Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] อย่าส่งจิตออกนอก คือ นอกอะไร โดย คุณสันตินันท์  (Read 3357 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนตอบไว้ในกระทู้  อย่าส่งจิตออกนอก คือ นอกอะไร เมื่อ วัน ศุกร์ ที่ 21 กรกฎาคม 2543 08:41:12

ถ้าจะให้เข้าใจคำสอนเรื่อง อย่าส่งจิตออกนอก อย่างง่ายๆ
ขั้นแรกควรเข้าใจเสียก่อนครับ ว่า ส่งจิตออกนอก เป็นอย่างไร

หากเฝ้าสังเกตอยู่ที่จิตใจตนเองให้สม่ำเสมอ
(ไม่ใช่เพ่ง / ควบคุม / บังคับ นะครับ)
จะเห็นว่า บ่อยครั้งมันเกิดความอยาก เป็นแรงขับ หรือผลักดันจิตใจ
ให้วิ่งออกไปจับ/ยึดอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
เช่นในขณะที่ตามองเห็นสาวสวย จิตจะเกิดราคะคือความรักใคร่ชอบใจรูปอันนั้น
แล้วจิตก็จะเกิดกระแสความอยากพุ่งขึ้นในอก
แล้วผลักดันจิตให้ "หลง" ทะยานออกไปทางตา
เพื่อดูสาวคนนั้นอย่างลืมตัวของตัวเอง
ตอนนั้นจิตตนเองมีราคะก็ไม่เห็น จิตมีความอยากดูอยากได้ก็ไม่เห็น
กระทั่งตัวเองนั่งอยู่ หรือยืนเดินอยู่ ก็ลืมหมด
เหมือนร่างกายตนเองหายไปจากโลก
อันนี้ก็เพราะส่งจิตออกนอก ทะยานไปหลงยึดอารมณ์ที่เห็นนั่นเอง

หรือบางทีไม่ได้รู้เห็นรูปหรือเสียงใดๆ
แต่นั่งอยู่เฉยๆ สัญญาคือความจำเรื่องสาวสวยที่เห็นเมื่อวานนี้ผุดขึ้น
ความคิดปรุงแต่งเรื่องสาวก็เกิดขึ้น
เช่นเธอเป็นใครที่ไหนหนอ ทำอย่างไรจะรู้จักและรักกันได้
ในขณะที่คิดนั้น จิตใจหลงเข้าไปอยู่ในโลกของความคิด
จิตถูกราคะครอบงำก็ไม่รู้
จิตทะยานอยากเข้าไปอยู่ในภพหรือโลกของความคิดก็ไม่รู้อีก
กระทั่งตนเองกำลังจะเดินไปตกท่อข้างทาง ก็ยังไม่รู้อีก
คือลืมกายลืมใจของตนเองในปัจจุบันเสียหมดสิ้น
มีแต่หลงอยู่กับความคิดและกิเลสตัณหาอย่างเดียว

นี่แหละครับคืออาการที่ส่งจิตออกนอกไปตามกระแสกิเลสตัณหา
ไม่มีสติสัมปชัญญะ หลง เผลอ ไม่รู้เท่าทันสภาพธรรมในกายในใจตนเอง

ที่ท่านสอนว่าอย่าส่งจิตออกนอก
ก็คือสอนไม่ให้หลงขาดสติสัมปชัญญะ
หลงไปตามอำนาจกิเลสตัณหา

เหมือนปลาตายที่ลอยตามน้ำไปเรื่อยๆ
ถ้าจะพูดด้วยภาษาปริยัติ
ก็กล่าวได้ว่า ให้รู้ทุกข์ ให้ละสมุทัยคือตัณหา
แต่คำว่าอย่าส่งจิตออกนอก
เป็นการสอนถึงสภาวะหรืออาการของจิตจริงๆ
ที่มันหลงไปตามสมุทัยคือตัณหา
และไม่รู้จักทุกข์ คืออุปาทานขันธ์ของตนเอง
สรุปแล้ว อย่าส่งจิตออกนอกก็คือ
อย่าขาดสติสัมปชัญญะ เพราะจะไม่รู้อารมณ์ตามความเป็นจริง
และจะหลงทะยานไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา

และเมื่อปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมมากเข้า
ผู้ปฏิบัติจะเข้าใจคำว่า อย่าส่งจิตออกนอก ได้ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น
จนถึงขั้นจิตมีสติ สมาธิ และปัญญาเต็มที่
มันจะ หยุด
และ รู้อยู่กับรู้
ไม่มีการส่งออกหรือกระเพื่อมไหวใดๆ
หยุดความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหมด
ถ้าปฏิบัติมาถึงอย่างนี้
ก็จะเข้าใจได้ว่า "อย่าส่งจิตออกนอก"
เป็นคำสอนเพื่อการปฏิบัติได้ตลอดสายทีเดียว


****************************************

อ้อ แถมหน่อยครับ
ที่ถามว่า อย่าส่งจิตออกนอก หมายถึงนอกจากอะไร?
ขอเรียนว่า นอกจาก รู้
หรือนัยหนึ่งก็คือ
นอกไปจากความมีสติสัมปชัญญะและรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง

ถ้าถามต่อว่า นอกไปทางไหน
ขอเรียนว่า นอกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

ถ้าถามว่า นอกแล้วส่งผลเป็นอย่างไร
ขอเรียนว่า ส่งผลเป็นอุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์

********************************

สำหรับคำถาม ขอยกพจนานุกรมของพระธรรมปิฎก มาดังนี้

วิญญาณ ความรู้แจ้งอารมณ์,จิต,
ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน
เช่นรู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตาเป็นต้น
ได้แก่ การเห็น การได้ยินเป็นอาทิ;

วิญญาณ๖ คือ ๑. จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น)
๒. โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน)
๓. ฆานวิญญาณความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น)
๔. ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส)
๕. กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย(รู้สิ่งต้องกาย)
๖. มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)

มโนวิญญาณ ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะธรรมารมณ์เกิดกับใจ,
ธรรมเกิดกับใจ เกิดความรู้ขึ้น, ความรู้อารมณ์ทางใจ
********************************************************
ส่วนในแง่ปฏิบัติ
มีเรื่องต้องคุยกันอีกมากพอสมควรครับ
เกี่ยวกับเรื่อง จิต ใจ(มโน) และวิญญาณ
แต่ตอนนี้ยังไม่ว่างพอที่จะคุยเรื่องนี้น่ะครับ
เลยต้องของดเว้นเอาไว้ก่อน

*********************************************************

ทำใจให้สบายๆ อย่าเผลอ และอย่าเพ่งจ้อง
แล้วปฏิบัติธรรมไปตอนที่มีผัสสะ
คือตอนที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ... ใจคิดนึก นั่นแหละครับ

อย่างเช่น เราเห็นเด็กสองคนเดินมาด้วยกัน
คนหนึ่งเป็นลูกเรา อีกคนหนึ่งเป็นหลานเรา
ลองสังเกตความรู้สึกที่แตกต่างกันในใจของเราดู
จะพบความแตกต่างของระดับราคะ และความลำเอียงได้ไม่ยากเลย

หรือถ้าเราได้ยินเสียงเพลง จะพบว่า บางเพลงจะชอบมากกว่าบางเพลง
กระทั่งอ่านทางนฤพาน หรือดูละคร
ก็จะพบว่าแต่ละบท แต่ละตอน มีความชอบไม่เท่ากัน
บางตอนก็มีราคะ บางตอนมีโทสะ บางตอนสนุก บางตอนเบื่อ ฯลฯ

การปฏิบัติธรรมที่ดี ต้องทำในชีวิตจริง ตอนที่มีผัสสะนี่แหละครับ
พอมีผัสสะแล้ว ก็คอยวัดจิตวัดใจตนเองเรื่อยๆ ไป
ไม่นานก็จะรู้เองว่า อะไรคือนาม อะไรคือรูป อะไรคืออารมณ์ อะไรคือจิต
กิเลสอกุศลเป็นอย่างไร บุญกุศลเป็นอย่างไร ตัณหาเป็นอย่างไร
และรู้ชัดว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงล้วนแต่แปรปรวนไม่แน่นอน เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น
แล้วในแต่ละวัน ควรหาเวลา
เดินจงกรมหรือนั่งสมาธิสักช่วงหนึ่งให้เป็นกิจวัตรไว้ด้วย
จะช่วยให้มีกำลังในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันมากขึ้น


หัดอยู่อย่างนี้ ไม่ยากอะไรหรอกครับ
อย่าเบื่อ อย่าชี้เกียจ และอย่าคิดสงสัยมากนักก็แล้วกัน
ถึงไม่ได้มรรคผลนิพพานอย่างใจนึก
แต่การจะประคองตัวอยู่กับโลก
ก็จะอยู่ได้อย่างทุกข์น้อยลง ให้เห็นได้ทันตาแล้วครับ
« Last Edit: Sat 27 Nov 10, 23:34:45 by หงส์น้อยบ้านโค้งดารา »
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
ขอบคุณครับ
ชอบที่สุดก็ตรง "อย่างสงสัยมากนักก็แล้วกัน" นี่แหละครับ ;D
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช