เรียน คุณ nitivit
เวลาที่เราเจริญสติ แม้ในระดับของการพิจารณาไตรลักษณ์ ก็ไม่อาจใช้ "ความจงใจ" หรือ "ความน้อมไป" ไปทำให้จิตพิจารณาไตรลักษณ์นะครับ
แม้ว่าเราอาจจะเคยอ่าน เคยได้ยิน ว่าในค่ำคืนที่เจ้าชายสิทธัตถะท่านจะตรัสรู้ ในยาม ๓ จิตของท่านน้อมไปพิจารณาปฏิจจสมุปบาท นั่นก็หาใช่ "เจ้าชายสิทธัตถะน้อมจิตไปพิจารณาปฏิจจสมุปบาท" หากแต่เป็น "จิตน้อมไปพิจารณาปฏิจจสมุปบาท" ตาม "วาสนา" ของพระโพธิสัตว์ผู้เต็มเปี่ยมด้วยพระบารมี และจะตรัสรู้เป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ในค่ำคืนนั้น ต่างหากล่ะครับ
ดังนั้น การที่คุณ nitivit คิดว่า ควรจะทำอะไรต่อ หลังจากเกิดความรู้สึกตัวขึ้น หรือรู้ทันแล้วว่าจิตกระจาย หรือจิตฟุ้งออกไป นั่นเป็นการที่ คุณ nitivit จะน้อมจิตไปพิจารณาไตรลักษณ์ หาใช่จิตเขาน้อมไปพิจารณาไตรลักษณ์ด้วยตัวของเขาเองครับ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงแ้ล้ว วิปัสสนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะยังเป็นการทำด้วยความจงใจ ยังเป็นการทำไปตาม "มโนสัญญเจตนา" หรือความจงใจ เป็นการกระทำไปตามอำนาจของกิเลสที่ชื่อ "โลภะ" ครับ
ความจริงแล้ว การที่จิตจะน้อมไปพิจารณาไตรลักษณ์นั้น ไม่อาจจงใจน้อมไป แต่เราสร้างนิสัยให้จิตคุ้นเคยที่จะพิจารณาไตรลักษณ์ได้นะครับ มี 2 วิธี
วิธีแรก สำหรับสมถยานิก ต้องใช้วิธีการคิดถึงความเป็นไตรลักษณ์ เพื่อให้จิตที่นิ่งเนื่องจากอำนาจของสมาธิ ได้ขยับ ได้เคลื่อนไหว ได้ทำงาน และเมื่อทำงานโดยอาศัยการคิดถึงไตรลักษณ์ จิตจะเห็นไตรลักษณ์
วิธีที่สอง สำหรับ วิปัสสนายานิก ต้องอาศัยการฟังธรรมเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องอริยสัจจ์ ๔ บ่อยๆ เวลาที่จิตเกิดสติขึ้น ในบางครั้ง จิตจะมองสภาวธรรมต่างๆ ด้วยมุมมองของไตรลักษณ์ เป็นการพิจารณาไตรลักษณ์โดยไม่ต้องน้อมนำจิต (แต่จิตน้อมไปเองด้วยความเคยชิน)
ดังนั้น เวลาที่คุณ nitivit รู้ทันสภาวะแล้ว สิ่งต่อไปที่คุณ nitivit ควรรู้ทันต่อไป ก็คือ รู้ทันว่าจิตเป็นอย่างไร จิตสงสัย รู้ว่าสงสัย จิตมีความลังเล รู้ว่าลังเล จิตแจ่มใส รู้ว่าแจ่มใส จิตหมองๆมัวๆ รู้ว่าหมองๆมัวๆ ไม่ต้องไปคิดต่อในเรื่องไตรลักษณ์ครับ แต่ให้ฟัง ซีดีหลวงพ่อปราโมทย์ ในแผ่นหลังๆ ให้มากๆ เพราะแผ่นหลังท่านเริ่มเน้นเรื่องของการเจริญปัญญาโดยอาศัยการดูจิตเป็นส่วนมากแล้วล่ะครับ ท่านแสดงธรรมเรื่องอริยสัจจ์และไตรลักษณ์เยอะมากครับ ฟังไปเรื่อยๆ พร้อมกับรู้สึกตัว รู้สภาวธรรม ที่เป็นปัจจุบันไปเรื่อยๆ จิตเขาจะเจริญวิปัสสนาได้เอง
ขอให้เจริญในธรรมครับ