Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] แนวทางปฏิบัติธรรมในพระสูตร : ตอนที่ 1 ธรรมแท้ที่ถูกมองข้าม โดย คุณสันตินันท์  (Read 3265 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนไว้เมื่อ 11 ต.ค. 2542 / 11:03:36 น.

นักวิชาการทางศาสนาบางท่านเปรียบเทียบพระไตรปิฎกกับวิทยาการปัจจุบัน
โดยเปรียบเทียบว่า พระวินัย คือวิชานิติศาสตร์
พระสูตร คือวิชาประวัติศาสตร์
และพระอภิธรรม คือวิชาวิทยาศาสตร์

การมองว่าพระสูตรเหมือนวิชาประวัติศาสตร์ก็มีเหตุผลพอประมาณ
เนื่องจากพระสูตรเป็นเสมือนบันทึกเหตุการณ์ในครั้งพุทธกาล
เล่าถึงเรื่องราวก่อนการตรัสรู้
จนถึงเรื่องราวและกิจกรรมตลอดพระชนม์ชีพของพระศาสดา
อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดเห็นคุณค่าของพระสูตรเพียงในด้านประวัติศาสตร์
ก็ย่อมเป็นการลดค่าของพระสูตรลงอย่างมหาศาล
เนื่องจากโดยแท้จริงแล้ว พระศาสดาทรงระบุไว้
ใน มหานิพพานสูตร  ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระสุตตันตปิฎก พระไตรปิฎกเล่มที่ 10 ดังนี้

[๑๔๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า
ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว   พระศาสดาของพวกเราไม่มี
ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น
ธรรมและวินัย  อันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ
ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น  ศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา

แม้จะยกพระวัจจนะมากล่าวเช่นนี้แล้ว
บางท่านอาจจะโต้แย้งอีกว่า
พระธรรมและวินัย ที่เป็นศาสดาของพวกเราในปัจจุบัน
ตัวพระธรรมน่าจะหมายถึงพระอภิธรรมเป็นหลัก
คำกล่าวเช่นนี้เป็นการปฏิเสธความจริงที่ว่า
พระอภิธรรมปิฎก ปรากฏขึ้นสมบูรณ์ภายหลังพุทธกาลแล้ว
และมีหลักฐานยืนยันความสำคัญของพระสูตรที่ชัดเจนที่สุด
อันแสดงเจตนารมณ์ของพระศาสดาที่เห็นว่า
พระวินัยและพระสูตร คือตัวแทนพระศาสดาภายหลังปรินิพพานกาล
ดังปรากฏในมหาปรินิพพานสูตรนั้นเอง ดังนี้

[๑๑๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค
ประทับอยู่ตามความพอพระทัยในบ้านภัณฑคามแล้ว
ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า มาไปกันเถิดอานนท์
เรา จักไปยังบ้านหัตถีคาม อัมพคาม ชัมพุคาม และโภคนคร
ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงโภคนครแล้ว
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อานันทเจดีย์ ในโภคนครนั้น
ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง มหาประเทศ ๔ เหล่านี้
พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังต่อไปนี้

[๑๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
อาวุโสข้อนี้ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้
พวกเธอไม่พึงชื่นชมไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น
ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี
แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย
ถ้าสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย
ลงในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้
พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน
และภิกษุนี้จำมาผิดแล้ว
ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย
ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย
ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้
พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน
และภิกษุนี้จำมาถูกต้องแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลายพวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่หนึ่งนี้ไว้ ฯ

[๑๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
สงฆ์พร้อมทั้งพระเถระ พร้อมทั้งปาโมกข์ อยู่ในอาวาสโน้น
ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า
นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้
..........................................................
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สองนี้ไว้ ฯ

[๑๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ภิกษุผู้เป็นเถระมากรูปอยู่ในอาวาสโน้น
เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า
นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้
..........................................................
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สามนี้ไว้ ฯ

[๑๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ภิกษุผู้เป็นเถระอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว
เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระนั้นว่า
นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้
..........................................................
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สี่นี้ไว้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศทั้ง ๔ เหล่านี้ไว้ ฉะนี้แล ฯ

กล่าวโดยสรุป มหาปรินิพพานสูตร นี้เองแสดงให้เราเห็นว่า
พระศาสดาทรงกำหนดให้ พระธรรมวินัย เป็นศาสดาของพวกเราแทนพระองค์
และเมื่อมีผู้ใดกล่าวอ้างถึงพระธรรมวินัยใด ว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
ท่านก็ให้พวกเราตรวจสอบด้วยพระวินัยและพระสูตร
เพราะเราไม่อาจทูลถามขอคำชี้ขาดจากพระศาสดาได้แล้ว
ดังนั้น จึงน่าจะไม่ผิดพลาดไปได้ หากจะกล่าวว่า
พระวินัย และพระสูตรนั้นเอง คือตัวแทนพระศาสดาของพวกเราทั้งหลาย
นี้คือฐานะที่สูงยิ่ง ของพระสูตร
คือสูงกว่าสถานะของวิชาประวัติศาสตร์ในพระพุทธศาสนา
อย่างที่ผู้คงแก่เรียนบางท่านเปรียบเทียบไว้

พระสูตรเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ด้วยพระองค์เองบ้าง
พระมหาสาวกร่วมสมัยพุทธกาล แสดงไว้บ้าง
เนื้อหาสาระไม่เพียงเป็นบันทึกประวัติพระศาสนา
แต่พระสูตรยังประกอบไปด้วยสารัตถธรรมอันบริบูรณ์ที่สุด
บางส่วนเช่นพระไตรปิฎกเล่มที่ 31 อันเป็นพระสูตรว่าด้วยปฏิสัมภิทามัคค์
เนื้อหาก็คือพระอภิธรรมล้วนๆ และเป็นพระอภิธรรมที่พอเหมาะพอควร
สำหรับการเรียนรู้อันเกื้อกูลต่อการปฏิบัติอย่างแท้จริง
นอกจากในปฏิสัมภิทามัคค์แล้ว
ก็ยังปรากฏธรรมอันมีลักษณะเป็นพระอภิธรรม
กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในพระสูตรจำนวนมาก

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่งของพระสูตรก็คือ
คำสอนว่าด้วยวิธีการปฏิบัติธรรม ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมควรทราบ
มีอยู่อย่างพร้อมมูลแล้วในพระสูตร
คือมีทั้งหลักการปฏิบัติ ไปจนถึงอุบายวิธีพลิกแพลงต่างๆ ในการปฏิบัติ

ในฐานะผู้สนใจการปฏิบัติ
ผมจะยังไม่เชิญชวนพวกเราอ่านพระสูตรเพื่อศึกษาพระอภิธรรม
แต่จะหยิบยกอัญมณีสูงค่าสำหรับผู้ปฏิบัติ จากพระสูตร
ออกมาให้พวกเราได้ชื่นชมกันเป็นตอนๆ ไปตามแต่โอกาสจะอำนวย

เพราะผู้สนใจการปฏิบัติจำนวนมากในยุคนี้
มักศึกษาแนวทางปฏิบัติธรรม
เพียงแค่จากคำสอนของครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนับถือ
หรือจากตำรารุ่นหลังพุทธกาลนับพันปี
ซึ่งคำสอนหลายสิ่งหลายอย่างไม่ปรากฏในคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก
เช่นเรื่องโสฬสญาณ กรรมฐานสี่สิบ และวิถีจิต เป็นต้น
ศึกษาแล้วก็มาตั้งป้อมเถียงกันว่า การปฏิบัติที่แท้จริงต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้
ซึ่งแทนที่จะทำเช่นนั้น เราน่าจะลองศึกษาแนวทางปฏิบัติธรรมจากพระสูตร
อันเป็นคำสอนตรงจากพระศาสดา และเป็นตัวแทนของพระศาสดา
ที่พระศาสดาทรงกำหนดไว้ด้วยพระองค์เอง กันดูบ้าง

**********************************

ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ผมศึกษาปฏิบัติธรรมมาก็เพื่อความพ้นทุกข์ครับ
เมื่อศึกษาพระไตรปิฎกแล้ว ก็รู้สึกซาบซึ้งประทับใจ
อยากนำความร่มเย็นนั้นมาเล่าสู่กันฟังในหมู่ญาติมิตร
จึงอยากให้พวกเราทำใจให้ร่มเย็น เพื่อฟังธรรมอันร่มเย็น
ที่พระพุทธเจ้าท่านแสดงไว้ดีแล้ว
ถ้าเริ่มศึกษาด้วยความร้อน ก็จะไม่ได้รับความซาบซึ้งในธรรมเท่าที่ควรหรอกครับ
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
ขอเสริมอีกนิดด้วยความเห็นของ คุณ พุทธินันท์ ที่มีต่อในกระทู้นี้ครับ

*** คุณพุทธินันท์ท่านนี้เป็นศิษย์น้องร่วมครูบาอาจารย์ของคุณสันตินันท์ ที่ได้ร่วมออกเดินทางภาวนากับคุณสันตินันท์บ่อยๆ
อีกทั้งยังทำงานที่เดียวกันกับคุณสันตินันท์ด้วย โดยคุณพุทธินันท์นี้เป็นนักภาวนาผู้หนึ่งที่แตกฉานในธรรม
ที่ไม่ได้ด้อยไปกว่า อ.สุรวัฒน์ นับว่าเป็นโอกาสดีที่พวกเราจะได้ลองฟัง ความเห็นท่านครับ  _/|\_


ความคิดเห็นที่ 39 : ( พุทธินันท์)
        เพิ่งเข้ามาดูครับ ขอร่วมแสดงความเห็นด้วยคนนะครับ
        1. พระสูตรมีคุณค่ามากครับ ถ้าศึกษาอย่างแยบคาย ยิ่งถ้าดูจิตดูใจตั้งมั่นดีแล้ว จะพบว่าท่านแสดงไว้อย่างตรงไปตรงมา
พอเหมาะพอควรทำให้ผู้ศึกษามีแต่ความชุ่มชื่น สงบเย็น และเบิกบานมากครับ และเท่าที่มีประสบการณ์เชื่อว่า
แค่พระสูตรเรื่องเดียว หากผู้ศึกษา เรียนรู้จิตรู้ใจของตนตามกระแสธรรมเรื่องนั้นๆ ก็สามารถทำให้ผู้ที่ศึกษาด้วยใจนั้นเข้าถึงธรรมได้
 เหมือนนั่งฟังพระธรรมเทศนานั้นต่อหน้าพระพุทธองค์เลยที่เดียวไม่เช่นนั้น ท่านจะกล่าวไว้หรือครับว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดง
พระธรรมเทศนาจบแล้ว ท่าน....ก็บรรลุพระโสดาบันบ้าง จนถึงบรรลุพระอรหันต์บ้าง

        2. พระวินัยก็มีประโยชน์มากครับ ไม่เฉพาะกับพระภิกษุทั้งหลายเท่านั้น เพราะทำให้สามารถเข้าใจถึงขอบเขตของศีลได้อย่าง
ละเอียดรอบด้านและเหตุผลในแต่ละข้อวินัย   ส่งผลให้จิตใจมีความละเอียดอ่อน  และไม่หลงติดยึดถือศีลพรตแบบยึดมั่นถือมั่น

        3. พระอภิธรรม(ในพระไตรปิฎก)ก็น่าทึ่งครับ เหมาะกับจริตของบางท่าน แต่เท่าที่มีประสบการณ์ จิตเร็วมากครับ
ไม่จำเป็นที่จะต้องตามนับตามดูรายละเอียดของจิตให้ได้ครบตามตำรา   และไม่ใช่ว่าถ้าตามดไดู้ไม่ครบแล้วจะภาวนาไม่เห็นผล 
ท่านผู้ใดตามดูจิตได้้ครบตามตำราก็ขออนุโมทนาด้วยครับ

        4. สำหรับประเด็นที่ว่าใครจะเชื่ออย่างไร  ผมเสนอว่า เรื่องความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนา เป็นเหมือนท่าน้ำ 
ใครพอใจจะขึ้นท่าไหน ก็สุดแต่ภูมิจิตภูมิธรรมของแต่ละท่าน  แต่ที่ควรระวังก็คืออย่ากล่าวตู่พระธรรมไม่ว่า จะเป็นพระพุทธพจน์
ธรรมของพระอริยสาวกสมัยต่างๆ หรือคำสอนของครูบาอาจารย์ จะชอบใจธรรมของท่านใดก็สุดแต่ครับ  และแลกเปลี่ยนกันได้
แต่ควรกระทำด้วยขันติและเมตตาธรรมต่อกัน  แต่ถ้าทำตามนี้ไม่ได้ก็ทางใครทางมันเถอาะครับเพราะธรรมะเป็นเรื่องสงบ สว่าง เย็นใจครับ

        5. โดยสรุป กระทู้นี้จะเป็นประโยชน์มากครับ และจะช่วยสอบทานการภาวนาของแต่ละท่านได้มากทีเดียวครับ  ข้อสำคัญ
อย่าเอาแต่อ่านจนลืมลงมือปฏิบัติก็แล้วกันครับ  ทำได้มากน้อยเท่าไร ก็สุดแต่กำลังของแต่ละท่าน  ขอแต่ให้ทำอย่างต่อเนื่อง 
ท่านว่าถ้าทำจริงจังต้องเห็นผลครับ  ไม่ 7 วัน ก็ 7 เดือน หรือไม่ก็ 7 ปี  ตำราท่านว่าไว้อย่างนั้น  และจากประสบการณ์
ก็เป็นเช่นนั้นครับ ที่สำคัญ ต้องปฏิบัติโดยแยบคายสอบทานจิตใจของตนอยู่ตลอดเวลาครับ จับหลักคือดูจิตดูใจให้ได้แล้ว
มีอะไรเข้ามาก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการภาวนาได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะใช้การตามลมหายใจบ้าง พิจารณากายบ้าง ฯลฯ ก็ได้ครับ   
   
           ปล. ขออนุโทนากับกุศลจิตของคุณสันตินันท์ด้วยครับ
 จากคุณ : พุทธินันท์ [ 15 ต.ค. 2542 / 16:11:12 น. ]
« Last Edit: Tue 16 Nov 10, 02:37:05 by หงส์น้อยบ้านโค้งดารา »
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
สาธุครับ
น่าเสียดายที่การอ่านพระไตรปิฏกในปัจจุบันมีปัญหาอยู่บ้างในด้านภาษาที่ไม่ค่อยคุ้นเคย
แต่พออ่านไปสักพัก ก็พอจะชินได้บ้างครับ  :)
สำหรับคนที่ไม่ค่อยจะได้อ่านพระไตรปิฎกเพราะปัญหาด้านภาษา
ลองหาพระไตรปิฎกฉบับที่แยกและรวบรวมออกมาเป็นเล่มเล็ก ๆ ของ ธรรมรักษาครับ
รวบรวมไว้เป็นตอน ๆ ที่คล้าย ๆ กัน บ้างก็ย่อความหรือเรียบเรียงเพื่อให้อ่านง่าย
บางตอนก็มีการอธิบาย และขยายความให้คนร่วมสมัยได้เข้าใจด้วยครับ
เหมาะสำหรับคนที่เริ่มอ่านใหม่ ๆ ครับ เช่นที่ผมกำลังอ่านอยู่เป็น พระไตรปิฎกฉบับสาระ
ส่วนใหญ่ก็รวมรวมมาจากในพระสูตรครับ หลาย ๆ ตอนเป็นที่มาของศีลของพระภิกษุ
เพื่อน ๆ ท่านใดสนใจก็ลองไปหามาอ่านกันดูนะครับ
:D
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช