Author Topic: [กระทู้เก่ามาเล่าใหม่] เพื่อนคู่ใจของนักปฎิบัติ โดยคุณสันตินันท์  (Read 3116 times)

Offline หงส์น้อยบ้านโค้งดารา

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *
  • Posts: 118
  • คะแนนความนิยม: +4/-0
  • Gender: Male
เขียนไว้เมื่อ วัน พุธ ที่ 21 มิถุนายน 2543 11:25:23

ถ้าเราศึกษาประวัติของพระมหาเถระในอดีต หรือครูบาอาจารย์ในยุคปัจจุบัน
จะพบว่าบางท่านจะมีสหธรรมิกที่สนิทสนมคุ้นเคยเป็นพิเศษ
เช่นท่านพระสารีบุตร จะเป็นเพื่อนสนิทกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ
และเมื่อทั้งสองท่านต่างมีภารกิจมากขึ้น มีโอกาสสนทนากันเองน้อยลง
ท่านพระสารีบุตรก็มีท่านพระมหาโกฏฐิตะ เป็นคู่สนทนาอยู่บ่อยครั้ง

ในยุคสมัยของเรานี้  ท่านพระอาจารย์มั่นกับท่านพระอาจารย์เสาร์
ท่านก็มีความใกล้ชิดต่อกันตราบจนมรณภาพ
หลวงปู่แหวนกับหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่หลุยกับหลวงปู่ชอบ ฯลฯ
ก็เป็นตัวอย่างของเพื่อนสหธรรมิกที่เห็นได้ชัดเจน
ถึงผมเองก็มีพุทธินันท์ เป็นเพื่อนร่วมศึกษาธรรมมาด้วยกัน

นักปฏิบัติที่มีเพื่อนคู่ใจหรือเพื่อนสหธรรมิกก็มี ที่ปฏิบัติเดี่ยวๆ ก็มี
และที่ปฏิบัติพร้อมๆ กันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ก็มี
ซึ่งการปฏิบัติเป็นกลุ่มใหญ่
เหมาะสำหรับการศึกษาวิธีปฏิบัติในเบื้องต้นเท่านั้น
เมื่อทราบวิธีแล้ว ก็ต้องแยกย้ายกันไปปฏิบัติตามลำพัง
หรือแยกย้ายไปปฏิบัติเป็นกลุ่มย่อยๆ
จะเอาแต่นั่งรวมกลุ่มคุยธรรมะกันทั้งวัน แบบนั้นเห็นจะไปไม่รอด

ถึงพระมหาเถระในอดีต และในปัจจุบัน
ท่านก็ศึกษาธรรมจากพระศาสดาหรือครูบาอาจารย์ แล้วแยกย้ายกันปฏิบัติ
หากถูกอัธยาศัยกับใครเป็นพิเศษ ก็อาจจะไปหาที่ปฏิบัติร่วมกัน
หรือแยกย้ายกันปฏิบัติ แต่มาพบกันเป็นครั้งคราว
เพื่อตรวจสอบหรือปรึกษาหารือการปฏิบัติกัน
และเมื่อถึงเวลาอันสมควร ต่างองค์ก็กลับไปหาครูบาอาจารย์
แล้วจึงไปพบกันเป็นกลุ่มใหญ่ในสำนักของครูบาอาจารย์
ไม่ใช่ว่าไปปฏิบัติที่ไหนก็หอบหิ้วกันไปเป็นจำนวนมากๆ เป็นร้อยเป็นพันองค์
ทั้งนี้เพราะพระศาสดาไม่ประสงค์จะให้สาวกคลุกคลีกันอย่างนั้น

****************************************

การมีเพื่อนสหธรรมิก นับแต่ครูบาอาจารย์ลงมา
จนถึงเพื่อนที่ถูกใจกันในด้านการศึกษาและปฏิบัติธรรม
หรือเพื่อนที่ถูกอัธยาศัยกันเป็นส่วนตัว
ก็ยังจัดเป็นเพื่อนภายนอก
ไม่อาจจัดเป็นเพื่อนคู่ใจอย่างแท้จริงของนักปฏิบัติได้
เพราะถึงจะอยู่ใกล้ชิดกัน ก็อยู่ได้เพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น
แล้วต่างคนต่างก็ต้องแยกย้ายกันไป
เพื่อทำสงครามกับกิเลสตัณหาภายในจิตใจของตนเอง

การทำศึกกับกิเลสตัณหาเป็นกิจเฉพาะบุคคล
ประเภทตัวใครตัวคนนั้น ช่วยกันไม่ได้
ข้าศึกคือกิเลสตัณหา ก็กล้าหาญชาญชัยเสียเหลือเกิน
มีอุบายพลิกแพลงเข้าโจมตีผู้ปฏิบัติอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งกลางวันกลางคืน
ด้วยสงครามร้อนบ้าง สงครามเย็นบ้าง
เข้ามาทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ... ทางใจบ้าง
ในยามที่ต่อสู้ในสงครามชนิดนี้ ผู้ปฏิบัติจะเหลือเพียงตัวคนเดียว
ทำนองเดียวกับที่พระศาสดาของเรา ทรงผจญมารตามลำพังพระองค์เอง
เพราะทวยเทพทั้งหลาย พากันหลบลี้หนีหน้าไปหมด
ถึงพวกเราเหล่าสาวกทั้งหลาย
ในยามที่จะปฏิบัติธรรม ก็ต้องต่อสู้ตามลำพังเช่นกัน
ครูบาอาจารย์ หรือเพื่อนสหธรรมิก ก็เข้าไปช่วยต่อสู้ด้วยไม่ได้

ในยามนี้แหละ เราจะรู้ว่า เพื่อนคู่ใจที่แท้จริงของเราคืออะไร

วันนี้เขียนเท่านี้ก่อนนะครับ
พวกเราใครมีเพื่อนคู่ใจแบบไหน
จะลองนำมาเล่าสู่กันฟังบ้างก็ดี
แต่ขอแบบประสบการณ์จริงๆ
ส่วนเพื่อนคู่ใจของผมก็มีเหมือนกัน
แต่จะเป็นเพื่อนคนเดียวกันหรือเปล่า ก็ยังไม่แน่ใจครับ

***********************************

เรามาคุยกันต่อเรื่องเพื่อนคู่ใจของนักปฏิบัติ

หลายท่านมาเล่าถึงเพื่อนคู่ใจอย่างน่าฟัง
เรื่องนี้ไ่ม่มีใครผิด เพราะเป็นคำตอบที่ถูกเฉพาะตัวทั้งสิ้น
และเพื่อนคู่ใจที่เล่ากันนั้น ก็มีทั้งเพื่อนดี
เช่นกาย ความว่าง สติสัมปชัญญะ
และเพื่อนชั่ว เช่นอวิชชา และกิเลสนานาชนิด
ช่างเหมือนชีวิตจริงภายนอกนี่ ที่เราก็มีทั้งเพื่อนดีและเพื่อนชั่ว

คนมีปัญญา ก็ย่อมได้ประโยชน์ทั้งจากเพื่อนดีและเพื่อนชั่ว
อย่างน้อยที่สุด การเห็นเพื่อนชั่วในจิตใจของเรา
ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตนเอง

สำหรับผมเอง โยนิโสมนสิการ คือเพื่อนคู่ใจในการปฏิบัติอย่างแท้จริง
ถ้าปราศจากโยนิโสมนสิการเสียอย่างเดียว
ผมจะไม่มีทางปฏิบัติมาถึงปัจจุบันนี้ได้เลย

แต่ก่อนจะเล่าถึงประสบการณ์จริง
ขออธิบายคำว่า โยนิโสมนสิการ ตามตำราเสียก่อน

โยนิโสมนสิการ
- การทำในใจโดยแยบคาย,
- กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย,
- การพิจารณาโดยแยบคาย คือพิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริง
โดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ
แยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นตัวสภาวะ
และความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
หรือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว
ยังกุศลธรรมให้บังเกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ
ซึ่งจะมิให้เกิดอวิชชาและตัณหา,
- ความรู้จักคิด, คิดถูกวิธี
(จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระธรรมปิฎก)

********************************

คราวนี้ขอนำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง
เกี่ยวกับการใช้โยนิโสมนสิการ
ทั้งที่ตอนนั้น ไม่ทราบหรอกว่า นั่นคือการใช้โยนิโสมนสิการ
 
ผมไปฟังธรรมครั้งแรกจากหลวงปู่ดูลย์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2525
ครั้งนั้นหลวงปู่สอนให้ดูจิตตนเอง
ตอนฟังก็คิดว่าเข้าใจ แต่พอลาท่านกลับกรุงเทพแล้ว
จึงรู้ว่าผมเองดูจิตไม่ได้หรอก เพราะยังไม่ทราบว่า
จิตเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน จะเอาอะไรไปดู

เมื่อไม่สามารถเรียนถามจากครูบาอาจารย์ อันเป็นยอดกัลยาณมิตรได้
ผมก็จำเป็นต้องพึ่งตนเอง โดยการพิจารณาอย่างแยบคาย
เพื่อทำความรู้จักจิต รู้จักที่อยู่ของจิต และพัฒนาเครื่องมือดูจิต
เริ่มแรกก็พิจารณาว่า จิตจะต้องอยู่ในขันธ์ 5 นี้เอง
จึงทำใจให้สบายๆ กำหนดสติตรวจสอบลงในร่างกายทีละส่วน
เมื่อไม่พบจิต ก็พิจารณาแยกแยะหาจิตในเวทนา สัญญา และสังขาร
ในที่สุดก็เข้าใจชัดว่า จิตเป็นธรรมชาติรู้  อะไรถูกรู้ อันนั้นไม่ใช่จิต
ตรงกับตำราที่ท่านกล่าวว่า
โยนิโสมนสิการ คือการพิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริง
โดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ
แยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นตัวสภาวะ
สิ่งที่ผมทำ คือการแยกแยะจนรู้สภาวะของขันธ์และจิต
แล้วทำให้รู้ถึงเหตุผล หรือความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับอารมณ์ทั้งปวง

ในช่วงแรกเริ่มปฏิบัตินั้น พบเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมากมาย
เช่นรู้ความไหวยิบยับขึ้นมาจากความว่างบ้าง
รู้ความไหวกลางอกเมื่อเวลาอายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอก
บางวันก็เกิดก้อนอัดแน่นขึ้นกลางอก
บางวันจิตก็ว่าง สว่าง เบา สบาย
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ
ในการพิจารณาว่า สิ่งนี้คืออะไร เกิดด้วยเหตุใด มีบทบาทอย่างไร
และเราควรกระทำต่อสิ่งนั้นอย่างไร

เพราะอยู่ไกลครูบาอาจารย์ และไม่มีเพื่อนภายนอกจะปรึกษาด้วยได้
ผมมีสิ่งเดียวเป็นเพื่อน คือโยนิโสมนสิการ
บางอย่างต้องพิจารณาโดยการเฝ้ารู้ ซ้ำแล้วซ้ำอีกนานนับเดือน
จนเข้าใจชัดและได้ข้อสรุปเกี่ยวกับสภาวะที่ปรากฏนั้น
การที่ต้องลูบคลำค้นคว้าแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตนเองนั้นเอง
จึงพอจะได้ความรู้ความเข้าใจมาบอกกับหมู่เพื่อนในวันนี้
เพราะสิ่งใดที่ผู้อื่นผิด เกือบทั้งหมดนั้นผมเคยผิดมาก่อนแล้ว

โยนิโสมนสิการ เหมือนกับเสนาธิการใหญ่ของจิต
เป็นผู้เปิดเผยกลศึกของศัตรูร้ายคือกิเลสตัณหาอุปาทานทั้งปวง
เป็นผู้กำหนดกลศึกในการรับมือกับข้าศึกนั้นๆ
และเป็นผู้เลือกเฟ้น มอบหมายให้ขุนศึกฝ่ายธรรมะทั้งหลาย ทำงานในแต่ละช่วงจังหวะ
เช่นบางขณะก็เจริญศรัทธา บางขณะเร่งความเพียร
บางขณะเจริญสติ บางขณะเจริญสมาธิ และบางขณะเจริญปัญญา

กิเลสเป็นของเร็วและว่องไวยิ่งนัก
เวลาที่ผู้ปฏิบัติเผชิญหน้ากับมันนั้น
จะมัวเที่ยวถามครูบาอาจารย์ก็ไม่ทันแล้ว
อาศัยโยนิโสมนสิการนี้แหละ เป็นเพื่อนคู่ใจ
เพราะเป็นของทันกันกับกิเลสตัณหา

เพราะประจักษ์ชัดถึงคุณค่าของโยนิโสมนสิการนี้แหละ
ทำให้ผมซาบซึ้งใจอย่างยิ่งเมื่ออ่านคำสอนของพระศาสดา
ที่ท่านทรงสอนไว้อย่างชัดเจนว่า
กัลยาณมิตรหนึ่ง โยนิโสมนสิการหนึ่ง
คือบุพนิมิตหรือเครื่องหมายแรกแห่งการปรากฏของอริยมรรค
หัดรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Offline nitivit

  • Full Member
  • ***
  • Posts: 73
  • คะแนนความนิยม: +0/-0
  • Gender: Male
  • ดูอย่างเดียว
"สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช