Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] แนวทางปฏิบัติธรรมในพระสูตร 2 : จากนิวรณ์ ถึงสมาธิ โดย คุณสันตินันท์  (Read 2722 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนไว้เมื่อ  19 ต.ค. 2542 / 11:11:03 น.

พระสูตรแรกสุดในพระไตรปิฎกคือ พรหมชาลสูตร
เป็นพระสูตรที่พระศาสดาทรงแสดงเรื่องทิฏฐิประเภทต่างๆ
และมีผู้นำมาตั้งกระทู้หลายคราวแล้ว
ผมจึงขออนุญาตไม่กล่าวถึงพรหมชาลสูตร
แต่จะเริ่มกล่าวถึงพระสูตรถัดไป คือ สามัญญผลสูตร
อันเป็นพระสูตรที่ 2 ปรากฏในทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 1 พระไตรปิฎกเล่มที่ 9

เพียงพระสูตรแรกที่ยกมานี้เราก็จะพบว่า
กระบวนการปฏิบัติธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงในพระสูตรนี้
แตกต่างออกไปบ้างจากตำราที่เราได้ยินได้ฟังกันจนคุ้นหู
คือในตำราที่เราได้ยินกันในปัจจุบันนี้
มักจะสอนกันว่า ให้ทำสมาธิเพื่อข่มนิวรณ์
จากนั้นจึงใช้จิตที่ปราศจากนิวรณ์ไปเจริญวิปัสสนา

คำสอนอย่างนี้มีปํญหากับผู้ปฏิบัติบางท่าน
ที่ไม่ว่าจะทำสมาธิอย่างไรก็ทำไม่สำเร็จ
เพราะจิตหาความสงบไม่ได้เลย
ไม่ว่าจะกำหนดลมหายใจ เพ่งกสิณ หรือเจริญอนุสติใดๆ
ดังนั้น จึงไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้เสียที

แต่สามัญญผลสูตรกลับสอนถึงขั้นตอนที่กลับข้างกับสิ่งที่เราเคยทราบ
คือท่านสอนให้ จัดการกับนิวรณ์เสียก่อน เพื่อทำสัมมาสมาธิ
อันเป็นเครื่องมือสร้างสติสัมปชัญญะและอุเบกขา
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการทำวิปัสสนา

คำสอนของท่านดังกล่าวนี้ ง่ายสำหรับการปฏิบัติ
ดังจะขอชวนเชิญพวกเราติดตามศึกษากันต่อไป

***************************************

เรื่องราวของ สามัญญผลสูตร เริ่มขึ้นอย่างงดงามดังนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับ ณ สวนอัมพวัน
ของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ใกล้พระนครราชคฤห์
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑๒๕๐ รูป
วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ เป็นวันครบ ๔ เดือน
ฤดูดอกโกมุทบาน ในราตรีเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง
พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรูเวเทหีบุตร
แวดล้อมด้วยราชอำมาตย์ประทับนั่ง ณ พระมหาปราสาทชั้นบน.
ขณะนั้น ท้าวเธอทรงเปล่งพระอุทานว่า
ดูกรอำมาตย์ ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่ารื่นรมย์หนอ
ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง ช่างงามจริงหนอ
ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่าชมจริงหนอ
ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่าเบิกบานจริงหนอ
ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง เข้าลักษณะจริงหนอ
วันนี้เราควรจะเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดดีหนอ
ซึ่งจิตของเราผู้เข้าไปหาพึงเลื่อมใสได้.

*** พระเจ้าอชาตศัตรูผู้นี้ ปลงพระชนม์พระราชบิดา
แล้วปราบดาภิเษกเป็นเจ้าผู้ครองแคว้นมคธ
ในวันที่พระราชบิดาคือพระเจ้าพิมพิสารสวรรคตนั้น
เป็นวันที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้โอรสองค์โต
และเกิดความสำนึกในความรักของพ่อที่มีต่อลูก
จึงคิดจะปลดปล่อยพระเจ้าพิมพิสารจากที่คุมขัง
แต่พระราชบิดาได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว
พระองค์จึงสำนึกผิด เสียพระทัย
และเที่ยวใช้เวลากลางคืนศึกษาธรรมะ
โดยเที่ยวไปฟังธรรมจากปรมาจารย์ต่างๆ ในยุคนั้น
แต่ยังไม่พบธรรมที่ถูกพระทัย

เมื่อทรงปรารภดังข้อความข้างต้นแล้ว
ก็ทรงได้รับคำแนะนำจากหมอชีวก ซึ่งเป็นแพทย์หลวง
ให้ไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ณ วัดป่ามะม่วงของคุณหมอเอง
เมื่อพบพระศาสดาแล้ว พระองค์ได้ทูลถาม
ถึงสามัญญผลของการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา

พระศาสดาก็ทรงชี้แจงผลประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมไปเป็นลำดับ
ซึ่งทรงเรียงลำดับตั้งแต่การมีศีล
มีอินทรียสังวรเมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง ฯลฯ
มีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกอิริยาบถ
มีความสันโดษพอใจในสิ่งที่ได้
หลังจากนั้นก็เริ่มการปฏิบัติธรรมในขั้นสมาธิ ดังนี้ ***

      [๑๒๕] ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร
สติสัมปชัญญะและสันโดษอันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว
ย่อมเสพเสนาสนะ อันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา
ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง
ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว
นั่งคู้บัลลังก์  ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้
ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท
มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาทได้
ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ
มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง
มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้
ละอุทธัจจะกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจะกุกกุจจะได้
ละวิจิกิจฉาแล้ว  เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา
ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้.


                           อุปมานิวรณ์
      [๑๒๖] ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน
การงานของเขาจะพึงสำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น
และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขา จะพึงมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา
เขาพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบการงาน
บัดนี้การงานของเราสำเร็จผลแล้ว
เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว
และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส
มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
      ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธ
ถึงความลำบาก เจ็บหนัก  บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย
สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้  และมีกำลังกาย
เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า
เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธถึงความลำบาก เจ็บหนัก
บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย
บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้
และมีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส
มีความไม่มีโรคนั้น  เป็นเหตุ ฉันใด.
      ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ
สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดี
ไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย
เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ
บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว
และเราไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส
มีการพ้นจากเรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
      ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นทาส
ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้
สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ
เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า
เมื่อก่อนเราเป็นทาส  พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น
ไปไหนตามความพอใจไม่ได้
บัดนี้ เราพ้นจากความเป็นทาสนั้นแล้ว
พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส
มีความเป็นไทยแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
      ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษ มีทรัพย์ มีโภคสมบัติ
พึงเดินทางไกลกันดาร  หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า
สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้
บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี
เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า
เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ  เดินทางไกลกันดาร
หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า
บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น
บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส
มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
      ดูกรมหาบพิตร ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้
ที่ยังละไม่ได้ในตนเหมือนหนี้  เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ
เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร
และเธอพิจารณา  เห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน
เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค
เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทยแก่ตน
เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.

***เราจะเห็นได้ว่า พระองค์ไม่ได้สอนให้เข้าฌานเพื่อข่มนิวรณ์
แต่ในขั้นเริ่มต้นปฏิบัติธรรมกรรมฐานนั้น
ท่านแนะนำให้ภิกษุพิจารณานิวรณ์ในจิตของท่าน
ถ้าพูดด้วยภาษาที่พวกเราในลานธรรมคุ้นเคยก็คือ
ทรงสอนให้ผู้ปฏิบัติดูจิตหรือสังเกตจิตใจตนเอง
เมื่อพบนิวรณ์ รู้ว่านิวรณ์มีโทษ นำทุกข์มาให้
จิตก็จะสลัดนิวรณ์ทิ้งเสีย
แล้วเข้าถึงความปราโมทย์ คือมีความร่าเริงยินดีอยู่ในจิตใจ
เมื่อจิตมีความเบิกบานแล้ว เบาสบายแล้ว จึงค่อยทำสัมมาสมาธิต่อไป***


สัมมาสมาธิที่พระองค์ทรงสอนไว้ มีดังนี้

                           รูปฌาน ๔
      [๑๒๗] เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน
ย่อมเกิดปราโมทย์  เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ
เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ
เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น.

เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน
มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง

       ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน
หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด
จะพึงใส่จุรณ์สีตัวลงในภาชนะสำริด แล้วพรมด้วยน้ำ หมักไว้
ตกเวลาเย็นก้อนจุรณ์สีตัวซึ่งยาง  ซึมไปจับติดกันทั่วทั้งหมด
ย่อมไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล
ทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า
ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

      [๑๒๘] ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง
ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน
เป็นธรรมเอก(เอโกทิภาวะ) ผุดขึ้น
เพราะวิตก วิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เธอทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง.
ดูกร  มหาบพิตร เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกมีน้ำปั่นป่วน
ไม่มีทางที่น้ำจะไหลมาได้ ทั้งในด้านตะวันออก
ด้านใต้ ด้านตะวันตก ด้านเหนือ
ทั้งฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้ว
จะพึงทำห้วงน้ำนั้นแหละให้ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็น
ไม่มีเอกเทศไหนๆ  แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมด ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้องฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละ
ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์
ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

      [๑๒๙] ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง
ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่าผู้ได้ฌานนี้
เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร  เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง
หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง
หรือดอกบัวขาว บางเหล่าซึ่งเกิดในน้ำ
เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้
ดอกบัวเหล่านั้น ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็นตลอดยอด ตลอดเง่า
ไม่มีเอกเทศไหนๆ  แห่งดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง
หรือดอกบัวขาว ทั่วทุกส่วน ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น
เอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขปราศจากปีติ
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์
ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.

      [๑๓๐]  ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง
ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข
เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะด้วยผ้าขาว
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายทุกๆ ส่วนของเขา
ที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล
เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว
ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร  นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์
ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.


มีสิ่งที่พวกเราควรศึกษาพระสูตรส่วนนี้
ด้วยความเคารพและเบิกบานอยู่หลายจุด
นับตั้งแต่การที่ท่านสอนให้เรารู้นิวรณ์ จนนิวรณ์ดับไป
เมื่อนิวรณ์อันเป็นข้าศึกของสมาธิดับไปแล้ว
จิตก็จะเกิดสมาธิขึ้นโดยง่าย
นับตั้งแต่เกิดปีติสุข แล้วเกิดธรรมอันเอกหรือเอโกทิภาวะ
ถัดจากนั้นอารมณ์ก็ประณีตเข้าตามลำดับ
คือปีติดับไป สุขดับไป เช่นเดียวกับที่นิวรณ์ดับไปเมื่อถูกรู้นั่นเอง
จนเหลือจิตที่เป็นอุเบกขา มีสติรู้อารมณ์ที่เป็นอุเบกขา
สติสัมปชัญญะก็แนบแน่นมั่นคงเข้าตามลำดับ
อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการเจริญวิปัสสนาต่อไป


จากประสบการณ์ ผู้ปฏิบัติที่ไม่มีธรรมอันเอก
ไม่มีทางเจริญวิปัสสนาได้จริง
อย่างมากที่สุดก็ทำได้เพียงการเพ่งอารมณ์ที่กำลังปรากฏ
ไม่ใช่การสักว่ารู้ว่าเห็นอารมณ์ที่กำลังปรากฏ
เพียงแต่ไม่รู้ตัวเท่านั้นว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่วิปัสสนาจริงๆ


************************************

และเพื่อให้พวกเราเข้าใจสัมมาสมาธิชัดเจนขึ้น
ผมขอยกคำอธิบายในพระอภิธรรมปิฎกมาแสดงดังนี้

พระไตรปิฎกเล่มที่ 35 สุตตันตภาชนีย์  อภิธรรมภาชนีย์  อภิธรรมปิฎก

[๖๕๒] คำว่า ประกอบด้วยวิตก วิจาร มีอธิบายว่า
วิตก มีอยู่  วิจาร มีอยู่  ใน ๒ อย่างนั้น

วิตก เป็นไฉน   ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริ
ความที่จิตแนบอยู่ในอารมณ์
ความที่จิตแนบสนิทอยู่ในอารมณ์
ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ สัมมาสังกัปปะ อันใด นี้เรียกว่า วิตก

วิจาร เป็นไฉน
ความตรอง ความพิจารณา ความตามพิจารณา ความเข้าไปพิจารณา
ความที่จิตสืบต่ออารมณ์ ความที่จิตเพ่งดูอารมณ์อยู่เนืองๆ อันใด นี้เรียกว่า วิจาร

ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว ด้วยวิตกและวิจารนี้
ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ประกอบด้วยวิตก วิจาร ด้วยประการฉะนี้

[๖๖๑] คำว่า เป็นธรรมเอกผุดขึ้นแก่ใจ
ได้แก่ ความตั้งอยู่แห่งจิต ฯลฯ  สัมมาสมาธิ

[๖๗๐] บทว่า เป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา มีอธิบายว่า อุเบกขา เป็นไฉน
ความวางเฉย กิริยาที่วางเฉย ความเพ่งเฉพาะ
ความเป็นกลางแห่งจิต  อันใด นี้เรียกว่า อุเบกขา
ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว ด้วยอุเบกขานี้
ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า เป็นผู้มีจิตเป็นอุเบกขา

[๖๗๒] คำว่า มีสติสัมปชัญญะ มีอธิบายว่า ใน ๒ อย่างนั้น

สติ  เป็นไฉน
สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ อันใด นี้เรียกว่า สติ

สัมปชัญญะ เป็นไฉน
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม
สัมมาทิฏฐิ อันใด นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ

ภิกษุ เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้ว
ด้วยสติและ  สัมปชัญญะนี้
ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า มีสติสัมปชัญญะ ด้วยประการฉะนี้

[๖๘๓] บทว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา มีอธิบายว่า
อุเบกขา  เป็นไฉน
ความวางเฉย กิริยาที่วางเฉย ความเพ่งเฉพาะ
ความเป็นกลางแห่งจิตอันใด นี้เรียกว่า อุเบกขา

สติ เป็นไฉน
สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ อันใด นี้เรียกว่า สติ
สตินี้ เปิดเผย บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว เพราะอุเบกขานี้
ด้วยเหตุนั้น  จึงเรียกว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา

************************************

ผมไม่ค่อยพบท่านผู้ใดอธิบายสัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าอย่างนี้
มีแต่กล่าวกันว่า สมาธิมีมาก่อนพระพุทธศาสนา
เป็นเรื่องของฤาษีชีพราหมณ์ ไม่มีความจำเป็นสำหรับการเจริญวิปัสสนา

ทั้งที่พระสูตรก็ดี พระอภิธรรมปิฎกก็ดี
ท่านเน้นย้ำสั่งสอนเรื่องนี้เอาไว้มากมาย
องค์ฌานแต่ละองค์ แม้จะชื่อเดียวกับฌานนอกพระพุทธศาสนา
แต่พระพุทธเจ้าท่านก็สอนพลิกเข้ามาในองค์มรรค
เช่นวิตก คือสัมมาสังกัปปะ
ธรรมเอก คือจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ (พวกเราชอบเรียกกันว่าจิตผู้รู้)
สติ คือสัมมาสติ
สัมปชัญญะ คือสัมมาทิฏฐิ

**********************************

สามัญญผลสูตร ยังไม่จบนะครับ
จะเขียนรวดเดียวก็จะยาวเกินไป ลำบากแก่ผู้อ่าน
ผมจึงขอยกส่วนที่เกี่ยวกับการพลิกจิตที่เป็นสัมมาสมาธิไปเจริญวิปัสสนา
ไปกล่าวถึงในตอนต่อไปครับ
แต่สรุปแล้วก็คือ ผมอยากชวนพวกเราอ่านพระไตรปิฎกกันดู
แล้วจะพบอะไรหลายอย่าง ที่น่าศึกษาอีกมากทีเดียว
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช