา อย่างนิวรณ์ทั้งหลายเนี่ย ทำไงมันจะไม่มา กิเลสทั้งหลายทำยังไงจะไม่มา กุศลอย่างโพชฌงค์ ๗ ทำยังไงจะเกิด อริยสัจทำยังไงจะรู้แจ้ง เป็นเรื่องของการเรียนรู้รูปธรรมนามธรรมทั้งหมดเลย เรียนรู้กายเรียนรู้ใจทั้งหมดในสติปัฏฐาน ๔ เนี่ย

การที่เราจะมาเรียนรู้สติปัฏฐาน ๔ นะ เราก็ต้องคอยรู้สึกตัวไว้ก่อน สติปัฏฐานเป็นเรื่องการเรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจ ถ้าเราลืมกายลืมใจ เราก็ไม่ได้เรียนรู้ความจริงของกายของใจ

เพราะนั้นก่อนที่เราจะมาเรียนรู้ความจริงของกายของใจได้ ต้องรู้สึกตัวให้เป็น ต้องให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวซะก่อน ถ้าจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเรียกว่าขาดสมาธิ จิตไม่ตั้งมั่นไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
เมื่อ วันพุธที่ ๒๘ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕

CD: แสดงธรรมที่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
File: 551128
ระหว่างนาทีที่ ๙ วินาทีที่ ๐๐ ถึง นาทีที่ ๑๐ วินาทีที่ ๔๗

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ปฏิบัติเพื่ออะไร? (๑๑) เลือกอารมณ์กรรมฐานที่เกิดบ่อย จะได้ฝึกรู้บ่อยๆ

mp 3 (for download) : ปฏิบัติเพื่ออะไร? (๑๑) เลือกอารมณ์กรรมฐานที่เกิดบ่อย จะได้ฝึกรู้บ่อยๆ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.


ขอขอบคุณ บ้านจิตสบาย ที่เอื้อเฟื้อภาพ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

หลวงพ่อปราโมทย์ : ดังนั้นเราฝึกนะจนกระทั่งเรารู้สึกขึ้นมา วิธีที่จะให้รู้ขึ้นมาก็คือ คอยไปหัดรู้ทันเวลาใจหลงไปคิด อันนี้เป็นการบ้านที่ง่ายๆเลย เพราะจิตที่หลงคิดคือจิตที่เกิดบ่อยที่สุด จิตโลภจิตโกรธอะไรนี่มีน้อยนะ จิตหลงเนี่ยมีทั้งวันเลย เพราะในขณะที่โลภ ในขณะที่โกรธเนี่ยต้องมีหลงประกอบอยู่ด้วย ถ้าไม่หลงจะไม่มีโลภ ถ้าไม่หลงจะไม่โกรธ เพราะฉะนั้นจิตหลงเนี่ยเป็นตัวสาหัสสากันเลย ถ้าเราเรียนเรื่องจิตหลงได้ เราจะภาวนาได้ทั้งวัน

กรรมฐานนะ เราควรจะเลือกกรรมฐานซึ่งมันเกิดบ่อยๆ เราจะได้ดูบ่อยๆ อย่างใจเราหลงเนี่ยหลงทั้งวัน แล้วก็รู้ ใจหลงไปแล้วรู้  มันจะเห็นสลับกันเร็ว เคยมีนะ ตอนอยู่เมืองกาญฯ มีหนุ่มคนนึงมาถามหลวงพ่อ ผมใช้สิ่งอื่นนอกจากในสติปัฏฐานได้มั้ย ที่จะมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ถามว่าจะใช้อะไร ถ้าฟ้าร้องแล้วผมจะรู้สึกตัว ปีนึงมันร้องกี่ครั้งนะ นานมาก บางวันก็ไม่ร้องตั้งหลายเดือน แสดงว่าตลอดมาเนี่ยเอ็งไม่มีสติเลยใช่มั้ย เอ็งจะมีสติตอนหน้าฝนอย่างเดียว อย่างงี้ใช้ไม่ได้

พวกเราไปดูสิอารมณ์ในสติปัฏฐานที่พระ พุทธเจ้าให้ไว้นะ เป็นอารมณ์ที่เกิดตลอดเวลา หายใจออก หายใจเข้านี่ หายใจทั้งวันมั้ย ถ้าหายใจออกรู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัว ก็รู้สึกตัวทั้งวัน ยืน เดิน นั่ง นอน มีทั้งวันใช่มั้ย ไม่ยืนก็เดิน ไม่เดินก็นั่ง ไม่นั่งก็นอน อะไรนี้ เวียนไปนี้ ถ้า ยืน เดิน นั่ง นอนรู้สึกตัว ก็รู้สึกตัวได้เกือบทั้งวันแล้ว ยกเว้นอิริยาบถประหลาดๆ เช่น กระโดดอะไรนี้นะ หรือไปว่ายน้ำ เป็นอิริยาบถ แปลกๆไป ท่านก็สอนล็อกไว้อีกอันนึงเรื่องสัมปชัญญะ เคลื่อนไหวแล้วรู้สึก ก็เคลื่อนไหวแล้วก็หยุดนิ่ง หยุดนิ่งแล้วก็เคลื่อนไหว ถ้าหยุดนิ่งก็รู้สึก เคลื่อนไหวก็รู้สึก ก็รู้สึกตัวได้ทั้งวันแล้ว อารมณ์ที่พระพุทธเจ้าให้ไว้นะเกิดทั้งวัน อารมณ์เวทนาล่ะ มีทั้งวันมั้ย สุข ทุกข์ เฉยๆก็หมุนอยู่อย่างนี้ทั้งวันใช่มั้ย ถ้าสุขก็รู้ตัว ทุกข์ก็รู้ตัว เฉยๆก็รู้ตัว ก็คือรู้ตัวได้ทั้งวัน ดูจิตดูใจล่ะ จิตหลงไปแล้วรู้ เกิดได้ทั้งวัน หลงทั้งวัน ยกเว้นบางคนนั้นขี้โลภ เจออะไรมันก็อยากตลอดเวลาเลย ความอยากเกิดถี่ยิบเลยทั้งวัน พวกนี้ก็เอาความอยากเป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่เดี๋ยวมันอยากแว้บอยากดู รู้ทัน อยากฟังรู้ทัน อยากคิดรู้ทัน พวกโลภมากนะ ดูอยากเป็นวิหารธรรม มีจิตที่อยากกับจิตที่ไม่อยาก คู่เดียวก็พอแล้ว เกิดทั้งวันแล้ว คนไหนขี้โมโหนะ อะไรนิดนึงก็โมโห อะไรนิดนึงก็ขัดใจ ก็เอาจิตที่มีโมโหนี่แหล่ะมาเป็นวิหารธรรม จิตโกรธขึ้นมาก็รู้ ขณะที่รู้ว่าโกรธนั้นคือจิตที่รู้ จิตนั้นมันโกรธ เดี๋ยวก็โกรธอีก เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็รู้ เห็นมั้ยมันจะเกิดทั้งวัน

เพราะฉะนั้นอารมณ์กรรมฐานที่เราใช้นั้นต้องเป็นอารมณ์ที่เกิดทั้งวัน เราจะได้มีสติได้ทั้งวัน หายใจ ออกรู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัว เผลอไปรู้สึกตัว รู้ รู้ทันว่าเผลอ ก็รู้สึกตัว ก็เป็นจิตที่รู้ขึ้นมา ก็รู้ว่ามีจิตที่รู้อยู่ ทุกอย่างเกิดดับ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมที่สวนสันติธรรม
เมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ก่อนฉันเช้า

CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๑
Track: ๑๓
File: 520809A
ระหว่างนาทีที่ ๒๖ วินาทีที่ ๘ ถึง นาทีที่ ๒๙ วินาทีที่ ๒๓

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ธรรมะที่ไม่เนิ่นช้า (๔) เจริญสติ

mp 3 (for download) : ธรรมะที่ไม่เนิ่นช้า (๔) เจริญสติ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : ชีวิตอย่าปล่อยให้ล่วงเปล่าๆ ต้องปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ ปฎิบัติอะไร ก่อนจะลงมือปฏิบัติ ฝึกสติเสียก่อน ถ้ามีสติก็จะมีศีล มีสติก็จะมีสมาธิ มีสติก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญญา มีสติ ต้องฝึกสติ ถ้าขาดสติซะตัวเดียวเนี่ย ศีลสมาธิปัญญาหายหมดเลย งั้นต้องมาให้มีสติ

นี้ท่านสอนมาเป็นลำดับเลยนะ ที่จะไม่เนิ่นช้า มักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร เจริญสติ วิธีเจริญสติ สติเป็นเครื่องระลึกรู้ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกาย เป็นเครื่องระลึกรู้ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ สติเกิดจากถิรสัญญา “ถิร” คนไทยใช้คำว่า เสถียร คือมันมั่นคง มันหนักแน่น แน่วแน่นะ คือรู้อย่างถิรสัญญาหมายถึงว่า มันรู้อยู่ถี่ๆ รู้อยู่บ่อยๆนะ รู้จนรู้อัตโนมัติ รู้จนจิตจำสภาวะได้แม่น เรียกว่ามีถิรสัญญา

สัญญาเป็นตัวความจำ ถิรสัญญาคือจำได้แม่นยำ จำได้แม่นยำในสภาวะของกาย จำได้แม่นยำในสภาวะของใจ พอสภาวะทางกายเกิดขึ้น สติจะเกิดขึ้น พอจำสภาวะทางจิตได้แม่น เช่นจำได้ว่าโลภเป็นยังไง โกรธเป็นไง หลงเป็นไง พอความโลภเกิดขึ้น สติจะเกิดเอง จะระลึกขึ้นได้แล้วว่า ความโลภเกิดแล้ว ถ้าจิตจำความโกรธได้แม่น พอความโกรธเกิด สติก็จะเกิดเอง อ้อ ความโกรธเกิดขึ้นแล้ว

พวกเราหัดรู้สภาวะให้มาก ร่างกายเคลื่อนไหว คอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก คอยรู้สึกไป ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด รู้สึก ร่างกายยืนเดินนั่งนอน คอยรู้สึก มีความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในกาย คอยรู้สึก ความสุขความทุกข์ในกายหายไป ก็คอยรู้สึก มีความสุขความทุกข์ความเฉยๆเกิดขึ้นในใจ ก็รู้สึก ความสุขความทุกข์ความเฉยๆดับไปจากจิตใจของเรา ก็รู้สึก มีกุศลเกิดในใจ ก็คอยรู้สึกนะ มีอกุศลเกิด โลภโกรธหลงเกิดขึ้นในจิตใจของเรา ก็คอยรู้สึก แล้วจิตวิ่งไปที่ตา คอยรู้สึก จิตวิ่งไปที่หู คอยรู้สึก จิตวิ่งไปคิด คอยรู้สึก จิตวิ่งไปเพ่ง คอยรู้สึก

เนี่ยเราคอยรู้สึกอยู่ในกาย คอยรู้สึกอยู่ในใจอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปพอร่างกายขยับ อย่างเรากำลังเผลออยู่ ขยับตัวปั๊บ ไม่ได้เจตนาขยับ เพราะร่างกายเราขยับอยู่ทั้งวันอยู่แล้ว กำลังเผลอๆอยู่ เกิดขยับตัวกริ๊กเดียวเท่านั้นเอง สติมาแล้ว รู้สึกตัวขึ้นมาแล้ว รู้เลยเห็นร่างกายมันเคลื่อนไหวอยู่ จิตมันเป็นคนดูขึ้นมา ตรงที่เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว จิตเป็นคนดู ได้สมาธิมาแล้ว การมีสติฝึกให้มาก จำสภาวะให้แม่น แล้วสติจะเกิดเอง สตินั้นเป็นอนัตตา เช่นเดียวกับสภาวะธรรมทั้งหลายทั้งปวง จิตก็เป็นอนัตตา สั่งให้มีสติไม่ได้ สติมีเหตุ สติถึงจะเกิด สติไม่มีเหตุ สติไม่เกิด

เพราะงั้นเราต้องทำเหตุของสติ คือการหัดรู้สภาวะเนืองๆ จะจำสภาวะได้แม่น เช่นความสุขเกิดขึ้นในใจ คอยรู้ ความทุกข์เกิดขึ้นในใจ คอยรู้ ความโลภความโกรธความหลง เกิดขึ้นในใจ คอยรู้ ความสุขความทุกข์ เกิดขึ้นในกาย คอยรู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหายใจ คอยรู้ คอยรู้สึกอยู่เรื่อยๆ แล้วสติจะเกิดเอง

ทันทีที่สติเกิดจิตจะเป็นกุศล เมื่อจิตเป็นกุศล อย่างเรารู้ว่าความโกรธมา พอสติระลึกได้ปุ๊บนะ ความโกรธจะดับทันทีเลย ความโกรธหรือกิเลสทั้งหลายเนี่ย จะเกิดร่วมกับสติไม่ได้ กุศลกับอกุศลไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน เหมือนแสงสว่างกับความมืดนั้น ไม่เกิดด้วยกัน แสงสว่างดับไป ความมืดก็ปรากฎขึ้น แสงสว่างปรากฎขึ้น ความมืดก็ดับไป อันนี้ก็เหมือนกุศลอกุศลทั้งหลาย กิเลสเหมือนความมืดนะ สติเหมือนแสงสว่าง ทันทีที่แสงสว่างเกิด ความมืดก็ดับไป มันจะไม่เกิดร่วมกัน

งั้นพอเราฝึกสติบ่อยๆเนี่ย กิเลสเกิดอะไรขึ้นที่จิต สติจะรู้ทันอัตโนมัติเลย โกรธแล้วนะ รู้ทันเลย โกรธ ความโกรธจะดับ เมื่อความโกรธดับ ศีลจะเกิดขึ้น เราจะไม่ทำผิดศีลเพราะความโกรธ ผิดศีลเพราะความโกรธทำอะไรได้บ้าง ไปฆ่าเค้าไปตีเค้าใช่มั้ย ไปทำลายทรัพย์สินเค้า ไปแกล้งขโมยของเค้า ไปลักขโมยเค้าเนี่ยไม่ใช่เกิดจากโลภอย่างเดียวนะ เกิดจากโกรธก็ได้ ทำลายทรัพย์สินเค้า ขโมยเค้า ไปเป็นชู้กับเค้าเพราะความโกรธก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเพราะราคะ เกลียดไอ้คนนี้มาก ไปหลอกจีบลูกสาวมันจีบเมียมันอะไรงี้ เนี่ยทำผิดศีลได้ โกรธขึ้นมาก็ไปด่าเค้า หรืิอไม่ก็ไปพูดเพราะๆ หลอกให้เค้าเหลิง เสียผู้เสียคนไปเลยอย่างนั้นก็ได้ พูจเท็จด้วยความโกรธก็ได้ โกรธขึ้นมาไปกินเหล้าได้มั้ย กินเหล้าเนี่ยเป็นตัวรองแล้วนะ ตัวนี้เป็นตัวกระตุ้นให้ขาดสติมากขึ้น

เพราะงั้นถ้าโกรธจริงๆ มันจะไปผิดศีล ๔ ข้อแรกนะ โลภขึ้นมาก็ผิดศีล ๔ ข้อได้ หรือโลภขึ้นมาไปกินเหล้าได้ ก็ผิดศีล ๕ ได้ หลงขึ้นมาก็ผิดศีลได้ทุกข้ออีกแหล่ะ เพราะงั้นถ้าเมื่อไหร่ กิเลสเกิดที่จิต เรารู้ไม่ทัน กิเลสครอบงำจิตได้ โอกาสทำผิดศีลเนี่ยจะมี ถ้ากิเลสเกิดขึ้นที่จิต เรามีสติรู้ทัน กิเลสดับไป โอกาสทำผิดศีลนั้นไม่มี เพราะงั้นถ้ามีสติ จะมีศีล


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ ก่อนฉันเช้า


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๕
Track: ๔
File: 550422.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๒๔ วินาทีที่ ๓ ถึง นาทีที่ ๒๙ วินาทีที่ ๕๒

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ปฏิบัติลำบากหรือปฏิบัติสบาย

mp 3 (for download) : ปฏิบัติลำบากหรือปฏิบัติสบาย

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ปฏิบัติลำบากหรือปฏิบัติสบาย

ปฏิบัติลำบากหรือปฏิบัติสบาย

หลวงพ่อปราโมทย์ : บางคนน่ะปฏิบัติยากต้องใช้วิธีที่โหดๆ บางคนใช้วิธีที่สบายๆได้ ทุกขาปฏิปทา พวกรู้กายก็มีทั้งทุกขาปฏิปทา-สุขาปฏิปทานะ พวกดูจิตก็มีทั้งทุกขาปฏิปทา=สุขาปฏิปทา

คือคนไหนเนี่ยกิเลสหนาราคะโทสะโมหะรุนแรงนะ ก็ต้องปฏิบัติขัดกันแรงๆ คนไหนอัธยาศัยกิเลสเบาบางแล้วก็ทำด้วยวิธีที่ง่ายๆ งั้นเราก็ไม่ได้เลือกอีกนะ อย่างบางคนเนี่ยเป็นคนที่ปราณีตกิเลสบางแล้วไปใช้วิธีโหดๆเข้า จิตก็ฟุ้งซ่านขึ้นมาอีก นี้บางคนกิเลสเยอะไปใช้วิธีปราณีตนะ กิเลสยิ่งเยอะใหญ่เลย งั้นบางคนต้องอดข้าว บางคนอดนอน บางคนเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ บางคนนั่งๆนอนๆ มีนะนั่งๆเล่นๆอะไรงี้บรรลุก็มีเหมือนกันแต่ว่าท่านนั่งเจริญสติของท่าน ท่านบอกเห็นอัตตาตัวตนกระโดดหนีลงจากกุฏิไปเฉยๆ บางองค์ก็ทำลำบาก อยู่ตามถ้ำตามเขาอดข้าวอดนอนอะไรงี้ เดินหามรุ่งหามค่ำหรือนั่งทั้งวันทั้งคืน คือแค่ไหนถึงจะพอเหมาะพอดีกับตัวเรา คอยสังเกตเอา

อย่างช่วงไหนกิเลสรุนแรงมากนี้ อย่างหนุ่มๆ(เอ่ยชื่อโยม)ราคะแรงๆ ช่วงนี้ไปนั่งดูง่ายๆชักไม่ไหว อาจจะต้องเดินต้องอะไรที่หนักขึ้น ไปดูจังหวะของเราเอง เพราะงั้นถ้ากิเลสรุนแรงนะเราก็ต้องใช้วิธีที่รุนแรงหน่อย กิเลสเบาบางลงกิเลสนุ่มๆก็ใช้วิธีนุ่มๆ เพราะงั้นการปฏิบัติก็ไม่ใช่หักโหมตลอดเวลา รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาเอา เนอะ(เอ่ยชื่อโยม) ผ่อนแบบไหนเยอะ ผ่อนหนักหรือผ่อนเบาเยอะ ผ่อนเบาเยอะนะ

คือมันต้องมีจังหวะเหมือนกัน นี้บางคนทำลำบากก็รู้เร็วก็ได้นะ บางคนลำบากก็รู้ช้า บางคนสบายรู้เร็วก็มี บางคนสบายรู้ช้าก็มี ไม่ใช่ว่าลำบากแล้วต้องรู้เร็วนะ ลำบากหรือไม่ลำบากอยู่ที่ว่า ราคะโทสะโมหะมีกำลังกล้ามั้ย ถ้ากิเลสมีกำลังกล้าก็ต้องปฏิบัติด้วยวิธีโหดๆหน่อย

อย่างกายานุปัสสนาเนี่ยถ้ากิเลสอ่อนๆไม่รุนแรงนะก็รู้อิริยาบถ ๔ เคลื่อนไหวยืนเดินนั่งนอนคู้เหยียดอะไรนี้ สัมปชัญญะรู้ไปเรื่อยๆ ถ้ากิเลสแรงกล้าก็ต้องใช้กายที่รุนแรงหน่อย อย่างดูปฏิกูลอสุภะ ดูกายเป็นอสุภะดูอะไรพวกนี้ ปฏิกูลสัญญาดูเป็นซากศพนานาชนิด ไปพิจารณาศพไปนั่งดูศพ เดี๋ยวนี้หาดูไม่ได้น้อ(เอ่ยชื่อโยม)

หรือบางคนกิเลสรุนแรงดูเวทนา เวทนาก็มีทั้งแบบอ่อนแบบเบาแบบหนัก ดูเวทนาเบาๆก็ดูเวทนาทางใจ กิเลสมันรุนแรงก็ดูเวทนาทางกายมันของหนักๆด้วยกัน

ดูจิตก็เหมือนกัน ถ้ากิเลสเราเยอะเราก็ดูจิตมีราคะโทสะโมหะฟุ้งซ่านหดหู่  ถ้าจิตเรากิเลสน้อยเราก็ดูจิตที่สงบจิตที่ไม่สงบ

งั้นกรรมฐานก็เลยมีหลายแบบ ทั้งแบบปฏิบัติลำบากกับแบบปฏิบัติสบาย

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๗ ก่อนฉันเช้า


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๗
Track: ๑
File: 471121A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๓ วินาทีที่ ๑๐ ถึง นาทีที่ ๗ วินาทีที่ ๑

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

สิ่งที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ สมถะและวิปัสสนา

mp 3 (for download) : สิ่งที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ สมถะและวิปัสสนา

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

สิ่งที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ สมถะและวิปัสสนา

สิ่งที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ สมถะและวิปัสสนา

หลวงพ่อปราโมทย์ : การปฏิบัตินะมันมี ๒ อัน อันนึงคือสมถะ อันนึงคือวิปัสสนา เนี่ยสิ่งที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง พระพุทธเจ้าท่านสอนสิ่งที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่งคือ สมถะและวิปัสสนา ๒ อัน

ท่านไม่ได้สอนว่าสิ่งที่ควรเจริญคือสมถะและวิปัสสนานะ ท่านสอนว่าสิ่งที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่งคือ สมถะและวิปัสสนา ต้องมีปัญญาประกอบ ทำสมถะไม่มีปัญญาประกอบนะก็เป็นสมถะเซื่องซึมไป สมถะทื่อๆสมถะแข็งๆซึมบ้างแข็งบ้าง หรือสมถะออกนอกใจฟุ้งออกไปรู้นู่นรู้นี่ภายนอกนั้นไม่มีสติไม่มีปัญญากำกับ ไม่ดี

เจริญวิปัสสนาก็ต้องเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง อย่างบางคนไปดูรูปดูนามดูเวทนา อย่างนั่งสมาธิมีความปวดเมื่อยเกิดขึ้นก็นั่งว่าทำยังไงจะเอาชนะเวทนาได้นั่งทนได้ตลอดคืน เวทนาไม่สามารถทำให้เราเปลี่ยนอิริยาบทได้ อันนี้ไม่ได้ทำวิปัสสนาด้วยปัญญาอันยิ่ง เห็นเวทนาจริงนะแต่เกลียดมัน อยากละมัน

เวทนานั้นอยู่ในขันธ์ ๕​ ในขันธ์ ๕ ส่วนใหญ่อยู่ในกองทุกข์ ยกเว้นตัวตัณหาตัวโลภะอะไรพวกนี้ มี ๒ หมวก หมวกนึงอยู่ในกองทุกข์ หมวกนึงอยู่ในกองสมุทัย สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นต้องรู้ รู้ตามความเป็นจริง เค้าเรียกว่ารู้ทุกข์ ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติด้วยปัญญาอันยิ่ง

งั้นอย่างจะนั่งสมาธิปวดเมื่อยขึ้นมาจะนั่งทนเอาชนะเวทนาเนี่ย อันนี้ทำผิดแล้วไม่ได้ทำด้วยปัญญาอันยิ่ง แต่ทำเพราะโลภะมันหนุนหลังอยู่ ถ้าทำสำเร็จนะนั่งสำเร็จไม่กระดุกกระดิกได้จนมันหายเมื่อยไป มันก็กูเก่งขึ้นมาอีก

งั้นที่ท่านสอนนะแต่ละคำๆของท่านมีความหมาย เราเวลาทรงจำแล้วอย่าให้มันแหว่งไป สิ่งที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่งคือ สมถะและวิปัสสนา

หมายเหตุ สัมปชัญญะ คือ ปัญญาเบื้องต้น ดังนั้นในการเจริญสมถะและวิปัสสนา จะต้องมีอย่างน้อย สัมปชัญญะ แต่สัมปชัญญะเกิดเองเดี่ยวๆไม่ได้ ต้องเกิดร่วมกับสติ ดังนั้น การเจริญสมถะและวิปัสสนา จะต้องมีสติและสัมปชัญญะประกอบด้วยเสมอ

ในแง่ของการปฏิบัติ สิ่งที่เราต้องฝึกฝน ก็คือ การมีสติ(ระลึกรู้อารมณ์)ด้วยสัมปชัญญะ(ความรู้สึกตัว) หากฝึกด้วย “การดูจิต” จะต้องเป็นการดูจิตด้วยความรู้สึกตัว


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันศุกร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ ก่อนฉันเช้า


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๒
Track: ๑๗
File: 541118A.mp3
ระหว่างวินาทีที่ ๑๗ ถึง นาทีที่ ๒ วินาทีที่ ๔๑

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

วิธีปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ไว้

mp 3 (for download) : วิธีปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ไว้

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

วิธีปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ไว้

โยม : ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมาส่งการบ้าน หลวงพ่อช่วยชี้แนะหน่อยว่านำดูสภาวะ อย่างหลงเนี่ยผมดูไม่ค่อยชัด

หลวงพ่อปราโมทย์ : เอาง่ายที่สุดเลยนะ รู้เวทนาทางใจไว้ พระพุทธเจ้าสอนเองอันนี้ว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด เพราะงั้นถ้าเราหัดดูจิตนะ เราดูสภาวะอะไรมากมายไม่เป็น ไม่ต้องตกใจ ใจมีความสุขขึ้นมารู้ทัน ความสุขหายไปรู้ทัน ใจมีความทุกข์ขึ้นมารู้ทัน ความทุกข์หายไปรู้ทัน ฝึกแค่นี้แหล่ะ

โยม : ถ้าเกิดรู้สึกเหมือนกับคืออาจจะไม่แน่ใจว่าเป็นการพยายามทำเองรึเปล่าครับ คือมักจะเคยชินกับการดูเป็นสภาวะมากกว่าว่า…

หลวงพ่อปราโมทย์ : มันจงใจดูไป จงใจดูเนี่ย จิตมันจะเคลื่อนไปดู มันไม่อยู่ห่างๆนะ มันไหลเข้าไป ถ้าไหลเข้าไปปัญญาไม่เกิด สมาธิไม่ตั้งมั่น เพราะงั้นระวังเรื่องจิตไหลไป เวลาตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์นะ ความสุขเกิดขึ้น แค่รู้ ความทุกข์เกิดขึ้น แค่รู้ ความสุขความทุกข์เกิดขึ้นแล้วหายไปก็แค่รู้ เราจะเห็นเลยว่าสุขก็ชั่วคราวทุกข์ก็ชั่วคราว ถ้าเห็นตรงนี้ได้นะใจก็จะไม่หิวความสุข ใจก็จะไม่เกลียดความทุกข์ ใจก็จะไม่ดิ้น

ตัวเวทนาเนี่ยเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ถ้าเรารู้ทันนะ ความสุขเกิดขึ้นเรารู้ทันว่ามันของชั่วคราว ใจก็ไม่มีตัณหา ใจไม่ดิ้น ความทุกข์เกิดขึ้นรู้ว่าเป็นของชั่วคราวใจก็ไม่ดิ้น ดูตรงนี้ให้มาก ธรรมะอันนี้เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าบอกว่าลัดสั้นที่สุด การรู้เท่าเวทนา เวทนาเกิดในใจเราตลอดเวลาแล้ว คอยดูไป เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ หัดดูตัวนี้ไปนะ ถ้ามีความสุขอยู่ก็รู้ มีความทุกข์ก็รู้ รู้ให้มาก เล่นตัวนี้ให้มากตัวนี้ง่าย ตัวอื่นไม่สำคัญ คือถ้าเมื่อไหร่เผลอไปมันสุขมันก็ไม่รู้ ทุกข์มันก็ไม่รู้ ถ้ามีความสุขขึ้นมาก็รู้ก็เรียกว่าไม่เผลอแล้ว

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันศุกร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ หลังฉันเช้า


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๒
Track: ๑๘
File: 541118B.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๖ วินาทีที่ ๒๑ ถึง นาทีที่ ๑๘ วินาทีที่ ๒๘

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ทางวิปัสสนา (๑๑) เมื่อแยกกายกับจิตได้ ให้อดทนฝึกต่อไปจะแยกเวทนาและสังขารได้

mp3 for download : ทางวิปัสสนา (๑๑) เมื่อแยกกายกับจิตได้ ให้อดทนฝึกต่อไปจะแยกเวทนาและสังขารได้

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ทางวิปัสสนา

ทางวิปัสสนา

หลวงพ่อปราโมทย์ : ถัดจากนั้นเรามาฝึกแยกต่อไปอีก เรานั่งต่อไปอย่างเพิ่งกระดุกกระดิก นั่งไปสักพักเราปวดเราเมื่อย ค่อยๆสังเกตอีก ความปวดความเมื่อยเมื่อตะกี้นี้ไม่มี ตอนนี้เกิดมีความปวดความเมื่อยขึ้นมา เพราะฉะนั้นความปวดความเมื่อยเนี่ย ไม่ใช่ร่างกายหรอก ร่างกายมันนั่งอยู่ก่อนนะ ความปวดความเมื่อยมันมาทีหลัง เนี่ยเราค่อยๆดูไปอย่างนี้ เราจะเห็น ความปวดความเมื่อยกับร่างกายนั้นเป็นคนละอันกัน แล้วก็ไม่ใช่จิตใจด้วย จิตใจเป็นคนดู จะเห็นเลยว่าความปวดความเมื่อยเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า นี่หัดอย่างนี้นะเราแยกได้ ๓ ชิ้นแล้ว มีร่างกาย มีเวทนาคือความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์ อย่างรู้สึกที่เราฝึกกันก็คือดูความเมื่อย อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นนั่งอยู่เดี๋ยวก็เมื่อย พอเมื่อยแล้วดูไป ความเมื่อยเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา ความเมื่อยไม่ใช่ร่างกาย ความเมื่อยไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า

ทีนี้พอนั่งไป พอมันเมื่อย ก็อย่าเพิ่งขยับ เราจะฝึกต่อ ขั้นต้นอดทนไว้ก่อน อดทนหน่อย อย่าเพิ่งกระดุกกระดิก นั่งไปแล้วพอมันปวดมากๆนะ จิตใจมันจะเริ่มทุรนทุราย กระสับกระส่าย พอนั่งมากๆนั่งปวดมากๆนะ เป็นเหน็บเป็นอะไรนะ ชักกลุ้มใจ เอ๊..นั่งนานจะเป็นอัมพาตหรือเปล่า? จะเดินได้อีกมั้ย อะไรอย่างนี้นะ ความกลุ้มใจเกิดที่ใจเกิดที่จิต ความปวดเมื่อยเกิดที่ร่างกาย ความกลุ้มใจเกิดที่จิต เพราะฉะนั้นความปวดเมื่อยกับความกลุ้มใจเนี่ย คนละอันกัน

ความปวดเมื่อยนั้นเรียกว่า เวทนาขันธ์ เป็นเวทนาขันธ์ ความกลุ้มใจความกังวลใจอะไรอย่างนี้ เรียกว่าสังขารขันธ์ คนละขันธ์ คนละกลุ่มกัน เนี่ย ค่อยๆหัดแยก แล้วความกลุ้มใจก็ไม่ใช่จิต จิตทีแรกไม่กลุ้มใจ แต่จิตตอนนี้กลุ้มใจ เพราะฉะนั้นมันเป็นคนละอันกัน หัดฝึกไปเรื่อยนะ ให้ชำนิชำนาญ

550409.23m13-25m04

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา
ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่ ห้องสุวรรณภูมิบอลรูม ชั้น ๒ อาคารบี
บจก. เตียวฮงสีลม บางพลี
วันจันทร์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕
ระหว่างเวลา ๑๓:๐๐ – ๑๕:๐๐ น.

File: 550409.mp3 (ไทย)
File: 550409.mp3 (สหรัฐอเมริกาและยุโรป)
เสียงพระธรรมเทศนา ระหว่างนาที่ ๒๓ วินาทีที่ ๑๓ ถึง นาทีที่ ๒๕ วินาทีที่ ๔

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๘) สรุปอานาปานสติ สำหรับฆราวาสคนเมือง (จบ)

mp3 for download : อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๘) สรุปอานาปานสติ สำหรับฆราวาสคนเมือง (จบ)

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๘) สรุปอานาปานสติ สำหรับฆราวาสคนเมือง (จบ)

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๘) สรุปอานาปานสติ สำหรับฆราวาสคนเมือง (จบ)

หลวงพ่อปราโมทย์ : หลวงพ่อไม่เห็นกรรมฐานใดอัศจรรย์เหมือนอานาปานสติ ลึกล้ำ จนถึงขนาดยอมรับเต็มปากเต็มคำ เต็มหัวใจเลย มันเป็นกรรมฐานของพระมหาบุรุษ ไม่ใช่กรรมฐานของคนทั่วๆไปจะเล่นได้ชำนิชำนาญหรอก

ทีนี้ พวกเราเล่นไม่ได้ทั้งหมด เราก็เลือกเอาส่วนที่เล่นได้ หายใจแล้วรู้สึกตัวไป หายใจไปแล้วจิตหนีไปคิด คอยรู้ทัน ทำตรงนี้ให้ได้ หายใจไป จิตหนีไปคิดแล้วรู้ทัน จิตหนีไปคิดแล้วรู้ทัน จิตจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา พอจิตเป็นผู้รู้แล้วจะดูกายดูใจก็ดูไปเลย ไม่ต้องไปเข้าฌานก็ได้ เอาแค่ว่าหายใจไป เห็นกายมันหายใจ ไม่ใช่ตัวเราหายใจ หายใจไปจิตใจมีความสุขความทุกข์ เห็นมันสุขมันทุกข์ของมันได้เอง หายใจไปแล้วก็เกิดกุศลบ้าง เกิดอกุศลบ้าง เช่น เกิดฟุ้งซ่าน หายใจแล้วมีฟุ้งซ่านมีไหม ส่วนใหญ่นั่นแหละหายใจแล้วฟุ้งซ่าน ใช่ไหม ก็ดูไป จิตมันฟุ้งซ่าน เราเป็นแค่คนดู ดูไปๆมันก็เลิกฟุ้งของมันไปเอง ฟุ้งซ่านมันก็ไม่เที่ยง เห็นแต่ของไม่เที่ยง มีความสงบเกิดขึ้น หายใจสบายๆ มันสงบขึ้นมา มันก็อยู่ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็หายไปอีก นี้เราฝึกแค่นี้ก็พอแล้ว

หายใจไป จิตหนีไปแล้วรู้ทัน มันจะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา ถัดจากนั้นเห็นร่างกายหายใจ ไม่ใช่ตัวเรา อันนี้เดินปัญญาด้วยการดูกาย ถ้าจะเดินปัญญาด้วยการดูจิตก็หายใจไป มีความสุขก็รู้ มีความทุกข์ก็รู้ เฉยๆก็รู้ หายใจไปแล้วจิตเป็นกุศลก็รู้ จิตเป็นอกุศลก็รู้ บางทีเห็น ทุกอย่างชั่วคราวไปหมด

ฝึกไปอย่างนี้ เรียกว่า ปัญญานำสมาธิ มันนำสมาธิอย่างไร ความจริงมันมีสมาธิอยู่แล้ว แต่มันมีในขั้นขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ

เมื่อเดินปัญญาแก่รอบเต็มที่แล้ว จิตจะรวมเข้าอัปปนาเอง ในนาทีที่จะตัดสินความรู้บรรลุ อริยมรรค อริยผล อริยมรรค อริยผล ไม่เกิดในจิตของคนธรรมดา อริยมรรค อริยผล เกิดในฌานจิตเท่านั้น เกิดในรูปฌานก็ได้ เกิดในอรูปฌานก็ได้ แต่จะไม่เกิดในวิถีจิตปกติของมนุษย์นี้

ทีนี้ ถ้าเราเข้าฌานไม่เป็น ไม่ต้องตกใจ เจริญปัญญาให้มาก มีแค่ขณิกสมาธินะ ทุกวันพยายามไหว้พระสวดมนต์ไว้ ทำในรูปแบบ จิตหนีไปคิดแล้วรู้ทัน ฝึกให้มันมีขณิกสมาธิ แล้วมาเดินปัญญา รู้กาย รู้ใจ ในชีวิตประจำวัน ถึงเวลาก็ทำความสงบ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม รู้ทันจิตที่หนีไป หมดเวลาก็มารู้กาย รู้ใจ ในชีวิตประจำวันต่อไป ถึงวันที่ สติ สมาธิ ปัญญา แก่รอบพอ จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ รวมเอง แล้วเกิด อริยมรรค อริยผล ขึ้น อันนี้เรียกว่า ใช้ปัญญานำสมาธิ

ลึกซึ้งมาก เรื่องอานาปานสติ แต่ว่าเราฝึกง่ายๆอย่างที่หลวงพ่อบอก ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องสนใจถึงขนาด ทำอย่างไรจะเกิดฌานจิต ทำอย่างไรจะไปเดินวิปัสสนาในอุปจาระ เห็นมันไหวๆขึ้นมา แต่ส่วนมากพวกเราก็ทำได้อันนี้ คนจำนวนมากก็ทำได้ นั่งสมาธิแล้วก็เห็น ใจสงบไปเห็นมันปรุงขึ้นมา เกิดดับไป บางทีไม่รู้ว่าอะไรเกิดอะไรดับ ไม่มีชื่อ ถ้ายังมีชื่ออยู่จิตยังฟุ้งซ่านมาก บางทีเห็นแค่สิ่งบางสิ่งเกิด แล้วสิ่งนั้นดับไป อย่างนี้ก็ใช้ได้ ถ้าถึงขนาดเห็นองค์ฌานเกิดดับอย่างนี้มีน้อยเต็มที ประเภทหนึ่งในแสน หายาก ส่วนถ้าฝึกในชีวิตประจำวัน เดินปัญญาอยู่นี้ ง่าย พอทำได้สำหรับฆราวาส ที่วันๆเต็มไปด้วยความวุ่นวายนะ หายใจไป อย่าหยุดหายใจ หายใจไว้ก่อน เอ้า ต่อไปส่งการบ้าน

541106B.17m57-22m17

ขอขอบคุณพี่ maibok @wimutti.net สำหรับเนื้อหาของ clip ช่วงนี้

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา
ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่สวนสันติธรรม
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ หลังฉันเช้า

CD: 42
File: 541106B.mp3
นาทีที่ ๑๗ วินาทีที่ ๕๗ ถึง นาทีที่ ๒๒ วินาทีที่ ๑๗

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๗) สรุปอานาปานสติ กรรมฐานสำหรับมหาบุรุษ

mp3 for dowload : อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๗) สรุปอานาปานสติ กรรมฐานสำหรับมหาบุรุษ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๗) สรุปอานาปานสติ กรรมฐานสำหรับมหาบุรุษ

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๗) สรุปอานาปานสติ กรรมฐานสำหรับมหาบุรุษ

หลวงพ่อปราโมทย์ : ทำอานาปานสตินะ คลุมสติปัฏฐาน ๔ ได้ด้วย ไม่มีกรรมฐานอะไรเหมือนเลยนะ ตั้งแต่โหลยโท่ย ไม่มีสติเลย หรือทำจนเครียดสติแตกไปเลยนะ ก็เป็นไปได้ ทำอานาปานสติแล้วก็พลิกไปทางกสิณ เล่นอภิญญาก็ได้ ทำแล้วเข้าฌานเพื่อพักผ่อน ออกจากฌานมา มาเดินปัญญา ดูกายก็ได้ ดูจิตก็ได้ ทำแล้วเข้าอัปปนาสมาธิ เข้าฌาน เจริญปัญญาอยู่ในฌานเลยก็ได้ ทำแล้วเข้าฌานไม่ได้ เห็นร่างกายหายใจ-ใจเป็นคนดูอยู่ เห็นร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา นี่เดินปัญญานะ ใช้ปัญญานำสมาธิก็ได้ ไปดูจิตดูใจ หายใจไป จิตเป็นอย่างนั้นจิตเป็นอย่างนี้รู้ทัน นี่เดินปัญญาดูจิต เดินปัญญาดูกาย เดินปัญญาดูจิต แจกแจงให้ครบก็คือ การทำสติปัฏฐาน ๔ ครบทั้งหมดเลย

เห็นกายมันหายใจ ใจเป็นคนดูอยู่ เห็นกายไม่ใช่เรา เป็นกายานุปัสสนา

หายใจไปมีความสุข หายใจไปความสุขหายไป หายใจไปแล้วมีความทุกข์ หายใจแล้วความทุกข์หายไป หายใจแล้วมีอุเบกขา แล้วอุเบกขาหายไป อันนี้เป็นเวทนานุปัสสนา

หายใจแล้วฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน หายใจแล้วสงบ รู้ว่าสงบ หายใจไปแล้วจิตรวม เป็นมหัคคตะ หายใจแล้วจิตไม่รวม อย่างนี้เป็นจิตตานุปัสสนา

หายใจแล้วเห็นขันธ์กระจายตัวออกไป แต่ละขันธ์ทำงานของขันธ์ เป็นขันธบรรพ ในธัมมานุปัสสนา

หายใจไปแล้วโพชฌงค์เกิดขึ้น มีสติรู้ลมหายใจ มีความเพียรที่จะรู้ลมหายใจ มีฉันทะ หายใจแล้วสบายใจ วิริยะมันก็เกิด มีความเพียร ตามรู้ตามเห็นในตัวที่หายใจอยู่ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เรียกว่า ธัมมวิจยะ มีปีติขึ้นมา อันนี้ไม่ใช่ปีติในฌาน เป็นปีติเพราะมีปัญญา มีปีติแล้ว สติรู้ทันปีติ หายใจไปมีปีติ รู้ทัน ปีติดับ สงบเข้ามาเป็น ปัสสัทธิ แล้วเป็นสมาธิ จิตตั้งมั่น จิตเป็นอุเบกขา เห็นจิตมันเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไป เป็นลำดับ ตามหลักของโพชฌงค์ อันนี้ก็อยู่ในธัมมานุปัสสนา

หายใจไปแล้วมีนิวรณ์ขึ้นมา รู้เท่าทันนิวรณ์นั้น นิวรณ์เกิดแล้วดับไป เป็นนิวรณบรรพ อยู่ในธัมมานุปัสสนา

หายใจแล้วเห็นอริยสัจ ก็อยู่ในธัมมานุปัสสนา

หายใจแล้วมีความสุข มีความสุขแล้วตัณหาเกิด อยากได้ อยากมี อยากเป็น หายใจแล้วมีความทุกข์ ตัณหาก็เกิดอยากให้มันหายไป อยากให้ความทุกข์หายไป มีตัณหาขึ้นมาจิตใจก็มีความทุกข์ขึ้นมา เห็นปฏิจจสมุทปบาท (อยู่ในธัมมานุปัสสนา – ผู้ถอด)

ฉะนั้น หลวงพ่อไม่เห็นกรรมฐานใดอัศจรรย์เหมือนอานาปานสติ ลึกล้ำจนถึงขนาดยอมรับเต็มปากเต็มคำ เต็มหัวใจเลย มันเป็นกรรมฐานของพระมหาบุรุษ ไม่ใช่กรรมฐานของคนทั่วๆไปจะเล่นได้ชำนิชำนาญ

541106B.14m43-18m17

ขอขอบคุณพี่ maibok @wimutti.net สำหรับเนื้อหาของ clip ช่วงนี้

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา
ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่สวนสันติธรรม
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ หลังฉันเช้า

CD: 42
File: 541106B.mp3
นาทีที่ ๑๔ วินาทีที่ ๔๓ ถึง นาทีที่ ๑๘ วินาทีที่ ๑๗

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๖) สรุปอานาปานสติสำหรับผู้เดินปัญญานำสมาธิ

mp3 for download : อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๖) สรุปอานาปานสติสำหรับผู้เดินปัญญานำสมาธิ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๖) สรุปอานาปานสติสำหรับผู้เดินปัญญานำสมาธิ

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๖) สรุปอานาปานสติสำหรับผู้เดินปัญญานำสมาธิ

หลวงพ่อปราโมทย์ : ทีนี้ ถ้าทำวิปัสสนาในฌานไม่ได้ ก็ถอยออกมาจากฌาน มาเดินปัญญาพิจารณากาย ไม่ควรไปดูจิตมาก แต่บางคนก็ดูจิตได้ หลวงพ่อพุธก็สอน ออกจากสมาธิมาแล้วดูจิตที่เปลี่ยนแปลง จิตเมื่อกี้สงบ ตอนนี้ไม่สงบ จิตเมื่อกี้มีปีติ ตอนนี้ไม่มีปีติ จิตตะกี้มีความสุข ตอนนี้ไม่มีความสุข ดูความเปลี่ยนแปลง ดูตอนออกจากสมาธิมาแล้ว อันนี้ก็ถือว่าเป็นสมาธินำปัญญาด้วยการดูจิต ถ้าเป็นสมาธินำปัญญาด้วยการดูกาย ก็เห็นกายมันหายใจ ใจเป็นคนดู ดูมันต่อไปเลย เห็นเลยไม่มีตัวเรา อย่างนี้ก็ได้

ถ้าเข้าฌานไม่ได้นะ ก็ใช้ปัญญานำสมาธิ ฝึกให้จิตเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา ทำได้หลายวิธีที่จิตจะเป็นผู้รู้ผู้ดู จิตหนีไปคิดแล้วรู้ทันก็ได้ พุทโธไปจิตไปคิด รู้ทัน หายใจไปจิตหนีไปคิด รู้ทัน ถ้าเรารู้ลมหายใจอยู่แล้วจิตหนีไปคิดก็รู้ทัน นี่ ทำอานาปานสติได้จิตผู้รู้ขึ้นมา

หรือหายใจไปเห็นร่างกายมันหายใจไป จิตมันไหลไปอยู่ที่ลม รู้ทัน จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง รู้ทัน รู้ทันจิตที่ไหล จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ พอจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้แล้ว คราวนี้ก็มาเดินปัญญาต่อ

ถ้าจะเดินปัญญาด้วยการดูกาย ก็เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู จะรู้สึกเลยว่าร่างกายที่หายใจอยู่ไม่ใช่ตัวเรา เห็นร่างกายพองยุบ จิตเป็นคนดู ก็รู้ว่าร่างกายที่พองยุบเพราะลมหายใจนั้นไม่ใช่ตัวเรา

ถ้าจะเดินปัญญาด้วยการดูจิต จิตเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมาแล้ว หายใจไป หายใจไปแล้วมีความสุขก็รู้ หายใจไปแล้วมีความทุกข์ก็รู้ หายใจแล้วความสุขหายไปก็รู้ ความทุกข์หายไปก็รู้ ความสุขเกิดขึ้นก็รู้ ความสุขดับไปก็รู้ ความทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ ความทุกข์ดับไปก็รู้ อย่างนี้ก็ใช้ได้ ก็เป็น เวทนานุปัสสนา

อย่างตอนที่เรามีสติ เห็นร่างกายหายใจออก หายใจเข้า ใจเป็นผู้รู้ผู้ดู ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา นี่คือ กายานุปัสสนา ที่เป็นวิปัสสนา

หายใจไปแล้วจิตเป็นสุขขึ้นมาก็รู้ หายใจไปความสุขหายไปก็รู้ หายใจไปแล้วจิตมันทุกข์ขึ้นมา ไม่ได้เข้าฌาน หายใจบางทีก็เครียดๆ ไม่มีความสุข ก็รู้ทัน เห็นความสุขความทุกข์เกิดแล้วดับไป นี่คือ ทำอานาปานสติ แล้วก็มาถึงเวทนานุปัสสนา

หายใจไปแล้วจิตสงบก็รู้ หายใจไปแล้วจิตฟุ้งซ่านก็รู้ นี่ขึ้นมา จิตตานุปัสสนา

หายใจไปแล้วเห็นจิตมันปรุงแต่ง มันทำงานได้ เห็นรูปก็ส่วนรูป นามก็ส่วนนาม ขันธ์ ๕ แตกกระจายออกไป อันนี้ขึ้นเป็น ธัมมานุปัสสนา

หรือหายใจไปแล้วเห็นจิตใจเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงต่างๆนานา ก็เป็นธัมมานุปัสสนา

หายใจไปแล้วเวทนาเกิดขึ้น จิตมีความอยาก มีความยึดในเวทนา ความทุกข์ก็เกิดขึ้น เห็นอย่างนี้ก็เป็นธัมมานุปัสสนา

541106B.11m19-14m40

ขอขอบคุณพี่ maibok @wimutti.net สำหรับเนื้อหาของ clip ช่วงนี้

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา
ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่สวนสันติธรรม
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ หลังฉันเช้า

CD: 42
File: 541106B.mp3
นาทีที่ ๑๑ วินาทีที่ ๑๙ ถึง นาทีที่ ๑๔ วินาทีที่ ๔๐

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่