Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] จังหวะแห่งธรรม โดย คุณสันตินันท์  (Read 3049 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนไว้เมื่อ วัน พุธ ที่ 31 พฤษภาคม 2543 14:36:42

ในทางโลก มีคีตกวีประพันธ์ จังหวะดนตรี
ในทางธรรม มีปราชญ์ผู้คิดค้น จังหวะแห่งธรรม

***********************************************

ครูบาอาจารย์ที่พวกเรารู้จักและเคารพนับถือ
ส่วนมากจะเป็นพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ
ซึ่งหลักคำสอนของท่านจะเริ่มโดยให้บริกรรมพุทโธ
พอจิตสงบแล้วจึงเจริญกายคตาสติ
แล้วในขั้นสุดท้ายจึงข้ามภพข้ามชาติกันด้วยการพิจารณาจิต พิจารณาธรรม
(มีบ้างส่วนน้อย ที่ครูบาอาจารย์สายนี้บางองค์
ปรับวิธีการปฏิบัติแตกต่างจากแนวทางหลักนี้ไปบ้าง
เช่นหลวงปู่ดูลย์ จะสอนศิษย์บางท่านให้ข้ามการเจริญกายคตาสติไปเลย
หรือหลวงพ่อทูล ไม่นิยมให้ศิษย์บริกรรมพุทโธ เป็นต้น)

ที่จริงท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงพระป่าสายหลวงปู่มั่น
ยังมีท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในสายอื่นๆ อยู่อีก
เท่าที่ผมทราบแนวทางปฏิบัติของท่านก็เช่น
ท่าน ก.เขาสวนหลวง และหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ แห่งวัดสนามใน เป็นต้น

ผมเคยนำคำสอนของท่าน ก.เขาสวนหลวง มาแนะนำไว้ที่ลานธรรมแล้ว
คราวนี้จะขอนำวิธีปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน มาเล่าสู่กันฟังบ้าง
พวกเราบางท่านเคยศึกษามาแล้ว
ก็ถือว่าเป็นการทบทวนความรู้ก็แล้วกัน
เพราะหลายท่าน ยังไม่เคยศึกษาสิ่งนี้

************************************

หลวงพ่อเทียนนั้น แรกเริ่มที่ปฏิบัติ ท่านก็บริกรรมพุทโธเหมือนกัน
แต่ไม่ประสบความสำเร็จใดๆ เลย เพราะไม่ถูกจริตของท่าน
ต่อมาท่านประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม
ด้วยการเคลื่อนไหวกายอย่างเป็นจังหวะ
เพื่อสร้าง ความรู้สึกตัว
คือ "ให้รู้สึกตัว...ตื่นตัว รู้สึกใจ...ตื่นใจ"
จนกระทั่งเกิดญาน ปัญญาเป็นลำดับไปจนถึงที่สุด

โอกาสนี้ ผมขอยกธรรมคำสอนของท่านมาให้พวกเราศึกษากัน
แล้วจะพบเองครับว่า ธรรมของท่าน กับธรรมของเซ็น
ธรรมของสำนักเขาสวนหลวง และธรรมที่พวกเราปฏิบัติกันอยู่ ฯลฯ
มีแก่นสารลงกันได้เป็นเนื้อเดียว ด้วยการเจริญสติ

*************************************

ธรรมของหลวงพ่อเทียน เรื่อง "การทำความรู้สึกตัว "

สติ หมายถึง ความระลึกได้ ไม่ใช่ระลึกชาติแล้วชาติก่อนนะ
ระลึกได้เพราะการเคลื่อน การไหว การนึก การคิดนี่เอง
จึงว่า สติ-ความระลึกได้ สัมปชัญญะ-ความรู้ตัว

บัดนี้เราไม่ต้องพูดอย่างนั้น เพราะคนไทยไม่ได้(พูด)ว่า สติ "ให้รู้สึกตัว"
นี่! หลวงพ่อพูดอย่างนี้ ให้รู้สึกตัว
การเคลื่อน การไหว กระพริบตาก็รู้ หายใจก็รู้
นี่ จิตใจมันนึกคิดก็รู้
อันนี้เรียกว่า ให้มีสติก็ได้ หรือว่า ให้รู้สึกตัวก็ได้

ความรู้สึกตัวนั้น จึงมีค่ามีคุณมาก เอาเงินซื้อไม่ได้
ให้คนอื่นรู้แทนเราไม่ได้

เช่น หลวงพ่อกำ(มือ)อยู่นี่
คนอื่นมองเห็นว่า ความรู้สึก(ของ)หลวงพ่อเป็นอย่างไร?
รู้ไหม? ไม่รู้เลย
แต่คนอื่นมองเห็นว่า หลวงพ่อกำมือ
แต่ความรู้สึก(ที่)มือหลวงพ่อสัมผัสกันเข้านี่ คนอื่นไม่รู้ด้วย
คนอื่นทำ หลวงพ่อก็เห็น แต่หลวงพ่อรู้นำ(ด้วย)ไม่ได้

นี้แหละใบไม้กำมือเดียว
คือ ให้รู้การเคลื่อนไหวของรูปกายภายนอก
และให้รู้การเคลื่อนไหวของจิตใจ มันนึกคิด


การสร้างจังหวะ

การเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญานั้น
ต้องมี "วิธีการ" ที่จะนำตัวเรา ไปสู่ตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญา ได้
การทำทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีวิธีการ จึงจะเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้
ดังนั้นการมาที่นี่ต้องพยายาม
ไม่ต้องนั่งนิ่งๆ สอนกันแนะนำกัน ให้มีวิธีทำ
โดย เคลื่อนไหวอยู่เสมอ ทำเป็นจังหวะ


วิธีทำนั้น ก็ต้องนั่ง แต่ไม่ต้องหลับตา อันนี้มีวิธีทำ
นั่งพับเพียบก็ได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ก็ได้
นอนก็ได้  ยืนก็ได้ ทำความรู้สึกตัว...

การเจริญสตินั้น ท่านว่าให้ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ก็ทำความรู้สึกนี่เอง
เมื่อพูดถึงความรู้สึกแล้ว ก็พูดวิธีปฏิบัติ พร้อมๆกันไป
ทุกคนทำตามอาตมาก็ได้

เอามือวางไว้ที่ขาทั้งสองข้าง...คว่ำไว้
พลิกมือขวาตะแคงขึ้น...ทำช้าๆ...ให้รู้สึก
ยกมือขวาขึ้นครึ่งตัว...ให้รู้สึก...มันหยุดก็ให้รู้สึก
เอามือขวามาที่สะดือ...ให้รู้สึก
พลิกมือซ้ายตะแคงขึ้น...ให้รู้สึก
ยกมือซ้ายขึ้นครึ่งตัว...ให้มีความรู้สึก
เอามือซ้ายมาที่สะดือ...ให้รู้สึก
เลื่อนมือขวาขึ้นที่หน้าอก....ให้รู้สึก
เอามือขวาออกตรงข้าง...ให้รู้สึก
ลดมือขวาลงที่ขาขวา ตะแคงไว้...ให้รู้สึก
คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา ให้มีความรู้สึกตัว
เลื่อนมือซ้ายขึ้นที่หน้าอก...ให้มีความรู้สึก
เอามือซ้ายออกมาตรงข้าง...ให้มีความรู้สึก
ลดมือซ้ายออกที่ขาซ้าย ตะแคงไว้...ให้มีความรู้สึก
คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย...ให้รู้สึก
ทำต่อไปเรื่อยๆ...ให้รู้สึก

อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติ เป็นการเจริญสติ
เราไม่ต้องไปศึกษาเล่าเรียนในพระไตรปิฎกก็ได้
การไปศึกษาเล่าเรียนในพระไตรปิฎกนั้น มันเป็นพิธี คำพูดเท่านั้น
มันไม่ใช่เป็นการปฏิบัติเพื่อความเห็นแจ้ง
การปฏิบัติเพื่อความเห็นแจ้ง ทำอย่างนี้แหละ

การเดินจงกรม

เดินจงกรม ก็หมายถึง เปลี่ยนอิริยาบถนั่นเอง
ให้เข้าใจว่า เดินจงกรมเพื่ออะไร? (เพื่อ)เปลี่ยนอิริยาบถ
คือนั่งนานมันเจ็บแข้งเจ็บขา
บัดนี้ เดินหลาย (เดินมาก) มันก็เมื่อยหลังเมื่อยเอว นั่งด้านหนึ่ง
เขาเรียกว่า เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนให้เท่าๆกัน
นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง อิริยาบถทั้ง 4 ให้เท่าๆกัน
แบ่งเท่ากัน หรือไม่แบ่งเท่ากันก็ได้
เพราะว่าเราไม่มีนาฬิกานี่ น้อยมากอะไร ก็พอดีพอควร
เดินเหนื่อยแล้ว ก็ไปนั่งก็ได้ นั่งเหนื่อยแล้ว ลุกเดินก็ได้

เวลาเดินจงกรม ไม่ให้แกว่งแขนเอามือกอดหน้าอกไว้
หรือเอามือไขว้ไว้ข้างหลังก็ได้
เดินไปเดินมา ก้าวเท้าไปก้าวเท้ามา
ทำความรู้สึก แต่ไม่ได้พูดว่า "ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ"
ไม่ต้องพูด เพียงเอาความรู้สึกเท่านั้น


เดินจงกรม ก็อย่าไปเดินไวเกินไป อย่าไปเดินช้าเกินไป เดินให้พอดี
เดินไปก็ให้รู้... นี่เป็นวิธีเดินจงกรม
ไม่ใช่ว่าเดินจงกรม เดินทั้งวันไม่รู้สึกตัวเลย
อันนั้นก็เต็มทีแล้ว เดินไปจน ตาย
มันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เดินอย่างนั้น

เดินก้าวไป ก้าวมา "รู้" นี่ (เรียก)ว่า เดินจงกรม

การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

การเจริญสตินี้ ต้องทำมากๆ ทำบ่อยๆ
นั่งทำก็ได้ นอนทำก็ได้ ขึ้นรถลงเรือ ทำได้ทั้งนั้น
เวลาเรานั่งรถเมล์นั่งรถยนต์ก็ตาม
เราเอามือวางไว้บนขา พลิกขึ้น-คว่ำลงก็ได้
หรือเราไม่อยากพลิกขึ้น- คว่ำลง
เราเพียงเอามือสัมผัสนิ้วอย่างนี้ก็ได้
สัมผัสอย่างนี้ ให้มีความตื่นตัว ทำช้าๆ
หรือจะกำมือ-เหยียด มืออย่างนี้ก็ได้

ไปไหนมาไหน ทำเล่นๆไป ทำเพื่อความสนุก นี่อย่างนี้
ทำมือเดียว อย่าทำพร้อมกันสองมือสามมือ
ทำมือขวา มือซ้ายไม่ต้องทำ
ทำมือซ้ายมือขวาไม่ต้องทำ
"ไม่มีเวลาที่จะทำ" บางคนว่า
"ทำไม่ได้ มีกิเลส" เข้าใจอย่างนั้น
อันนี้ถ้าเราตั้งใจแล้ว ต้องมีเวลา
มีเวลาเพราะเราหายใจได้
เราทำการทำงานอะไร ให้มีความรู้สึกตัว
" เช่น เราเป็นครูสอนหนังสือ เวลาเราจับดินสอเอามาเขียนหนังสือ...
เรามีความรู้สึกตัว เขียนตัวหนังสือไปแล้ว... เราก็รู้
 
อันนี้เป็นการเจริญสติแบบธรรมดาๆ ศึกษาธรรมะกับธรรมชาติ
เวลาเราทานอาหาร
เราเอาช้อนเราไปตักเอาข้าวเข้ามาในปากเรา...เรามีความรู้สึกตัว
ในขณะที่เราเคี้ยวข้าว...เรามีความรู้สึกตัว
กลืนข้าวเข้าไปในท้องไปในลำคอ...เรามีความรู้สึกตัว
อันนี้เป็นการเจริญสติ


ทำให้ติดต่อกันเหมือนลูกโซ่

ที่อาตมาพูดนี้ อาตมารับรองคำสอนของพระพุทธเจ้า
และรับรองวิธีที่อาตมาพูดนี้ รับรองจริงๆ
ถ้าพวกท่านทำจริงๆแล้ว ทำให้มันติดต่อกันเหมือนลูกโซ่
หรือเหมือนนาฬิกาที่มันหมุนอยู่ตลอดเวลา
 แต่ไม่ใช่ว่าทำอย่างนี้ ให้มันเหมือนลูกโซ่ หมุนอยู่เหมือนกับนาฬิกานี่
ไม่ให้ไปทำการทำงานอื่นใดทั้งหมด
ให้ทำความรู้สึก ทำจังหวะ เดินจงกรม
อยู่อย่างนี้ตลอดเวลาหรือ - ไม่ใช่อย่างนั้น

คำว่า "ให้ทำอยู่ตลอดเวลา" นั้น
(คือ) เราทำความรู้สึก ซักผ้าซักเสื้อ ถูบ้านกวาดบ้าน ล้าง ถ้วยล้างจาน
เขียนหนังสือ หรือซื้อขายก็ได้
เพียงเรามีความรู้สึกเท่านั้น
แต่ความรู้สึกอันนี้แหละ มันจะสะสมเอาไว้ทีละเล็กทีละน้อย
เหมือนกับเราที่มีขันหรือมีโอ่งน้ำ
หรือมีอะไรก็ตามที่มันดี ที่รองรับมันดี
ฝนตกลงมา  ตกทีละนิดทีละนิด เม็ดฝนน้อยๆตกลงนานๆ
แต่มันเก็บได้ดี น้ำก็เลยเต็มโอ่งเต็มขันขึ้นมา

อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำความรู้สึก
ยกเท้าไป ยกเท้ามา ยกมือไป ยกมือมา
เรานอนกำมือ เหยียดมือ ทำอยู่ อย่างนั้น
หลับแล้วก็แล้วไป เมื่อนอนตื่นขึ้นมา เราก็ทำไป หลับแล้วก็แล้วไป
ท่านสอนอย่างนี้ เรียกว่าทำบ่อยๆ อันนี้เรียกว่า  เป็นการเจริญสติ


สรุปวิธีปฏิบัติ

ถ้าทำจังหวะให้ติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ มีความรู้สึกอยู่ทุกขณะ
ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อน ไหว อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้น
 แต่เรามาทำเป็นจังหวะ พลิกมือขึ้น คว่ำมือลง
ยกมือไป เอามือมา ก้ม เงย เอียงซ้าย เอียงขวา กระพริบตา อ้า ปาก
หายใจเข้า หายใจออก รู้สึกอยู่ทุกขณะ
จิตใจมันนึกมันคิด รู้สึกอยู่ทุกขณะ

อันนี้แหละวิธีปฏิบัติ
คือให้รู้ตัว ไม่ให้นั่งนิ่งๆ ไม่ให้นั่งสงบ คือให้มันรู้

รับรองว่าถ้าทำจริง ในระยะ 3 ปี อย่างนาน
ทำให้ติดต่อกันจริงๆนะ อย่างกลาง 1 ปี
อย่างเร็วที่ สุดนับแต่ 1 ถึง 90 วัน
อานิสงส์ไม่ต้องพูดถึงเลย
ความทุกข์จะลดน้อยไปจริงๆ ทุกข์จะไม่มารบกวนเรา

*******************************

ผมขอเสริมคำสอนของหลวงพ่อสักเล็กน้อยครับ

ประการแรก หัวใจของการปฏิบัติตามแนวทางของท่าน
คือการเจริญสติ ระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของกาย
จะเคลื่อนแบบทำจังหวะก็ได้
จะรู้อยู่ในชีวิตประจำวันก็ได้
รวมตลอดไปถึงการรู้ความรู้สึกนึกคิดด้วย

ประการที่ 2 ท่านให้รู้ความเคลื่อนไหว โดยไม่ต้องใช้ความคิดกำกับลงไป
เช่นจะเดินก็ไม่ต้องกำหนดคิดว่า ยกหนอ ย่างหนอ

ประการที่ 3 ท่านเน้นเรื่องความต่อเนื่อง
ถ้าทำต่อเนื่องก็ได้ผล ทำไม่ต่อเนื่องก็ไม่ได้ผล

ประการที่ 4 ท่านไม่เน้นเรื่องการทำความสงบ
ซึ่งจุดนี้มีข้อถกเถียงกันได้มากเหมือนกันครับ
เพราะผู้ทำความสงบก่อน แล้วเจริญสติได้ผล ก็มี
ที่เจริญสติไปเลย แล้วเกิดความสงบทีหลัง ก็มี
อันนี้คงต้องสังเกตตนเองเอาเอง
ว่าทำอย่างใดแล้วสติสัมปชัญญะดีขึ้น ก็เอาอย่างนั้นแหละ

ประเด็นสุดท้าย อันนี้ไม่ได้เสริมคำสอนของหลวงพ่อ
แต่เป็นข้อสังเกตว่า คำสอนเรื่องความรู้ตัว เป็นสิ่งที่เข้าใจยากมาก
ลูกศิษย์หลวงพ่อจำนวนมาก ก็เหมือนลูกศิษย์สำนักอื่นๆ กระทั่งสายวัดป่า
คือไปกำหนดรู้อารมณ์ในขณะที่จิตกำลังหลง กำลังเคลื่อน กำลังฝัน
แต่หลงคิดว่า กำลังรู้ตัวอยู่
แม้จะขยับมือตามจังหวะ ก็หลงอยู่กับความคิดเรื่องการเคลื่อนไหวมือบ้าง
หรือจิตเคลื่อนเข้าไปเพ่ง/แช่ อยู่กับมือบ้าง
ปัญหาเกี่ยวกับการทำความรู้จักกับ ความรู้ตัว
จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับนักปฏิบัติทั้งหลาย

หากผู้ปฏิบัติมีความรู้ตัวขึ้นเมื่อใด
รูป เวทนา สัญญา และสังขาร จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้
และไม่ใช่ตัวเราในทันทีนั้น
และในระหว่างที่รู้ตัวอยู่นั้น
ก็จะเห็นความเจริญและความเสื่อมของจิตอยู่เสมอ

เป็นการป้อนข้อมูลที่เป็นจริงให้จิตได้เรียนรู้
สวนทางกับความหลงผิดเก่าๆ ของจิต
ที่เห็นว่าขันธ์ 5 เป็นเรา เราเป็นขันธ์ 5

เมื่อจิตได้เห็นความจริงมากเข้าๆ จนยอมจำนนต่อข้อเท็จจริงแล้ว
จิตจึงจะยอมรับความจริงว่า
สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ดับไป
และไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ที่จะเป็นตัวเรา ของเรา อย่างแท้จริง


ปราศจากความรู้ตัว ผู้ปฏิบัติจะเข้ามาถึงจุดที่ว่านี้ไม่ได้เลย
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
 _/|\_ _/|\_ _/|\_ คุณสันตินันท์ นำธรรมะหลวงพ่อเทียนมาให้ศึกษา พร้อมกับเสริมความรู้ความเข้าใจสำหรับผู้ที่จะภาวนาในแนวทางท่านได้อย่างน่าสนใจมากครับ  ;D
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
จริง ๆ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกเคารพคำสอน
และนับถือหลวงพ่อปราโมทย์มาก ๆ ก็คือ
การที่หลวงพ่อมักบูชาครูบาอาจารย์อย่างมาก
แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้สอนหลวงพ่อโดยตรง ท่านก็ให้ความเคารพ
และยกย่องคำสอนของครูบาอาจารย์แทบทุกคน(ที่ตรงกับพระพุทธเจ้า)
และมักนำคำสอนนั้น ๆ มาสอนพวกเราต่อ โดยไม่ลืมบอกว่าเป็นท่านใดสอนมา
แทบไม่มีเลยที่ท่านจะยกตัวเอง หรือบอกว่าตัวเองคิดมา
เพื่อเรียกศรัทธา จะมีก็แต่บอกว่าตัวเองไม่ค่อยได้เรื่องเลยทำผิดมาทุกอย่างแล้ว
นี่กระมังที่ทำให้ผมรับคำสอนของท่านได้อย่างสนิดใจ _/|\_
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช